บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 ไทยเบฟชวนสัมผัสเทศกาลศิลปะระดับโลก

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ชวนสัมผัสเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2022 ที่จะเริ่มในวันี่ 22 ต.ค. 2565-23 กุมภาพันธ์ 2566 รวมระยะเวลา 4 เดือน

วันที่ 19 ตุลาคม 2565 บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับมูลนิธิบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เชิญชวนผู้คนที่สนใจและประชาชนทั่วไปสัมผัสกับเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 (Bangkok Art Biennale 2022) หรือ BAB 2022 พร้อมพาชมสถานที่จัดแสดงทั่วกรุงเทพมหานคร โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอํานวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ให้เกียรติบรรยาย ก่อนที่งานจะเริ่มจัดขึ้นในวันที่ 22 ตุลาคม-23 กุมภาพันธ์ 2566 ตลอดระยะเวลา 4 เดือน

ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ กล่าวว่า บางกอก อารต์ เบียนนาเล่ จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยมีแก่นความคิดหลักว่า “โกลาหล : สงบสุข” สะท้อนถึงอุปสรรคต่าง ๆ ที่มนุษยชาติต้องเผชิญในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานที่แสดงถึงความปั่นป่วน ความบอบช้ำทางจิตใจ และความวิตกกังวล เตือนให้นึกถึงความเปราะบางของการมีชีวิต แต่ในขณะเดียวกันศิลปินก็ได้แสดงเค้าลางแห่งความหวัง ความพยายาม และความมุ่งมั่นที่จะกลับฟื้นคืนสู่สภาพเดิมผ่านผลงานออกมาด้วยเช่นกัน

BAB 2022 นำผลงานศิลปะร่วมสมัยมากกว่า 200 ชิ้นของ 73 ศิลปินชั้นนำจาก 35 สัญชาติทั่วโลกมาสร้างความความยิ่งใหญ่ให้กับวงการศิลปะในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก บนสถานที่สำคัญของกรุงเทพมหานครทั้งหมด 12 แห่ง ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร, วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร, วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, มิวเซียมสยาม, ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, สามย่านมิตรทาวน์, เดอะ ปาร์ค เดอะพรีลูด วันแบงค็อก, JWD Art Space และในพื้นที่เสมือนจริง BAB Virtual Venue

สำหรับการพาชมงานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ BAB 2022 นั้นเริ่มกันที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) Museum Siam หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และจบที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยแต่ละที่จะมีการจัดแสดงผลงานศิลปะที่มีเอกลักษณ์จากบรรดาศิลปินที่แตกต่างกันไป

 ศิลปะ ชีวิต และศาสนา

สถานที่แรก เริ่มกันที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหารหรือวัดโพธิ์ ซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 BAB 2022 นำผลงานศิลปะมาสร้างปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ภายในวัดได้อย่างลงตัว บรรยากาศภายในวัดที่เปลี่ยนทั้งวันตลอดเช้าสายบ่ายเย็น สื่อถึงความสงบสุขของศาสนาสถานและสัมผัสได้ถึงความวุ่นวายของนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาเยี่ยมชมกันอย่างคับคั่ง

ภายในวัดโพธิ์ได้ถูกนำผลงานของมณเฑียร บุญมา ผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกศิลปะเอเชียร่วมสมัยในช่วงทศวรรษที่ 1990 และหลงไหลในเรื่องของวิญญาณมาจัดแสดง 2 ชิ้นด้วยกัน ชิ้นแรก อโรคยศาลา ถูกจัดแสดงไว้ที่สวนมิสกวันใกล้ ๆ กับพระนอนวัดโพธิ์ ผลงานชิ้นนี้ถูกจัดแสดงต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก เป็นกล่องโลหะที่มีสมุนไพรอัดแน่น ลักษณะเป็นรูปปอดที่สื่อถึงวิหารขอมอันเป็นสถานที่สวดมนต์และบำบัดเยียวยารักษาโรคทั้งทางกายและทางใจ นอกจากนี้อโรคยศาลาของมณเฑียรยังถูกติดตั้งไว้ในเก๋งจีนที่ประดับด้วยจิตรกรรมฝาผนังสมัยคริสต ศตวรรษที่ 19 สื่อถึงการค้าขายกับชาวจีนที่รุ่งเรืองในสมัยรัชกาลที่ 3

ชิ้นที่ 2 ของมณเฑียร เป็นเศียรพระพุทธรูปอะลูมิเนียมขนาดใหญ่ ซึ่งมณเฑียรสร้างสรรค์ ขึ้นในช่วงสุดท้ายของชีวิต จัดวางอยู่ในพระวิหารทิศเหนือมุขหน้าของวัดโพธิ์ที่ประดิษฐานพระพุทปาลิไลย พระประจำวันของผู้เกิดวันพุธกลางคืน ซึ่งมณเฑียรเกิดวันพุธกลางคืนเช่นกัน โดยผู้เยี่ยมชมสามารถเข้าไปใต้เศียรพระพุทธรูปได้ สื่อให้เห็นถึงความสงบภายใต้พุทธองค์ และอบอวลไปด้วยกลิ่นยาสมุนไพร นอกจากนี้ยังสามารถมองเห็นแสงที่ลอดผ่านรูเล็ก ๆ สื่อถึงดวงดาวทางโหราศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาและภรรยาอันเป็นที่รักซึ่งจากไปด้วยโรคมะเร็ง

