อยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมืองท่ายุคการค้าเอเชียครองโลก

เผยแพร่ทางออนไลน์ครั้งแรก วันที่ 15 เม.ย. 2561 แก้ไขล่าสุด 20 ต.ค. 2566  

อย่างที่ออเจ้าได้เห็นกันในละคร “บุพเพสันนิวาส” หรือได้เรียนมาในวิชาประวัติศาสตร์ว่า สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นยุคทองแห่งการค้าและการทูตของกรุงศรีอยุธยา มีต่างชาติเข้ามาค้าขายจำนวนมากจนอยุธยาติดอันดับ “เมืองท่า” ที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของเอเชีย

แล้วด้วยเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้อยุธยาเป็นเมืองท่าสำคัญที่มีบทบาททางการค้าของภูมิภาคนี้ ?

เหตุผลที่เรารู้กันมา คือ ดินแดนแถบนี้อุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรมากมายหลากหลายที่ชาวตะวันตกไม่มี แต่เหตุผลเพียงแค่เขาต้องการสินค้าจากเราเท่านั้นหรือ

ADVERTISMENT

เมื่อถอยออกจากกรุงศรีอยุธยาไปมองภาพกว้าง ๆ เราจะพบคำตอบ

ในงาน “ทวนสายน้ำตามรอยการค้า แล เงินตรากับออเจ้า” จัดโดยศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา มีผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ให้ข้อมูลเอาไว้อย่างเห็นภาพ และตอบคำถามได้เป็นอย่างดี 

อ.คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และงานพิพิธภัณฑ์ให้ข้อมูลว่า ความใหญ่โตของอยุธยาในยุคนั้น คือ เป็นหนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงประมาณศตวรรษที่ 17 ช่วงรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม พระเจ้าปราสาททอง สมเด็จพระนารายณ์ ต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคนั้นบอกว่า อยุธยาเป็น 1 ใน 3 มหาอำนาจของเอเชีย เทียบกับจีนและวิชัยนคร (อินเดียใต้)

ADVERTISMENT

อ.คุณากรบรรยายฉายภาพกว้างของยุคสมัยนั้นว่า ในยุคศตวรรษที่ 16-18 เป็นยุค early modern เป็นยุคแรกที่โลกมีการติดต่อแลกเปลี่ยนกันทั้งด้านผู้คน เศรษฐกิจการค้า ศาสนา การทูต สิ่งที่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดของโลกในยุคนั้น คือ เริ่มมีการนำโลหะแร่เงิน (silver) มาใช้เป็นเครื่องแลกเปลี่ยน 

ชาวตะวันตกนำโดยสเปนและโปรตุเกส เป็นสองชาติแรกที่เดินเรือมาจากทิศตะวันตกนำแร่เงินเข้ามาแลก เปลี่ยนซื้อ-ขายสินค้าในเอเชีย

ADVERTISMENT

ต่อมาพ่อค้าชาวดัตช์เห็นว่าสเปนและโปรตุเกสทำการค้ากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วกลับประเทศไปด้วยความมั่งคั่งมาก พ่อค้าชาวดัตช์จึงอยากทำการค้ากับภูมิภาคนี้ด้วย 

แต่เนื่องจากการจะส่งเรือมาซื้อสินค้าซึ่งจินตนาการไม่ออกว่ามีสินค้าอะไรบ้างนั้นถือเป็นความเสี่ยงอย่างมาก ไม่มีพ่อค้าคนไหนลงทุนคนเดียวไหว จึงกระจายความเสี่ยงโดยการขายหุ้น แตกการลงทุนออกเป็นหุ้นเล็ก ๆ ระดมเงินลงทุน ตั้งเป็นบริษัท ชื่อว่า “บริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์” (The Dutch East India Company หรือในภาษาดัตช์ชื่อ Vereenigde Oost-Indische Compagnie: VOC) แล้วเดินทางเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ที่รัฐปัตตาเวีย (ปัจจุบันคือกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย)

VOC ระดมเงินทุนได้มหาศาล ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกของโลกที่คนที่ไม่ได้อยู่ในฐานันดรกษัตริย์สามารถมีส่วนร่วมในกิจการใหญ่ขนาดนั้นได้ โดยเงินทุนของ VOC นั้นก้อนใหญ่กว่าเงินในพระคลังของหลาย ๆ รัฐ ซึ่งการขายหุ้นบริษัท VOC ได้มอบมรดกตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน คือ เป็นจุดเริ่มต้นการก่อตั้งตลาดหุ้น และจุดเริ่มต้นการขายหุ้น 

ในเวลาใกล้ ๆ กันนั้น ชาวเม็กซิโกเดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมาจากทางตะวันออกของเอเชีย เมื่อเสบียงใกล้หมด-จำเป็นต้องหาที่จอดพัก จึงเลือกพักที่เกาะฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่เกาะแรกที่พบและมีอ่าวมะนิลาที่เหมาะแก่การจอดเรือ มะนิลาจึงเป็นอีกเมืองท่าหนึ่งที่สำคัญในยุคนั้น 

เมื่อหลายชาติมุ่งหน้าเข้ามาทำการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายเมืองในภูมิภาคนี้จึงกลายเป็นเมืองท่าสำคัญที่มีบทบาทโดดเด่น อย่างเช่น “อาเจะฮ์” ซึ่งเป็นท่าแรกที่เจอเมื่อเดินทางมาจากอ่าวเบงกอล และอีกหนึ่งเมืองสำคัญคือ “บันเติน” เป็นเมืองท่าพริกไทยที่สำคัญมากทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะชวา เมื่อ VOC เข้ามาตั้งสำนักงานที่รัฐปัตตาเวียจึงมีปัญหากับบันเติน เพราะสองเมืองนี้จัดหาสินค้ามาจากดินแดนเดียวกัน คือ ชวา 

เศรษฐกิจที่รุ่งเรืองอยู่ในเอเชียและเงินที่ไหลเข้ามาในทวีปนี้ถูกดูดซับโดยประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกในยุคนั้น ก็คือ จีน ในยุคราชวงศ์หมิง 

“ที่เราเห็นว่าอยุธยาทำการค้ารุ่งเรืองนั้น เราเป็นส่วนหนึ่งของภาพอันใหญ่โตมโหฬาร ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดมาก เมื่อเราถอยออกไปจากเรื่องที่เราคุ้นเคย ไปมองว่าโลกเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนพลวัตทางเศรษฐกิจก็คือ สินค้าและแร่เงิน มรดกตกทอดอันหนึ่งของยุคนั้นที่ยังคงอยู่กับเราก็คือคำว่า silver หรือ แร่เงิน ซึ่งทุกวันนี้เราเรียก money ว่า ‘เงิน’ เพราะว่าในอดีต แร่เงินคือ currency สิ่งที่ใช้แลกเปลี่ยน” อาจารย์คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ สรุป

หลังจากมองภาพกว้าง ๆ ไปแล้วก็ถอยกลับเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา มามองการค้าภายในอโยธยาว่าเป็นอย่างไร 

รศ.ดร.ธีรวัต ณ ป้อมเพชร ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การค้าสมัยอยุธยาให้ข้อมูลว่า การค้าในสมัยอยุธยาผูกขาดโดยหลวง (กษัตริย์ ราชสำนัก) แต่ไม่สามารถผูกขาดได้ในทุกรัชสมัย และไม่สามารถผูกขาดได้ทุกรายการสินค้า เนื่องจากไม่ได้มีกลไกปกครองที่สามารถผูกขาดเบ็ดเสร็จได้ และธรรมชาติของเศรษฐกิจการค้า หากไม่มีความยืดหยุ่น พ่อค้าต่างชาติคงไม่เข้ามา

รศ.ดร.ธีรวัติอธิบายฉายภาพในกรุงศรีอยุธยาต่อไปว่า จากเดิมที่รัฐมีรายได้จากการเก็บภาษีอากร ต่อมารายได้ที่สำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ คือ การค้าต่างชาติ ซึ่งกษัตริย์อยุธยาไม่สามารถละเลยทอดทิ้งได้ ดังนั้น ที่มีการพูดกันว่า หลังสมเด็จพระนารายณ์สวรรคตแล้ว เจ้าพระยาวิชเยนทร์สิ้นแล้ว การค้าก็ยุติลงนั้น ไม่เป็นความจริง ในเวลาต่อมาอยุธยายังมีการค้ากับจีน อินเดีย ดัตช์ และชาติอื่น ๆ ส่วนระบบพระคลังสินค้าก็ยังไม่หายไป

“การที่บ้านเราร่ำรวยด้วยทรัพยากร และเห็นได้ว่าขุนนาง กรมท่าต่าง ๆ ร่ำรวยแค่ไหน ยิ่งเป็นการดึงดูดให้คนต่างชาติเข้ามาแสวงโชคในเมืองไทย และประจวบกับเจ้านาย-ชนชั้นนำไทยต้องการให้คนต่างชาติเข้ามาช่วยค้าขาย จึงมีต่างชาติเข้ามาแสวงโชคในสยามมาก คนที่รู้เรื่องการค้าและรู้ภาษาก็จะเข้ามารับราชการ ตัวอย่างที่เด่นมากคือ คอนสแตนติน ฟอลคอน” 

รศ.ดร.ธีรวัตบอกอีกว่า ปัญหาหนึ่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์คือเรื่องการต่างประเทศ กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาจะรับมือต่างชาติอย่างไร 

ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ ราชสำนักกรุงศรีอยุธยาขัดแย้งกับฮอลันดา (ชาวดัตช์) เพราะแข่งขันกันเข้าไปค้าขายกับญี่ปุ่น ซึ่งเส้นทางไปญี่ปุ่นเป็นเส้นทางที่กษัตริย์อยุธยาคิดว่าสำคัญและมีค่ามาก เพราะการไปค้าขายกับญี่ปุ่นสามารถแวะทำการค้ากับจีนได้ด้วย 

ราชสำนักอยุธยาขัดแย้งกับดัตช์จนดัตช์ส่งเรือติดปืนมาปิดปากอ่าวไทย นำมาสู่การเซ็นสนธิสัญญาที่ดัตช์ได้เปรียบ แล้วสนธิสัญญาฉบับนั้นก็ทำให้สมเด็จพระนารายณ์เกรงกลัวดัตช์พอสมควร 

“แต่จะตีความว่าอยุธยามีปัญหากับดัตช์จึงต้องไปคบกับฝรั่งเศส อาจเป็นการสรุปที่ง่ายเกินไป” รศ.ดร.ธีรวัตกล่าว

จากข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญเล่ามานี้ ถ้าจะตอบคำถามที่ว่าทำไมอยุธยาในยุคนั้นจึงเป็น “เมืองท่า” ที่สำคัญและมีการค้าพาณิชย์ที่รุ่งเรืองมาก ก็เพราะอยุธยาเป็นเมืองท่าในแผ่นดินใหญ่ของเอเชีย ซึ่งเอเชียเป็นดินแดนแห่งเศรษฐกิจการค้าของโลกในยุคนั้น อยุธยาจึงได้ประโยชน์จากความเฟื่องฟูของของการค้าเอเชียนั่นเอง