มองมุมคิด iiG สร้างคนดิจิทัล พัฒนาลูกค้าองค์กร พัฒนาประเทศ

สมชาย เมฆะสุวรรณโรจน์
สมชาย เมฆะสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอแอนด์ไอ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ในยุคของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (digital disruption) ที่ก่อให้เกิดการหลอมรวมสิ่งต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นความต้องการของลูกค้าซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และการแข่งขันทางธุรกิจ นับเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากสำหรับบริษัทต่าง ๆ ที่จะปรับตัวอย่างต่อเนื่อง และตอบสนองความคาดหวังของลูกค้า ก่อนที่จะถูกรุกล้ำโดยคู่แข่งรายใหม่ ๆ

ด้วยเหตุนี้ บริษัท ไอแอนด์ไอ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ iiG ในฐานะบริษัทที่ปรึกษา จึงพยายามยกระดับศักยภาพขององค์กรต่าง ๆ มาสู่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอย่างต่อเนื่องกว่า 31 ปี ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในเรื่องของการจัดการและการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กร การบริหารลูกค้าสัมพันธ์ และการบริหารประสบการณ์ลูกค้า

ล่าสุด “สมชาย เมฆะสุวรรณโรจน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอแอนด์ไอ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นำพาองค์กรให้แข็งแกร่งอย่างมั่นคง จนสามารถคว้ารางวัลใหญ่ระดับสากล “Master Entrepreneur Award 2022” ที่จัดโดย Asia Pacific Enterprise Awards (APEA) ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้บริหารองค์กรธุรกิจที่มีคุณสมบัติโดดเด่นในด้านการบริหารงาน อีกทั้งยังเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างขวาง ตลอดจนความสามารถในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ

“สมชาย” กล่าวว่า รางวัล Asia Pacific Enterprise Awards เป็นโครงการรับรองรางวัลระดับภูมิภาคที่ยกย่องความเป็นเลิศของผู้ประกอบการ ตั้งเป้าที่จะรวมกลุ่มผู้ประกอบการและองค์กรชั้นนำทั่วเอเชีย เพื่อกระตุ้นนวัตกรรม แนวปฏิบัติที่เป็นธรรม และการเติบโตของผู้ประกอบการ

เพื่อสร้างระบบนิเวศของผู้ประกอบการให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะกำหนดทิศทางของเอเชียให้เติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน โดยมีการเริ่มมอบรางวัลตั้งแต่ปี 2007 ทั้งหมด 2 ด้านคือ หนึ่ง รางวัลที่พิจารณาผู้บริหาร (leadership) สอง รางวัลที่พิจารณาสถานประกอบการ

“ทางผู้จัด APEA ติดต่อเข้ามาเพราะเล็งเห็นว่า iiG มีคุณสมบัติเข้าข่ายเกณฑ์ และจากนั้นให้เราส่งข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวบริษัท ผลประกอบการ ข้อมูลส่วนตัวของผู้บริหาร เพื่อนำไปกลั่นกรอง และรอบสุดท้ายมีการสัมภาษณ์กว่า 1 ชั่วโมง

โดยคณะกรรมการจากสิงคโปร์ ถามเรื่องวิสัยทัศน์ เป้าหมายองค์กร คุณค่าในองค์กรต่าง ๆ รวมทั้งกลยุทธ์ การริเริ่มสร้างสรรค์ เพื่อนำไปประเมิน โดยมีคณะกรรมการประเมินจากหลายชาติ”

สิ่งที่คณะกรรมการชื่นชม iiG คือ เมื่อปี 2020 ท่ามกลางกระแสโควิด-19 iiG เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯสำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย

ถึงแม้ตอนนั้นตลาดยังไม่รู้จักธุรกิจแนวนี้เท่าไหร่ เรียกว่า iiG เข้าไปเป็นผู้จุดประกาย สร้างกระแสให้ตลาดเกิดการตื่นตัว เรื่องของดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม

นอกจากนั้น คณะกรรมการยังเห็นว่าที่ผ่านมา 3 ปี บริษัทบุกเบิกเรื่องเทคโนโลยีใหม่ตลอด ทั้งยังมีการปรับตัวตลอดเวลา ที่สำคัญ เรายังเป็นบริษัทที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่หลาย ๆ ธุรกิจหดตัวลงเพราะผลกระทบจากโควิด-19 แต่ iiG สามารถเติบโตเฉลี่ย 30-40% ต่อปี ติดต่อกัน 3 ปี

“สมชาย” กล่าวต่อว่า วิสัยทัศน์ของ iiG คือต้องการเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านดิจิทัล และเทคโนโลยีชั้นนำของไทยที่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก และต้องการช่วยติดอาวุธให้กับองค์กรต่าง ๆ ที่เป็นลูกค้าสามารถแข่งขันได้ ท่ามกลางความผันผวนต่าง ๆ เนื่องจากโลกทุกวันนี้ถูกดิสรัปต์มาหลายปีแล้ว ซึ่ง 3-4 ปีที่ผ่านมาถูกดิสรัปต์หนักมาก ทั้งด้านเทคโนโลยี โรคระบาด ภาวะสงคราม เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก

กล่าวกันว่า ท่ามกลางภาวะผันผวนต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้การดำเนินธุรกิจมีความยากลำบากมากขึ้น ฉะนั้น การที่ธุรกิจจะดำเนินอยู่ได้ ไม่ล้มหายตายจาก ต้องมีการขับเคลื่อนที่แตกต่างออกไป และไม่มีกลยุทธ์ธุรกิจใดที่สามารถทำได้โดยปราศจากเทคโนโลยี โดยเฉพาะการสร้างองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืน

