ย้ายประเทศ : จากนักการตลาดในไทย กลายมาเป็นหัวหน้าเชฟซูชิในอังกฤษได้อย่างไร

“ไม่มีใครรับเฟิร์นเลย เฟิร์นสมัครไปเป็นร้อยงาน ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้าน จะเป็นทำความสะอาด จะเป็นเชฟ ไม่มีใครรับเฟิร์นเลย ต้องขอบคุณร้านอาหารไทยที่อย่างน้อยก็รับเฟิร์นเข้าไป”

ลัทธวรรณ สุขบุญเพ็ญ บิวแคนนอร์ หรือ เฟิร์น หญิงไทยวัย 34 เล่าชีวิตช่วงแรกหลังตัดสินใจเดินทางมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เมืองลีดส์ทางเหนือของอังกฤษ พร้อมกับสามีที่พบรักกันในประเทศลาวก่อนจะแต่งงานกันในเวลาต่อมา เธอพอจะทราบชะตาชีวิตตัวเองว่า คงจะไม่สามารถทำงานการตลาดเหมือนกับที่เคยทำอยู่ที่ประเทศไทยได้ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างรวมถึงความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ

สาวจากเมืองกรุงเก่าจึงเริ่มเข้าคอร์สเรียนทำอาหารทั้งคาวหวาน อาหารไทย อาหารฝรั่ง เพื่อเตรียมตัวมาหางานทำที่ประเทศอังกฤษ บ้านเกิดของสามี

“ทุกอย่างเป็นศูนย์”

“ถึงเราจะมีปริญญา เรามีโปรไฟล์ดีขนาดไหน แต่เมื่อเราย้ายมาอยู่ที่ประเทศอังกฤษแล้ว ถือว่าทุกอย่างเป็นศูนย์” เฟิร์นซึ่งจบปริญญาโทจากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าว โดยหลังเรียนจบ เธอเคยทำงานทั้งด้านการตลาดและนำเข้าส่งออกที่บริษัทในประเทศไทยหลายปี

ประสบการณ์ที่เคยเดินทางไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นช่วงที่เป็นพนักงานประจำของบริษัทในประเทศไทย ทำให้เธอเริ่มสนใจอาหารญี่ปุ่น ประกอบกับความไม่ถนัดในการทำอาหารฝรั่ง เธอจึงคิดว่า การเป็นเชฟซูชิน่าจะเหมาะกับเธอ

เส้นทางการเป็นเชฟซูชิในอังกฤษไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อมาถึงอังกฤษช่วงเดือน มี.ค. 2017 เธอยื่นสมัครงานตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อให้มีงานทำก่อน และโชคดีที่ร้านอาหารไทยแห่งหนึ่งรับเธอให้ไปเป็นพนักงานเสิร์ฟอาหารในร้าน

ADVERTISMENT

“เนื่องจากตัวใหญ่ พี่เขาก็เลยคิดว่า งั้นเดี๋ยวลองไปทำในครัวดู ก็เลยได้ทำเป็นสตาร์ตเตอร์ในร้านอาหารไทยอะค่ะ ก็ได้ทำอยู่สักพักหนึ่ง ไม่กี่เดือน” หลังจากเฟิร์นได้เรียนรู้งานในครัวได้ 3 เดือน เธอก็เริ่มสมัครงานกับร้านอาหารที่เป็นของบริษัทต่างชาติ

แม้เธอไม่ได้เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ แต่เธอก็คิดว่า พอจะใช้ภาษาอังกฤษได้บ้าง “เฟิร์นคิดว่า เฟิร์นพูดได้ประมาณ 30-40% ฟังได้ แต่บางทีเราตอบกลับเขาไม่ได้”

ADVERTISMENT

การพยายามข้ามขั้นจากร้านอาหารไทยไปทำงานกับร้านอาหารของต่างชาติจึงเป็นเรื่องท้าทายและเป็นการเปิดโอกาสให้กับตัวเอง แม้ว่าชีวิตในการทำงานที่ใหม่จะไม่ได้ราบรื่นนัก

