2 เมษายน วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก เด็กพิเศษกับศักยภาพด้านศิลปะ

อเล็ก-ชนกรณ์ พุกะทรัพย์, แอปเปิ้ล-วิมลเรขา โสมภีร์, เกมส์-สัณฑกร ชาติพาณิชย์
อเล็ก-ชนกรณ์ พุกะทรัพย์, แอปเปิ้ล-วิมลเรขา โสมภีร์, เกมส์-สัณฑกร ชาติพาณิชย์

2 เมษายน วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก สัมผัสแรงบันดาลใจและศักยภาพเด็กพิเศษผ่านผลงานศิลปะ ไปกับ อเล็ก เกมส์ และแอปเปิ้ล จากโครงการ Art Story โดยมูลนิธิออทิสติกไทย

วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก (World Autism Awareness Day) ตรงกับวันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งกำหนดโดยองค์การสหประชาชาติในปี 2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ และองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ ตลอดจนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมรณรงค์ให้สังคมได้ตระหนักและเห็น ความสําคัญของโรคออทิสติก ให้เกิดความเข้าใจ เกิดการยอมรับ สร้างความเท่าเทียม และสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข

จากการรณรงค์ขององค์การสหประชาชาติที่ผ่านมาพบว่าการรับรู้เกี่ยวกับออทิสซึม (autism awareness) นั้นสูงขึ้นทั่วโลก โดยปีนี้องค์การสหประชาชาติได้รณรงค์ภายใต้แนวคิด “Toward a Neuro-Inclusive World for All” ความพร้อมก้าวสู่โลกที่ยอมรับความหลากหลายและความแตกต่างของทุกคน

ทั้งนี้ สังคมควรเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีภาวะออทิสติกใช้ชีวิตในฐานะพลเมืองของประเทศนั้น ๆ ตลอดจนมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม อย่างเท่าเทียมทั่วถึง รวมถึงสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วย

ออทิสซึม เป็นโรคที่มีความผิดปกติของพัฒนาการด้านสมอง สังคม ภาษา และพฤติกรรม ลักษณะที่ชัดเจน คือ เด็กไม่ยอมสบตา ไม่ชอบมองหน้าคนอื่น ไม่สนใจมองตามเมื่อเรียกชื่อ ไม่สนใจผู้อื่น และพูดได้ช้ากว่าเด็กปกติ โดยรูปแบบของเด็กแต่ละคนที่เป็นออทิสซึ่มนั้นมีความแตกต่างกันไป

โดยจํานวนเด็กออทิสติกทั่วโลกในปัจจุบันมีภาวะออทิซึมเพิ่มสูงขึ้น โดยมีสถิติจากการสำรวจของหลายประเทศ พบว่า ในเด็ก 59 คน จะพบเด็กที่มีภาวะออทิซึม 1 คน หรือ สัดส่วน 1:59

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากมูลนิธิออทิสติกไทย ระบุว่า มีผู้เป็นออทิสติกกว่า 3 แสนคน หรือทุก ๆ 1,000 คน จะพบผู้ป่วยออทิสติก 6 คน และแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงขึ้นมากเรื่อย ๆ

ปัจจุบันประเทศไทยมีบุคคลออทิสติก ลงทะเบียนขอบัตรประจำตัวคนพิการเพียง 20,000 คน เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ทราบข้อมูลการทำบัตรคนพิการ สิทธิ สวัสดิการ และการรับบริการต่าง ๆ จากภาครัฐ ในด้านการมีงานทำ การอยู่ร่วมกันในสังคม พบว่ามีไม่ถึง 200 คน ที่มีงานทำและมีรายได้เลี้ยงดูตนเอง

มูลนิธิออทิสติกไทย

Art Story ศิลปะของเด็กพิเศษ สร้างรายได้ให้ตนเอง

มูลนิธิออทิสติกไทยตระหนักถึงปัญหาดังที่กล่าวไป จึงมุ่งเน้นการสร้างอาชีพให้เด็กพิเศษ ซึ่งทุกคนจะได้รับเงินเดือนเป็นของตัวเอง โดยมีเครือข่ายสมาคมทั่วประเทศกว่า 60 จังหวัด ปัจจุบันมีเด็กออทิสติกเป็นสมาชิกในมูลนิธิกว่า 150 คน และกว่า 1,000 ครอบครัวในเครือข่ายทั่วประเทศ

ทั้งนี้มูลนิธิได้จัดตั้ง บริษัทออทิสติกไทย วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ขึ้นมาเพื่อเกิดศูนย์ฝึกอบรมการทำงานให้กับน้อง ๆ ออทิสติก เน้นให้ความรู้ผู้ปกครองในการดูแลเด็กพิเศษตั้งแต่แรกเกิด ตลอดจนจ้างงานผู้ปกครองให้มีรายได้

ในต่างประเทศจะมีศูนย์ดูแลเด็กออทิสติกแบบครบวงจร ตั้งแต่เกิดจนวาระสุดท้ายของชีวิต เนื่องจากผู้ปกครองไม่สามารถอยู่ดูแลได้ตลอดไป แต่ในไทยยังไม่มีในส่วนนี้และยังต้องผลักดันกันต่อไปซึ่งภาครัฐต้องให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง

แม้เด็กพิเศษจะมีไอคิวและการเรียนรู้น้อยกว่าเด็กทั่วไป แต่สามารถทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ดีและโดดเด่นขึ้นมา ดังนั้น จำเป็นต้องดึงและผลักดันศักยภาพดังกล่าวออกมาให้มากที่สุด

ส่วนสำคัญของบริษัทออทิสติกไทยวิสาหกิจ คือ แบรนด์ “Art Story  By Autistic Thai” ที่จำหน่ายสินค้าศิลปะลิขสิทธิ์จากเด็กพิเศษ โดยรายได้ 30% จะถูกนำมาให้น้อง ๆ เพิ่มเติมจากเงินเดือนที่ได้รับอยู่ปกติ

ผลงานศิลปะของน้อง ๆ ออทิสติกได้ถูกนำไปคอลแลปส์กับแบรนดังมากมาย เช่น กลุ่มทรู, อาลีบาบา, หน้าปกนิตยสารบ้านและสวน, ลายบนผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตดัชชี้, เนสท์เล่ และ คาเฟ่อเมซอน เป็นต้น

Art Story จึงเป็นส่วนสำคัญเรื่องรายได้สำหรับมูลนิธิ เนื่องจากไม่เคยมีการรับบริจาคใด ๆ แต่แลกมาด้วยผลงานจากความสามารถเพื่อกระจายรายได้สู่เครือข่ายทั่วประเทศ

นอกจากนี้ยังมีการทำร้านกาแฟ For All Coffee และ เติมเต็ม Coffee ซึ่งบาริสต้าจะเป็นเด็กออทิสติกทั้งหมด โดยมีอยู่ 4 สาขาทั่วกรุงเทพมหานคร

อเล็ก เกมส์ แอปเปิ้ล ตัวแทนพลัง ความสามารถ ของเด็กออทิสติก

ความสามารถพิเศษของเด็กออทิสติกมีหลากหลาย ส่วนมากจะเป็นการแสดงออกทางศิลปะเนื่องจากเป็นการบำบัดอย่างหนึ่งที่ออกมาจากจิตใจ นอกจากนี้ยังมี บาริสต้า เบเกอรี่ ไกด์ และดนตรี เป็นต้น

มูลนิธิออทิสติกไทย
อเล็ก-ชนกรณ์ พุกะทรัพย์

“อเล็ก-ชนกรณ์ พุกะทรัพย์” หนุ่มวัย 17 ปี ผุ้มีคติประจำใจว่า “You can do it I can do it. อย่ายอมแพ้” เริ่มต้นจากการชอบเล่นเกมและนำแรงบันดาลใจจากตัวการ์ตูนในเกมมาวาดเป็นผลงานศิลปะและแต่งนิยาย

ผลงานของอเล็กถูกถ่ายทอดออกมาอย่างลึกซึ้งในหลายภาพ โดยเน้นถึงความเป็นตัวของตัวเอง และทุกคนมีความสามารถในการทำอะไรอย่างที่ต้องการจะทำ งานที่โดดเด่นของอเล็กคือการคิดค้นตัวอักษรขึ้นมาเอง ที่ต้องถอดรหัสจากภาษาอังกฤษอีกทีหนึ่ง

ภาพของอเล็กยังถูกนำไปขายใน JNFT ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายและประมูลผลงานศิลปะที่เป็นดิจิทัล บนระบบบล็อกเชน ถึง 19 ภาพ โดยเป็นการซื้อขายผ่านเหรียญที่สามารถสร้างการลงทุนให้กับตัวน้องเองได้ในได้ในอนาคต

มูลนิธิออทิสติกไทย
เกมส์-สัณฑกร ชาติพาณิชย์ กับผลงานศิลปะบนเสื้อและแก้วน้ำ

“เกมส์-สัณฑกร ชาติพาณิชย์” อายุ 25 ปี ผู้หลงไหลในการวาดภาพผสมผสานจินตนาการโดยลดความสมจริงลงและเสนอผลงานผ่านการสกรีนลงบนเสื้อและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

แรงบันดาลใจวาดภาพของเกมส์มาจากการดูสารคดีสัตว์ป่าในวัยเด็ก เจ้าตัวจึงมักแสดงออกเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติผ่านผลงานเสมอ ๆ นอกจากนี้เกมส์ยังมีความสามารถพิเศษด้านดนตรีไทยด้วย

เกมส์ ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว โดยสามารถส่งเสียน้องจนเรียนจบปริญญาตรีได้ ที่เหลือคือความฝันของตนเอง ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ เนื่องจากเกมส์มีความชอบด้านคอมพิวเตอร์และอยากเป็นผู้สร้างเกมในอนาคต

เกมส์ฝากถึงน้อง ๆ ออทิสติก ว่า พยายามอย่าโกรธคนที่ต่อว่าเรา อย่าเอาคำพูดคนอื่นมาทำร้ายตัวเรา นำกลับมาเป็นพลังให้รู้ว่าเรามีศักยภาพมากเพียงใด

มูลนิธิออทิสติกไทย
แอปเปิ้ล-วิมลเรขา โสมภีร์

“แอปเปิ้ล-วิมลเรขา โสมภีร์” อายุ 26 ปี ที่มีความโดดเด่นด้านการวาดภาพระบายสีน้ำด้วยสไตล์น่ารักสดใส โดยร่วมงานกับแบรนด์ดังมาแล้วมากมาย เช่น คาเฟ่อเมซอน โยเกิร์ต ดัชชั่ ธนาคารออมสิน และ BMW เป็นต้น

แอปเปิ้ล กล่าวว่า ทุกคนเท่าเทียมกันทั้งเด็กออทิสติกและเด็กปกติ ขั้นแรกอยากให้ผู้ปกครองทำใจยอมรับให้ได้ก่อน ครอบครัวคือรากฐานของเด็ก ๆ ส่วนน้อง ๆ ออทิสติกเราต้องยอมรับตัวเองให้ได้ก่อนที่คนอื่นจะมายอมรับเรา และเราต้องพึ่งตัวเองให้ได้

ผู้ปกครองต้องยอมรับ

“โสภี ฉวีวรรณ” คุณแม่ของ อเล็ก เผยว่า ในตอนแรกก็รู้สึกแปลกเหมือนกัน ว่าลูกตนเองจะเป็นคนพิการ แต่จากการปรึกษาแพทย์จึงได้ข้อมูลว่า การจะจดทะเบียนเป็นผู้พิการนั้นต้องได้รับความยินยอมและสมัครใจจากตัวเด็กเอง

โดยต้องพูดคุยกับตัวเด็กอย่างจริงจัง ยอมรับและทำความเข้าใจร่วมกันว่ามีความผิดปกติอย่างไรบ้าง การไม่ยอมรับและไม่จดทะเบียนคนพิการจึงเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้จำนวนเด็กออทิสติกในประเทศสูงกว่าที่มีตัวเลขออกมา

นอกจากนี้ครอบครัวที่มองว่าไม่จำเป็นต้องได้รับสิทธิประโยชน์ เนื่องจากมีกำลังทรัพย์ในการดูแลก็นำไปสู่การไม่จดทะเบียนคนพิการเช่นกัน

“ตอนแรกเราก็ไม่จดทะเบียนคนพิการ แต่พอคุยกับหมอเรื่อย ๆ ก็ทราบว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล เมื่อลูกโตพอจะพิจารณาเรื่องเหล่านี้ได้ และลูกเห็นด้วย เราก็ตกลง เพราะเราไม่ได้อยู่ตลอดไป ในเบื้องหน้าลูกเราจะกระทำหรือถูกกระทำสิ่งใดบ้าง มันก็จะเป็นเกราะ” คุณแม่ของอเล็ก กล่าว