ประเทศไทย ในวันที่การตายมากกว่าการเกิด ทางออกสังคมไร้ลูกหลาน

จำนวนครัวเรือนผู้สูงอายุที่ไร้บุตรหลานมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก โดยในปี 2561 จำนวนครัวเรือนที่สามีและภรรยาไม่มีบุตร และครัวเรือนที่คนเป็นโสดและไม่มีบุตร ที่เป็นผู้สูงอายุมีมากกว่า 4 ล้านครัวเรือน

วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 งานวิจัยของ 3 นักวิชาการ ได้แก่ นายเกื้อ วงศ์บุญสิน นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ อาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ฯ และนางพัชราวลัย วงศ์บุญสิน นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า หลายภาคส่วนในประเทศไทยเริ่มตระหนักและเห็นความสำคัญของการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ เนื่องจากเกรงว่าอัตราภาวะเจริญพันธุ์ (Total Fertility Rate: TFR) ของไทยที่กำลังลดลงอย่างรวดเร็ว จะไม่เอื้อต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

โดยแนวทางการพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้อัตราเจริญพันธุ์รวมของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปี 2564 ประเทศไทยมีการตายมากกว่าการเกิดเป็นครั้งแรก (อ้างอิงสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง) โดยในปี 2564 (เดือนมกราคม-ธันวาคม) ประเทศไทยมีการตายมากกว่าการเกิด 19,080 คน ในขณะที่ปี 2563 ประเทศยังมีการเกิดมากกว่าการตายอยู่ถึง 85,930 คน

ทำไมการตายจึงมากกว่าการเกิด

หากมองย้อนไปในอดีตในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2510-2514) พบว่าอัตราภาวะเจริญพันธุ์ของประเทศไทยเคยอยู่ที่ร้อยละ 6 โดยในขณะนั้นมีการมองว่า อัตราภาวะเจริญพันธุ์ในระดับสูงเป็นการถ่วงโอกาสการพัฒนาของประเทศ

รัฐบาลจึงได้เริ่มกำหนดนโยบายลดอัตราการเพิ่มประชากรไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515-2519) โดยมุ่งดำเนินการลดอัตราการเพิ่มประชากรอย่างต่อเนื่องจนถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535-2539) นอกจากนี้ปัจจัยทางสังคมและทางเศรษฐกิจอื่น ๆ อาทิ การเพิ่มขึ้นของอัตราการมีส่วนร่วมในกําลังแรงงานของสตรี (female labor force participation) มีส่วนสำคัญที่ทำให้อัตราภาวะเจริญพันธุ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง

กลับลำนโยบายลดประชากร

ประเทศไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงนโยบายทางประชากรในช่วงแผนพัฒนาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2545-2549) โดยกำหนดนโยบายที่เน้นการกระจายตัวประชากร และการตั้งถิ่นฐานชุมชนเมือง-ชนบทที่เติบโตอย่างเหมาะสม และในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2550-2554) มุ่งรักษาระดับของอัตราภาวะเจริญพันธุ์ไม่ให้ต่ำกว่า 1.8 โดยในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับต่อ ๆ ไปก็ยังคงมุ่งเน้นรักษาระดับอัตราภาวะเจริญพันธุ์ไม่ให้อยู่ในระดับต่ำ

อย่างไรก็ดี การรักษาระดับอัตราภาวะเจริญพันธุ์ไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำได้โดยง่าย โดยในปี 2553 อัตราภาวะเจริญพันธุ์ของประเทศลดลงเหลือ 1.6 ซึ่งต่ำกว่าระดับทดแทน (replacement level) และยังคงลดลงเรื่อยมา

โดยตัวเลขจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย 2562 ที่ดำเนินการโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ร่วมมือกับองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย พบอัตราภาวะเจริญพันธุ์ลดลงเหลือ 1.44 ในขณะที่ สถิติสาธารณสุข ปี 2562 พบอัตราภาวะเจริญพันธุ์อยู่ที่ระดับ 1.29 การลดลงของภาวะเจริญพันธุ์อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง และการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ เป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในระดับประเทศ โดยประเด็นเหล่านี้ได้ถูกบรรจุให้เป็น “วาระแห่งชาติ” โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในหลาย ๆ ประเด็น

การกลับลำของนโยบายทางประชากรแบบนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็น เช่น ประเทศจีนที่เคยใช้นโยบายลูกคนเดียว ซึ่งสามารถเรียกได้ว่าเป็นนโยบายที่เน้นการส่งต่อความมั่งคั่งจากลูกสู่พ่อแม่ (wealth flows from children to parent) เพราะการมีลูกเยอะช่วยพ่อแม่ทำงานได้ ก็ได้เปลี่ยนนโยบายให้ไปสู่การมีลูกสองคน และในปัจจุบันได้ปรับนโยบายเป็นลูกสามคน ซึ่งสามารถเรียกได้ว่าเป็นนโยบายที่เน้นการส่งต่อความมั่งคั่งจากพ่อแม่ไปสู่ลูก เป็นการสร้างทรัพยากรมนุษย์สู่สังคมอย่างยั่งยืน

ความท้าทายที่ไม่ถูกพูดถึง: สังคมไร้บุตรหลาน

อย่างไรก็ดี ความท้าทายอีกมุมหนึ่งของการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุที่จะมีความสำคัญอย่างมากในอนาคต แต่ยังไม่ได้รับความสนใจและยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องจากประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ คือการก้าวเข้าสู่ “สังคมไร้บุตรหลาน”

จากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานฃองประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2561 พบว่า โครงสร้างของครัวเรือนที่ “ไร้บุตรหลาน” มีสัดส่วนที่สูงขึ้น โดยในปี 2561 นั้นมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 37.4 ของครัวเรือนทั้งหมด (เพิ่มจากร้อยละ 26.1 ในปี 2549) ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโต (growth rate) ที่สูงถึงร้อยละ 43.3

โดยโครงสร้างของครัวเรือนที่ไร้บุตรหลาน ประกอบด้วยครอบครัวที่สามีและภรรยาไม่มีบุตร (Double Income No Kids: DINK) และครอบครัวที่ผู้ชายหรือผู้หญิงอยู่คนเดียวและไม่มีบุตร (Single Income No Kids: SINK)

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบระหว่าง ครอบครัว DINK กับ ครอบครัว SINK พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่าน ครอบครัว SINK มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นมากกว่าอย่างชัดเจน ถ้าคิดเป็นจำนวนจะพบว่า ประชากรไทยในปัจจุบันกว่า 21 ล้านครัวเรือน เป็นครัวเรือน “ไร้บุตรหลาน” ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจมาก และที่น่าเป็นห่วงมากขึ้น คือตัวเลขนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

หากอ้างอิงข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานฃองประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2561 พบว่าจำนวนครัวเรือนผู้สูงอายุที่ไร้บุตรหลานมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก โดยในปี 2561 จำนวนครัวเรือน DINK และครัวเรือน SINK ที่เป็นผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) มีจำนวนมากกว่า 4 ล้านครัวเรือน

สาเหตุหลักของการลดลงของอัตราภาวะเจริญพันธุ์นั้นมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และค่านิยมทางสังคม อาทิเช่น การมีงานทำของสตรีที่มีจำนวนและอัตราที่สูงขึ้น อายุแรกสมรสของคู่สมรสที่มีแนวโน้มสูงขึ้น การที่สตรีไทยมีบุตรคนแรกในวัยที่สูงกว่าในอดีต แนวโน้มของการเป็นโสดที่เพิ่มมากขึ้น และแนวโน้มการหย่าร้างที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้เป็นผลจากค่านิยมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป โดยผู้คนในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการมีความพร้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเองเป็นลำดับต้นในการบรรลุเป้าหมายของชีวิต

ผลกระทบสังคมสูงวัยไร้บุตรหลาน

งานวิจัยนี้ได้อ้างอิงถึงงานวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ได้ศึกษาถึงผลกระทบของผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตรหลานโดยพบว่า การไม่มีลูกหลานอาจจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้สูงอายุได้หลัก ๆ อยู่ 2 ทาง คือ

1. ทางการเงินเนื่องจากผู้สูงอายุไม่มีลูกหลานมาช่วยเหลือปัญหาทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นในวัยเกษียณ ซึ่งปัญหาทางการเงินเหล่านี้อาจจะมาจากการเก็บเงินออมไม่เพียงพอ หรือเกิดจากการมีปัญหาสุขภาพที่จำเป็นต้องใช้เงินในการรักษาตัวมากกว่าที่ได้วางแผนเตรียมไว้ สำหรับผลกระทบเชิงลบต่อผู้สูงอายุอีกทางหนึ่งคือ

2. ทางสุขภาวะทางจิต โดยผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตรหลานอาจรู้สึกเหงา รู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกไม่มีค่า และขาดการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ เป็นต้น

ปัญหานี้เป็นปัญหาที่มีโอกาสส่งผลกระทบเชิงลบในวงกว้าง และมีความรุนแรงมากกว่าในประเทศที่กำลังพัฒนา เหตุผลหนึ่งอาจจะเป็นเพราะประเทศที่พัฒนาแล้วมีรายได้โดยเฉลี่ยที่สูงกว่า และมีสวัสดิการทางสังคมที่ค่อนข้างดีกว่ามาก อย่างที่มักจะกล่าวกันว่าประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น “รวยก่อนสูงวัย” แต่ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา “สูงวัยก่อนรวย”

ทางออกของสังคมสูงวัยไร้ลูกหลาน

เป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และจำเป็นต้องยอมรับว่าสังคมไทยกำลังเปลี่ยนจากสังคม “ปู่ย่าตายาย” หรือสังคม “พ่อแม่ลูก” ไปสู่สังคม “ไร้บุตรหลาน” อย่างรวดเร็ว ดังนั้น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ ประชาชนคนไทยทุกคนจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยไร้บุตรหลานอย่างเร่งด่วน

โดยผู้สูงวัยในอนาคตจะไม่สามารถอาศัยการดูแลของครอบครัว แต่ต้องอาศัยการวางแผนเพื่อดูแลตัวเอง ส่วนภาครัฐเองก็จำเป็นต้องเป็นที่พึ่ง(สุดท้าย) ที่สำคัญสำหรับผู้สูงอายุไทยในอนาคต นอกจากนี้แล้วการมีกลุ่มเพื่อนฝูงในวัยใกล้เคียงกันคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันก็น่าจะมีส่วนสำคัญในลดปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงวัยไร้บุตรหลานได้ (อ้างอิงงานวิจัยของ Mair, 2019)