Oppenheimer ชีวิตจริงของบิดาระเบิดปรมาณู ผู้สร้างอาวุธทำลายล้างโลก

Oppenheimer
ออพเพนไฮเมอร์ ตัวจริง และคิลเลียน เมอร์ฟี แสดงเป็นออพเพนไอเมอร์ในภาพยนตร์ Oppenheimer

ย้อนดูชีวิตของ “เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์” ผู้คิดค้นระเบิดปรมาณูและเรื่องราวของแมนฮัตตันโปรเจ็กต์ที่เปลี่ยนแปลงโลกและตัวเขาเองไปตลอดกาล-เรื่องจริงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นภาพยนตร์ชีวประวัติฟอร์มยักษ์ “Oppenheimer” โดยผู้กำกับดัง “คริสโตเฟอร์ โนแลน” ซึ่งกำลังสร้างปรากฏการณ์ความนิยมและทำเงินทั่วโลกในตอนนี้ 

ชื่อของ เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน หัวหน้าโครงการ “แมนฮัตตัน” (Manhattan Project) โปรเจ็กต์ลับสุดยอดในการสร้างระเบิดปรมาณูของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กลับมาเป็นที่พูดถึงของผู้คนทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อ “คริสโตเฟอร์ โนแลน” (Christopher Nolan) เสด็จพ่อแห่งโลกภาพยนตร์หยิบเอาเรื่องราวของบิดาแห่งระเบิดปรมาณูมาสร้างหนังชีวประวัติฟอร์มยักษ์ที่มีความยาวกว่า 3 ชั่วโมง ในชื่อ “Oppenheimer”

ภาพยนตร์เรื่องใหม่ของโนแลนอุดมไปด้วยนักแสดงคุณภาพมากมาย นำโดย “คิลเลียน เมอร์ฟี” (Cillian Murphy) นักแสดงคู่บุญของโนแลน รับบท เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer), เอมีลี บลันต์ (Emily Blunt) รับบท แคทเธรีน คิตตี้ (Katherine “Kitty” Oppenheimer) ภรรยาของออพเพนไฮเมอร์, แมตต์ เดมอน (Matt Damon) รับบท นายพลเลสลี โกรฟส์ (Gen. Leslie Groves) ผู้อำนวยการโครงการแมนฮัตตัน, โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ (Robert Downey Jr.) รับบท ลูอิส สเตราส์ (Lewis Strauss) รองประธานคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูของสหรัฐ และ ฟลอเรนซ์ พิวจ์ (Florence Pugh) รับบท จีน แทตล็อค (Jean Tatlock) จิตแพทย์ผู้มีความสัมพันธ์กับออพเพนไฮเมอร์

ภาพยนตร์ Oppenheimer ของโนแลนพยายามทำความเข้าใจกับความโหดร้ายอันยิ่งใหญ่ 2 ประการที่กระทำโดยสหรัฐ ประการแรก คือ ความคิดจิตใจของคนที่อยู่เบื้องหลังการทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมือง ฮิโรชิมา และ นางาซากิ ในญี่ปุ่น เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 1945 อีกประการ คือ การตั้งคำถามถึงความจงรักภักดีต่อชาติว่าเมื่อมันมาผนวกกับอีโก้ของตัวบุคคลแล้วมันให้ผลลัพธ์ที่เลวร้ายอย่างไร

oppenheimer
ภาพจาก Universal Pictures

ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าโนแลนจะเอาชีวประวัติของออพเพนไฮเมอร์มาทำเป็นภาพยนตร์ ผู้กำกับมือทองใช้ความสามารถด้านเทคนิคทั้งหมดของเขาในการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ ซึ่งงานหินอยู่ตรงบทภาพยนตร์อันน่าปวดหัวเพราะต้องดัดแปลงมาจากชีวประวัติที่มีเรื่องราวมากมายขนาดมหึมา และแน่นอนว่ามันได้ผลตอบรับที่เกินคาดไปทั่วโลก

โนแลนเล่าถึง “Trinity” การทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรกของโลกที่ “ลอสอาลาโมส” (Los Alamos) ในรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ได้อย่างน่าทึ่ง

