ค่าไฟพ่นพิษ ธุรกิจกุมขมับ ทำต้นทุนพุ่ง ทุบกำไรหด

ตู้แช่

บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ได้ทยอยแจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2566 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ แม้หลาย ๆ บริษัทจะมีผลการดำเนินงานและรายได้ที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็ดูเหมือนว่าปมปัญหาจากค่าไฟฟ้าที่อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง จะยังเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลให้ตัวเลขกำไรไม่พุ่งเท่าที่ควร

หลายบริษัทชี้แจงว่า กำไรที่ลดลงมีสาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่บางรายก็ระบุว่า ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นหลัก ๆ ประกอบด้วย ค่าสาธารณูปโภค สืบเนื่องมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของค่าไฟต่อหน่วย

หรือหากจะกล่าวว่า ต้นทุนจากค่าไฟที่เพิ่มขึ้นเป็นตัวแปรที่ฉุดให้กำไรลดลงก็คงไม่ผิดนัก

สิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าว อย่างน้อยที่สุดก็สะท้อนให้เห็นว่า ตลอดช่วง 3-4 เดือนที่ผ่าน แม้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะมีมติปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที ของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม สำหรับงวด ม.ค.-เม.ย. 2566 ให้ลงมาให้อยู่ในระดับ 5.33 บาท/หน่วย จากเดิมที่เฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 5.69 บาทต่อหน่วย

แต่ก็ยังส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง อาทิ สมิติเวช ยันฮี และสินแพทย์ มีความเคลื่อนไหวในการส่งตัวแทนเข้าพบ อธิบดีกรมการค้าภายใน เพื่อขอปรับราคาค่าบริการ หลังจากที่แบกต้นทุนมาระยะหนึ่ง แต่ก็ถูกเบรกและขอให้ตรึงราคาไว้ก่อน

แหล่งข่าวระดับสูงจากโรงพยาบาลเอกชนให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า “ในความเป็นจริงต้นทุนของผู้ประกอบการโรงพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว ปัญหาซัพพลายเชนจากสถานการณ์โควิดและสงครามที่ทำให้ทั้งยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ปรับราคาเพิ่มขึ้น และยิ่งมาเจอการปรับค่าเอฟทีอีก เฉพาะเรื่องค่าไฟ หากเป็นโรงพยาบาลขนาดกลาง 100-150 เตียง ต้องเสียค่าไฟเพิ่มขึ้นประมาณ 20-25% จากเดือนละ 3 ล้าน เป็น 4 ล้านบาท จากที่ผ่านมา 2-3 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมถึงภาวะเงินเฟ้อที่ต้องปรับเงินเดือนบุคลากร-พนักงาน จากค่าครองชีพต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นเพื่อรักษาคนไว้”

ขณะที่ “เวฑิต โชควัฒนา” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ แสดงความเห็นในเรื่องปัญหาค่าไฟที่กำลังเป็นปัญหาในขณะนี้ว่า “…ถ้าจะให้ประเทศเราแข่งขันได้ เราต้องทำให้ค่าไฟอยู่ในอัตราที่เทียบเท่ากับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่เช่นนั้นอุตสาหกรรมจะไม่สามารถแข่งขันได้ ตอนนี้ผู้ประกอบการถือว่าหนักมาก ยิ่งมาเจอเรต 5 บาทกว่า ต้องบอกตรง ๆ ว่าแค่เดินเครื่องก็แพ้เขาแล้ว ถ้าเราไม่ดูแลตรงนี้ การจะดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนก็คงจะเปิดยาก เพราะปัจจัยเรื่องค่าไฟเป็นปัจจัยหลัก ส่วนกระแสในเรื่องกรีนก็ต้องมีการวางแผนและทำควบคู่กันไป”

เช่นเดียวกับ “บุญชัย โชควัฒนา” ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล ก็ได้ฝากการบ้านไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศว่า ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจ อยากจะฝากให้เร่งแก้ปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าเป็นอันดับแรก ๆ เพราะค่าไฟเป็นต้นทุนหลักของอุตสาหกรรม และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

เช่นเดียวกับ “อัศวิน เตชะเจริญวิกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ที่ลุกขึ้นมาพูดถึงประเด็นค่าไฟที่เพิ่มขึ้นว่า “บิ๊กซีได้รับผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้นมาก โดยต้นทุนค่าไฟปรับสูงขึ้น 20% จากการใช้เครื่องปรับอากาศและตู้แช่ต่าง ๆ ที่ต้องใช้ไฟจำนวนมาก และต้นทุนค่าไฟที่เพิ่มขึ้นกระทบต่อผลประกอบการไตรมาสแรกนี้ด้วย และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลและแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ซึ่งค่าไฟที่สูงขึ้นกระทบต่อภาคเอกชนและทุกคนในประเทศทั้งหมด ค่าไฟที่เพิ่มขึ้นถือเป็นต้นทุนทุกอย่าง อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มุ่งนโยบายประหยัดค่าไฟ พร้อมเร่งติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป 40 สาขาแล้ว”

เสียงสะท้อนจากธุรกิจต่าง ๆ ดังกล่าว น่าจะบอกแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ไม่มากก็น้อย หากภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่เร่งหาทางออก ท้ายที่สุดข้อสรุปอาจจะตกไปเป็นภาระของประชาชนก็เป็นได้