มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ภารกิจช่วยโลกแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

แปลงปลูกผัก
แปลงปลูกผัก

มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ก่อตั้งเมื่อปี 2456 ในสหรัฐอเมริกา โดยตระกูลร็อคกี้เฟลเลอร์เป็นเศรษฐี และนักธุรกิจ ปัจจุบันมูลนิธิอายุเกือบ 100 ปี มีสำนักงานใน 5 เมือง ได้แก่ นิวยอร์ก และวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา, กรุงเทพฯ ประเทศไทย, ไนโรบี ประเทศเคนยา และเบลลาจิโอ ประเทศอิตาลี ทั้งนั้นเพื่อมุ่งมั่นในการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษยชาติทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง โดยครอบคลุมด้านอาหาร สุขภาพ พลังงาน เศรษฐกิจ และการจ้างงาน

กล่าวกันว่า การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์กับประเทศไทยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2458 โดยช่วยเหลือประเทศไทยในการปรับปรุงด้านการแพทย์และแพทยศาสตร์ศึกษา สำหรับล่าสุดมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญกับมหาวิทยาลัยมหิดล ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการใช้องค์ความรู้ด้านจีโนม หรือพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต และการสร้างขีดความสามารถในการตรวจวัดคุณภาพทางโภชนาการ

ดีพาลี คานนา
ดีพาลี คานนา

“ดีพาลี คานนา” รองประธานประจำภูมิภาคเอเชีย มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ กล่าวว่ามูลนิธิมีภารกิจ 5 เสาหลัก ได้แก่

หนึ่ง ส่งเสริมการมีอาหารเพื่อสุขภาพและยั่งยืนที่สามารถเข้าถึงได้ทั่วโลก (advance good food for all) เพราะผู้คนกว่า 3,000 ล้านคนกำลังขาดการเข้าถึงอาหารที่ดี และเพียงพอ ขณะเดียวกัน แม้ว่าระบบอาหารจะมีมูลค่าตลาดโลกถึง 9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

แต่ 2 ใน 3 ของคนยากจนที่สุดกลับเป็นแรงงานเกษตรกรรม ดังนั้น ต้องทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่ดี และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกันให้กับผู้คนในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain)

สอง สร้างความก้าวหน้าด้านสุขภาพสำหรับทุกคน (achieve health for all) พัฒนาด้านสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อปรับปรุงผลลัพธ์สำหรับทุกคนในทุกพื้นที่

สาม ยุติความยากจนด้านพลังงาน (end energy poverty) เร่งการเข้าถึงพลังงานในชุมชนที่ด้อยโอกาส และมีรายได้น้อยทั่วโลก ทั้งยังส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้จากแหล่งที่เชื่อถือได้

สี่ ขยายความเท่าเทียมและโอกาสทางเศรษฐกิจ (expand equity and economic opportunity) ทุ่มเทเพื่อให้แน่ใจว่าทุกครัวเรือนในสหรัฐอเมริกามีงานทำที่สามารถตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานและมีเส้นทางสู่อนาคตที่ดีกว่า

ห้า ขยายขอบเขตความช่วยเหลือ (seize upon emerging frontiers) โดยใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม นอกจากนั้น ยังกระจายทุนส่วนตัวไปสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมในวงกว้างทั่วโลก และพยายามต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

บทบาทมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการเริ่มต้นในปี 2460 โดยมูลนิธิช่วยดำเนินการปราบปรามการแพร่ระบาดของโรคพยาธิปากขอ และการริเริ่มก่อตั้งกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย จากนั้นจึงมาร่วมมือกับรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่องในหลาย ๆ โครงการ เช่น ระหว่างปี 2460-2477 ก่อตั้งการศึกษาด้านการแพทย์ และการพยาบาลในไทย

ภายใต้การประสานงานร่วมกับสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ครั้งที่ยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ จากนั้นตั้งแต่ปี 2533 มูลนิธิได้ให้ทุนกว่า 300 ล้านบาทแก่มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อทำ 36 โครงการด้านเกษตร สุขภาพ และโภชนาการ

จนถึงทุกวันนี้มูลนิธิยังคงสนับสนุน ม.มหิดลต่อเนื่อง โดยล่าสุดให้ทุนจำนวนกว่า 78 ล้านบาท เพื่อ 2 โครงการคือ หนึ่ง การใช้องค์ความรู้ด้านจีโนมหรือพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ส่งผลให้ทีมสืบสวนจีโนมของ ม.มหิดล ลดระยะเวลาของการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 จากมากกว่า 1 เดือนเหลือน้อยกว่า 1 สัปดาห์