ADVERTISMENT

โนแลนและคิลเลียน เมอร์ฟี จะพาผู้ชมเข้าไปในหัวของออพเพนไฮเมอร์ ซึ่งมีทั้งความอัจฉริยะ ซับซ้อน และอะไรหลาย ๆ อย่าง หนังเรื่องนี้จึงไม่ใช่ 3 ชั่วโมงแห่งความสนุกสนาน

“หากคุณกำลังมองหาความบันเทิงที่ลื่นไหลเกี่ยวกับความรุ่งโรจน์ของอเมริกา จงอยู่ให้ห่าง แต่ถ้าต้องการตรวจสอบชายผู้กลายเป็น ความตาย ผู้ทำลายล้างโลก จงเข้าไปชม”

ADVERTISMENT
oppenheimer
ภาพจาก Universal Pictures

“ประชาชาติธุรกิจ” ขอชวนไปรู้จักชีวิต เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ ผู้คิดค้นระเบิดปรมาณู และเรื่องราวของแมนฮัตตันโปรเจ็กต์ ที่เปลี่ยนแปลงโลกใบนี้และตัวเขาไปตลอดกาล

ฉายแววอัจฉริยะตั้งแต่เด็ก

“เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์” เกิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 1904 ในย่านอัปเปอร์เวสต์ไซด์ (Upper West Side) นิวยอร์กซิตี้ สหรัฐอเมริกา ในครอบครัวของชาวยิวเชื้อสายเยอรมันที่ร่ำรวย โดยพ่อของเขาทำธุรกิจนำเข้าสิ่งทอ

ออพเพนไฮเมอร์ในวัยเยาว์เข้าศึกษาที่ Ethical Culture Fieldston School โรงเรียนที่มุ่งเน้นการสร้างนักเรียนที่อุทิศตนเพื่อการบริการ งานอดิเรกของเขาในวัยเด็กคือการสะสมแร่ธาตุและอ่านบทกวี โดยออพเพนไฮเมอร์จบการศึกษาในอันดับสูงสุดของชั้นเรียน

ในระดับอุดมศึกษา ออพเพนไฮเมอร์ได้เข้าเรียนที่ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในปี 1922 แม้ตอนแรกเขาอยากเป็นนักเคมี แต่หลังจากนั้นไม่นานก็หันมาชื่นชอบฟิสิกส์

นอกจากภาษาอังกฤษแล้ว ออพเพนไฮเมอร์พูดได้ถึง 6 ภาษา คือ กรีก ละติน ฝรั่งเศส เยอรมัน ดัตช์ และสันสกฤต ทำให้เขามีความสนใจที่หลากหลายทั้งวิชาปรัชญา วรรณกรรม และศาสนาตะวันออก ซึ่งเป็นการเรียนอย่างเข้มข้นควบคู่ไปกับวิชาเอก โดยสามารถจบเกียรตินิยมอันดับหนึ่งภาควิชาเคมีได้ภายใน 3 ปี

หลังจากนั้น ออพเพนไฮเมอร์ไปเรียนต่อด้านปรมาณูที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในอังกฤษ และมหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน (Gottingen) ในประเทศเยอรมนีกับ ดร.มัคส์ บอร์น (Dr. Max Born) นักวิทยาศาสตร์ปรมาณูผู้มีชื่อเสียง จนกระทั่งจบปริญญาเอกในปี 1927 ด้วยวัยเพียง 23 ปี

อย่างไรก็ตามช่วงเวลาที่เรียนในยุโรปนั้น ออพเพนไฮเมอร์ เริ่มเผชิญกับภาวะซึมเศร้า เขาต้องพบนักจิตวิทยาหลายคน แต่ต้องยกความดีความชอบให้กับการไปปั่นจักรยานที่คอร์ซิกา และการอ่านหนังสือ “In Search of Lost Time” ของ “มาร์แซล พรุสต์” (Marcel Proust) ที่ทำให้เขาดีขึ้นได้อีกครั้ง

ออพเพนไฮเมอร์จะถูกเพื่อน ๆ เรียกว่า “ออพปี้” (Oppie) ชายสูง 6 ฟุต คนนี้มีรูปร่างซูบผอมและมีบุคลิกอันซับซ้อน เอกลักษณ์ประจำตัวคือการสวมหมวกทรง porkpie hat (หมวกปีกกลมแบน) และที่สำคัญเขาสูบบุหรี่รวมทั้งดื่มสุราเป็นอาจิณ

