บาติกโมเดล ต้นแบบการพัฒนางานคราฟต์ตามแนว Fashion Sustainable

ปลัดมหาดไทยนำผู้ประสานงาน UN เยี่ยมชมกลุ่ม

ปลัดมหาดไทยพร้อมคณะ นำผู้ประสานงาน UN ประจำประเทศไทย ชมผลงาน “Batik Model” ต้นแบบการพัฒนางานคราฟต์จาก 7 กลุ่มผ้าบาติกชั้นนำของภาคใต้ ตามแนว “Fashion Sustainable” ในพระดำริฯ

วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย พร้อมด้วยนางกีต้า ซับบระวาล (Mrs.Gita Sabharwal, UN Resident Coordinator in Thailand) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน

รวมทั้งคณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน “บาติกโมเดล” โครงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกสู่ตลาดสากล และ “โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) น้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อการพัฒนาแฟชั่นที่ยั่งยืน (Sustainable Fashion) ที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี

ปลัดมหาดไทยนำผู้ประสานงาน UN เยี่ยมชมกลุ่ม

กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ยาริง บาติก

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า “กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ยาริง บาติก” เป็นแหล่งผลิตผ้าบาติกโดยกลุ่มสตรี แม่บ้าน นักเรียน และนักศึกษาที่สนใจ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนให้ดีขึ้น เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่พร้อมแบ่งปันศาสตร์ต่าง ๆ แก่ชุมชนและผู้ที่สนใจ

ผ้าบาติกของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ยาริง เป็นผ้าบาติกที่ใช้ฝีมือในการวาดเขียนลวดลายต่าง ๆ จากความคิดจินตนาการ และเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมของพื้นถิ่น เช่น ป่า ต้นไม้ ดอกไม้ เรือกอและ เป็นต้น เมื่อก่อนกลุ่มฯ จะทำผ้าบาติกจำหน่ายในชุมชนและบุคคลที่รู้จักเท่านั้น

Advertisement

แต่เมื่อผลงานเป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงได้มีการพัฒนารูปแบบการทำผ้าบาติกให้มีความหลากหลายอย่างต่อเนี่องด้วยการพิมพ์ผ้าจากบล็อกไม้ผสมเทคนิคการแคร๊กเทียน สะบัดเทียน โรยเกลือ เป็นต้น ประกอบกับการนำลายผ้าพระราชทานมาประยุกต์ให้เกิดการพัฒนาลวดลายใหม่ที่สวยงามและทันสมัยมากยิ่งขึ้นจนเป็นที่ต้องการของตลาดหลายระดับ

ด้วยพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้พระราชทานแนวพระดำริด้าน “Sustainable Fashion” ด้วยการใช้สีธรรมชาติ กลุ่มจึงได้น้อมนำพระดำริดังกล่าว ตลอดจนเรียนรู้และปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้สีย้อมผ้า โดยสกัดสีจากวัตถุดิบธรรมชาติที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น

เช่น เปลือกไม้โกงกาง เปลือกตะเคียนทอง เปลือกมะพร้าว ดอกคำแสด ใบสาบเสือ ใบหูกวาง ใบมะม่วง ใบยูคาลิปตัส และอื่น ๆ มาแต้มลงบนผืนผ้า ทำให้มีความโดดเด่นไม่ซ้ำใครและปลอดภัยต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีการเลือกผ้าที่นำมาใช้ในการทำผ้าบาติกให้หลากหลายมากขึ้น เช่น ผ้าไหม ผ้าซาติน เป็นต้น

เทคนิคการผลิตผ้าบาติกของกลุ่ม เริ่มต้นด้วยการนำผ้าขาวมาย้อมสีอ่อน ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการทำผ้าบาติกแบบเส้นเทียนสีขาวแล้วเขียนหรือพิมพ์เทียนให้เกิดลวดลายตามความต้องการ จากนั้นลงสีชั้นแรก ผึ่งลมจนแห้ง แล้วนำผ้ามาพิมพ์หรือเขียนเทียนอีกครั้ง เพื่อให้เกิดเทคนิคการซ้อนลาย พร้อมลงสีอีกชั้นให้สวยงาม นำไปแช่น้ำยาซิลิเกทเพื่อป้องกันสีตก โดยกรณีผ้าสีธรรมชาติต้องลงสีซ้ำ ๆ จนได้สีตามความต้องการ

Advertisement
ปลัดมหาดไทยนำผู้ประสานงาน UN เยี่ยมชมกลุ่ม
สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย

ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ยาริง บาติก มีความโดดเด่นด้านเทคนิคการซ้อนลายผ้า มีการพัฒนารูปแบบลวดลายที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น มีการนำวัตถุดิบธรรมชาติมาสกัดเป็นสีเพื่อใช้ในการย้อม ระบาย เพนต์ผ้า ทำให้ผ้าบาติกของกลุ่ม มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และตอบสนองความต้องการของตลาด

และภายหลังจากได้รับพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงแนวทางการพัฒนาช่องทางการตลาด ส่งผลทำให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ยของกลุ่มเดือนละ 40,000-60,000 บาท ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าว

ดร.วันดี นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า สมาชิกในกลุ่มได้ร่วมกันรังสรรค์พื้นที่โดยรอบให้เป็นพื้นที่แห่งความยั่งยืน ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกพืชสมุนไพร เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ไว้บริโภคภายในกลุ่ม พร้อมทั้งแจกจ่ายไปยังสมาชิกภายในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นการน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในด้านการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร

ทำให้สมาชิกกลุ่มสามารถลดรายจ่ายในครัวเรือน จากการไม่ต้องไปซื้อหาอาหารมาบริโภค และยังได้มีอาหารที่ปลอดภัย นอกจากนี้ ได้มีการบริหารจัดการขยะภายในพื้นที่ของกลุ่ม และมีการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าได้ใช้งานจริง

จากการสังเกตสมาชิกของกลุ่ม พบว่าได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาการทำผ้าบาติก การย้อมสีผ้า การใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นวัสดุในการทำสีย้อมผ้า ให้กับสมาชิกที่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ในชุมชน อันเป็นการสืบสาน รักษา ภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ของบรรพบุรุษให้คงอยู่

ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างพลังความรู้รักสามัคคี ในการหวงแหนและทำให้ศิลปวัฒนธรรมเอกลักษณ์ของพื้นที่ ได้สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ อย่างมั่นคงและยั่งยืน อันเป็นการน้อมนำพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จาก Sustainable Fashion สู่ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ที่สามารถเป็นตัวอย่างให้กับสมาชิกกลุ่มอื่น ๆ ต่อไป

ปลัดมหาดไทยนำผู้ประสานงาน UN เยี่ยมชมกลุ่ม

กลุ่มบาติก เดอ นารา

ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ยังได้ติดตามการดำเนินงาน “กลุ่มบาติก เดอ นารา” ต.จะบังติกอ อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2538 และมีสมาชิกในระยะเริ่มแรกเพียง 5 คน

กลุ่มบาติก เดอ นารา โดดเด่นเรื่องฝีมือการเขียนบาติกแบบดั้งเดิม โดยได้ผลิตผ้าบาติกและนำสินค้าตัวอย่าง เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าพันคอลายบาติก ไปเสนอกลุ่มลูกค้าที่ขายสินค้าของที่ระลึกตามแหล่งท่องเที่ยว และฝ่ายจัดซื้อในห้างร้านต่าง ๆ จนได้รับความสนใจจากลูกค้าและมียอดสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง

ต่อมามีการพัฒนางานบาติกโดยใช้แม่พิมพ์โลหะผสมผสานกับงานเขียนมือทำให้ได้ลวดลายผ้าที่แปลกใหม่ ร่วมสมัยและสามารถผลิตได้ต่อเนื่อง มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป ของใช้ ของตกแต่งบ้าน และมีการพัฒนาต่อยอดสินค้าบาติกไปสู่กลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อขยายโอกาสทางการตลาดให้กว้างขึ้น จนกระทั่งปี 2558 ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ “Otop Premuim Go Inter” ได้มีโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์และออกงานแสดงสินค้าที่ญี่ปุ่น ทำให้ได้พบกับผู้ซื้อที่สนใจผ้าบาติกเพื่อสั่งผลิตเป็นกิโมโนตลอดมา

นายสุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกลุ่มได้เปิดพื้นที่เป็น “Batik Studio” มีเซตอุปกรณ์ DIY สำหรับทำผ้าบาติกอย่างง่าย เพื่อให้ผู้สนใจทำเวิร์กช็อปและพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้งานผ้าภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เน้นการเขียนมือซึ่งนับว่าเป็นศิลปะขั้นสูง เนื่องจากแรงงานต้องมีทักษะ ความชำนาญ และต้องใช้ความสามารถเฉพาะบุคคล ทำงานให้เกิดเป็นงานด้านภูมิปัญญาหัตถกรรมที่มีความประณีต บรรจง จึงผลิตได้คราวละไม่มากนัก หรือเรียกว่า “ผลิตน้อย แต่ได้มาก” เป็นสินค้าที่มีมูลค่าทางจิตใจและไม่อาจทำซ้ำเหมือนเดิมได้ ทำให้เป็นที่นิยมในกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ

นอกจากนี้ยังได้มีการผสมผสานเทคนิคบาติกที่ใช้ทั้งการพิมพ์จากแม่พิมพ์โลหะผสมผสานการวาดเขียนด้วยจันติ้ง ทำให้ได้รูปแบบลวดลายที่ดูแปลกใหม่และทันสมัยมากยิ่งขึ้น

ปลัดมหาดไทยนำผู้ประสานงาน UN เยี่ยมชมกลุ่ม

ด้าน ดร.วันดีเสริมว่า ในรอบปีที่ผ่านมา บาติก เดอ นารา มีโอกาสได้ผลิตผ้าบาติกร่วมในคอลเล็กชั่น “The Rise of Asian” ของบริษัทไอริส ในนามแบรนด์ “Sirivannavari” ซึ่งเป็นแบรนด์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

หลังการเปิดคอลเล็กชั่นก็ได้รับผลตอบรับดี นับเป็นการพัฒนาผ้าบาติกสู่กลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง ผลิตน้อยแต่ได้มาก เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ตระหนักถึงคุณค่าของผลิตภัณฑ์และให้มูลค่าที่คู่ควร

สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง คือ การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต เพราะการผลิตผ้าบาติกสามารถทำเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน การมีโรงเรือนผลิตผ้าบาติกในเขตครัวเรือนที่อยู่อาศัยจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชน

โดยแท้ที่จริงแล้วการผลิตผ้าทำมือที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมแต่โบราณประเภทนี้ เป็นกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก มีวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเริ่มตั้งแต่ผ้าจากใยธรรมชาติ เช่น ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน และมีการนำวัตถุดิบธรรมชาติในท้องถิ่นมาสกัดสี ได้แก่ ครามปัตตานี ใบยูคาลิปตัส กาบมะพร้าว ใบหูกวาง เป็นต้น

นอกจากนี้เทียนและขี้ผึ้งที่ต้มเพื่อเขียนผ้าก็สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ เมื่อต้มเทียนออกจากผ้า รอให้เทียนเย็นเป็นแผ่นสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมไปถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์โดยใช้วัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น นั่นคือ กล่องผลิตจากกาบกล้วยตานี ดร.วันดีกล่าว

ปลัดมหาดไทยนำผู้ประสานงาน UN เยี่ยมชมกลุ่ม

สหประชาชาติพร้อมสนับสนุน

นางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เยี่ยมชม “บาติกโมเดล” ในวันนี้ ทำให้ได้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย รวมถึงท่านผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ที่ได้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ตามที่ได้ประกาศ Statement of Commitment to Sustainable Thailand เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ร่วมกัน

สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือพลังความร่วมมือและการเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในพื้นที่ รวมถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของสมาชิกกลุ่มทำผ้าบาติก ที่ทุกขั้นตอนการผลิต ต่างคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมศักยภาพของสตรี ในการลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษมาทำให้มีอาชีพที่มั่นคง มีงานศิลปะที่สวยงาม และมีรายได้ในการนำไปจุนเจือครอบครัว

โดยสำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมสนับสนุนมิติการพัฒนาด้านต่าง ๆ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำให้ประเทศไทยและโลกใบเดียวนี้ เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย มีอากาศที่บริสุทธิ์ อันจะยังประโยชน์ให้คนรุ่นต่อไปได้อยู่บนโลกใบเดียวนี้ด้วยความสุขอย่างยั่งยืน