“แสนสิริ” ผนึกดีแทค-ยูนิลีเวอร์ วางโรดแมปหนุน LGBTQ+ รับเทศกาลไพรด์

(ซ้ายไปขวา) นายชารัด เมห์โรทรา, นางณัฏฐิณี เนตรอำไพ, นายเศรษฐา ทวีสิน, และนายเรอโน เมแยร์

แสนสิริ จับมือ ดีแทค และยูนิลีเวอร์ วางโรดแมปพันธกิจระยะยาว 3 ปี ผลักดันสู่ความเท่าเทียมทุกมิติในสังคมไทย ต้อนรับ Pride Month เดือนแห่งการสนับสนุน LGBTQ+

วันที่ 1 มิถุนายน 2565 “แสนสิริ” ประกาศจับมือ “ดีแทค” และ “ยูนิลีเวอร์” ภายใต้การสนับสนุนของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (United Nations Development Programme: UNDP) ปีที่ 3 วางโรดแมปพันธกิจระยะยาว 3 ปี ร่วมผลักดันความเท่าเทียมในทุกมิติ ต้อนรับ Pride Month เดือนแห่งการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศของ LGBTQ+ ทั่วโลก ที่เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนของทุกปี โดย LGBTQ+ ย่อมาจาก Lesbian (หญิงรักหญิง) Gay (ชายรักชาย) Bisexual (คนรักสองเพศ) Transgender (คนข้ามเพศ) Queer (ไม่ได้กำหนดตายตัว) หรือ Questioning (ยังตั้งคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง) และ + หมายถึงความหลายหลายทางเพศอื่น ๆ อีกมากมาย

ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของ 3 องค์กรต้นแบบความเท่าเทียมที่ร่วมกันแบ่งปันองค์ความรู้ และสร้างมาตรฐานใหม่ของการยอมรับความเท่าเทียม เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้แก่สังคม นอกจากนั้น แสนสิริยังผนึกกำลังกับ 8 พันธมิตรธนาคารชั้นนำสานวิสัยทัศน์สร้างความเท่าเทียม ต่อยอดแคมเปญ “Live Equally…เราเท่ากัน ฉันเท่าเธอ” ปีที่ 2

นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศของ LGBTQ+ สำหรับแสนสิริไม่ได้เกิดเฉพาะในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือน Pride Month เท่านั้น แต่ทุกวันคือความเท่าเทียม

ในปี 2565 นี้ แสนสิริมุ่งสร้างความเท่าเทียมเป็นบรรทัดฐานใหม่อย่างต่อเนื่อง เป็นองค์กรแรกในประเทศไทย และ 1 ใน 200 บริษัทชั้นนำทั่วโลก อาทิ ไมโครซอฟต์ กูเกิ้ล โคคา-โคล่า เน็ตฟลิกซ์ และไนกี้ ที่ได้ร่วมลงนามในสัญญา UN Global Standards of Conduct for Business หรือมาตรฐานข้อปฏิบัติทางธุรกิจขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ภายใต้การสนับสนุนของ UNDP เพื่อลดการแบ่งแยกและความเหลื่อมล้ำในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

UN Global Standards of Conduct for Business เขียนขึ้นโดยสำนักงานของข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (Offices of the United Nations High Commissioner for Human Rights – OHCHR) โดยมีเป้าหมายเพื่อรณรงค์ 5 หลักการทางธุรกิจ ซึ่งแสนสิริได้ลงนามที่จะยึดมั่นเพื่อปรับใช้ในสถานที่ทำงาน การดำเนินการค้าขาย รวมถึงในชุมชน ประกอบด้วย

1. เคารพสิทธิมนุษยชนของกลุ่ม LGBTQ+ ในทุกการดำเนินการและความสัมพันธ์ทางธุรกิจ

2. ขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อพนักงานที่เป็น LGBTQ+ ในสถานที่ทำงาน

3. ให้การสนับสนุนเชิงรุกแก่พนักงานที่เป็น LGBTQ+ โดยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมเชิงบวก

4. สร้างความเชื่อมั่น ซึ่งช่วยให้พนักงานทุกท่านทำงานร่วมกันได้อย่างมีเกียรติ ป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจเกิดจากการกีดกันต่อลูกค้า คู่สัญญา คู่ค้า รวมถึงบุคคลอื่น ๆ

5. ผลักดันประเด็นเรื่องความเท่าเทียมอย่างเป็นสาธารณะ ซึ่งอาจรวมไปถึงการรณรงค์ในที่สาธารณะ สนับสนุนให้เกิดข้อตกลงการปฏิบัติร่วมกัน กระตุ้นให้เกิดการพูดคุยในสังคม หรือการให้ความสนับสนุนทางการเงินหรือปัจจัยต่างๆ ต่อองค์กรที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของ LGBTQ+

แสนสิริเชื่อว่า ทุกมิติของชีวิตเกี่ยวข้องกับเรื่องความเท่าเทียม จึงให้ความสำคัญในด้านนี้อย่างจริงจรังและขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเป็นสะพานเชื่อมต่อพันมิตรที่มีวิสัยทัศน์เดียวกัน เพื่อผลักดันส่งเสริมความเท่าเทียมและความหลากหลายในสังคมไทยในทุกมิติ 6 ปีที่ผ่านมา แสนสิริมุ่งมั่นส่งเสริมความเท่าเทียมและเปิดกว้างรับความหลากหลายอย่างเป็นรูปธรรมภายในองค์กรครอบคลุมตั้งแต่พนักงานและครอบครัว และล่าสุดปี 2565 กับการมอบสวัสดิการสำหรับพนักงานที่มีความหลากหลายในองค์กร ได้แก่

  • ลาสมรสไม่เกิน 6 วันต่อปี
  • ลาผ่าตัดแปลงเพศไม่เกิน 30 วันต่อปี
  • ลาฌาปนกิจคู่ชีวิตไม่เกิน 15 วันต่อปี
  • ลาเพื่อดูแลคู่ชีวิตและบุตรบุญธรรมไม่เกิน 7 วันต่อปี
  • สวัสดิการสำหรับพนักงานยังครอบคลุมไปถึงคู่ชีวิตของพนักงาน อาทิ วัคซีนทางเลือก ประกันสุขภาพ และอื่น ๆ

นายเศรษฐา กล่าวเพิ่มเติมว่า แสนสิริร่วมกับพันธมิตรคู่ค้าทั้งธุรกิจชั้นนำ ธุรกิจ SMEs และธุรกิจระดับโลก ที่มีวิสัยทัศน์เดียวกัน เพื่อผลักดันความเท่าเทียมจากในองค์กร และสร้างสังคมไทยที่มีความเท่าเทียมกันในทุกมิติ โดยพันธมิตรในปีนี้คือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย

ที่เห็นคุณค่าของความเท่าเทียมและความหลากหลายที่ ซึ่งหวังว่าการร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการจุดประกายให้ภาคส่วนอื่น ๆ เปิดกว้างยอมรับความหลากหลายในสังคม และสร้างความเท่าเทียมในทุกมิติจนกลายเป็นมาตรฐานสังคมมากขึ้น ทั้งนี้ ทั้ง 3 องค์กรจะร่วมพันธกิจระยะยาว 3 ปี ประกอบด้วย

– เป้าหมายระยะสั้น ปีที่ 1: เข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับความหลากหลายและยอมรับความแตกต่าง (diversity & inclusion: D&I) ที่จัดโดย UNDP อาทิ Roundtable Discussion on LGBTI Inclusion in Thai Business: The Economic Environment และอื่น ๆ แบ่งปันองค์ความรู้ และกรณีศึกษา ที่แต่ละองค์กรได้ลงมือปฏิบัติ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการดำเนินงานเกี่ยวกับความเท่าเทียม

เข้าร่วมในเวทีสาธารณะ และเวทีที่มีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และกรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงแรงงาน เพื่อผลักดัน ต่อยอด และสร้างระบบนิเวศเรื่องความเท่าเทียม