เขาเรียนจบปริญญาเอกในปี 1927 แล้วกลับสหรัฐอเมริกาในปี 1929 ไปเป็นอาจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Technology) และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) ออพเพนไฮเมอร์แตกต่างจากอาจารย์คนอื่น ๆ ที่มักจะอยู่แต่กับข้อมูล ขณะที่ออพเพนไฮเมอร์เข้าใจความหมายในโลกแห่งความเป็นจริงที่เกิดจากทฤษฎี ทำให้นักศึกษาเกิดความสนใจเมื่อเรียนกับเขา

ออพเพนไฮเมอร์หมกมุ่นอยู่กับวิทยาศาสตร์ ในช่วงทศวรรษที่ 1930 เขาได้ทำการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่น่าทึ่งหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการเป็นคนแรก ๆ ที่พบการมีอยู่ของหลุมดำในปี 1939 ก่อนที่มันจะกลายเป็นทฤษฎีที่พูดถึงกันทั่วไปในปัจจุบัน

oppenheimer
ภาพจาก Universal Pictures

เริ่มสนใจการเมือง

เดิมที ออพเพนไฮเมอร์ ไม่ค่อยสนใจเกี่ยวกับการเมืองหรือเศรษฐกิจเท่าไรนัก แต่ทศวรรษที่ 1930 เป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเขา เนื่องจากเขาเริ่มใช้เวลากับลัทธิคอมมิวนิสต์ และมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับนักคอมมิวนิสต์หญิงชื่อ จีน แททล็อก (Jean Tatlock) ผู้แนะนำให้ ออพเพนไฮเมอร์ ได้รู้จักกับการเมืองฝ่ายซ้าย อย่างไรก็ตามในปี 1940 ออพเพนไฮเมอร์ก็แต่งงานกับ แคทเธอรีน (Katherine “Kitty” Puening) นักชีววิทยาซึ่งเป็นอดีตคอมมิวนิสต์เช่นกัน

ออพเพนไฮเมอร์ ที่เคยคิดว่าตัวเองไม่ฝักใฝ่การเมือง เริ่มมองเห็นผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและรู้สึกโกรธที่ลัทธิฟาสซิสต์ในเยอรมนีปฏิบัติต่อชาวยิวอย่างโหดร้าย

“ผมเห็นว่าภาวะซึมเศร้ากำลังทำอะไรกับนักเรียนของผม บ่อยครั้งพวกเขาไม่มีงานทำหรืองานที่ไม่เพียงพอ ผมเริ่มเข้าใจว่าเหตุการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนอย่างลึกซึ้งเพียงใด ผมเริ่มรู้สึกว่าต้องมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่มากขึ้นต่อชีวิตของคนในสังคม” ออพเพนไฮเมอร์กล่าว

 

ร่วมโปรเจ็กต์แมนฮัตตัน

ในปี 1941 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อุบัติขึ้น ประธานาธิบดี “แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์” (Franklin D. Roosevelt) แห่งสหรัฐ ได้ก่อตั้งโครงการแมนฮัตตันขึ้นเพื่อตอบสนองข่าวที่ว่าเยอรมนีกำลังพัฒนาอาวุธซึ่งอาจหมายถึงการสร้างระเบิดปรมาณูได้สำเร็จ

รูสเวลต์ ได้แต่งตั้งนายพล เลสลี โกรฟส์ (Leslie Groves) ให้ดำเนินการและต้องการใครสักคนที่จะเป็นหัวหน้าห้องทดลอง ซึ่ง เลสลี โกรฟส์ ได้เลือกออพเพนไฮเมอร์

โครงการแมนฮัตตัน เป็นโปรเจ็กต์ลับสุดยอดเกี่ยวกับระเบิดปรมาณู ดังนั้น สถานที่ทดลองจึงต้องอยู่ห่างไกลออกไปจากผู้คน ออพเพนไฮเมอร์จึงเลือก ลอส อลามอส (Los Alamos) ทางตอนเหนือของรัฐนิวเม็กซิโก เป็นฐานที่มั่นปฏิบัติการ