และทีมยังเพิ่มการสนับสนุนไปยังทีมสืบสวนจีโนมในอาเซียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการตรวจจับและรับมือกับเชื้อโควิด-19 ภัยคุกคามจากไวรัสอื่น ๆ และการระบาดใหญ่ของภูมิภาค

สอง การสร้างขีดความสามารถในการตรวจวัดคุณภาพทางโภชนาการ เพื่อต่อสู้กับภาวะโภชนาการต่ำและภาวะโภชนาการเกิน

นอกจากนั้น มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ยังสนับสนุนทุนมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ในการยกระดับ และเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข และโภชนาการในประเทศไทย ตลอดจนประเทศกําลังพัฒนาอื่น ๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) อีกทางหนึ่งด้วย

ขณะเดียวกัน ยังสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ของมหา’ลัยอื่น ๆ ด้วย เช่น ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว และหน่วยปฏิบัติการค้นหา และใช้ประโยชน์ยีนข้าวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อทำการวิเคราะห์ วิจัย และพัฒนาข้าวสรรพสี หรือข้าว 7 สี (rainbow rice) อย่างครอบคลุม โดยเป็นแนวคิดใหม่ด้านอาหาร ผ่านทุนสนับสนุนจำนวน 5.4 ล้านบาท และคาดว่าข้าวสรรพสีจะมีส่วนช่วยทั้งด้านความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ

โดยมีข้าวพันธุ์ใหม่ทั้งหมด 6 สายพันธุ์ ขยายพันธุ์แล้วสำหรับการทดลองภาคสนามในศูนย์วิทยาศาสตร์การข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และจะวิเคราะห์เมล็ดพันธุ์และใบข้าวสำหรับธาตุอาหารรอง แร่ธาตุ โลหะหนัก สารต้านอนุมูลอิสระ เส้นใยอาหารและไม่ใช่อาหาร กรดอะมิโนและโปรตีน รวมถึงปัจจัยต่อต้านสารอาหารอีกด้วย

“ดีพาลี คานนา” กล่าวด้วยว่าเมื่อปลายปี 2556 มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์เปิดตัวโครงการ 100 Resilient Cities โดยเมืองที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับเงินทุนและการสนับสนุนเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการรับมือกับแรงกระทบ และความท้าทายต่าง ๆ เพราะเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับแนวโน้ม 2 ประการคือ หนึ่ง ความเป็นเมืองที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองจะเพิ่มขึ้นเป็น 75% ภายในปี 2593

ประการที่สองคือ เมืองทั้งหลายกำลังประสบกับภัยคุกคามที่เกิดจากธรรมชาติและจากฝีมือมนุษย์ถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น ดังนั้น เมืองต่าง ๆ จำเป็นจะต้องคิดใหม่ทำใหม่ และโครงการ 100 เมืองที่ยืดหยุ่น (100 Resilient Cities) จะช่วยเหลือเมืองเหล่านี้ในการวางแผนรับมือ ตลอดจนเรียนรู้ และพัฒนาตนเองเพื่อเอาชนะอุปสรรคเหล่านั้นได้

สำหรับกรุงเทพฯได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกเครือข่ายของ 100 เมืองที่ยืดหยุ่น โดยได้รับการสนับสนุนด้านเทคนิคและทรัพยากรตลอดระยะเวลา 3 ปี เพื่อพัฒนาและดำเนินการตามแผนการจัดการทรัพยากรน้ำ และพัฒนาความยืดหยุ่นต่อภัยธรรมชาติและภัยที่มนุษย์สร้างขึ้น

ที่สำคัญมูลนิธิยังสนับสนุนศูนย์การออกแบบและพัฒนาเมืองแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม open data เพื่อระดมความคิดเห็นและแนวคิดของสาธารณชนอย่างเป็นระบบ และส่งเสริมการรวมเมืองในกรุงเทพฯ

ทั้งยังสนับสนุนสถาบันวิจัย และให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการออกแบบการมีส่วนร่วมของธุรกิจ และรูปแบบการเป็นเจ้าของระบบขนส่งทางคลองแบบใหม่ในกรุงเทพฯ พร้อมกับพัฒนาชุดข้อเสนอแนะเพื่อแจ้งแผนการยกระดับคลองต่อไป

ขณะที่วิกฤตสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น ในปีต่อ ๆ ไป มูลนิธิจะวางแผนเรื่องสภาพภูมิอากาศให้อยู่ในแนวหน้าของกลยุทธ์ การดำเนินงาน และการลงทุน โดยใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อช่วยสังคมทั่วโลกอย่างยั่งยืน