– เป้าหมายระยะกลาง ปีที่ 2: ประยุกต์องค์ความรู้ เพื่อสร้างบรรทัดฐานและแนวทางปฏิบัติร่วมกัน อาทิ สวัสดิการเพื่อความหลากหลาย เชื่อมต่อโครงการคู่ค้าทางธุรกิจ (supply chain) เพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมให้กับพันธมิตรทางธุรกิจ, ผู้รับเหมา, คู่ค้า, และอื่น ๆ

ร่วมงานเสวนาหรือให้ความรู้ร่วมกันบนเวทีสาธารณะ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ภาคธุรกิจ และสังคม ตลอดจน ขยายวงกว้างของการรณรงค์เรื่องความเท่าเทียม จากเรื่องเพศไปยังเรื่องอื่น ๆ อาทิ เด็กและเยาวชน, สตรี, ผู้พิการ, รวมถึง ผู้สูงอายุ

– เป้าหมายระยะยาว ปีที่ 3: ร่วมมือทำแคมเปญเกี่ยวกับ diversity & inclusion รวมถึงการสร้างแคมเปญต้นแบบ ที่สามองค์กรริเริ่ม และพัฒนาร่วมกัน

นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า แสนสิริร่วมมือกับ 8 พันธมิตรธนาคาร ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารออมสิน, ธนาคารทีเอ็มบีธนชาติ, และธนาคารยูโอบี ต่อยอดแคมเปญ “Live Equally…เราเท่ากัน ฉันเท่าเธอ” ปีที่ 2 มอบสินเชื่อบ้านสำหรับคู่ชีวิตที่มีความหลากหลาย เปิดกว้างให้ทุกคู่ชีวิตที่มีความหลากหลายเป็นเจ้าของบ้านแสนสิริได้อย่างเท่าเทียม และให้โอกาสมีบ้านในฝันเป็นจริงได้ง่ายขึ้น

นอกจากนั้น เมื่อปี 2564 แสนสิริได้ช่วยเหลือเอสเอ็มอีภายใต้โครงการ “SANSIRI x SCB: BUILD FOR ALL สร้างไปด้วยกัน” ให้สามารถฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน คิดเป็นวงเงินการช่วยเหลือรวม 7,000 ล้านบาท โดยเป็นวงเงินอุดหนุนสินค้าจากเอสเอ็มอีจากแสนสิริ 6,000 ล้านบาท และเงินสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจจากธนาคารไทยพาณิชย์ 1,000 ล้านบาท

และล่าสุดกับ 2 รางวัล บทพิสูจน์ความมุ่งมั่น แสนสิริผู้นำองค์กรต้นแบบด้านความเท่าเทียม ได้แก่ รางวัลชมเชย Human Rights Award ปี 2565 จากกรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรมและ รางวัลองค์กรเครือข่ายตัวอย่างด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

นายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (United Nations Development Programme: UNDP) กล่าวว่า ความท้าทายในหลาย ๆ ประเทศคือ โครงสร้างทางสังคมที่ยังมีความอนุรักษ์นิยม แต่ในประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการยอมรับความหลากหลาย เพราะรัฐบาลเองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

“UNDP มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่แสนสิริตอกย้ำความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมประเด็นความหลากหลาย ความเท่าเทียมและการมีส่วนร่วม ตลอดจนริเริ่มความร่วมมือกับดีแทคและยูนิลีเวอร์เพื่อผลักดันค่านิยมและหลักการเหล่านี้ในบริษัท และ ในสังคมไทย UNDP จะทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในการส่งเสริมความหลากหลายและการมีส่วนร่วมของ LGBTI ในที่ทำงาน เพื่อไม่ให้ใครต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลังในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคยึดมั่นในมาตรฐานสูงสุดด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงการขับเคลื่อนความหลากหลายและการมีส่วนร่วม ทั้งในระดับองค์กรและสังคมผ่านบริการเครือข่ายของดีแทค รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ อาทิ นโยบายลาคลอด 6 เดือน ซึ่งประกาศใช้ครั้งแรกปี 2559 และนโยบายสวัสดิการเท่าเทียมสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน ประกาศใช้ในปี 2564