“ดังนั้น ธุรกิจของเราจึงต้องพึ่งทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะดิจิทัล และมีความสามารถระดับสูง ซึ่งในไทยยังมีทรัพยากรด้านนี้น้อยมาก และเป็นที่ต้องการของหลาย ๆ องค์กร ดังนั้น วิธีที่เราสรรหาคนคือการจัดโครงการโดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในทุกภูมิภาคทั่วประเทศเพื่อร่วมพัฒนาหลักสูตร และส่งพนักงานของ iiG ไปเป็นวิทยากรสอนนักศึกษาระดับปี 3-4 ในเรื่องการปฏิบัติ โดยนำเคสจริงในโลกธุรกิจ และความท้าทายของลูกค้าไปสอน ให้นักศึกษาเห็นโจทย์ธุรกิจจริง ๆ”

จากนั้นจึงเปิดรับนักศึกษาที่เรียนกับเรามาร่วมงานด้วย โดยเลือกรับคนที่เป็นทาเลนต์ ส่วนใหญ่เด็กจบใหม่จะเข้ามาอยู่กับเราในตำแหน่ง software developer, programmer และ coder และที่ผ่านมาเราทำกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มา 5 ปี และ iiG ก็เปิดสำนักงานที่ จ.เชียงใหม่ โดยมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ประมาณ 100 กว่าคน

“สมชาย” กล่าวว่า 2-3 ปีให้หลังมานี้ เริ่มเห็นเทรนด์บริษัทด้านเทคโนโลยีมาใช้วิธีหาคน โดยเจาะไปที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มากขึ้น เราจึงขยับไปจังหวัดอื่น เช่น สงขลา โดยทำโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จากนั้นจึงไปตั้งสำนักงาน iiG ที่หาดใหญ่ โดยตอนนี้มีนักพัฒนาซอฟต์แวร์อยู่ 20 กว่าคน และเรากำลังจะขยายโครงการไปทางมหาวิทยาลัยที่อยู่ในภาคอีสาน และ กทม.

ล่าสุดทำเอ็มโอยูร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โครงการที่เราทำเป็นการสร้างคน ช่วยแก้ปัญหาให้กับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ขาดคน และตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจะเดินหน้าไม่ได้ถ้าไม่มีทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะพร้อมในด้านดิจิทัล

ส่วนพนักงานระดับอื่น ๆ เช่น คนที่เป็นที่ปรึกษาดูแลลูกค้า จะต้องมีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญ ที่นอกจากจะเข้าใจเทคโนโลยีแล้ว ต้องเข้าใจอุตสาหกรรมของลูกค้า ความท้าทายต่าง ๆ ซึ่งพนักงานกลุ่มนี้หลายคนดึงมาจากบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก

“สมชาย” กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ iiG มีพนักงาน 350 คน และยังต้องการรับคนอีกเยอะ ตั้งเป้าเพิ่มขนาดปีนี้ 400-500 คน เพราะบริษัทมีดีมานด์ด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์มจากลูกค้ามาเยอะมาก ดังนั้น บริษัทต้องการความรวดเร็วในการทำงาน เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าอย่างรวดเร็ว

“iiG ใช้วิธีการทำงานแบบอะไจล์ (agile) เพื่อสามารถออกผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว และองค์กรของเราต้องมีการเรียนรู้ตลอดเวลา โดยเน้นเรื่อง fast and lifelong learning ซึ่งผู้บริหารเองก็หยุดเรียนรู้ไม่ได้ ต้องกระหายที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา ปรับตัวตลอด ไม่เช่นนั้นจะช่วยลูกค้าไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง”

ผลเช่นนี้ พนักงานของ iiG จึงผสมผสานกันหลายเจเนอเรชั่นตั้งแต่ X, Y และ Z สิ่งสำคัญในการบริหารองค์กรยุคนี้คือการผสมผสานประสบการณ์ทำงานของคนต่างเจเนอเรชั่นให้ได้ ผู้บริหารต้องมีทักษะ empathy ซึ่งเป็นความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคนอื่น ไม่ใช่แค่ฟัง แต่ต้องคิดแบบผู้อื่นได้

เพราะถ้าทักษะนี้ลดลงจะทำงานกับคนอื่นได้ยาก และต้องพยายามทำให้พนักงานมีที่ยืนในองค์กร ตอบโจทย์เขาได้ ที่สำคัญ ต้องทำให้เข้ากับเป้าหมายองค์กรได้ด้วย

“เราจะ engage พนักงานแบบเดิมไม่ได้ ต้องทำมากกว่าการให้ผลประโยชน์ที่สูง เพราะทุกองค์กรด้านเทคโนโลยีตอนนี้แข่งกันที่ตัวเงินเยอะมากเพื่อแย่งคน ดังนั้น เราต้องมีสิ่งที่มากกว่าคือต้องมีเรื่องของการสร้างความผูกพัน สร้างวัฒนธรรมที่คนทำงานและมีความสุข และตอบโจทย์ชีวิต”

“สมชาย” กล่าวทิ้งท้ายว่า โลกของ workplace จะเป็นระบบเสมือนจริงมากขึ้น ไม่ใช่แค่การประชุมทางออนไลน์เท่านั้น แต่จะมีการสร้าง digital headquarter หรือสำนักงานใหญ่ที่ไม่ใช่อาคารจริง ๆ และสามารถทำงานปฏิสัมพันธ์กับคนในองค์กรได้เสมือนทำงานแบบออฟไลน์ และโลกจะขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมากมาย

“ดังนั้น ประเทศไทยต้องพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ ดิจิทัล และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ข้อมูลและการวิเคราะห์ เพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพและทักษะด้านดิจิทัลเทคโนโลยีออกสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น”

ถึงจะทำให้ “คน” กลายเป็น “ทรัพยากรมนุษย์” ที่มีประสิทธิภาพ