แม้ก่อนหน้านี้ออพเพนไฮเมอร์จะมีความกังวลเกี่ยวกับการทำสงคราม แต่เขายอมรับข้อเสนอของโกรฟส์และชวนนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งที่สุดมาร่วมงานนี้ ทำให้โครงการแมนฮัตตันเป็นการรวมผู้เชี่ยวชายด้านต่าง ๆ ของปรมาณูไว้มากมาย เช่น นีลส์ บอร์ (Niels Bohr) และเอ็นริโก แฟร์มี (Enrico Fermi) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีความสงสัยเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองและความจงรักภักดีของ ออพเพนไฮเมอร์ ช่วงแรกเริ่มเขาจึงตกอยู่ภายใต้การเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง การโทรศัพท์และจดหมายของเขาถูกตรวจสอบ

แต่ในที่สุดโกรฟส์ก็สามารถยุติข้อกังวลในตัวออพเพนไฮเมอร์ได้ด้วยการสังเกตถึงความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกัน ออพเพนไฮเมอร์จึงไม่ถูกไล่ออกจากโครงการ เขาดำเนินการและสั่งให้คนอีกประมาณ 4,000 คน สร้างระเบิดปรมาณูต่อในลอสอาลามอส ซึ่งใช้เวลาเพียง 2 ปีก็ทำสำเร็จกับงบประมาณกว่า 2,000 ล้านเหรียญ

ออพเพนไฮเมอร์ได้รับคำชมเชยจากวิธีการดำเนินโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องประสิทธิภาพและความเป็นผู้นำที่มีเสน่ห์ แม้ผู้ร่วมโปรเจ็กต์บางคนจะแสดงความกังวลว่าพวกเขากำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ แต่ออพเพนไฮเมอร์ก็แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของความเป็นผู้นำและสามารถเข้ากับคนได้ดี โดยพยายามโน้มน้าวบรรดาผู้ร่วมงานว่า แม้ว่าระเบิดปรมาณูอาจสร้างปัญหาให้กับตัวเอง แต่ก็เป็นวิธีการยุติสงคราม

เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์
เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์/ ปี 1954 (Photo by OFF / AFP)

 

นักวิทยาศาสตร์กับศีลธรรม 

มีการพบว่าออพเพนไฮเมอร์ได้ยับยั้งคำร้องของนักวิทยาศาสตร์ 70 คนที่พยายามส่งถึงประธานาธิบดีทรูแมนไม่ให้ใช้ระเบิดปรมาณูด้วยเหตุผลด้านศีลธรรม

นักวิทยาศาสตร์ที่คัดค้านการใช้ระเบิดปรมาณูระบุว่า ควรบอกให้ญี่ปุ่นทราบเกี่ยวกับการใช้อาวุธก่อน และให้โอกาสญี่ปุ่นในการยอมจำนน

“ลีโอ ซีลาร์ด” (Leo Szilard) หนึ่งในวิทยาศาสตร์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า โดยส่วนตัวแล้วผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องสำคัญหากนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่ทำงานในสาขานี้บันทึกอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการต่อต้านการใช้ระเบิดเหล่านี้ด้วยเหตุผลทางศีลธรรม ในช่วงที่เกิดสงคราม

อย่างไรก็ตามคำร้องของนักวิทยาศาสตร์ทั้ง 70 คน ไม่ได้รวมชื่อนักวิทยาศาสตร์จากลอส อลามอส เพราะพวกเขาไม่ได้รับโอกาสในการลงนาม “เอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์” (Edward Teller) หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ของโครงการ กล่าวในภายหลังว่า ออพเพนไฮเมอร์เกลี้ยกล่อมให้ตัวเขาไม่แจกจ่ายคำร้อง และบอกว่า “พวกเราในฐานะนักวิทยาศาสตร์ไม่มีธุระอะไรที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับแรงกดดันทางการเมืองแบบนั้น”

นอกจากนี้ เอ็ดเวิร์ด ยังเขียนถึง ซีลาร์ด ในเวลานั้นว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นแย่มากจนไม่มีการประท้วงหรือยุ่งเกี่ยวกับการเมืองใด ๆ ที่จะช่วยเยียวยาจิตวิญญาณของเราได้

