8 มี.ค.”วันสตรีสากล” ชวนทุกคนอ่านเรื่องน่ารู้กฎหมายคุ้มครองแรงงานหญิง

 “วันสตรีสากล” ซึ่งตรงกับ 8 มีนาคมของทุกปี จะว่าไปแล้วแรงงานสตรีก็ได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ จึงต้องได้รับเกียรติและสิทธิอย่างเท่าเทียมกันทุกคน ทุกกลุ่ม

ในโลกยุคใหม่จะเห็นได้ว่าองค์กรทางธุรกิจได้ให้ความสำคัญกับการเปิดกว้าง พร้อมทั้งรับฟังมุมมองและความคิดของกลุ่มคนทุกเพศ ทุกวัย ทั้งยังตระหนักว่าภายใต้ความแตกต่างของผู้คนในสังคมที่หลากหลาย มีมุมมองและความหมายทำให้เจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการต้องเอาใจใส่สภาพแวดล้อมการทำงานอย่างรอบด้าน

เพราะในยุคที่เปิดกว้างและไร้ข้อจำกัดอย่างปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย ผู้หญิง หรือกลุ่ม LGBTQ ย่อมสมควรได้รับเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค ตลอดจนเสรีภาพ และอิสรภาพในชีวิตและร่างกาย อันเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

ขณะเดียวกัน คงปฏิเสธพบว่าปัจจุบันแรงงานสตรีได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทั้งในระดับผู้บริหารหรือผู้ปฏิบัติงาน สตรีที่มุ่งมั่นทำงานจนได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงในแวดวงธุรกิจต่าง ๆ อาทิ ธุรกิจการส่งออก ธุรกิจค้าปลีกสินค้าอุปโภคและบริโภค ธุรกิจการเงิน ล้วนแล้วแต่เป็นแบบอย่างและมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

 

8 มี.ค.วันสตรีสากล ชวนทุกคนทำความเข้าใจกฎหมายแรงงานหญิง

โดยนับตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2518 เป็นต้นมา สหประชาชาติ ให้ความสำคัญจัดงานอย่างเป็นทางการ และประกาศให้วันนี้เป็น “วันสตรีสากล” (International Women’s Day) ซึ่งด้านหนึ่งเป็นวันที่จะเฉลิมฉลอง เพื่อให้สตรี มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในภาคสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ

อีกด้านหนึ่งเพื่อสร้างความตระหนักให้เห็นถึงความไม่เสมอภาค เท่าเทียม ที่ยังดำรงอยู่ปัจจุบันผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลก พัฒนาสังคมประเทศ และมีผู้หญิงในหลายประเทศก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ สำหรับประเทศไทยจากการเคลื่อนไหว ของเครือข่ายขบวนการแรงงานและเครือข่ายผู้หญิง กลุ่มเพศสภาพ และสาขาอาชีพต่าง ๆ ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เรื่องสิทธิ เสรีภาพ มากยิ่งขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายและมีการออก

ดังนั้น วันนี้ประชาชาติธุรกิจ จึงอยากชวนอ่านสาระน่ารู้ที่ผู้ประกอบการและสตรีผู้ใช้แรงงานควรทำความเข้าใจเอาไว้เกี่ยวกับกฎหมายหรือสิทธิการใช้แรงงานหญิง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ใช้บังคับ คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยอธิบายกฎหมายเกี่ยวกับการใช้แรงงานหญิงเอาไว้ ดังนี้

มาตรา 38 ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงทำงานอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) งานเหมืองแร่หรืองานก่อสร้างที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ ในถ้ำ ในอุโมงค์หรือปล่องในภูเขา เว้นแต่สภาพของการทำงานไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือร่างกายของลูกจ้าง

(2) งานที่ต้องทำบนนั่งร้านที่สูงกว่าพื้นดินตั้งแต่สิบเมตรขึ้นไป

(3) งานผลิตหรือขนส่งวัตถุระเบิดหรือวัตถุไวไฟ เว้นแต่สภาพของการทำงานไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือร่างกายของลูกจ้าง

(4) งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 39 ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) งานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ที่มีความสั่นสะเทือน

(2) งานขับเคลื่อนหรือติดไปกับยานพาหนะ

(3) งานยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือเข็นของหนักเกินสิบห้ากิโลกรัม

(4) งานที่ทำในเรือ

(5) งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 40 ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงทำงานระหว่างเวลา 24.00 นาฬิกา ถึงเวลา 06.00 นาฬิกา และพนักงานตรวจแรงงานเห็นว่างานนั้นอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของหญิงนั้น ให้พนักงานตรวจแรงงานรายงานต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเพื่อพิจารณาและมีคำสั่งให้นายจ้างเปลี่ยนเวลาทำงาน หรือลดชั่วโมงทำงานได้ตามที่เห็นสมควร และให้นายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว

มาตรา 41 ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรครรภ์หนึ่งไม่เกิน 98 วันลาเพื่อคลอดบุตรตามมาตรานี้ให้หมายความรวมถึงวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรด้วย

มาตรา 42 ในกรณีที่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งมาแสดงว่าไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมต่อไปได้ ให้ลูกจ้างนั้นมีสิทธิขอให้นายจ้างเปลี่ยนงานในหน้าที่เดิมเป็นการชั่วคราวก่อนหรือหลังคลอดได้ และให้นายจ้างพิจารณาเปลี่ยนงานที่เหมาะสมให้แก่ลูกจ้างนั้น

มาตรา 43 ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์

หญิงตั้งครรภ์

กฎหมายใหม่ประกันสังคมให้คุณแม่อะไรบ้าง

นอกจากนี้ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานฉบับปรับปรุงใหม่ ยังเปิดเอื้อให้ผู้ประกันตนหญิงลาคลอดได้ 98 วัน (จากเดิมลาคลอดได้ 90 วัน) โดยรับค่าจ้างจากนายจ้าง 45 วัน ในอัตรา 100% ของค่าจ้าง และสำนักงานประกันสังคมจ่ายเพิ่มอีก 50% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 98 วัน เช่น หากฐานค่าจ้าง 15,000 บาท จะได้รับ 24,500 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับค่าคลอดบุตร 15,000 บาท ผู้ประกันตนจะได้รับทั้งสิ้น 39,500 บาท