แพทย์แผนไทยแนะ 7 ท่านวดคลายเมื่อยหลังนั่งรถนาน

นวด

กรมการแพทย์แผนไทยแนะ 7 ท่านวดตนเองสำหรับคลายปวดเมื่อยจากการเดินทางไกล

วันที่ 2 มกราคม 2567 นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกล่าวว่า 7 ท่านวดนี้จะช่วยบรรเทาอาการเหนื่อยล้าและปวดเมื่อย โดยเฉพาะอาการปวดเมื่อยบริเวณกล้ามเนื้อ คอ บ่า ไหล และแขน ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยจากการนั่งรถเป็นเวลานาน ๆ

ท่าที่ 1 ใช้นิ้วหัวแม่มือนวดบริเวณข้อมือด้านในและด้านนอก จะช่วยคลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบ ๆ ข้อมือ 

ท่านวดคลายเมื่อย

ท่าที่ 2 เหยียดแขนตรงไปด้านหน้าพร้อมกับใช้มือดัดปลายนิ้วมือในลักษณะคว่ำมือและหงายมือตามลำดับ จะช่วยยืดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นของแขน 

ท่านวดคลายเมื่อย

ท่าที่ 3 ใช้นิ้วมือนิ้วชี้นิ้วกลางนิ้วนางกดนวดจากแนวกล้ามเนื้อบ่าและแนวกล้ามเนื้อต้นคอ สิ้นสุดที่ฐานกะโหลกศีรษะ ท่านี้จะช่วยคลายกล้ามเนื้อบ่า  ต้นคอ ทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณศีรษะเพิ่มมากขึ้น ท่าที่ 1, 2 และ 3 ให้ทำสลับทั้งข้างซ้ายและข้างขวา 

ท่านวดคลายเมื่อย

ท่าที่ 4 นำมือทั้งสองข้างประสานไว้ที่ท้ายทอย แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างกดนวดตามแนวกล้ามเนื้อต้นคอทั้งสองข้างพร้อมกัน โดยกดนวดตั้งแต่ฐานคอขึ้นไปสิ้นสุดที่ฐานกะโหลกศีรษะ ท่านี้จะช่วยบรรเทาอาการตาพร่ามัวได้ 

ท่านวดคลายเมื่อย

ท่าที่ 5 ใช้นิ้วมือทั้งสองข้างนวดคลึงให้ทั่วศีรษะคล้ายการสระผม ท่านี้จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดรอบ ๆ ศีรษะ ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะได้ และท่าที่ 6, 7 เป็นท่าที่สามารถทำได้ขณะจอดแวะพัก 

ท่านวดคลายเมื่อย

ท่าที่ 6 เป็นท่ากายบริหารฤๅษีดัดตนแก้เกียจ โดยประสานมือไว้บริเวณหน้าอกดัดยืดแขนออกไปทางด้านซ้ายหน้ามองตรง ดัดออกไปทางด้านขวา ดัดออกไปทางด้านหน้า และดัดวาดแขนยืดไปด้านบน พร้อมกับโน้มเอียงตัวไปด้านซ้ายและขวา ท่านี้เป็นการยืดกล้ามเนื้อบริเวณบ่า ไหล่ แขน หลัง หน้าอก และชายโครง 

ท่านวดคลายเมื่อย

ท่าที่ 7 หมุนข้อไหล่โดยยกแขนหมุนไปด้านหลัง ซ้ายและขวา โดยทำทีละข้าง 5-10 ครั้ง จะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณข้อไหล่ บ่า หน้าอก และสะบัก คลายตัว ทำให้บริเวณดังกล่าวเลือดลมไหลเวียนได้ดีขึ้น 

ท่านวดคลายเมื่อย

นายแพทย์ขวัญชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับผู้ที่ต้องเดินทางไกลช่วงหน้าเทศกาลควรพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ และควรตรวจสภาพรถให้พร้อมกับการเดินทาง

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับศาสตร์การแพทย์แผนไทย หรือการใช้ยาสมุนไพร สามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์แผนไทยในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐทั่วประเทศ หรือติดต่อกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทรศัพท์ 0-2149-5678 หรือเฟซบุ๊ก facebook.com/dtam.moph และ line @DTAM