การจับมือกับแสนสิริและยูนิลีเวอร์ครั้งนี้ ดีแทคมุ่งหวังที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับองค์กรธุรกิจอื่น ๆ ในประเทศไทย นำเอานโยบายด้านความหลากหลายและการมีส่วนร่วมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหลักการดำเนินธุรกิจ ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นการดำเนินงานของดีแทคในสามมิติ ได้แก่

แนวคิด #inclusivedtac ดีแทคเชื่อว่าความเท่าเทียมและความหลากหลายนั้นเริ่มต้นจากการเปิดให้ทุกคนในองค์กรเข้ามามีส่วนร่วม, แผนธุรกิจ ‘ดีทั่วดีถึง ดีไปด้วยกันทุกคน (Good for All, Good Together)’ เพื่อช่วยให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงบริการการเชื่อมต่อได้มากยิ่งขึ้น, และโครงการ Safe Internet เสริมสร้างภูมิคุ้มกันออนไลน์และสอนให้เด็กและเยาวชนใช้ประโยชน์จากโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย และปกป้องตนเองจากภัยออนไลน์ รวมถึงการกลั่นแกล้งออนไลน์ (ไซเบอร์บูลลี่) ซึ่งครูหยิบยกไปขยายผลต่อในรั้วโรงเรียน และข้อปฏิบัติร่วมเพื่อหยุดการไซเบอร์บูลลี่ ซึ่งทำหน้าที่เป็นแนวทางในการหยุดยั้งการกลั่นแกล้งออนไลน์ในโรงเรียน

นางณัฏฐิณี เนตรอำไพ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า ความเท่าเทียม (equality) คืออุดมคติที่ทุกคนควรมี ในขณะที่ความเสมอภาค (equity) คือหนทางในการทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน

ยูนิลีเวอร์เลือกที่จะให้ความเสมอภาค นี่คือเหตุผลที่เราให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์หาอุปสรรคในโครงสร้างของเราที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมหรือเสมอภาค ทั้งนี้ เพื่อลดอุปสรรคอย่างยั่งยืนผ่านนโยบาย แนวทางปฏิบัติ และมาตรการของเรา ยูนิลีเวอร์ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการของเราในการสร้างโฆษณา การสรรหาพนักงาน การประเมินประสิทธิภาพและศักยภาพ การประเมินผลเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ การพิจารณาค่าตอบแทน และปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดผลกระทบในทางลบที่มาจากความไม่เท่าเทียมหรือเสมอภาค

“เรากำลังสร้างสถานที่ทำงานที่ให้ความเท่าเทียมกัน ซึ่งสนับสนุนเพิ่มขีดความสามารถ และตระหนักถึงคุณค่าขั้นพื้นฐานของผู้คนจากทุกเอกลักษณ์ ภูมิหลัง และทุกสายอาชีพ ยูนิลีเวอร์ประเทศไทยมีผู้จัดการระดับกลางขึ้นไปที่เป็นผู้หญิงมากถึง 66% และทำงานกับ SME ที่หลากหลาย 131 บริษัท ซึ่งหมายถึงมีเป็นเจ้าของ ผู้จัดการ และบริหารโดยสมาชิกของกลุ่มที่หลากหลาย เช่น ผู้หญิง LGBTQI+ คนพิการหรือชนกลุ่มน้อย 51% หรือมากกว่า

เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงทักษะ แหล่งเงินทุน เครือข่ายธุรกิจผ่านโครงการพัฒนา SMEs ยกระดับความสามารถของ SMEs ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาเป็นคู่ค้าทางธุรกิจกับยูนิลีเวอร์ ยูนิลีเวอร์มุ่งมั่นที่จะยกระดับมาตรฐานการครองชีพทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่า สร้างโอกาสผ่านการไม่แบ่งแยก และเตรียมชุมชนให้พร้อมสำหรับการทำงานในอนาคตผ่านโครงการความหลากหลายของคู่ค้า เราเชื่อว่าความเสมอภาคคือผลลัพธ์ ที่สามารถรับประกันได้ว่าความสำเร็จของเราได้มาจากการรับฟังความคิดเห็น การสร้างทักษะ และประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลายของพนักงานและคู่ค้าเรา”