รู้จัก Post Vacation Blues ภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว พร้อมวิธีรับมือ

ซึมเศร้าหลังหยุดยาว
ภาพจาก pexels ใช้เพื่อการประกอบเท่านั้น

ใครเป็นบ้าง รู้จักและรับมือกับภาวะ “Post-Vacation Blues” หรือ อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว เกิดได้กับทุกคน ไม่ใช่โรคทางจิตเวช จะเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งและสามารถหายไปเองได้

วันที่ 2 มกราคม 2567 เทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จบลงแล้ว หลายคนกลับมาทำงานวันแรกหลังหยุดยาว และมีอีกจำนวนไม่น้อยที่กำลังจะเริ่มงานหรือเปิดเรียนในวันต่อ ๆ ไป

ผู้คนจำนวนไม่น้อยใช้ช่วงเวลาวันหยุดที่ผ่านมาอย่างสุดเหวี่ยง ทำสิ่งที่อยากทำ ไปเที่ยวที่อยากไป และกินอาหารที่อยากกิน โดยอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นยังคงอยู่ การกลับมาทำงานหลังวันหยุดยาวจึงไม่ใช่เรื่องง่าย พลางเป็นความรู้สึกหดหู่ ไม่มีความสุข และนึกถึงแต่เทศกาลที่เพิ่งผ่านพ้นไป อาการเหล่านี้อาจนำไปสู่ภาวะ “Post-Vacation Blues” หรืออาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาวได้

รู้จักอาการซึมเศร้าหลังหยุดยาว

“นพ.โยธิน วิเชษฐวิชัย” โรงพยาบาลสมิติเวช ระบุว่า อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว หรือภาวะ Post Vacation Blues ไม่ใช่โรคทางจิตเวช ปกติจะเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งและสามารถหายไปเองได้

การหากิจกรรมที่ตัวเองชอบทำ การออกกำลังกาย ฟื้นฟูร่างกายด้วยอาหารจำพวกโปรตีน ผลไม้และผักสด หรือวิตามินต่าง ๆ รวมถึงการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยจัดการกับภาวะ Post-Vacation Blues ได้

“ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล” ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว หลายคนอาจไม่เคยได้ยินกับคำนี้มาก่อน รวมทั้งบางคนที่ตกอยู่ในสภาวะดังกล่าวแต่ไม่รู้ตัว โดยมีลักษณะดังนี้

ADVERTISMENT
  1. รู้สึกไม่อยากทำงาน เบื่อหน่าย และมีอาการซึมเศร้า
  2. เกิดจากการที่ร่างกายเคยชินกับการพักผ่อนและไม่พร้อมที่จะกลับมาเริ่มต้น
  3. มักจะเกิดกับคนที่เบื่องานของตัวเองอยู่แล้ว
  4. ระดับความรุนแรงของอาการ ขึ้นอยู่กับความเบื่อหน่ายที่มีอยู่เดิม
  5. อาการนี้จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง สมาธิลดลง หงุดหงิดง่าย อารมณ์เสีย ใจลอย
  6. ระยะของอาการจะเป็นอยู่ 2-3 วัน จากนั้นจะเข้าสู่ภาวะปกติ
  7. สามารถพบได้ในทุกวัย ในกลุ่มคนที่มีความเบื่อหน่ายงานของตัวเอง

วิธีรับมือซึมเศร้าหลังหยุดยาว

อย่างที่กล่าวไปว่า ภาวะ Post-Vacation Blues ไม่ใช่โรคทางจิตเวช ส่วนมากอาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว จะเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นอาการซึมเศร้าเหล่านี้จะหายไปเอง เพราะคนปกติจะปรับตัวได้หลังจากเริ่มต้นใช้ชีวิตตามปกติ แต่ถ้าใครคิดว่าตัวเองมีอาการดังกล่าวบ่อย โรงพยาบาลสมิติเวช แนะนำวิธีรับมือ ดังนี้

1. นับถอยหลังวันหยุดในทริปต่อไป

หลายคนที่ชอบและมีความสุขกับการท่องเที่ยว ภาวะ Post-Vacation Blues จึงอาจรับมือได้ด้วยวิธีการนับถอยหลังรอวันหยุดครั้งต่อไป หรือเป็นการวางแพลนเที่ยวทริปหน้าว่าจะปที่ไหน พักกี่วัน เพื่อให้มีแพสชั่น มีความสนุกตื่นเต้นรออยู่ ทำให้มีแรงใช้ชีวิต ซึ่งอีกทางหนึ่งคือการตั้งใจทำงานเพื่อเก็บเงินเที่ยวนั่นเอง

ADVERTISMENT

2. หากิจกรรมทำ เบี่ยงเบนความเฉาในใจ

2-3 วันแรกหลังกลับจากช่วงหยุดยาว จะเป็นช่วงที่อาการหนักที่สุดในการปรับสภาพจิตใจ การรับมือจึงทำได้ด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ กิจกรรมที่ทำแล้วมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นดูหนัง ฟังเพลง ทำอาหาร วาดภาพ เล่นกับสัตว์เลี้ยง ออกกำลังกาย เป็นต้น ส่วนใครที่ไม่ชอบทำอะไรเลยอาจเริ่มด้วยการจัดบ้านเพื่อให้คุ้นเคยกับสภาพที่เราอยู่มากขึ้นด้วย

3. ฟื้นฟูร่างกาย กินอาหารมีประโยชน์

แน่นอนว่าสิ่งที่มาพร้อมกับภาวะ Post-Vacation Blues และหยุดยาวคือความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างพลังงานภายในเซลล์ร่างกายและกล้ามเนื้อ แก้ด้วยการกินอาหารจำพวกโปรตีนปราศจากไขมัน เช่น เนื้อสัตว์ ไก่ ปลา ผลไม้และผักสดที่มีสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณสูง และไขมันที่ดีต่อสุขภาพจากแหล่งต่าง ๆ เช่น น้ำมันมะกอก และถั่วในปริมาณที่เหมาะสม สำหรับวิตามิน เช่น วิตามินบีรวม วิตามินซี และวิตามินอี

4. ออกกำลังกาย

“สุขภาพกายดีทำให้สุขภาพจิตดี” การเพิ่มความกระฉับกระเฉงเพียงเล็กน้อย ก็สามารถกระตุ้นการไหลเวียนเลือดและเผาผลาญแคลอรีได้ด้วยการเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ขณะออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน ทำให้มีความสุข ลืมความทุกข์ไปชั่วคราว และยังทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นด้วย

5. การนอนหลับที่สมดุล

หลังจากเที่ยวแบบสุดเหวี่ยงช่วงหยุดยาว แน่นอนว่าปัญหาที่ตามมาคือการพักผ่อนไม่เพียงพอ ยิ่งเป็นทริปต่างประเทศด้วยแล้ว ไทม์โซนย่อมส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้นอนไม่เป็นเวลาหรือนอนหลับไม่สนิท ดังนั้น การนอนหลับให้เพียงพอในช่วง 2-3 วันหลังหยุดยาวจึงสำคัญมาก

ดังนั้น ควรนอนในเวลาที่เหมาะสมประมาณ 22.00 น.ทุกคืน และควรนอนหลับให้ได้ 7-8 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูกลับสู่สภาวะเดิมได้รวดเร็ว เนื่องจากขณะหลับ ร่างกายจะซ่อมแซมและปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองเพื่อให้กลับมาสู่โหมดปกติ