ถัดมาคือผลงานของแอนโทนี กอร์มลีย์ ที่ได้สร้างสรรค์งานประติมากรรม 2 ชิ้น เพื่อจัดแสดงที่ลานวัดโพธิ์โดยเฉพาะ กอร์มลีย์มองว่า งานสองชิ้นนี้เป็นเครื่องมือนำพาไปสู่ความมีสติ ซึ่งแสดงถึงการที่เขาสนใจพุทธศาสนาและศาสนาเชนอย่างลึกซึ้ง

งานประติมากรรมทั้ง 2 ชิ้นของกอร์มลีย์ประกอบไปด้วย Connect ที่แสดงร่างกายที่เป็นเขตของความเชื่อมโยงกับที่ว่างและแสงสว่าง และงาน Contain แสดงร่างกายที่เป็นบริบททางวัตถุ ทั้งสองงานแสดงพื้นที่ของประสบการณ์มนุษย์และความสัมพันธ์ที่มีต่อที่ว่าง มวล และพลังงานพุทธธรรมเรื่องอนิจจัง ซึ่งสะท้อนออกมาผ่านการจัดแสดงในวัดแบบจีน-สยาม ซึ่งมีพระพุทธรูปเรียงรายอยู่หลายแถว

 โกลาหล : สงบสุข ที่อาคารสไตล์นีโอคลาสสิก

สถานที่ถัดมาคือ มิวเซียมสยาม สถานที่จัดแสดงเรื่องราวความเป็นไทยในมิติต่าง ๆ ผ่านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมประเพณี โดย BAB 2022 ครั้งนี้มีศิลปินต่างชาติหลายคนที่นำผลงานศิลปะมาจัดแสดง ได้แก่ ทาซีน ไกยัม, จิติช กัลลัต และทัตสึโอะ มิยาจิมะ

 

ทาซีน ไกยัม ศิลปินชาวปากีสถาน-แคนาดา สร้างงานศิลปะเพื่อจัดวางที่งานนี้โดยเฉพาะ ชื่อ Patterns of Resilience โดยใช้โมทีฟลวดลายแมลงสาบอันโดดเด่นที่คลานไปรอบมิวเซียมสยามและปรากฏบนผนังนอกอาคารสไตล์นีโอคลาสสิก การใช้แมลงสาบเป็นตัวแสดงนั้นสื่อถึงสังคมในปัจจุบันที่น่ารังเกียจ เกิดสงครามความขัดแย้งมากมายจนมนุษย์บางกลุ่มถูกเลือกปฏิบัติ ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ของคนธรรมดาด้วยความสามารถจนฝ่าฟันกลับสู่สภาพเดิมและการฟื้นคืนได้

จิติช กัลลัต ศิลปินชาวอินเดีย ผู้โดดเด่นเรื่องศิลปะร่วมสมัย ได้ทำการจัดแสดงวอลเปเปอร์บนผนังขนาดใหญ่ ซึ่งมาจากรูปวาดจำนวน 365 รูป จากการวาดวันละรูปเป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่โลกต้องเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในรูปทุกรูปจะมีการเขียนวันที่วาดบอกไว้ รวมทั้งจำนวนคนที่เกิดและตายในวันนั้นด้วย สะท้อนปรัชญาชีวิตและความโกลาหล-สงบ ได้เป็นอย่างดี

ทัตสึโอะ มิยาจิมะ ศิลปินชาวญี่ปุ่นที่โดดเด่นเรื่องการใช้ตัวเลขและเทคนิคการจัดแสดงแสงสี ผลงานที่ถูกนำมาที่ BAB 2022 คือ Wall of Change เป็นงานที่มีตัวเลขห้าตัวอยู่บนผนัง ซึ่งเลขจะถูกเปลี่ยนทุกวันจากการทอยลูกเต๋าสิบหน้า โดยภาพนอกห้องจัดแสดงจะมองเข้ามาด้านในได้ผ่านรูของตัวเลขที่เปลี่ยนทุกวัน ตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวแทนของเวลาซึ่งเทียบเท่ากับชีวิต ตัวเลข 1-9 สื่อถึงชีวิต และเลข 0 สื่อถึงความตายซึ่งด้านนอกจะมองเข้ามาไม่เห็น สื่อถึงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในรูปแบบที่ไม่แน่นอน และเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกที่คาดการณ์ไม่ได้ ความโกลาหลจึงเกิดเพราะทุกสรรพสิ่งบนโลกมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ไฮไลต์ ศูนย์สิริกิติ์และหอศิลป์ เพิ่มมิติจัดแสดง

มาถึงสถานที่ที่ป็นไฮไลต์ของงาน BAB 2022 เลยก็ว่าได้ เนื่องจากทั้งหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครและศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่พึ่งเปิดใหม่นั้น มีพื้นที่อย่างกว้างขวางและเหมาะกับการจัดเทศกาลระดับโลกเป็นอย่างยิ่ง โดยทั้งสองที่ได้รวบรวมผลงานของบรรดาศิลปินทั้งไทยและต่างชาติมาจัดแสดง ซึ่งมีความหลากหลายทั้งประเภทของงาน แนวคิด และตัวตนของศิลปิน

จิรัสย์ รัฐวงศ์จิรกุล ภัณฑารักษ์ประจำงาน BAB 2022 กล่าวว่า งานเทศกาลในปีนี้มีแนวคิดคือโกลหล-สงบสุข ดังนั้นภัณฑารักษ์แต่ละคนจึงต้องคิดและตีความหมายออกมาซึ่งไม่เหมือนกัน แต่ต้องแสดงความคิดเห็นออกมา ซึ่งมีค่อนข้างหลากหลาย ส่วนตัวแล้วตีความว่าคือสิ่งที่พบเจอในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นโควิด-19 วิกฤตเศรษฐกิจ สงครามรัสเซีย-ยูเครน สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างความโกลาหลให้กับทุกคนบนโลก เราจึงจับสิ่งนี้และนำมาเลือกศิลปินที่จะนำผลงานมาแสดง ซึ่งก็ไม่ได้มีแต่ศิลปินที่สื่อถึงความโกลาหลเสมอไป แต่มีความสงบสุขด้วย

ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เห็นได้ชัดคือศิลปินที่เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีความโกลาหลอยู่ในตัว เปรียบเสมือนคนรุ่นใหม่เช่นกัน ที่จะมีความโกลาหลบางอย่างอยู่ในตัวและต้องการแสดงออกให้คนภายนอกหรือคนรุ่นอื่น ๆ รับรู้ เช่นงานของ นวิน หนูทอง ศิลปินและภัณฑารักษ์ร่วมสมัยชาวไทยที่โดดเด่นเรื่องประวัติศาสตร์นิทานปรัมปรา และตำนานโบราณ ผ่านการนำเสนอด้วยสื่อหลายประเภท และอริญชย์ รุ่งแจ้ง ศิลปินผู้บุกเบิกศิลปะจัดวางในประเทศไทย ซึ่งเรื่องราวมักเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ในพื้นที่ สัญลักษณ์ ความทรงจำ รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งส่งอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล

อย่างไรก็ดียังมีงานทางฝั่งของความสงบสุขด้วยเช่นกัน เช่น อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ ศิลปินคนสำคัญในวงการศิลปะร่วมสมัย ที่เป็นตัวแทนในมุมมองของคนอีกรุ่นหนึ่ง โดยนำเสนอถึงความสัมพันธ์ของศิลปะและการเล่นกีฬาหรือทำสิ่งอื่น ๆ โดยมีจุดร่วมคือการโฟกัสและมีสมาธิในสิ่งที่ทำ

ในส่วนของศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์นั้นก็มีโซนจัดแสดงที่กว้างขวางให้บรรดาศิลปินได้โชว์ผลงานกันอย่างเต็มที่ ที่โดดเด่น คือ ชิฮารุ ชิโอตะ ศิลปินชาวญี่ปุ่น ที่แสดงผลงานใน BAB 2022 ชื่อ The Eye of the Storm ผ่านกระดาษสีขาวหลายพันแผ่นที่เชื่อมต่อกันด้วยเชือกสีแดง มีลักษณะคล้ายพายุไต้ฝุ่น กระดาษโดยรอบถูกพัดปลิวจากแรงลม แต่ภายในจุดศูนย์กลางพายุกลับสงบนิ่ง สื่อถึงความต่างอย่างสุดขั้วระหว่างความสงบนิ่งและความโกลาหลที่เคลื่อนไหว ซึ่งสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นกับจิตใจมนุษย์เช่นกัน

นอกจากนี้ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ยังมีผลงานของศิลปินทั้งไทยและต่างชาติอีกหลายคนให้รับชม อาทิเช่น เถกิง พัฒโนภาษ ผู้ถ่ายทอดงานศิลปะจากร่างกายและโรคร้ายที่ต้องเผชิญ อัลวิน รีอามิลโล ศิลปินชาวฟิลิปปินส์ผู้ถ่ายทอดงานผ่านประวัติศาสตร์ การเคลื่อนย้ายและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม รวมถึงการล่าอาณานิคม เป็นต้น

บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 ถือเป็นการเสริมสร้างมุมมองของศิลปกรรมที่มีความงดงามและทันสมัยเพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจแก่คนไทย ในรูปแบบของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยผ่านการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพในด้านศิลปะและวัฒนธรรม

สำหรับผู้ที่สนใจและประชาชนทั่วไปสามารถชมเทศกาล บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 (BAB 2022) ภายใต้แนวคิด CHAOS : CALM โกลาหล : สงบสุข ได้ตามสถานที่สำคัญในกรุงเทพมหานครถึง 12 แห่ง ซึ่งจะมีผลงานศิลปะที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2565 ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2566