ต้นตีนเป็ด ฝันร้ายฤดูหนาวที่มาพร้อมกลิ่นฉุน

ต้นตีนเป็ด

ต้นตีนเป็ด หรือพญาสัตบรรณ ฝันร้ายในฤดูหนาว เพราะออกดอกในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม พร้อมส่งกลิ่นฉุนชวนวิงเวียนศีรษะ

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 เนื่องจากประเทศไทยมีสภาพอากาศค่อนข้างร้อน ฤดูหนาวจึงเป็นฤดูกาลที่หลายคนตั้งตารอ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่มาพร้อมกับฝันร้ายของอีกหลายคนเช่นกัน เพราะในช่วงนี้ “ต้นตีนเป็ด” กำลังออกดอก ส่งกลิ่นหอมปนฉุนชวนเวียนศีรษะ

สำหรับต้นตีนเป็ด หรือพญาสัตบรรณ หรือสัตบรรณ (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alstonia scholaris) อยู่ในวงศ์ Apocynaceae มีถิ่นดั้งเดิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพบได้ทุกภาคในประเทศไทย

ลักษณะต้นตีนเป็ด

ลักษณะของต้นตีนเป็ดคือ เปลือกหนาแต่เปราะ ลำต้นตรง ผิวมีสะเก็ดเล็ก ๆ สีขาวปนน้ำตาล เมื่อกรีดลงไปที่ลำต้นจะมียางสีขาว แตกกิ่งก้านสาขาออกเป็นชั้น ๆ จำนวนมาก ใบของต้นตีนเป็ดจะขึ้นเป็นกลุ่มบริเวณปลายกิ่ง ซึ่งในช่อหนึ่งจะมีประมาณ 5-7 ใบ ก้านใบสั้น แผ่นใบเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปหอกแกมรูปขอบขนาน หรือรูปมนแกมรูปบรรทัด ปลายใบเป็นติ่งเล็กน้อย ใบด้านบนมีสีเขียวเข้ม ด้านล่างมีสีขาวนวล

ถ้าเด็ดก้านใบจะมียางสีขาว ลักษณะใบยาวรีปลาย ใบมนโคนใบแหลม ขนาดใบยาวประมาณ 10–12 เซนติเมตร ออกดอกสีเขียวอ่อนเป็นช่อตามปลายกิ่ง ปากท่อของกลีบดอกมีขนยาวปุกปุย เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูงประมาณ 12-20 เมตร

ส่วนดอกของต้นตีนเป็ดมีลักษณะเป็นกลุ่มคล้ายดอกเข็ม ช่อหนึ่งจะมีกลุ่มดอกประมาณ 7 กลุ่ม ดอกมีสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นฉุน หากสูดดมเพียงเล็กน้อยจะรู้สึกหอม แต่หากสูดดมมากจะรู้สึกวิงเวียนศีรษะ และในช่วงค่ำจะส่งกลิ่นแรงกว่าเวลาอื่น ๆ โดยปกติต้นตีนเป็ดจะออกดอกในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม

ขณะที่ผลของต้นตีนเป็ดจะเป็นฝักยาว ฝักคู่หรือเดี่ยว ลักษณะเป็นเส้น ๆ กลมเรียวยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร เมื่อผลแก่จะแตก มีขุยสีขาวคล้ายฝ้ายปลิวไปตามลม และในฝักมีเมล็ดเล็ก ๆ ติดอยู่กับขุยดังกล่าว

ไม้มงคลประจำจังหวัดสมุทรสาคร

ขณะเดียวกัน “สัตบรรณ” หรือต้นตีนเป็ด ถือเป็นไม้มงคลของจังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2537 ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้รับพระราชทานพันธุ์ไม้ดังกล่าวจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดวันรณรงค์โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองราชย์ ปีที่ 50 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ทั้งนี้ เพื่อความเป็นศิริมงคลของประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร จึงนำพันธุ์ไม้สัตบรรณพระราชทานมาปลูกเป็นปฐมฤกษ์ ในกิจกรรมวันปลูกต้นไม้ตามโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2537 ที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร จึงถือได้ว่าต้นสัตบรรณเป็นต้นไม้มงคลของจังหวัดสมุทรสาคร นอกจากนี้ต้นพญาสัตบรรณยังเป็นต้นไม้ประจำเขตพญาไท ในกรุงเทพมหานครอีกด้วย

