กฎหมายที่สอดคล้องกับนวัตกรรม

ค้อนยุติธรรม
คอลัมน์ : CSR TALK
ผู้เขียน : ดร.พันธุ์ปิติ โพธิ์วิจิตร มหาวิทยาลัยรังสิต

เมื่อสภาพสังคม องค์ความรู้ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเปลี่ยนไป ความต้องการของผู้บริโภคก็มีความซับซ้อนมากขึ้น ผู้ผลิตจำเป็นต้องหาวิธีในการตอบโจทย์ดีมานด์เหล่านั้น เช่นเดียวกับการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 จนทำให้เกิดกระแสกัญชาฟีเวอร์ นำมาซึ่งความกังวลของหลาย ๆ ฝ่ายถึงแนวทางในการควบคุม และมีเสียงเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งออกกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อควบคุมการบริโภคกัญชา

การควบคุมในลักษณะนี้คล้ายคลึงกับการกำกับดูแลสินค้า และบริการนวัตกรรมอื่น ๆ อาทิ แกร็บ หรือบิตคอยน์ ที่เมื่อสินค้าเริ่มมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย ก็จำเป็นต้องมีกฎระเบียบตามออกมา เพื่อปิดช่องโหว่และคุ้มครองผู้บริโภค

แต่ที่น่าสนใจคือเรื่องของ “บุหรี่ไฟฟ้า” ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่พัฒนามาจากบุหรี่ เพื่อให้นิโคตินแก่ผู้สูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าทำงานโดยมีระบบให้ความร้อน ซึ่งไม่เกิดการเผาไหม้ผ่านนิโคตินเหลว แทนที่จะเป็นการจุดไฟเผาเหมือนบุหรี่ชนิดเดิม ซึ่งลดสารอันตรายหลายชนิดที่เกิดจากการเผาไหม้

บุหรี่ไฟฟ้าในวันนี้เข้าสู่ตลาดในฐานะผลิตภัณฑ์ทางเลือกให้แก่ผู้สูบบุหรี่ที่มีกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก และดูเหมือนว่าบุหรี่ไฟฟ้าตอบโจทย์ผู้สูบบุหรี่ได้อย่างดี เนื่องจากมีการเติบโตในตลาดอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของ Statista ยอดขายในกลุ่มบุหรี่ไฟฟ้ามีมูลค่า 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 หรือประมาณ 7.8 แสนล้านบาท ซึ่งเติบโตจากปี 2560 กว่า 65%

และคาดว่าจะเติบโตทุกปีที่ 4.18% โดยตลาดใหญ่ 3 อันดับแรกจะอยู่ที่สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร และแคนาดา

ปัจจัยที่ช่วยเร่งการเติบโตของภาคส่วนนี้มาจากบริษัทบุหรี่รายใหญ่ ๆ ของโลก และบริษัท startup อย่าง Juul Labs หรือ RELX Technology ที่เข้ามาเป็นผู้เล่นสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สูบบุหรี่

Juul Labs เป็นบริษัทที่ก่อตั้งมาได้เพียงแค่ 7 ปีที่ซานฟรานซิสโก แต่ได้รับความนิยมในประเทศสหรัฐอเมริกาจนมียอดขายเติบโตถึง 800% ในปี 2560 มีส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 70% ในอเมริกา ต่อมาปี 2562 บริษัทยาสูบเจ้าใหญ่อย่าง Altria ตัดสินใจเข้าซื้อหุ้น 35% ในมูลค่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4.3 แสนล้านบาท

แม้ว่า Juul Labs จะต้องเผชิญกับความท้าทายกับกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อที่จะปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึง แต่ Juul Labs ก็ยังครองส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกได้กว่า 27.2% ในปี 2563

เมื่อมาดูที่ผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าเจ้าใหญ่ฝั่งจีนก็คงหนีไม่พ้น RELX Technology ที่มียอดขาย 585 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และเติบโตอย่างก้าวกระโดดที่ 147% จากการที่ RELX Technology เข้าสู่ตลาดหุ้นนิวยอร์กในเดือนมกราคม ปี 2564 ทำให้ CEO และผู้ร่วมก่อตั้งหญิง Kate Wong ติดอันดับ 561 ของผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ซึ่งในจีนนั้นผลิตภัณฑ์ของ RELX มีส่วนแบ่งถึง 2 ใน 3 ของตลาดบุหรี่ไฟฟ้า และคิดเป็นยอดขาย 4.5% ของตลาดบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลก

จากข้อมูลประชากรในสหรัฐอเมริกาในปี 2563 คาดการณ์ว่ามีผู้สูบบุหรี่ที่เป็นผู้ใหญ่ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากกว่า 5.6 ล้านคน มากกว่า 2.2 ล้านคนเป็นผู้ที่สูบบุหรี่ และกว่า 2.1 ล้านคนที่ได้เลิกบุหรี่ไปแล้ว ทั้งสองกลุ่มนี้รายงานว่าใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่

ขณะเดียวกัน ยังคงมีความกังวลเรื่องการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนอเมริกันกว่า 2 ล้านคนในปี 2564 หน่วยงานองค์การอาหารและยาสหรัฐ หรือ US-FDA ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ควบคุมผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงได้เพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแล และติดตามอย่างใกล้ชิด

ในประเทศไทยเอง แม้จะมีการกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย ห้ามนำเข้าและจำหน่ายในประเทศ แต่กลับพบว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ใช้กันทั่วไป แสดงให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคที่แสวงหาทางเลือกที่ใช้ทดแทนบุหรี่

หากพิจารณาถึงเทรนด์ของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป กลไกทางการตลาด และความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของมูลค่าตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าอาจมีศักยภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงโอกาสในการจัดเก็บภาษี และที่สำคัญที่สุดการลดอันตรายให้กับผู้สูบบุหรี่กว่า 9.9 ล้านคนในประเทศไทย

เรื่องของบุหรี่ไฟฟ้าจึงอาจเป็นความท้าทายใหม่ของรัฐบาล ที่จะต้องหาทางจัดการให้เหมาะสมระหว่างการป้องกันเด็กและเยาวชนกับการเพิ่มทางเลือกที่สอดรับกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางความต้องการของผู้บริโภค จริงอยู่ว่าการไม่บริโภคสินค้าเหล่านี้ได้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่ถ้าผู้บริโภคยังคงเลือกที่จะแสวงหาและบริโภคสินค้าเหล่านี้ต่อไป เราอาจต้องมาขบคิดกันใหม่เพื่อวางกรอบนโยบายและกฎหมายที่สมดุล


เพราะท้ายที่สุดแล้วเราไม่อาจจะฝืนความต้องการของผู้บริโภคไปได้