ตามรายงานของ Atomic Heritage Foundation ทรูแมน ไม่เห็นคำร้องดังกล่าวจริง ๆ ก่อนที่เขาจะสั่งให้ทิ้งระเบิด แม้ซีลาร์ดจะขออนุญาตเผยแพร่คำร้องต่อสาธารณะในปลายเดือนสิงหาคม 1945 แต่คำร้องดังกล่าวไม่ได้รับการเปิดเผยและถูกเก็บเป็นความลับเป็นเวลานานกว่าทศวรรษ

แม้ว่าออพเพนไฮเมอร์จะกล่าวในหลายปีต่อมาหลังจากนั้นว่า การทิ้งระเบิดไม่เกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ทำงานใน ลอส อลามอส จะคิดเช่นนั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ดังทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มญี่ปุ่นเกิดขึ้นหลังจากที่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ถึงแก่อสัญกรรมในเดือนเมษายน 1945 ผู้นำนาซีเป็นความชั่วร้ายและเป็นเหตุผลหลักที่สร้างโครงการระเบิดปรมาณูขึ้นมา เมื่อไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ระเบิดกับพวกนาซีแล้ว จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่นักวิทยาศาสตร์ของโครงการจะตั้งคำถามถึงการทิ้งระเบิดเพื่อทำลายล้างญี่ปุ่น

oppenheimer
ภาพจาก Universal Pictures

 

บัดนี้เราคือความตาย คือผู้ทำลายล้างโลก

ในที่สุดเมื่อเวลา 05.30 น. รุ่งสางของวันที่ 16 กรกฎาคม 1945 ระเบิดปรมาณูที่มนุษย์สร้างขึ้นลูกแรกก็ถูกจุดชนวนและระเบิดขึ้น เกิดแสงสว่างวาบ เมฆรูปเห็ดขนาดสูงถึง 40,000 ฟุต ปรากฏบนท้องฟ้า

เมื่อนั้น ออพเพนไฮเมอร์ที่เฝ้ามองผลการทดสอบจากระยะไกลได้เห็นเมฆรูปเห็ดปะทุขึ้น เขาก็ทราบทันทีว่า “บัดนี้เราคือความตาย คือผู้ทำลายล้างโลก” (Now I am become Death, the destroyer of worlds) ข้อความดังกล่าวมาจากคัมภีร์ภควัทคีตา 700 บทของฮินดู ซึ่งกล่าวถึงตอนที่พระกฤษณะ อวตารของพระวิษณุกล่าวสอนอรชุนในสนามรบ

หลังจากนั้น วันที่ 6 และ 9 สิงหาคม 1945 ไม่กี่สัปดาห์หลังจากการทดลองที่ ลอสอาลามอส “ลิตเติลบอย” และ “แฟตแมน” ระเบิดปรมาณู 2 ลูกของสหรัฐ ก็ถูกทิ้งลงสู่เมือง “ฮิโรชิมา” และ “นางาซากิ” คร่าชีวิตทหารและผลเรือนผู้บริสุทธิ์ไปกว่า 200,000 คน ส่วนผู้ที่รอดชีวิตก็ต้องทนทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวดที่ได้รับปริมาณกัมมันตรังสี นำไปสู่การที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ และสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 

ณ ช่วงเวลาที่ทิ้งระเบิด ออพเพนไฮเมอร์ ยังมีการเฉลิมฉลองถึงความสำเร็จนี้ ถึงกับพูดว่า “อยากให้ระเบิดเกิดขึ้นเร็วกว่านี้เพื่อที่จะได้ทิ้งลงที่เยอรมนี”

หลังจากนั้นชื่อของออพเพนไฮเมอร์ก็เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะของ “บิดาแห่งระเบิดปรมาณู” ได้ขึ้นปกนิตยสาร TIME ได้รับตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (AEC หรือ United States Atomic Energy Commission) ที่ก่อตั้งขึ้นแทนที่โครงการแมนฮัตตัน และได้รางวัล Army-Navy Award of Excellence ในปี 1940

แต่ความยินดีนี้อยู่ได้ไม่นาน ออพเพนไฮเมอร์เริ่มลิ้มรสถึงความโศกเศร้าและหดหู่จากโศกนนาฏกรรมครั้งนี้ เขากล่าวภายหลังว่า “เราได้สร้างสิ่งหนึ่งขึ้นมา เป็นอาวุธที่น่ากลัวที่สุด ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงธรรมชาติของโลกอย่างฉับพลันและลึกล้ำ สิ่งที่เป็นสิ่งชั่วร้ายตามมาตรฐานของโลกที่เราเติบโตมา และด้วยการกระทำเช่นนี้ เราถูกตั้งคำถามอีกครั้งว่าวิทยาศาสตร์ดีต่อมนุษย์หรือไม่”

oppenheimer
ภาพจาก Universal Pictures


จากผู้คิดค้นสู่ผู้ต่อต้าน

เมื่อครั้งที่ออพเพนไฮเมอร์ได้เข้าพบประธานาธิบดี “แฮร์รี เอส ทรูแมน” (Harry Truman) เขาบอกกับผู้นำสหรัฐ ว่า “รู้สึกว่ามือของตัวเองนั้นเปื้อนเลือด” ทำให้ทรูแมนไม่พอใจในตัวเขาเท่าไรนัก

ต่อจากนั้นเมื่อโลกเข้าสู่ยุคสงครามเย็น ออพเพนไฮเมอร์ ได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนที่ไม่สนับสนุนให้มีการพัฒนาระเบิดไฮโดรเจน ซึ่งจะมีพลังมากกว่าระเบิดปรมาณูถึง 1,000 เท่า จากคนคิดค้นระเบิดปรมาณู เขาได้สนับสนุนกลุ่มระหว่างประเทศที่ควบคุมอาวุธปรมาณูอย่างเปิดเผย แทนที่จะสนับสนุนสหรัฐ

“ผมทั้งไม่สามารถทำได้ และจะไม่ทำเช่นนั้น”

อย่างไรก็ตามระเบิดไฮโดรเจนก็ถือกำเนิดขึ้นในที่สุดโดย “เอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์” นักวิทยาศาสตร์ชาวฮังการี ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “บิดาของระเบิดไฮโดรเจน” ในเวลาต่อมา

 

จุดสิ้นสุดของบิดาปรมาณู 

เวลาของออพเพนไฮเมอร์สิ้นสุดลงในเดือนธันวาคม 1953 เมื่อประธานาธิบดี “ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์” (Dwight D. Eisenhower) สั่งห้ามส่งข้อมูลลับทั้งหมดให้เขา และเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ฝักใฝ่ในคอมมิวนิสต์

ออพเพนไฮเมอร์จึงกลับไปทำงานด้านวิชาการ โดยบริหารสถาบันเพื่อการศึกษาขั้นสูงในพรินซ์ตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ และบรรยายสาธารณะ รวมถึงเผยแพร่บทความทางวิทยาศาสตร์

ระเบิดปรมาณูและผลกระทบของมันยังคงหลอกหลอนเขาแม้เวลาจะผ่านไป ในปี 1961 เมื่อออพเพนไฮเมอร์ ถูกถามเกี่ยวกับ ลิตเติลบอย และ แฟตแมน ที่ถูกทิ้งในญี่ปุ่น เขาตอบว่า “นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด งานของเราได้เปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นอยู่ของผู้คน แต่การใช้การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นปัญหาของรัฐบาล ไม่ใช่ของนักวิทยาศาสตร์”

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 1962 หลังจากเกษียณอายุได้ไม่นาน ออพเพนไฮเมอร์ก็เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด ในวัย 62 ปี

“ความผิดพลาดเช่นนี้ไม่สามารถถูกแก้ไขได้ รอยด่างพร้อยในประวัติศาสตร์ของเราไม่เคยถูกลบออก เราเสียใจที่ผลงานอันยิ่งใหญ่เพื่อประเทศของเขาได้รับการตอบแทนอย่างไม่สมเกียรติ” เฮนรี ดีโวลฟ์ สมิธ (Henry DeWolf Smyth) นักฟิสิกส์และนักการทูตชาวอเมริกัน กล่าวในพิธีรำลึกถึงออพเพนไฮเมอร์


อ้างอิง

อ่านเนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง