ความร่วมมือระหว่างมติชนกับ ซี.เจ.เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป เริ่มต้นเมื่อต้นปีนี้ ปัจจุบันขยายแผงหนังสือบาวบุ๊ค ให้ชุมชนเลือกสรรหนังสือดี ๆ จากสำนักพิมพ์มติชนได้สะดวกใน ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วตามเป้าหมาย 201 สาขาในเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้
“วิสัยทัศน์ของเราทั้งสองฝ่ายคือมองเห็นตรงกันว่าการที่ประเทศจะเข้มแข็งได้นั้นชุมชนต้องเข้มแข็ง ทางมติชนจึงขอวางแผงหนังสือในซีเจ จึงเป็นที่มาของบาวบุ๊ค แผงหนังสือเพื่อชุมชน” ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงจุดเริ่มต้นความร่วมมือในครั้งนี้
ผุดแผงหนังสือสู่ชุมชน
เอ็มดีเครือมติชนเล่าว่า จุดเริ่มต้นของการนำแผงหนังสือสู่ชุมชน มาจากที่มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชุมชนในจังหวัดฉะเชิงเทรา พบว่าเป็นจังหวัดที่มีความเจริญก้าวหน้า ขณะเดียวกันจังหวัดฉะเชิงเทรามีแคมเปญหนึ่งของผู้นำชุมชนชื่อว่า “ก้าวข้ามความจน” ซึ่ง คุณขรรค์ชัย บุนปาน (ประธานเครือมติชน) ประทับใจมาก
พอกลับมากรุงเทพฯ จึงมาพูดคุยว่า ก้าวข้ามความจนมีอะไรบ้าง ก้าวข้ามด้วยอาชีพ โครงสร้างเศรษฐกิจ การลงทุน และก้าวข้ามความจนด้วยสติปัญญา ซึ่งถ้าเป็นเรื่องสติปัญญา ก็จะเป็นสิ่งที่มติชนเกี่ยวข้องและสามารถช่วยเหลือได้ จึงนำมาต่อกระดานว่า “ถ้าเราจะก้าวข้ามความจน หนึ่งในอาวุธที่ต้องมีติดตัวคืออาวุธทางปัญญาซึ่งมาจากการอ่าน”
การจะทำเรื่องของติดอาวุธทางปัญญา หากทำเป็นการกุศลหรือ CSR นั้นยังไม่เพียงพอ การมอบหนังสืออาจจะช่วยกระตุ้นได้ในระดับหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วในสังคมที่เราต้องการสติปัญญามาก ๆ การอ่านต้องเป็นวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตจริง ๆ เสมือนเป็นโปรดักต์ในชีวิตประจำวัน จึงจะทำให้สังคมเข้มแข็ง
ดังนั้น ในส่วนของการทำ CSR บริจาคต่าง ๆ มติชนก็ยังคงทำต่อไป แต่เรื่องของตัวกลางคือร้านหนังสือนั้นจะทำอย่างไร จึงขอพบ คุณเสถียร เสถียรธรรมะ (กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คาราบาวกรุ๊ป) ซึ่งกำลังขยายร้านซีเจ วิสัยทัศน์ของเราทั้งสองฝ่ายตรงกัน จึงเป็นที่มาของ “บาวบุ๊ค แผงหนังสือเพื่อชุมชน”
ได้ Data ลงลึกถึงชุมชน
ปานบัวกล่าวว่า ร้านหนังสือเติบโตตามแผนที่วางไว้ ผลประกอบการค่อย ๆ ขยายไปตามเป้า ถ้ามองในมุมยุทธศาสตร์การเข้าถึงชุมชนถือว่าประสบความสำเร็จมาก และคงจะสำเร็จไม่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากซีเจ ที่เราจะเปิดแผงหนังสือได้ถึง 201 แผงภายใน 1 ปี ครอบคลุม 29 จังหวัดทั่วประเทศ ทางฝั่งมติชนจึงฉลองด้วยการจัดเทศกาลหนังสือเพื่อชุมชน คัดหนังสือดีจำหน่ายราคาเดียว 50 บาททุกเล่ม เพื่อให้คุ้มค่ากับคนในชุมชนมากที่สุด
ในด้านกระแสตอบรับเป็นที่น่าพอใจมาก เราได้สถิติข้อมูลที่คนอื่นอาจจะไม่มี ทำให้เรารู้ว่ากำลังซื้อในชุมชนเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ อำนาจการตัดสินใจในการซื้อหนังสือเป็นกลุ่มไหน ซึ่งก็พบว่าเด็ก ๆ มีผลต่อการซื้อในชุมชน การร่วมมือกันครั้งนี้นอกจากการเปิดสาขาครบตามเป้าหมายแล้ว สิ่งสำคัญคือการได้สถิติข้อมูลเหล่านี้มา
จากเดิมเราคิดว่าคนทำงานมีกำลังซื้อ หรือเป็นเป้าหมายใหญ่ แต่เมื่อเปิดไปแล้วจึงรู้ว่าตลาดชุมชนเด็กเล็กเป็นตัวตัดสินใจสำหรับกระดานนี้ ทำให้มติชนต้องตั้งสำนักพิมพ์ขึ้นมาใหม่คือสำนักพิมพ์ Broccoli Kids เพื่อรองรับการเติบโตของนักอ่านรุ่นเยาว์ในชุมชน
เพราะตลาดนี้ยังไปได้ถ้าเรามีความเข้าใจ จากที่ไม่คิดว่าเด็กจะเข้าถึงสื่อสิ่งพิมพ์อีกแล้ว แต่ปรากฏว่ายังมีเด็กในชุมชนฝึกทักษะจากการอ่านสิ่งพิมพ์ ดังนั้นมติชนจึงจะผลักดันหนังสือเด็กมากขึ้นในนามสำนักพิมพ์ Broccoli Kids
สร้างการอ่านให้ยั่งยืน
ผู้บริหารหญิงมติชนกล่าวถึงผลการดำเนินงานว่า แผนเบื้องต้นสามารถตอบโจทย์ทิศทางการดำเนินการของบาวบุ๊คเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือตอบโจทย์การบริหารธุรกิจในปัจจุบัน ที่ต้องไม่คำนึงถึงแต่กำไรเท่านั้น (ESG) เราพยายามสร้างวิถีแห่งการอ่านให้เกิดขึ้นในชุมชนจริง ๆ แม้จะเป็นเรื่องยากแต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ เพื่อความยั่งยืนของคนในสังคมในอนาคต
“ภูมิใจที่ได้ทำงานนี้ร่วมกับ ซี.เจ.ฯ และดีใจที่กลุ่มรีเทลเห็นคุณค่าของการอ่าน เรายืนยันมาโดยตลอดว่าการอ่านไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ขาดการส่งเสริมและขาดความเข้าใจในรายละเอียด ขณะที่ต้นทางคือหนังสือและต้นฉบับรวมถึงสำนักพิมพ์ใหม่มีการเปิดตัวอย่างมากมายและเข้มแข็ง ส่วนปลายทางคือคนอ่านก็ไม่เคยหายไป
สังเกตได้จากจำนวนนักอ่านที่เดินงานมหกรรมหนังสือระดับชาติที่ศูนย์สิริกิติ์ สิ่งที่ขาดหายในบริบทนี้คือสะพานหรือคนกลาง เช่น ร้านหนังสือปิดตัวหรือปิดสาขาลง แผงหนังสือเลิกกิจการในช่วงโควิด แต่ถ้ามีใครจับสะพานไว้ได้ ต้นทางกับปลายทางก็จะโคจรมาเจอกันอีกครั้ง หรืออย่างน้อยหนังสือจะกลับเข้ามาอยู่ในวิถีเดิม มติชนจึงเข้าไปเป็นสะพานชุมชน” ปานบัวกล่าว
หนังสือเลือกคนอ่าน
ด้าน วีรธรรม เสถียรธรรมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซี.เจ.เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป กล่าวว่า คุณพ่อเป็นคนชอบอ่านหนังสือพิมพ์ ชอบอ่านมติชนสุดสัปดาห์ แต่ปัจจุบันพบว่าแผงหนังสือหายไปเยอะมาก จึงมาคุยกันว่า เมื่อเรามี point of sale อยู่แล้ว จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะนำหนังสือกลับมาใกล้ชิดกับชุมชนมากขึ้น และเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้คนเข้าถึงหนังสือได้ง่ายขึ้น จึงคุยกับทางมติชน และเป็นความร่วมมือกัน
ซีเจเป็นเชนค้าปลีกสัญชาติไทยที่มีความแตกต่างจากคู่แข่งชัดเจนในด้านความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เข้าใจ และเข้าใจความต้องการของชุมชน และพบว่า “สินค้าจะเป็นคนเลือกหรือกำหนดลูกค้า” แบบไหนคนตอบรับ แบบไหนคนไม่ตอบรับ
ดังนั้นการบริหารจัดการจะต้อง customize ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละชุมชนซึ่งจะแตกต่างกันไปตามความต้องการแต่ละพื้นที่
“เมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน มีความเข้าใจชุมชน ก็จะตอบสนองความต้องการได้ทันท่วงที”
จากที่บาวบุ๊คเปิดมาถึง 120 สาขา เราพบว่า “หนังสือจะเลือกว่าใครจะเป็นคนอ่าน” กล่าวคือถ้าหนังสือที่เรานำเข้าสู่ชุมชนไม่แมตช์กับคนในชุมชนนั้น ๆ โอกาสที่จะขายได้อาจจะไม่มากนัก ที่ผ่านมามติชนก็ทำได้ดี และมียอดขายเติบโตขึ้นต่อเนื่อง
แต่ในขณะเดียวกันเราก็มองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาต่อไปได้อีกเยอะเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มหนังสือเด็ก ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวที่มีโอกาสเดินทางไปที่เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา และตั้งใจแวะไปซื้อหนังสือเด็กของมติชนในซีเจ ซึ่งมีสาขาที่นั่นทั้งหมด 3 สาขา พบว่าหนังสือเด็กขายดีมาก และเหลือวางเพียง 1 สาขาเท่านั้น
ซึ่งถ้ามองในแง่ของธุรกิจก็เป็นโอกาสที่ดีที่เรามองเห็นความต้องการลูกค้า สามารถนำมาวางแผนการทำงานร่วมกันในอนาคต ก็น่าจะ customize ประเภทหนังสือให้แมตช์กับชุมชนมากขึ้น
“ผมว่าถ้าหนังสือยังขายได้ แปลว่าคนยังรักการอ่านอยู่ ถ้าอยากดูสิ่งที่เอ็นเตอร์เทน เปิดยูทูบดูได้เลยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่คนที่ยอมจ่ายเงินซื้อหนังสือเป็นคนรักการอ่าน และจำนวนก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เรากล้าที่จะเปิด 201 สาขา จากที่เริ่มต้นเพียง 20 สาขา
เพราะเรามองว่ามีคนที่อยากหาหนังสือดี ๆ อ่าน แต่เขาไม่รู้ว่าจะไปซื้อที่ไหน อนาคตเรามีโอกาสที่จะขยายสาขาบาวบุ๊คมากกว่า 200 สาขาอย่างแน่นอน เพราะจำนวนหนังสือที่ขายได้สะท้อนความเข้มแข็งของชุมชน” ซีอีโอ ซี.เจ.เอ็กซ์เพรสกล่าว
ปีหน้าจัดบุ๊กแฟร์เข้าถึงชุมชน
สำหรับแผนงานร่วมกันในปีหน้า ปานบัวกล่าวว่า จะมีกิจกรรมเพิ่มเติม โดยอาจจะผลักดันให้มีกิจกรรมทอล์ก หรือพานักเขียนไปเยี่ยมเยียนร้านใหญ่ หรือภาคต่าง ๆ เพราะเชื่อว่าการอ่านจะต้องทำกิจกรรมประกอบ ต้องให้นักเขียนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนอ่าน อีกทั้งยังมีแผนอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อที่จะทำให้บาวบุ๊คมีพลวัตสูงสุด
ด้านวีรธรรมกล่าวว่า ยังมองเห็นโอกาสในการจัด “บุ๊กแฟร์” ช่วงหลังปีใหม่ เพราะปกติแล้วซีเจจัดงานแฟร์ประมาณ 50-100 งานต่อเดือน โดยจะจัดใกล้กับสาขา และจะมีแบรนด์ต่าง ๆ มาร่วมออกบูท ซึ่งมีคนมาร่วมงานนับพันคน จึงคิดว่าเราน่าจะลองนำหนังสือของมติชนเข้ามาร่วมด้วย
………….