ประโยชน์ของต้นตีนเป็ด

อย่างไรก็ตาม แม้หลายคนจะไม่ชอบต้นตีนเป็ดที่เท่าไรนัก แต่ต้นไม้ดังกล่าวก็มีประโยชน์เหมือนต้นไม้ชนิดอื่น ๆ เนื่องจากในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้เปลือกต้นพญาสัตบรรณรักษาโรคบิด ลำไส้ติดเชื้อ และมาลาเรีย ส่วนใบใช้ในการรักษาโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง

ขณะที่ในประเทศอินเดียมีการนำส่วนต่าง ๆ ของต้นมาใช้เป็นพืชสมุนไพร เช่น ใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคมาลาเรียในชื่อ Ayush-64 ซึ่งมีขายทั่วไป มีการนำยางสีขาวและใบรักษาแผล แผลเปื่อย และอาการปวดข้อ

ต้นตีนเป็ด

แพทย์แผนไทยเตือน สูดดมนานเสี่ยงระบบหัวใจล้มเหลว

ด้าน น.ส.มยุรี บุญส่ง แพทย์แผนไทยชำนาญการ รพ.ตราด สาขาวัดไผ่ล้อม เปิดเผยว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้นตีนเป็ดออกดอก และจะส่งกลิ่นไปทั่วบริเวณ โดยเฉพาะในช่วงเย็นเป็นช่วงที่มีกลิ่นมากที่สุด ซึ่งต้นตีนเป็ดมีทั้งคุณและโทษ ประโยชน์คือสามารถนำเปลือกมาใช้เป็นยารักษาพิษไข้ต่าง ๆ ได้ ในขณะเดียวกัน ดอกที่ส่งกลิ่นแรงนั้น เป็นกลิ่นของไซยาไนด์ มีผลต่อระบบหัวใจโดยตรง และการหมุนเวียนของเลือดด้วย หากสูดดมนาน ๆ อาจเกิดอาการเวียนหัว หน้ามืด มีอาการตึงบริเวณท้ายทอย อาจจะเกิดอันตรายต่อชีวิต เพราะระบบหัวใจอาจล้มเหลวได้

ดังนั้น จึงเตือนประชาชนว่าหากอยู่ใกล้กับต้นตีนเป็ด ควรหลีกเลี่ยงดีที่สุด ไม่แนะนำให้สูบดม หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องใส่หน้ากากอนามัยจะช่วยลดการกลิ่น และหากเกิดการเวียนหัวโดยฉับพลัน ให้ใช้ยาดม ใช้น้ำมันเหลือง ช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยทาบริเวณท้ายทอย และขมับทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้เลือดลมเดินได้ตามปกติ

อ.เจษ โต้ ตีนเป็ดไม่มีสารไซยาไนด์

ขณะที่ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ เฟซบุ๊ก โต้ว่า กลิ่นของต้นตีนเป็ด ไม่ได้มีสารพิษไซยาไนด์ (cyanide) โดยระบุข้อความความว่า

“กลิ่นของต้นตีนเป็ด ไม่ได้มีสารพิษไซยาไนด์ นะครับ เรื่องนี้เคยโพสต์เตือนกันทุกปี ในช่วงฤดูที่ต้นตีนเป็ดออกดอก และส่งกลิ่นแรง ว่าเป็นข่าวปลอมข่าวมั่วที่แชร์กันมานานแล้ว

แต่วันนี้มีรายงานข่าวในสื่อ อ้างถึงแพทย์แผนไทยท่านนึง ที่บอกว่า ดอกที่ส่งกลิ่นแรง ๆ เป็นกลิ่นของไซยาไนด์ มีผลต่อระบบหัวใจโดยตรง และการหมุนเวียนของเลือดด้วย หากสูบดมนาน ๆ เกิดอาการเวียนหัว หน้ามืด บริเวณท้ายทอยจะมีอาการตึง อาจจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ระบบหัวใจอาจล้มเหลวได้ ซึ่งก็ต้องขอแย้งอีกครั้ง ว่าเป็นแค่ข่าวปลอม ที่แชร์กันผิด ๆ ครับ”

พร้อมกันนี้ อาจารย์เจษฎาได้รีโพสต์ข้อความ ระบุว่า “ต้นพญาสัตบรรณ ไม่ได้ปล่อยสารพิษไซยาไนด์ แต่แค่กลิ่นเหม็น (หอม ?)

