เริงพระนครตะลอนสยามอารยะ ร้านเซ่งชง ตัดฉลองพระบาท รัชกาลที่ 6

อาจฤทธิ์ ประดิษฐบาทุกา
อาจฤทธิ์ ประดิษฐบาทุกา
ผู้เขียน : ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่

ร้านเซ่งชง ร้านเครื่องหนังยุคแรกที่เปิดกิจการมานานกว่า 130 ปี โดยตระกูล “ประดิษฐบาทุกา” ซึ่งเป็นผู้ตัดฉลองพระบาทให้กับรัชกาลที่ 6 ปัจจุบันบริหารงานโดย คุณอาจฤทธิ์ ประดิษฐบาทุกา ทายาทรุ่นที่ 4

วันที่ 15 กันยายน 2565 KTC จัดทริป The Secret of พระนคร ตอน เริงพระนครตะลอนสยามอารยะ นำชมสถานที่ในกรุงเทพมหานคร พร้อมเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศให้เป็นอารยะในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6

โดยมี คุณดวงกมล อินทรพราหมณ์ ผู้อำนวยการ-บริหารเงินและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน “เคทีซี” ร่วมเดินทาง และ อาจารย์ธานัท ภุมรัช เลขานุการศูนย์ประวัติศาสตร์ข้อมูลชุมชนธนบุรี ร่วมบรรยายในครั้งนี้ด้วย

หนึ่งในสถานที่สำคัญของทริปนี้ คือ ร้านเซ่งชง ร้านเครื่องหนังยุคแรกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งต่อมาเป็นผู้ตัดฉลองพระบาทให้กับรัชกาลที่ 6 อีกทั้งยังทำเครื่องหนังให้กับกองเสือป่า กองทหารม้า และถวายงานแก่ราชสำนักด้วย

ร้านนี้เปิดให้บริการโดย คุณทวดเซ่งชง แซ่หลิว ตั้งแต่ พ.ศ. 2435 ที่เดินทางมาจากมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า และมาเปิดร้านทำรองเท้าอยู่ในกรุงเทพฯ ย่านเจริญกรุง “เราทำเครื่องหนังเรื่อยมาจนได้รับใช้ราชสำนัก รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานตราตั้งใน พ.ศ. 2462 และคุณทวดได้รับพระราชทานราชทินนามเป็น หลวงประดิษฐบาทุกา เมื่อ พ.ศ. 2466 เราจึงใช้เป็นนามสกุลของครอบครัวเรื่อยมา” คุณอาจฤทธิ์ ประดิษฐบาทุกา กล่าว

อาจารย์ธานัท ภุมรัช
อาจารย์ธานัท ภุมรัช

อาจารย์ธานัท ภุมรัช บรรยายเสริมว่า กลุ่มชาวจีนอพยพดังกล่าว คือ กลุ่มจีนแคะ ซึ่งอพยพบ่อย จึงมีจุดเด่นเรื่องงานฝีมือเพราะต้องทำเครื่องหนังและงานเหล็กเพื่อใช้ในการเดินทางและตั้งถิ่นฐานอยู่ตลอดเวลา

การทำเครื่องหนังของร้านเซ่งชงเป็นนวัตกรรมในสมัยรัชกาลที่ 5 คนในบังคับของต่างชาติในสมัยนั้นต้องใส่รองเท้าหนังในการทำงานจึงทำให้เกิดการทดลองตัดขึ้น แม้ในตอนนั้นจะมีร้านเครื่องหนังของชาวต่างชาติอยู่บ้าง แต่ก็มีราคาแพง ร้านเซ่งชงจึงผลิตเครื่องหนังจากหนังภายในประเทศโดยฟอกย้อมเองทุกขั้นตอน และเริ่มตัดมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งคนในราชสำนักได้มีโอกาสสวมใส่

หลวงประดิษฐบาทุกามีบทบาทอย่างยิ่งในการตัดรองเท้าหนังให้กิจการเสือป่าและกองทหารม้า เนื่องจากเป็นงานที่ยาก ไม่เพียงแค่ตัดตามขนาดของผู้ใช้ แต่ต้องทนทานและเหมาะสมต่อภารกิจ จนกระทั่งเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยจากรัชกาลที่ 6 ให้ตัดฉลองพระบาทถวาย นอกจากนี้ยังมีการตัดรองเท้าตามแบบตะวันตกและแฟชั่นในสมัยนั้นขึ้นมาด้วย

ประวัติศาสตร์ผ่านการตัดฉลองพระบาทของร้านเซ่งชงถือเป็นเกร็ดความรู้อีกมุมหนึ่งที่สื่อถึงการเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นอารยะได้เป็นอย่างดี เนื่องจากสมัยก่อนคนไทยยังไม่ค่อยใส่รองเท้า แต่เมื่อวัฒนธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามา ร้านเซ่งชงจึงเป็นเจ้าแรกที่เริ่มการผลิตภายในประเทศให้แก่คนต่างชาติและคนในราชสำนัก

ตระกูลประดิษฐบาทุกายังคงรับใช้ราชสำนักมาจนปัจจุบัน ที่สำคัญคือพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยได้รับมอบหมายให้ตัดเครื่องหนังทั้งอานม้าและชุดหนังของข้าราชการในครั้งนั้นด้วย