หม่าล่าหม้อไฟ เทรนด์ใหม่ของนักกิน-นักลงทุน

หากพูดถึงอาหารจีนที่เป็นที่นิยมในไทยตอนนี้ต้องยกให้ “หม่าล่าหม้อไฟ” ร้านอาหารที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ด้วยจุดเด่นความเผ็ดร้อนที่เข้ากับไลฟ์สไตล์การกินของคนไทย มีร้านดังที่เข้าสู่ธุรกิจนี้มาก่อนแล้วอย่าง CQK, TULOU, Haidilao, สุกี้จินดา และล่าสุด “สู่ต้าเสีย” ที่เปิดร้านใหม่ใหญ่มหึมาเหมือนพระราชวังจีนก็โหมสร้างกระแส สะท้อนว่า นอกจากสายกินที่ชื่นชอบแล้ว สายนักลงทุนก็มองเห็นโอกาส

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจร้านอาหารรายหนึ่ง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ร้านอาหารหม้อไฟหม่าล่าต้นตำรับจากจีนกำลังได้รับความนิยมมาก ซึ่งเป็นเทรนด์ที่มาแรงเหมือนร้านอาหารญี่ปุ่นในช่วงก่อนหน้านี้ ปัจจุบันพบว่าจำนวนคนจีนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับกลุ่มคนจีนที่มาทำงานและอาศัยอยู่ในระยะยาว

จากภาพรวมภัตตาคารหม้อไฟหม่าล่าสไตล์จีนแท้ ๆ ที่แห่เข้ามาเปิดสาขาในไทยพบว่า ขณะนี้เริ่มมีแบรนด์ใหญ่ทยอยเข้ามาเปิดตลาดมากขึ้น เช่น แบรนด์ฉือฉี่โคว่ (Ci Qi Kou : CQK) ต้นตำรับอาหารจีนจากเมืองฉงฉิ่ง ที่เข้ามาลงทุนเปิดสาขาที่ภูเก็ต จากนั้นขยายสู่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี และล่าสุดเข้ามาเปิดสาขากรุงเทพมหานครแล้ว ในย่านห้วยขวาง หรือจะเป็น ภัตตาคารตูลู่ (TULOU) ร้านอาหารจีนต้นตำรับปักกิ่ง กว่างโจว หลังจากเปิดให้บริการที่เชียงใหม่เมื่อ 2-3 ปีก่อน ปรากฏว่า ได้รับการตอบรับดี รวมไปถึง ร้านไฮ้ ดิ เหลา (Hai Di Lao) หม่าล่าหม้อไฟเสฉวนชื่อดังจากจีนเช่นกันที่เข้ามาทำตลาดในไทยตั้งแต่ปลายปี 2562 ซึ่งได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน

สู่ต้าเสีย เปิดใหม่ใหญ่มหึมา

“ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ส่วนร้านหม่าล่าหม้อไฟรายล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวมีชื่อว่า Shu Daxia Thailand หรือ “สู่ต้าเสีย” โดยเช่าพื้นที่อยู่ภายในโครงการคริสตัลดีไซน์เซ็นเตอร์ หรือ CDC เลียบด่วนรามอินทรา หวังเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของหม่าล่าเลิฟเวอร์ เน้นเอกลักษณ์วัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมจีนโบราณ ในบรรยากาศแบบโรงเตี๊ยม

ซึ่งพนักงานในร้านทุกคนจะต้อนรับลูกค้าด้วยการทักทายแบบจีน โดยผสานกำปั้นและฝ่ามือเข้าด้วยกัน พร้อมเรียกลูกค้าทุกคนว่า “ต้าเสีย-Daxia” ตลอดมื้ออาหาร ซึ่งมีความหมายว่า “จอมยุทธ์”

ความน่าสนใจคือ ร้านนี้ถือเป็นร้านแรกที่เน้นลงทุนก่อสร้างตกแต่งด้วยสไตล์พระราชวังในเมืองจีนที่ดูอลังการ เปิดตัวเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ทั้ง ๆ ที่การตกแต่งยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ และรับลูกค้าเฉพาะวอล์กอินเท่านั้น ทำให้มีคนไปรอต่อคิวตั้งแต่ร้านเปิด 11.00 น. จนกลายเป็นกระแส และต้องปิดรับคิวตั้งแต่ 1 ทุ่ม แต่เปิดให้บริการถึงเที่ยงคืน

