กิติกร เพ็ญโรจน์ ผุดรายการ “The Golden Spoon” ให้ช้อนทองการันตีร้านสตรีตฟู้ด

กิติกร เพ็ญโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮลิโคเนีย เอช กรุ๊ป จำกัด

“หนุ่ม-กิติกร เพ็ญโรจน์” แห่ง เฮลิโคเนีย เอช กรุ๊ป เจ้าของลิขสิทธิ์เชฟกระทะเหล็ก, มาสเตอร์เชฟ, ท็อปเชฟ และ เฮล คิทเช่น เตรียมประเดิมรายการใหม่ “The Golden Spoon” ให้ตราสัญลักษณ์ “ช้อนทอง” การันตีความอร่อยร้านสตรีตฟู้ด พร้อมหนุนซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทย

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 “หนุ่ม-กิติกร เพ็ญโรจน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮลิโคเนีย เอช กรุ๊ป จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เฮลิโคเนียทำรายการเกี่ยวกับอาหารมาตลอด 10 ปี ทั้งเชฟกระทะเหล็ก ประเทศไทย, มาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย, ท็อปเชฟ ไทยแลนด์ และ เฮล คิทเช่น ไทยแลนด์ เป็นต้น ซึ่งเป็นรายการที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจากต่างประเทศ

จึงเกิดความคิดที่จะทำรายการอาหารเป็นแบรนด์ไทยของเราเองขึ้นมา นั่นคือ “The Golden Spoon” ซึ่งเตรียมออกอากาศทางช่อง 7 ในช่วงต้นปี 2567 สัปดาห์ละ 1 ตอนตลอดทั้งปี

รายการ The Golden Spoon จะเป็นการให้ตราสัญลักษณ์ “ช้อนทอง” การันตีคุณภาพและความอร่อยของอาหารไทยสตรีตฟู้ด ที่ผ่านมามีการจัดอันดับอาหารหลายอย่างแต่ไม่มีใครจัดอันดับสตรีตฟู้ดไทย หรือถ้ามีก็ไม่ได้เป็นสตรีตฟู้ดจากรากหญ้าจริง ๆ ซึ่งอาหารเหล่านั้นล้วนเป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมไทยทั้งสิ้น

เราจะให้ช้อนทองการันตีร้านอาหารสตรีตฟู้ด ทางหนึ่งเฮลิโคเนียจะส่งทีมงานและผู้รู้ของเราออกไปชิม ไปค้นหา ไปคัดเลือก และอีกทางคือให้บรรดาร้านอาหารสมัครกันเข้ามา เนื่องจากมีร้านจำนวนมากที่ไม่เป็นที่รู้จัก แต่มีฝีมือ เราต้องการจะให้พื้นที่และโอกาสแก่ร้านเหล่านั้น หนุ่ม กิติกร กล่าว

สำหรับการแข่งขัน จะนำร้านต่าง ๆ ที่ได้รับคัดเลือกเข้ามาแข่งกันในรายการ เป็นตอน ๆ แบ่งตามประเภทหรือเมนูอาหาร เช่น หาร้านที่ทำข้าวมันไก่เก่งที่สุด ผัดกะเพราเก่งที่สุด หรือ แกงเขียวหวานเก่งที่สุด เป็นต้น โดยจะมีกรรมการถึง 300 คน จากรายการเชฟกระทะเหล็ก, มาสเตอร์เชฟ, ท็อปเชฟ, เฮล คิทเช่น และผู้รู้ในวงการอาหารที่กินและให้คะแนนจริง เป็นการการันตีความอร่อยและคุณภาพโดยคนที่อยู่ในวงการอาหาร

ADVERTISMENT

รูปแบบการแข่งขัน ร้านที่ได้เข้ามาถึงรอบสุดท้าย (ที่ได้ออกทีวี) จะได้รับตราสัญลักษณ์แน่นอนที่ระดับ 1 ช้อนทอง เพราะถือว่าเป็นที่สุดแล้วในระดับหนึ่ง จากนั้นแข่งกันและหาร้านที่ได้ระดับ 2 ช้อนทอง โดยจะนำร้านที่เหลือมาแข่งกันอีกครั้งเพื่อเฟ้นหาว่ามีร้านใดบ้างที่จะได้ระดับ 3 ช้อนทองซึ่งถือว่าสูงสุดในแต่ละเมนู

The Golden Spoon จะเป็นอีกหนึ่งรายการที่ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ให้คนได้เห็นอาหารสตรีตฟู้ดไทย เป็นอีกเวทีซึ่งทำให้ร้านไม่มีโอกาสได้มาแสดงฝีมือ และได้การยอมรับ ทำให้คนดูได้ไปรับประทาน ทำให้วงการอาหารสตรีตฟู้ดขยายตัวพร้อมยกระดับมาตรฐานมากยิ่งขึ้น เพราะการให้คะแนนไม่ได้มีแค่ความอร่อย แต่ต้องมีมาตรฐาน รสชาติคงที่ และที่สำคัญคือความสะอาด ถ้าพัฒนาสตรีตฟู้ดไทยให้ก้าวไปอีกขั้นก็จะกลายเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาสู่ประเทศไทย

ADVERTISMENT

เฮลิโคเนียจะทำรายการลักษณะนี้มากขึ้น ตามกำลังที่สามารถทำได้เพื่อผลักดันซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทย แต่เชื่อว่าภาครัฐน่าจะมีโครการที่เกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทยอยู่ หวังว่าโครงการเหล่านั้นจะมาเสริมให้กับผู้ผลิตรายการที่เกี่ยวกับอาหาร ตลอดจนมาร่วมกันทำเพื่อให้คอนเทนต์เหล่านี้ได้ส่งออกไปสู่ระดับสากล

ตั้งเป้าว่าอยากให้คนจดจำ The Golden Spoon ได้เหมือนรายการต่างประเทศที่เราซื้อลิขสิทธิ์มาทำ ถ้าเราทำได้ก็จะเปิดประตูให้กับสตรีตฟู้ดไทย และอาจขยายสัญลักษณ์ช้อนทองสู่ร้านอาหารไทยในต่างประเทศด้วย หนุ่ม กิติกร กล่าว

กิติกร เพ็ญโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮลิโคเนีย เอช กรุ๊ป จำกัด

ซอฟต์พาวเวอร์ คือ แบรนด์ดิ้ง

หนุ่ม กิติกร กล่าวว่า ในมุมมองผมซอฟต์พาวเวอร์คือ “แบรนด์ดิ้ง” ของประเทศ ว่าไทยมีอะไรโดดเด่นกว่าประเทศอื่นและจะเสนอต่อโลกในเรื่องใด เอาเรื่องที่ไทยเก่งมาทำให้แตกต่างจากที่อื่นในโลก แน่นอนว่าการทำแบรนด์ดิ้งให้กับโปรดักต์หนึ่งต้องใช้เงิน ทำแบรนด์ดิ้งให้ประเทศก็ไม่ต่างกัน ดังนั้นงบประมาณต้องมากพอ และมากพอเพื่อเอาไปทำสิ่งใดด้วย

อย่างแรกคือต้องพัฒนาโปรดักต์ ด้านอาหารคือพัฒนาเชฟและเมนูให้มีความชัดเจน ถัดมาต้องทำโปรโมชั่นหรือมาร์เก็ตติ้งแคมเปญที่ทำให้ทั้งโลกรู้จัก ไม่ได้หมายความว่าใช้เงินมากเกินความจำเป็น แต่ต้องมีเงินเพียงพอที่จะทำให้ประเทศซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายได้รับรู้และซึมซับสิ่งที่ไทยสื่อสารออกไป

เฮลิโคเนีย เชื่อว่า รายการอาหารที่ทำมาสร้างประโยชน์ต่อวงการอาหารในประเทศไทย สมัยก่อนคนไม่รู้จักความเป็นเชฟ แต่เดี๋ยวนี้เชื่อว่าหลายคนรู้จักอาชีพเชฟดีขึ้น และเกิดค่านิยมของเด็กรุ่นใหม่ที่อยากเป็นเชฟ

“ประเทศไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำและเป็นดินแดนแห่งวัตถุดิบของโลก ถ้าเราขายแค่วัตถุดิบออกไปอาจจะได้เงินแค่ 10 บาท แต่ถ้าขายวัตถุดิบบวกความเป็นเชฟ อาจขายได้ 50 บาท นั่นหมายถึงรายได้ของประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ซอฟต์พาวเวอร์ถูกพูดถึงมานานแล้ว เฮเลิโคเนียในฐานะที่ทำคอนเทนต์และรายการเกี่ยวกับอาหารจึงอยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นจริง”

อาหารไทยติดอันดับโลกมาโดยตลอด จึงอยากทำให้เชฟในประเทศไทยกลายเป็นเซเลบริตี้เซฟระดับโลก ทำอย่างไรให้เชฟไทยที่มีฝีมือทั้งหลายเป็นเหมือน k-pop ของเกาหลี ที่ทั่วโลกรู้จักและให้การยอมรับ ถ้าทำได้ ทั้งอาหาร วัตถุดิบ และวัฒนธรรม จะถูกส่งต่อให้เขฟเหล่านี้กลายเป็นพรีเซ็นเตอร์ของประเทศ ไม่ต่างจาก k-pop เป็นพรีเซนเตอร์ให้ประเทศเกาหลี

ดีใจที่ภาครัฐมีนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ และด้านอาหารเป็นหนึ่งในนั้น ที่ผ่านมาซอฟต์พาวเวอร์ถูกพูดถึงเยอะ แต่ไม่มีใครเป็นต้นเรื่อง แต่ครั้งนี้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเอง มีกรอบระยะเวลากำหนดว่าภายในกี่วันต้องเกิดอะไรขึ้น ดีใจที่มีการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์อย่างชัดเจน

พูดแบบไม่ต้องคิดเลยว่ากลุ่มเป้าหมายของซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทย คือ คนทั่วโลก อาหารไทยคิดอันดับโลกหลายเมนู แต่ต่างชาติอาจแค่รู้สึกว่าอร่อย ยังไม่ได้รู้สึกว่าเท่ ไม่กินไม่ได้ หรือต้องซื้อวัตถุดิบจากไทย มันยังไม่ได้ถูกทำให้รู้สึกว่าขาดมันไม่ได้

แต่อย่างแรกสุด ต้องทำให้คนไทยรักอาหารไทยก่อน ถ้าคนไทยไม่รักแล้วชาติไหนจะรัก ต้องสร้างเทรนด์ให้คนรุ่นใหม่ก่อน ถึงจะเรียกว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์แบบ “inside out” จากข้างในออกไป หนุ่ม กิติกร กล่าว