ตามรอยลิซ่าเที่ยว 3 วัดดังอยุธยา พร้อมรู้จักผ้าซิ่นมัดหมี่ย้อมครามหมักโคลน

ลิซ่า
ภาพจาก lalalalisa_m

แจกพิกัดพร้อมเปิดประวัติ วัดมหาธาตุ-วัดหน้าพระเมรุ-วัดแม่นางปลื้ม 3 วัดดังอยุธยาที่ “ลิซ่า BLAKPINK” ไปเที่ยว พร้อมทำความรู้จัก “ผ้ามัดหมี่ย้อมครามหมักโคลนลายขอนาค” จากร้าน “ชานเรือน” จ.อุดรธานี ที่ตอนนี้สินค้าไม่พอขายต้องรอคิวนานกว่า 1 เดือน

วันที่ 6 มิถุนายน 2566 สร้างกระแสไปทั่วประเทศไทยและในระดับโลกตามที่คาดไว้ จากการที่ “ลิซ่า BLAKPINK” โพสต์ภาพลงอินสตาแกรมส่วนตัวที่มียอดผู้ติดตามกว่า 94.5 ล้านคน สวมผ้าไทยเที่ยวโบราณสถานและวัดดังในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังกลับบ้านและพักผ่อนในประเทศไทยจากการเล่นคอนเสิร์ต BLACKPINK WORLD TOUR [BORN PINK] BANGKOK ENCORE เมื่อวันที่ 27-28 พ.ค. ที่ผ่านมา

“ประชาชาติธุรกิจ” แจกพิกัดพร้อมเปิดประวัติ 3 วัดดัง ได้แก่ วัดแม่นางปลื้ม, วัดมหาธาตุ และวัดหน้าพระเมรุ รวมทั้งทำความรู้จัก “ผ้ามัดหมี่ย้อมครามหมักโคลนลายขอนาค” ที่ลิซ่าใส่เที่ยวจากร้าน “ชานเรือน”

ADVERTISMENT
วัดมหาธาตุ
ภาพจาก ayutthaya.go.th

วัดมหาธาตุ

วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ในตัวเมืองอยุธยา บริเวณเชิงสะพานป่าถ่าน ทางทิศตะวันออกของวัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นปรางค์ที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนตั้น ซึ่งได้รับอิทธิพลจากขอม สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 และต่อมาสมเด็จพระราเมศวรโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ใต้ฐานพระปรางค์ประธานของวัดเมื่อ พ.ศ.1927

พระปรางค์ของวัดมหาธาตุชั้นล่างสร้างด้วยศิลาแลง ส่วนที่เสริมใหม่ตอนบนมีลักษณะเป็นอิฐถือปูน โดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้ทรงปฏิสังขรณ์พระปรางค์ใหม่ให้สูงขึ้น แต่ปัจจุบันส่วนยอดพังลงมาเหลือเพียงชั้นมุขเท่านั้น

ต่อมากรมศิลปากรได้ขุดแต่งพระปรางค์องค์นี้เมื่อ พ.ศ.2499 และพบของโบราณหลายชิ้น เช่น ผอบศิลา ที่ภายในมีสถูปซ้อนกัน 7 ชั้น แบ่งออกเป็น ชิน เงิน นาก ไม้ดำ ไม้จันทร์แดง แก้วโกเมน และทองคำ ชั้นในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและเครื่องประดับอันมีค่า โดยปัจจุบันพระบรมสารีริกธาตุถูกนำไปประดิษฐานไว้ที่พิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

ADVERTISMENT

ไฮไลต์ของวัดมหาธาตุคือ “เศียรพระพุทธรูปหินทราย” ที่มีรากไม้ปกคลุม สันนิษฐานว่า เมื่อครั้งเสียกรุง เศียรพระพุทธรูปน่าจะหล่นลงมาอยู่ที่โคนต้นไม้จนรากไม้ขึ้นปกคลุม เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนที่งามแปลกตาอีกแห่งหนึ่ง 

ลิซ่า
ภาพจาก Instagram @dianaflipo

วัดแม่นางปลื้ม

วัดแม่นางปลื้มเป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งของอยุธยาที่เต็มไปด้วยตำนานและเรื่องราว มีพระประธานของวัด คือ “หลวงพ่อขาว” (พระพุทธนิมิตมงคลศรีรัตนไตร) องค์สีขาวบริสุทธิ์ ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้นซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวอยุธยา

ADVERTISMENT

ตามตำนานเล่าว่า แม่ปลื้มเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมน้ำชานพระนคร วันหนึ่งที่ฝนตก “สมเด็จพระนเรศวร” ทรงพายเรือมาพระองค์เดียว เมื่อทอดพระเนตรเห็นกระท่อมจึงทร’แวะขึ้นมาประทับ แม่นางปลื้มเห็นชายเปียกฝนมาจึงได้กล่าวเชื้อเชิญด้วยความมีน้ำใจโดยไม่รู้ว่าเป้นพระเจ้าแผ่นดิน