เฟิร์นได้งานที่ร้านอาหารญี่ปุ่นของคนอังกฤษ ด้วยความที่ประสบการณ์ยังน้อย ทางร้านจึงให้เธอช่วยงานต่าง ๆ ในครัว ด้วยค่าตอบแทนตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ช่วงโควิดระบาด ร้านอาหารต้องปิดหลายเดือน เธอจึงอาศัยจังหวะนี้กลับไทยเพื่อฝึกฝนฝีมือในการทำซูชิ

“เราก็กลับไทยไปเรียนเพิ่มค่ะ เรียนกับอาจารย์ที่เป็นชาวญี่ปุ่นด้วย ที่สุขุมวิท แล้วก็เรียนหลาย ๆ อย่าง” เฟิร์นบอกว่า เธอได้ลงเรียนเพิ่มหลายคอร์สรวมถึงการทำอาหารไทย ไม่ใช่แค่การทำซูชิอย่างเดียว เพื่อพัฒนาตัวเอง

แรงกดดันทำให้ต้องโชว์

แต่กระนั้น เธอก็ยังไม่ได้แสดงความสามารถในการทำงานที่ร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งนี้มากนัก นอกจากนี้ก็รู้สึกไม่ดีกับระบบการทำงานที่นี่ และเพื่อนร่วมงานที่แทบทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติจากแถบยุโรป เธอเป็นคนเอเชียเพียงหนึ่งเดียว แต่เธอก็ทำงานที่นี่นานถึง 3 ปีครึ่ง

“ในช่วงเวลานั้น สามปีครึ่ง ก็มีทั้งโดนดูถูก ทั้งโดนกดดัน เพราะว่า เราเป็นเอเชีย เราพูดภาษาอังกฤษไม่ได้” เฟิร์นเล่า “เขาก็โยนโน่นโยนนี่มาให้เราทำ” เธอรู้สึกว่า เพื่อนร่วมงานดูถูกความสามารถของเธอ

“เฟิร์นคิดว่า เฟิร์นมีความสามารถในด้านการด้านถ่ายภาพ แล้วก็เราชอบทำซูชิ เฟิร์นก็เลยอยากจะโชว์ผลงานตัวเอง ก็เลยเริ่มทำอินสตาแกรมขึ้นมา” เฟิร์นเล่าถึงการเริ่มใช้โซเชียลมีเดียในการโฆษณาผลงานของตัวเอง หลังจากที่รู้สึกไม่กล้าโชว์ความสามารถของตัวเอง “เพราะเรากลัว เพราะว่า มันก็ยังมีคนที่เหนือกว่าเรา คนที่แบบว่า เก่งกว่าเรา ก็เลยทำให้เราไม่กล้า”

อินสตาแกรมเปลี่ยนชีวิต

ด้วยความเป็นคนรักสวยรักงาม เธอจึงนำความชอบส่วนตัวมาใช้ในการสร้างสรรค์ซูชิขึ้นมาเป็นหน้าตาและรูปทรงต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกับซูชิธรรมดาทั่วไป และโพสต์ลงทางอินสตาแกรม ศิลปะการทำซูชิของเธอเตะตาคนที่ได้พบเห็น จากงานอดิเรกที่ทำคลายเครียดยามว่างจากการทำงานประจำ ได้สร้างโอกาสใหม่ให้เธอมากมาย

ขณะที่เธอยังคงต้องทนทำงานอยู่ที่เดิม ไฟในการทำงานของเธอก็เริ่มมอดลง เธอพยายามจะแสดงฝีมือและความสร้างสรรค์ในการจัดเซ็ตซูชิเสิร์ฟให้ลูกค้า แม้ลูกค้าจะชื่นชอบ แต่เธอกลับถูกเพื่อนร่วมงานวิจารณ์

“คราวนี้ เพื่อนร่วมงานก็เริ่มมีปัญหาเหมือนกัน ก็เริ่มบอกว่า เธอทำสวยทำไม เวลาลูกค้ามาก็อยากได้ออนไอซ์ ก็อยากได้ซูชิอยู่บนน้ำแข็ง เพราะปกติเขาจะใส่แค่จาน แต่ของเฟิร์น เฟิร์นใส่ในน้ำแข็ง แล้วก็แบบว่า จัดสวยงาม คือโดนแบบนี้บ่อยมาก เฟิร์น ทำไมเธอต้องทำอย่างนี้ พอเราทำสวย พอเราทำดีขึ้นมา เขามอง เขารู้สึกว่า ทำเพื่ออะไร ทำไปทำไม” เชฟซูชิชาวไทยเล่าถึงความอึดอัดในการทำงาน

นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาเรื่องการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมในที่ทำงาน และการส่งมอบงานระหว่างกะ ในที่สุดเธอก็เริ่มทนไม่ไหว และตัดสินใจลาออก หลังจากเจ้าของร้านสเต๊กแห่งหนึ่งเสนอเปิดบาร์ซูชิให้เธอโดยเฉพาะ

แต่เฟิร์นทำงานที่นี่ได้เพียง 3 เดือน เธอก็เปลี่ยนงานอีกครั้ง เพราะบาร์ซูชิที่อยู่กลางแจ้งไม่ค่อยมีลูกค้าในช่วงหน้าหนาว งานใหม่ของเธอเป็นร้านอาหารบุฟเฟต์เปิดใหม่

จากจำนวนคนติดตามในอินสตาแกรมช่วงแรกเพียง 53 คน เฟิร์นมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกลายมาเป็นมากกว่า 3 หมื่นคนภายในเวลาอันรวดเร็ว หลังจากที่บรรดาเพจดังเกี่ยวกับซูชินำภาพซูชิที่สวยงามแปลกใหม่ของเธอไปแชร์จำนวนมาก

การมีคนรู้จักมากขึ้น ทำให้เรื่องราวของเธอกลายเป็นที่สนใจของสื่อ และในช่วงที่ทำงานที่ร้านบุฟเฟต์นี่เอง หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นยอร์กเชียร์ อีฟนิง โพสต์ ได้สัมภาษณ์เรื่องราวของเธอและร้านอาหารไปตีพิมพ์

ซูชิสานล้านวิว

“งานต่าง ๆ ที่เราได้มาเนี่ย ในทุกวันนี้ เป็นเพราะอินสตาแกรม” เฟิร์นกล่าว เธอคิดว่า น่าจะเป็นเพราะรูปแบบที่แตกต่างของซูชิ และสีสันของปลาและผักที่เธอเลือกใช้ ผสมผสานเข้ากับการแกะสลักของไทยด้วย “แกะสลักฟักทอง อะไรอย่างนี้ ใส่ลงไปด้วย มันก็จะดูแปลกใหม่ ไม่ค่อยมีใครทำ คือในลีดส์ ก็ไม่มีใครทำ ก็คือมีเฟิร์น”

ผลงานการประดิดประดอยซูชิที่ทำให้มีคนติดตามเธอเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วคือ “การถักแซลมอน” เฟิร์นเล่าว่า ตอนแรกเธอได้แนวคิดมาจากปลาตะเพียนสานที่เธอพบเห็นที่อยุธยาบ้านเกิดของเธอ เธอจึงพยายามจะนำแซลมอนมาทำเป็นปลาตะเพียนสานแต่ไม่สำเร็จ แต่เมื่อเห็นงานศิลปหัตถกรรมที่มีการนำตอกไม้ไผ่มาสานเป็นกระเป๋าลวดลายต่าง ๆ เธอจึงได้ลองตัดแซลมอนเป็นเส้น ๆ และนำมาสานกันไปมาดูบ้าง ก่อนจะนำมาวางบนข้าวและปั้นเป็นทรงกลมคล้ายลูกตะกร้อ

“โพสต์นั้นโพสต์แรกเลย 1 ล้านวิวเลย” เฟิร์นคาดไม่ถึงว่าจะมีคนเข้าชมคลิปที่เธอตัดต่อง่าย ๆ มากถึงขนาดนั้น “ดีใจมากเลยค่ะ หลังจากนั้น ก็เริ่มพัฒนาตัวเองมาเรื่อย ๆ เริ่มแบบว่า ลองทำอะไรแปลก ๆ ดู สไลซ์แบบนี้ดู แล้วก็ทุกวันก็คือ ดูอินสตาแกรม ดูยูทิวบ์” โดยเธอบอกว่า เธอคอยติดตามผลงานของเชฟคนอื่น ๆ เช่นกัน เพื่อดูว่า ใครมีผลงานที่น่าสนใจ แล้วเธอสามารถทำเช่นนั้นได้ไหม ถ้าทำได้แล้ว สามารถพัฒนาอะไรเพิ่มเติมได้อีกบ้าง

นอกจากงานในอังกฤษ ยังมีคนที่ชื่นชอบผลงานและเห็นความสามารถของเธอผ่านทางอินสตาแกรม ชักชวนให้เธอไปร่วมงานด้วยในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงที่กรุงปารีสของฝรั่งเศส นครดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และในสหรัฐฯ แต่เธอก็เลือกที่จะอยู่กับครอบครัวในเมืองลีดส์ต่อไป โดยงานปัจจุบันที่เธอทำคือตำแหน่งรองหัวหน้าเชฟซูชิอาวุโส ที่ภัตราคารหรูในเครือไอวี สัญชาติอังกฤษ ที่มีสาขาอยู่ตามเมืองใหญ่ทั่วประเทศ

หญิงแกร่งคุมผู้ชายทั้งทีม

เธอคว้าโอกาสนี้ไว้ หลังจากได้รับการติดต่อจากทางบริษัทใหญ่แห่งนี้ ถือเป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญจากการเป็นลูกมือในครัวร้านอาหารไทยเมื่อห้าปีก่อนหน้านั้น มาสู่การเป็นเชฟซูชิที่ต้องดูแลคนในทีมอีก 8 คน ในบริษัทที่มีระบบการทำงานแบบมืออาชีพ

“เฟิร์นต้องขอบคุณตัวเองในทุกวันนี้ก็คือ ไม่ขี้เกียจ อดทน อดทนมาก ภาษาไม่ได้ ฉันก็จะสู้ นี่คือตัวเฟิร์น เพราะว่าเฟิร์นต้องคุมทีม ซึ่งทีมแต่ละคนไม่ใช่คนอังกฤษ เป็นคนต่างชาติหมดเลย ภาษาเราไม่ดี แต่เราต้องเป็นผู้หญิงแกร่ง เป็นผู้หญิงที่สามารถคุมผู้ชายทั้งทีมได้ นี่คือเฟิร์นนะคะ แล้วผู้ชายทั้งทีมต้องกลัวเรา แต่เราใจดีนะคะ แต่เขาก็กลัวเรา ถ้าเกิดเราหันไปมองปุ๊บ เขาจะรู้เลยว่า ทำอะไรผิด แล้วเขาก็จะเกรงใจเรา” เฟิร์นเล่าด้วยความภูมิใจ โดยปัจจุบันเธอสามารถบริหารทีมงานเพื่อบริการลูกค้าที่จองโต๊ะเข้ามาในระดับ 500-600 คน ได้

นอกจากจะต้องบริหารงานทั่วไป เธอยังต้องจัดการเรื่องความขัดแย้งของคนในทีมอีกด้วย “เรื่องซุบซิบนินทา มันเป็นเรื่องปกติ แต่ว่า บางทีมันก็แรง มันสามารถทำให้สองฝ่ายตีกันได้ในการทำงาน” เฟิร์นบอกว่า เธอต้องพยายามเป็นกลาง และเมื่อคนในทีมนำเรื่องต่าง ๆ มาปรึกษาเธอ เธอก็จะรับฟังและไม่นำไปพูดต่อ

แม้ว่าเฟิร์นบอกว่า เธอไม่ได้เชี่ยวชาญถึงขนาดเป็น “มาสเตอร์ซูชิเชฟ” แต่การมาถึงจุดนี้ได้ก็ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้น โดยนอกจากความทะเยอทะยานของเธอแล้ว ส่วนสำคัญคือการสนับสนุนจากทั้งครอบครัวของเธอและครอบครัวของสามี ทั้งในเรื่องการเรียนหลักสูตรต่าง ๆ และคอยช่วยเตือนสติในยามที่เธอต้องรับมือกับความเห็นหยาบคายทางอินสตาแกรม

“คอมเมนต์ว่า ทำไมเธอถึงใส่ถุงมือทำซูชิ หรือว่า คอมเมนต์แบบว่า ฉันจะอ้วกกับซูชิของเธอ…ตอนแรกตอบกลับมาก แต่ครอบครัวเตือนสติไว้ บอกว่า อย่าตอบกลับ ถ้ารับไม่ได้ให้ดีลีตทิ้ง” เฟิร์นเล่า และแนะนำคนที่ต้องการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเผยแพร่ผลงานเช่นเดียวกับเธอว่า “ต้องทำใจ” และหากรู้สึกไม่ดีกับความเห็นเหล่านั้นก็ให้ลบทิ้ง ไม่ต้องไปตอบโต้ เพราะเธอเรียนรู้แล้วว่า “อะไรก็แล้วแต่ให้เขาเห็นแต่ด้านดี ๆ ในโซเชียล”

อย่าปิดโอกาสเพราะภาษา

เฟิร์นบอกด้วยว่า เธอเห็นเชฟซูชิชาวไทยฝีมือดีจำนวนมากตามกลุ่มต่าง ๆ ในโซเชียลมีเดีย ขณะที่อังกฤษยังขาดคนทำงานในตำแหน่งนี้ ดังนั้นเธอจึงแนะนำให้ผู้ที่สนใจลองไขว่คว้าหาโอกาสเช่นเดียวกับเธอ อย่าปิดกั้นโอกาสของตัวเองเพียงเพราะคิดว่า พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ และลองใช้โซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์

“คุณไม่มีโซเชียลมีเดีย คุณจะดีขนาดไหน ไม่มีใครรู้จักคุณนะคะ อันนี้สำคัญ ลองเริ่มนะคะ ลองเริ่มทำดู เล็ก ๆ น้อย ๆ เวลาทำงาน ถ่ายรูปเก็บเอาไว้ค่ะ ทำงาน ถ่ายรูปเก็บเอาไว้ เก็บไว้เป็นผลงานตัวเอง วันหนึ่งอะค่ะ จะมีคนติดต่อคุณไปเอง ถ้าเขารักคุณ เขาชอบคุณ เขาทำวีซ่าให้คุณแน่นอน คุณไม่ต้องจ่ายอะไรเลย เขาต้องการคนทำงาน ปัจจุบันที่อังกฤษขาดซูชิเชฟค่ะ”

ทุกวันนี้นอกจากเธอจะถ่ายรูปและทำคลิปวิดีโอโพสต์ตามช่องทางโซเชียลมีเดียของเธอแล้ว บางครั้งเธอก็ถ่ายทอดสดเวลาทำซูชิ พูดคุยกับผู้ที่ติดตามเธอซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติด้วย “เฟิร์นจะบอกเขาเสมอนะคะ เวลาเฟิร์นไลฟ์ ‘มาย อิงลิช น็อต เวรี่ กู๊ด อัม ฟรอม ไทยแลนด์ สวัสดีค่ะ’ อย่างนี้เลย ก็คือแบบว่า พูดภาษาอังกฤษสำเนียงไทยค่ะ แล้วก็บอกว่า ฉันน่ะ ออกเสียงไม่ชัดนะ ลิ้นไก่ฉันสั้น” เฟิร์นกล่าวติดตลก

เฟิร์นบอกว่า ซูชิเป็นศิลปะ ขึ้นอยู่กับว่าจะสร้างผลงานศิลปะนั้นออกมาให้สวยขนาดไหน นอกจากสีสันของปลา ผัก และข้าว การจัดจานก็มีความสำคัญ

“ฉันใส่หัวใจและจิตวิญญาณลงในการสร้างสรรค์ซูชิของฉัน” ข้อความที่เธอเขียนไว้บนหน้าแรกของอินสตาแกรมอาจจะเป็นบทสรุปของความสำเร็จนี้

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว