
8 พรรคการเมือง โชว์กึ๋นแก้ปัญหาค่าไฟก่อนเลือกตั้ง สารพัดทางออก ยกเลิกค่า Ft-ปรับสัดส่วนรัฐ-เอกชน-หนุนวิสาหกิจ-แก้สัญญาซื้อไฟ
วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 สภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจัดสัมมนา เวทีสาธารณะถาม-ตอบประชาชนเรื่อง “กำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศมีปัญหา ประชาชนรับภาระค่าไฟฟ้า รัฐวิสาหกิจกำลังถูกจัดการ พรรคการเมืองจะมีนโยบายแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร”
- พายุลูกใหม่จ่อเข้าไทย ชี้ความรุนแรงเท่า “เตี้ยนหมู่” ระวังน้ำท่วมใหญ่
- นายกฯตั้งบอร์ดใหญ่คุมแจกเงิน 10,000 บาท ห้าง-โมเดิร์นเทรดรับอานิสงส์
- กรมอุตุฯเตือน “พายุดีเปรสชั่น” เข้าไทย รับมือฝนตกหนัก-ท่วมฉับพลัน
โดยเชิญตัวแทน 8 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย และพรรคไทยภักดี ชิงคะแนนโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง
นายเกียรติ สิทธีอมร พรรคประชาธิปัตย์ เล็งเห็นว่า ปัญหาราคาก๊าซสูงมาจากราคาก๊าซระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) กับผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) ที่ต่างกันมาก จึงต้องไกล่เกลี่ย ซึ่งอาจทำให้ได้เงินคืนถึง 6 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาลดภาระให้ประชาชน รวมถึงแก้ปัญหาเรื่องการสำรองไฟฟ้าเกินด้วย Electricity Grid พร้อมยกเลิกค่า Ft อีกทั้งต้องทบทวนสัดส่วนรัฐและเอกชน
ขณะที่นายวรภพ วิริยะโรจน์ พรรคก้าวไกล มีความเห็นว่า ควรแก้ที่ต้นตอ อย่างแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า (PDP) ซึ่งเป็นการวางแผนที่ผิดพลาด เพราะคาดการณ์เยอะกว่าความเป็นจริง เพื่ออนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าเอกชน จึงต้องแก้ไขแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าฉบับใหม่ โดยจัดสรรการใช้พลังงานใหม่ พร้อมเจรจากับโรงไฟฟ้าเอกชน เพื่อนำไปสู่การสร้างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในอนาคต
หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี พรรคพลังประชารัฐ จึงได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาว่า ยุติปัญหาโรงไฟฟ้าล้นเกิน เมื่อไฟเกิน 15% ต้องเลิกรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม และตรวจสอบการประมูล ต่อมาคือ การลดการใช้ LNG และเพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้า รวมถึงตั้งองค์กรก๊าซแห่งชาติขึ้นมาแทนเอกชน พร้อมห้าม กฟผ.ซื้อไฟฟ้าที่มีต้นทุนเกินกว่าราคาเฉลี่ย สุดท้ายคือยุติปัญหาค่า Ft โดยออกพันธบัตรไฟฟ้าประชารัฐ ลดภาระหนี้จากประชาชนเหลือ 1.5 หมื่นล้าน
ส่วนนายพิชัย นริพทะพันธุ์ พรรคเพื่อไทย อธิบายว่า ต้องแบ่งการแก้ไขเป็น 3 ช่วง โดยช่วงแรกคือการแก้ปัญหาราคาค่าไฟพุ่งสูง ด้วยการดูวิธีการคำนวณค่า Ft ให้ตรงกับสภาพความเป็นจริงมากที่สุด ต่อมาคือการหาแหล่งพลังงานเพิ่ม เช่น การแก้ปัญหาเรื่องสัมปทานในอ่าวไทย และสุดท้ายคือการวางแผนพลังงานให้เข้ากับทิศทางการผลิตไฟฟ้าในอนาคต เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม รวมถึงต้องรักษาสมดุลระหว่างประโยชน์ประชาชน ประเทศ และรัฐวิสาหกิจ
ส่วนตัวแทนจากพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย นายสาวิทย์ แก้วหวาน กล่าวว่า ต้องเปลี่ยนสัดส่วนกิจการพลังงานไฟฟ้าจากเอกชนมาอยู่ในมือรัฐให้มากขึ้น พร้อมเน้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด พร้อมปกป้องรัฐวิสาหกิจ โดยกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจด้วยงบประมาณ 4 แสนล้านในระยะเวลา 10 ปี
ด้านนายรณกาจ ชินสำราญ พรรคไทยสร้างไทย ก็ได้เสนอ 3 เป้าหมายลดค่าไฟ ได้แก่ การลดกำลังสำรองที่สูงในปัจจุบัน ผ่านการที่รัฐเป็นตัวแทนประชาชนเจรจาสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับเอกชน และลดการนำเข้า LNG และเพิ่มการซื้อไฟจากประเทศเพื่อนบ้านแบบ GtoG ต่อมาคือการตัดค่าใช้จ่ายส่วนเกินพร้อมเพิ่มแหล่งก๊าซธรรมชาติ สุดท้ายคือ การคืนอำนาจประชาธิปไตยทางพลังงานแก่ประชาชน เช่น การสนับสนุนโซลาร์เซลล์ให้ประชาชนและเอกชน
เช่นเดียวกับนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคชาติพัฒนากล้า เน้นการตั้งกองทุน Solar rooftop พร้อมรับซื้อราคาแบบหน่วยชนหน่วย เพื่อเพิ่มสมรรถนะภาคประชาชนและสร้างความยั่งยืนพลังงาน ทั้งนี้ ไม่ลืมเรื่องการเจรจาแหล่งก๊าซไทย-กัมพูชาเพื่อการใช้พลังงานฟอสซิลก่อนจะสายเกินไป
ด้านนายสุขสันต์ แสงศรี พรรคไทยภักดี ได้เสนอความคิดว่า ต้องปฏิวัติพลังงานชาติ มุ่งเน้นการรื้อระบบโครงสร้างพลังงาน โดยการใช้ “หญ้าเนเปียร์” พืชพลังงานเพื่อผลิตพลังงานแทน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนประเทศสู่พลังงานสะอาดอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงมองว่าพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์และพลังงานลมอาจมีปัญหาในการผลิตไฟฟ้าต่อเนื่อง