เรื่องมั่ว ๆ เกี่ยวกับ “ต้นพญาสัตบรรณ” หรือ “ต้นตีนเป็ด” กลับมาแชร์กันอีกแล้วครับ โดยหาว่าเป็นต้นไม้พิษ ที่กลางคืนจะปล่อยพิษ “พวกไซยาไนด์” ออกมา โดยเฉพาะในช่วงฤดูออกดอก…ไม่จริงนะครับ!! มันเป็นแค่ต้นไม้ที่ดอกส่งกลิ่นแรง ซึ่งบางคนก็ว่าเหม็น บางคนก็ว่าหอม

(อ้อ…แล้วอย่าสับสนกับ “ต้นตีนเป็ดน้ำ” ที่ยางมีพิษด้วยนะครับ)

#ต้นพญาสัตบรรณหรือต้นตีนเป็ด

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alstonia scholaris (L.) R. Br. จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถพบได้ในทุกภาคของประเทศไทย เป็นไม้ยืนต้นสูงขนาดใหญ่ ลำต้นตรง แตกกิ่งก้านสาขาเป็นชั้น ๆ (เหมือนฉัตร) มีความสูงประมาณ 12-20 เมตร เปลือกต้นหนาเปราะ ผิวต้นเมื่อกรีดจะมียางสีขาว ออกดอกเป็นช่อคล้ายดอกเข็มที่ปลายกิ่งหรือส่วนยอดของลำต้น ดอกมีขาวอมเหลืองหรือเขียว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ

พญาสัตบรรณเป็นพืชที่มีฤทธิ์ทางอัลลีโลพาธี (Allelopathy) คือ สารสกัดสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของต้นคะน้า ข้าวโพด ข้าว ถั่วเขียวผิวดำ ถั่วเขียวผิวมัน และคะน้าได้ มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรมากมายรวมทั้งใช้ใบพอกเพื่อดับพิษต่าง ๆ ได้ (ไม่มีรายงานถึงพิษอันตรายต่อมนุษย์) นอกจากนี้ ยังจัดเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสมุทรสาครอีกด้วย

#ต้นตีนเป็ดน้ำหรือต้นตีนเป็ดทะเล

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cerbera odollam Gaertn.  จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ดเช่นกันกับต้นพญาสัตบรรณ มีถิ่นกำเนิดในอินเดียจนถึงทางตอนใต้ของจีน ในประเทศไทยนั้นจะพบเฉพาะทางภาคใต้ เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ขนาดเล็ก ทรงร่ม เรือนยอดเป็นทรงกลมทึบ มีความสูงของต้นประมาณ 5-15 เมตร เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทา มีช่องระบายอากาศเป็นร่องยาว มีน้ำยางสีขาวข้น มักพบขึ้นตามบริเวณริมน้ำ ตามป่าชายเลน ป่าบึงน้ำจืด และป่าชายหาด ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง  แต่ละช่อมีดอกหลายดอก ดอกย่อยเป็นสีขาว ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ

ต้นตีนเป็ดน้ำมีทรงพุ่มสวยงาม ผลและดอกสวย มีกลิ่นหอม จึงใช้ปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงาตามลานจอดรถหรือริมถนนได้ แต่ยางจากต้น ใบ ผล และเนื้อในผล มีพิษเป็นอันตราย (มีสาร Cerberoside และ Thevobioside ที่เป็นพิษต่อหัวใจ) เมล็ดมีสารที่ออกฤทธิ์ต่อหัวใจ ที่เรียกว่า “คาร์เบอริน” (Cerberin) ซึ่งมีการนำมาใช้ในการวางยาพิษ  หากได้รับในปริมาณมากก็สามารถฆ่าคนได้เลย น้ำยางหากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้ (แต่พิษทั้งหมดนี้ ก็ไม่อยู่ถูกคายออกมาในอากาศ ให้คนสูดดมเข้าไปแล้วเป็นอันตราย แต่อย่างไร) จึงไม่ควรปลูกใกล้กับสนามเด็กเล่นหรือบริเวณที่มีเด็กอยู่

ต้นตีนเป็ด