ด้วยความที่พระองค์เสียงดัง แม่ปลื้มจึงกล่าวเตือนว่าอย่าเสียงดังนักเลย เนื่องจากเป็นเวลาค่ำมากแล้วเดี๋ยวพระเจ้าแผ่นดินได้ยินจะทรงโกรธ พระนเรศวรตรัสอีกว่าอยากดื่มน้ำจันทน์ (เหล้า) เพราะทั้งเปียกและหนาว แม่ปลื้มยิ่งตกใจขึ้นมากกว่าเดิมเพราะว่าวันนี้เป็นวันพระ

แต่แม่ปลื้มได้ตอบกลับไปว่า ถ้าจะดื่มจริง ๆ ต้องสัญญาว่าจะไม่บอกใคร หากพระเจ้าแผ่นดินรู้จะเป็นอันตราย พระนเรศวรทรงรับปากแม่ปลื้มจึงได้นำน้ำจันทน์มาถวาย

สมเด็จพระนเรศวรได้ประทับค้างคืนที่บ้านของแม่ปลื้มจนเช้าก่อนเสด็จกลับ จากนั้นได้จัดขบวนมารับแม่ปลื้มไปเลี้ยงในวัง ด้วยความที่แม่ปลื้มเป็นคนมีเมตตา หลังจากแม่ปลื้มเสียชีวิตจึงโปรดให้สร้างวัด ชื่อ “วัดแม่นางปลื้ม”

อย่างไรก็ตาม “สุจิตต์ วงษ์เทศ” เคยกล่าวในมติชนว่า แม้เรื่องดังกล่าวจะเป็นนิทานไม่ใช่เรื่องจริง แต่ก็สะท้อนอายุ ความเก่าแก่ และความสำคัญของวัดได้เป็นอย่างดี

วัดแม่นางปลื้ม อยู่นอกเกาะเมือง ฝั่งตรงข้ามป้อมมหาไชย ในอดีตกองทัพอังวะเคยใช้ตั้งทัพและระดมยิงปืนใหญ่ข้ามกำแพงเข้ามาในเมือง และส่งคนข้ามคลองเมืองไปขุดรากกำแพงป้อม ฝังระเบิด จนสามารถเปิดทางเข้าเมืองได้เป็นแห่งแรก เมื่อครั้งกรุงแตก

วัดหน้าพระเมรุ
ภาพจาก ayutthaya.go.th

วัดหน้าพระเมรุ

เดิมวัดหน้าพระเมรุชื่อว่า “วัดพระเมรุราชิการาม” สันนิษฐานว่าที่ตั้งของวัดคงเป็นสถานที่สำหรับสร้างพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งสมัยอยุธยาตอนต้นและต่อมาจึงได้สร้างวัดขึ้น

รูปแบบทางศิลปะสถาปัตยกรรมไทยของโบสถ์วัดหน้าพระเมรุเป็นแบบอยุธยายุคต้น มีเอกลักษณ์สำคัญคือ นิยมทำเสาร่วมในประธานเป็นเสาแปดเหลี่ยมหรือเสากลม มีบัวหัวเสาเป็นบัวโถหรือบัวกลุ่ม

วัดนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทำศึกกับพระเจ้าบุเรงนองและสงบศึกกันเมื่อ พ.ศ.2106 ได้สร้างพลับพลาที่ประทับขึ้นระหว่างวัดหน้าพระเมรุกับวัดหัสดาวาส

พระประธานในอุโบสถสร้างปลายสมัยอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททองที่ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2172-2199 เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปรางมารวิชัย มีนามว่า “พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ” จัดเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีปรากฏอยู่ในปัจจุบันและมีความสมบูรณ์งดงามมาก สูงประมาณ 6 เมตรหน้าตักกว้างประมาณ 4.40 เมตร

อย่างไรก็ตามหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 พระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุได้ถูกทิ้งร้างไป จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นมาใหม่และได้ผ่านการบูรณะซ่อมแซมอีกหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน

วัดหน้าพระเมรุ ตั้งอยู่บริเวณริมคลองสระบัว เป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ถูกทัพพม่าทำลายเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 จากหลักฐานและข้อมูลพงศาวดารต่าง ๆ สันนิษฐานว่าพระอุโบสถน่าจะสร้างขึ้นก่อน พ.ศ. 2106 หรืออาจสร้างก่อนสมัยอยุธยา โดยยังคงปรากฏสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาอยู่ในสภาพสมบูรณ์มากที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ลิซ่า
ภาพจาก Instagram @lalalalisa_m

ผ้ามัดหมี่ย้อมครามหมักโคลนลายขอนาค

นอกจากไปเที่ยววัดทั้ง 3 แห่งแล้ว ลิซ่ายังสวมชุดผ้าไทยซึ่งเป็นผ้าซิ่นจากร้าน “ชานเรือน” ข้อมูลจากมติชน ระบุว่า ร้าน ชานเรือน เปิดมานานกว่า 30 ปี อยู่ในตลาดผ้านาข่า ต.นาข่า อ.เมือง จ.อุดรธานี เป็นตลาดจำหน่ายผ้าไทยที่ใหญ่ที่สุดใน จ.อุดรธานี ซึ่งเจ้าของร้าน คือ “นางสุวิมล ไชยวงศ์” อายุ 61 ปี แม่ของ “เดียร์น่า ฟลีโป” นางเอกสาวสังกัดช่อง 3 ที่เป็นเพื่อนกับ ลิซ่า มาตั้งแต่สมัยเข้าวงการใหม่ ๆ จากการเรียนร้องเพลง

จุดเด่นของร้านชานเรือน เป็นผ้าทอมือที่เน้นลายโบราณ และย้อมสีธรรมชาติ โดยลิซ่าได้เลือก “ผ้ามัดหมี่ย้อมครามหมักโคลนลายขอนาค” ซึ่งเป็นลายโบราณ เอกลักษณ์ของชาวอีสานที่ผู้เฒ่าผู้แก่ทอไว้ใส่ไปทำบุญ

“ลูกสาว บอกว่าจะไปเที่ยววัดที่อยุธยากับเพื่อน อยากให้เราตัดผ้าถุงไทยมาให้เพื่อนได้ใส่ไปวัด จึงตัดส่งไปให้หลายลาย รู้สึกดีใจมากที่น้องลิซ่าใส่ผ้าถุง เราตัดเผื่อไปให้โดยไม่ได้คาดหวังว่าน้องจะใส่ พอน้องเลือกใส่ก็ดีใจมาก เพราะน้องเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ เผื่อเป็นแบบอย่างให้คนรุ่นใหม่ใส่ผ้าไทยเข้าวัด ขอบคุณที่น้องเลือกใส่ผ้าไทย ทำให้คุณรุ่นใหม่มองเห็นคุณค่าของผ้าไทยด้วย”

หลัง ลิซ่า ใส่ผ้าซิ่นมัดหมี่ย้อมครามหมักโคลน ก็มียอดสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมากจนไม่พอขายและต้องพรีออเดอร์คิวยาวประมาณ 1 เดือน ถือว่าเป็นการกระจายรายได้เพราะทางร้านจะให้ชาวบ้านเป็นคนทอ นางสุวิมล กล่าวกับ มติชน

ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่า ผ้าซิ่น เป็นผ้านุ่งสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ แต่ละท้องถิ่นจะมีลักษณะแตกต่างกันไปทั้งขนาด วิธีการนุ่ง การทอ และการออกแบบลวดลาย ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและขนาดของกี่ทอผ้าในท้องถิ่น

การทอผ้าเพื่อทำผ้าซิ่นเป็นงานหัตถกรรมในครัวเรือนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผ้าซิ่นสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันมักเรียบง่ายหรือมีลวดลายบ้างเล็กน้อย ส่วนผ้าซิ่นที่ใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น งานแต่ง งานบวช และงานบุญต่าง ๆ จะทอด้วยความประณีต ลวดลายวิจิตรบรรจง เน้นความสวยงาม อันเป็นการแสดงฝีมือของผู้ทอซึ่งใช้เวลาร่วมเดือน

ผ้าซิ่นจะเรียกชื่อตามลวดลาย วิธีการทำ หรือตามท้องถิ่น เช่น ผ้าซิ่นมัดหมี่ ผ้าซิ่นตีนจก ผ้าซิ่นลายแตงโม ผ้าซิ่นเชียงแสน ผ้าโฮลเสร็ย หรือ ผ้าซิ่นทิวมุก เป็นต้น

ปัจจุบันผ้าซิ่นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่มีผู้สนใจศึกษาอย่างกว้างกวางและยังเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ

ลิซ่า
ภาพจาก Instagram @lalalalisa_m
ลิซ่า
ภาพจาก Instagram @lalalalisa_m

ประชาชนใส่ชุดไทยเที่ยววัดอยุธยา

ประชาชนใส่ชุดไทยเที่ยวอยุธยา ประชาชนใส่ชุดไทยเที่ยวอยุธยา ประชาชนใส่ชุดไทยเที่ยวอยุธยา

ข้อมูลจาก

เรื่องที่เกี่ยวข้อง