เมื่อสอบถามพนักงานที่ให้บริการในร้าน ได้ข้อมูลบางส่วนว่า ผู้มาใช้บริการส่วนใหญ่มักจะถามกันมากว่า “เจ้าของเป็นกลุ่มทุนจีนหรือไม่ ชื่ออะไร” ซึ่งไม่มีใครตอบได้ ทราบแต่เพียงว่า ทางร้านเป็นบริษัทคนไทยที่เห็นโอกาสในธุรกิจชาบูหม่าล่า และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือต้องการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าคนไทยทุกกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นกลุ่มเพื่อนและครอบครัว

จากข้อมูลระบุว่า สู่ต้าเสีย เป็นแบรนด์หม่าล่าหม้อไฟพรีเมี่ยมจากเฉิงตู ประเทศจีน มีมากกว่า 600 สาขาทั่วโลก คือจีน สหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย มาเลเซีย และไทย

คนไทยแห่เช็กอิน

ดร.สุภินดา รัตนตั้งตระกูล อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนบทความหัวข้อ “โหนกระแส หมาล่า ฟีเวอร์ ส่องเส้นทางหมาล่าจากไหน ? ทำไมถึงครองใจคนไทย !” โดยชี้ว่า เทรนด์หม่าล่าหม้อไฟในประเทศไทยกำลังมาแรง ส่วนหนึ่งเพราะการใช้โซเชียลมีเดียจึงทำให้คนแห่ไปเช็กอิน

แล้วคนไทยส่วนใหญ่มักเรียก หม่าล่า แทนอาหารปิ้งย่างเสียบไม้สไตล์จีนที่ให้รสชาติเผ็ดชา เข้าใจว่าเป็นพริกสายพันธุ์หนึ่งที่ปลูกในจีน ซึ่งจริง ๆ แล้ว หม่าล่า ในภาษาจีนกลางแปลว่า อาการเผ็ดชา “หม่า” แปลว่า อาการชา และ “ล่า” แปลว่า “เผ็ด” หม่าล่าจึงเป็นคำที่ใช้บอกอาการเท่านั้น

ความรู้สึกเผ็ดชาดังกล่าวมาจาก “ฮวาเจียว” พริกไทยเสฉวน ซึ่งเป็นเครื่องเทศที่ได้รับความนิยมในจีน โดยเฉพาะอาหารเสฉวนที่ขึ้นชื่อเรื่องรสเผ็ดร้อน แทบไม่มีเมนูไหนเลยที่ไม่มีเครื่องเทศชนิดนี้ และหม่าล่าไฟที่คนไทยชอบบริโภคกันนั้นก็เป็นอาหารประเภทต้มชนิดหนึ่งของอาหารเสฉวน

คนไทยคุ้นชินกับอาหารต่างชาติอยู่แล้ว ยิ่งเป็นโซนตะวันออกยิ่งเข้ากันได้จากรสเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ครบรส วัฒนธรรมการกินของคนไทยเองก็ใช้เครื่องเทศที่มีกลิ่นเฉพาะ เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ที่สำคัญคือ มะแขว่น หรือลูกระมาศ ก็มีรสชาติคล้ายกับฮวาเจียว ที่ใส่ในหม้อไฟหม่าล่า

ธุรกิจร้านอาหารโตต่อเนื่อง

สำหรับภาพรวมธุรกิจร้านอาหาร “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ระบุว่า ในปี 2566 มูลค่าธุรกิจร้านอาหารน่าจะเติบโต 2.7%-4.5% จากปี 2565 หรือมีมูลค่า 4.18-4.25 แสนล้านบาท โดยได้รับปัจจัยบวกจากกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศที่ขับเคลื่อนได้ตามปกติ

รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งช่วยสนับสนุนให้เกิดเม็ดเงินกระจายลงสู่ธุรกิจร้านอาหารมากขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการรายใหญ่มีการขยายสาขาและนำร้านอาหารใหม่ ๆ จากต่างประเทศเข้ามาให้บริการ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ในประเทศไทย

แต่การฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารยังมีความเปราะบาง เนื่องจากกำลังซื้อยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ขณะที่ต้นทุนการดำเนินธุรกิจมีทิศทางจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งราคาก๊าซหุงต้มและค่าไฟ ประกอบกับการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารสูงขึ้นตามอัตราการเติบโตของตลาดรวม โดยผู้บริโภคมีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น