4 มาตรการใหม่ ดึงแรงงานข้ามชาติอยู่ไทยต่อ ลดผลกระทบผู้ประกอบการ

แรงงานต่างด้าว

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เห็นชอบ 4 ประเด็น ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานข้ามชาติ เร่งจัดทำประกาศและร่างกฎหมาย ก่อนเสนอ ครม.

วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 2/2565 โดยมีนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

นายสุชาติกล่าวว่า ในวันนี้ที่ประชุม คบต.ได้เห็นชอบ 4 ข้อพิจารณา ดังนี้

1. การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวภายหลังวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยแบ่งแรงงานข้ามชาติที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 เป็น 2 กลุ่ม

หนึ่ง กลุ่มที่รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทย ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 หากต้องการทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ เพื่อทำงานได้อีก 2 ปี (ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2568)

สอง กลุ่มที่รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทย ภายหลังวันที่ 1 สิงหาคม 2565 หากต้องการทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ โดยนายทะเบียนจะอนุญาตให้ทำงานคราวละ 1 ปี รวม 2 ครั้ง ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568

2. การบริหารจัดการคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้นายจ้างที่จ้างแรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการต่อกรมการจัดหางาน ผ่านระบบออนไลน์ หลังดำเนินการตามขั้นตอนเสร็จสิ้นจะทำงานและอยู่ได้ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2566 หากต้องการทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ โดยนายทะเบียนจะอนุญาตให้ทำงานคราวละ 1 ปี รวม 2 ครั้ง ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 เช่นเดียวกัน

3. การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (VISA) โดยกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จะร่วมร่างกฎกระทรวงส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับลดค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (VISA) จาก 2,000 บาท เหลือ 500 บาท

4. การจัดตั้งศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อใช้ในการตรวจสอบเอกสาร หรือหลักฐานต่าง ๆ และการออกใบอนุญาตทำงาน รองรับการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานตาม MOU ทางอากาศ (สัญชาติเมียนมา)

นายสุชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน กำชับกระทรวงแรงงาน บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานข้ามชาติ เพื่อลดผลกระทบให้ผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานข้ามชาติในกิจการ สอดรับนโยบายเปิดประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล

“ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รับฟังปัญหาของผู้ประกอบการเรื่อยมา จนนำมาสู่การเสนอข้อพิจารณา ทั้ง 4 ประเด็น โดยทุกหน่วยงานที่ร่วมประชุมในวันนี้ จะกลับไปแก้ไขระเบียบ หรือกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันมติที่ประชุมสู่ ครม.ต่อไป”

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางาน และหน่วยงานผู้รับผิดชอบได้รับมอบหมายจัดทำร่างประกาศกระทรวงแรงงาน ประกาศกระทรวงมหาดไทย และกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ เพื่อสามารถดำเนินการได้ทันทีเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ

“กระบวนการทั้งหมดจะต้องใช้เวลา ในระหว่างนี้ขอฝากถึงนายจ้าง สถานประกอบการที่ใช้แรงงานข้ามชาติ ให้ความสำคัญกับการใช้แรงงานถูกกฎหมาย เพราะหากตรวจพบการกระทำความผิดนายจ้างรับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท ต่อคนต่างด้าว 1 คน หากทำผิดซ้ำมีโทษถึงจำคุก และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานอีก 3 ปี ส่วนคนต่างด้าวที่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท และถูกส่งตัวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี”