เวทีมติชน ถอดรหัสเลือก สว.ชุดใหม่ วิพากษ์กฎ กกต.ล็อกโหวตเฉพาะกลุ่ม ?

สว.
คอลัมน์ : Politics policy people forum

แลนด์สเคปอำนาจการเมืองนับแต่นี้ไป อาจพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ

เพราะสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 250 คน ซึ่งทำคลอดจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามบทเฉพาะกาลช่วงเปลี่ยนผ่าน อยู่โยงมา 5 ปี กำลังจะพ้นวาระ

อำนาจ สว.มีมาก และสำคัญ เพราะมีส่วนในการอนุมัติการแก้รัฐธรรมนูญ ให้การรับรองกรรมการในองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ และพิจารณากฎหมายที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร หากรัฐธรรมนูญยังไม่ถูกแก้ ก็จะมีอำนาจตรวจสอบรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศ

อย่างไรก็ตาม ระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ออกมาคุมการเลือกฉบับล่าสุดเรื่องวิธีการแนะนำตัวของผู้สมัครกลับเกิดปัญหา

กกต.ล็อกวิธีแนะนำตัว

บนเวทีคิกออฟแคมเปญ มติชน : สว.ชุดใหม่ Thailand-Select ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของสื่อในเครือมติชน และพันธมิตร รณรงค์ให้ผู้คนหันมาสนใจการเลือก สว.ใหม่ 200 คน

Advertisment

“สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีต กกต.วิจารณ์ระเบียบของ กกต. ที่ออกมาคุมการเลือก สว.ว่า ลองไล่ดูประการแรก 1.กรอบรัฐธรรมนูญ 2.พ.ร.ก.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พอไล่ลงมาจะเหลือเป็นอำนาจของ กกต. ที่มีหน้าที่ออกระเบียบต่าง ๆ ออกมา ตอนนี้มี 2 ฉบับ ได้แก่ 1.ระเบียบการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ออกมาตั้งแต่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ส่วน 2 คือ ระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. ออกมาเมื่อวันที่ 25 เมษายน มีผลบังคับใช้วันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา

แบบฟอร์มที่สำคัญ คือ ส.ว. 2 ส.ว. 3 และ ส.ว. 4 โดย ส.ว. 2 คือรูปแบบใบสมัครที่ประชาชนไม่เคยเห็น อยู่ที่ กกต.เท่านั้น แบบฟอร์ม ส.ว. 3 แบบแนะนำตัว หน้าเดียว ประวัติ การศึกษา เขียนได้ 3 บรรทัด และเขียนประสบการณ์การทำคุณความดีของท่านได้ 5 บรรทัด จะเป็นแบบฟอร์มที่เผยแพร่ถึงผู้สมัครด้วยกัน ผู้อำนวยการเขตเขาจะส่งแบบฟอร์มนี้ให้ผู้สมัครคนอื่น ไม่น้อยกว่า 3 วัน ก่อนวันเลือก ดังนั้นต้องเรียบเรียงให้ดี อย่าเขียนด้วยลายมือ พิมพ์ดีที่สุด

ระเบียบออกได้แย่มาก และมีปัญหาเต็มไปหมด อย่างที่ 1.ให้เขียนประวัติผลงานประสบการณ์ 2 หน้ากระดาษ A4 ถ้าท่านประสงค์ลงผู้สมัคร ท่านต้องลงแบบฟอร์มตามนี้เท่านั้น ถามว่า ถ้าท่านเขียน 2 หน้าครึ่งผิดไหม ผิดนะ

2.ใช้สำหรับแนะนำตัวผู้สมัครเท่านั้น ท่านลงเฟซบุ๊กมีความผิด เพราะเป็นที่สาธารณะ มันก็จะกลายเป็นถูกหาเรื่อง ถ้าสามารถตีความความเคร่งครัดได้ขนาดนั้น แม้สามารถเอา 2 หน้า A4 เผยแพร่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ก็ทำได้ระหว่างผู้สมัครด้วยกัน ถ้าลงเฟซบุ๊กจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นผู้สมัครด้วยกัน

Advertisment

“ในระเบียบแนะนำตัวข้อ 11 ยิ่งถ้าท่านเป็นคนทำงานสื่อต้องไปดูให้ดีว่า ห้ามใช้สื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมือง ก็จะไม่สามารถมีหน้าออกสื่อตอนนี้ได้แล้ว”
“สมมุติถ้าผมสมัครแล้ว มีคนมาสัมภาษณ์ผม ให้ความคิดเห็นเรื่องบิ๊กโจ๊ก (พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล) ก็ไม่ได้ เพราะมีการเผยแพร่หน้าตัวเองออกไป ตรงนี้เป็นระเบียบที่แย่ที่สุด ทำให้ผู้สมัครไม่รู้จักอะไรกับใครเลย ทำให้การเลือกดังกล่าวเป็นการเลือกกันในที่มืด รู้จักกันเพียงแค่ 5 บรรทัดเท่านั้นเอง”

มติชน : สว.ชุดใหม่ Thailand-Select

กกต.ออกกฎเกินอำนาจ

“พนัส ทัศนียานนท์” อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ว่าที่ผู้สมัคร สว.และเป็นผู้ยื่นศาลปกครอง ทักท้วงระเบียบของ กกต. มองการใช้อำนาจของ กกต.ว่า เกินกว่าอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ ซึ่งศาลที่มีอำนาจในการวินิจฉัยเรื่องนี้ ก็คือศาลปกครอง ในเมื่อ กกต.ออกกฎเกินกว่าอำนาจที่มี ก็ถือเป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

“ผมมีข้อสังเกตว่า ระเบียบนี้ระบุว่ามีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน ซึ่งในข้อ 5 มีการใช้บังคับต่อผู้ประสงค์ที่จะสมัครด้วย เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นประเด็นที่ต้องมาคิดกันว่า หมายความว่าอย่างไร เพราะระเบียบมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ประกาศราชกิจจานุเบกษา แสดงว่าต้องมีผลบังคับใช้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่มาตรา 1 ลงมาจนถึงข้อ 8 และน่าจะรวมถึงข้อ 9 และ 10 ด้วย”

เป็นการเลือกของกลุ่มเล็ก ๆ

ขณะที่ “ยิ่งชีพ อัชฌานนท์” ผอ.โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ตัวจักรสำคัญในการรณรงค์ให้ผู้คนหันมาสนใจสมัคร สว.พร้อมกับเสียเงิน 2,500 บาท เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการโหวตเลือก สว.ว่า ไม่ว่าความสำคัญของ สว. จะมีมากขนาดไหน ดีไม่ดี แต่ครั้งนี้อาจจะสำคัญมากกว่าการเลือกตั้ง สส. ด้วยซ้ำ

แต่ปัจจุบันนี้บรรยากาศการมีส่วนร่วมแทบไม่มีเลย พวกเขาไม่รู้เป็นใครบ้าง ผมคิดว่า การเลือก สว. คือการให้ผู้เชี่ยวชาญไม่กี่คนที่ไม่รู้ว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญ ได้มาร่วมสมัครด้วย ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนแบบเช่นนี้ และไม่มีที่ไหนเขียนแบบนี้

รัฐธรรมนูญเขียนชัดเจนว่า สว. จะเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย แต่ตนก็ไม่แน่ใจว่า มีใครที่พยายามทำตัวใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่มีการออกกฎระเบียบให้ สว.เลือกกันในหมู่เล็ก ๆ และรู้กันไม่กี่คน ถ้าศาลปกครองไม่ช่วยเรา ก็จะเป็นกระบวนการของกลุ่มเล็ก ๆ

แต่เรายังเดินหน้ารณรงค์ว่าทุกคน โดยการสมัครเข้าไป ถ้าไม่สมัครไม่มีสิทธิอะไรเลย ถ้าสมัครอย่างน้อยเข้าไปโหวตสองโหวต มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่

กกต.ไขคำตอบแนะนำตัว

ต่อมา “แสวง บุญมี” เลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง ชี้แจงรูปแบบการเลือก สว.และการแนะนำตัว ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้ว่า ระเบียบการแนะนำตัวที่ กกต.ออกนั้น กกต.ไม่ได้ทำเกินกว่ากฎหมายกำหนด

โดยกฎหมายกำหนดให้ผู้สมัครแนะนำตัวกับผู้ที่มีสิทธิเลือก ก็คือผู้สมัครด้วยกันเอง เราตระหนักถึงความสำคัญของประชาชน ถึงแม้ประชาชนไม่ได้เลือกโดยตรง แต่ก็เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย ต้องทำหน้าที่แทน ดังนั้นประชาชนมีสิทธิติดตาม ตรวจสอบ สังเกตการณ์ หลังปิดรับสมัคร

แต่ระหว่างที่สมัครไม่ให้เปิดเผยชื่อ เพราะจะมีส่วนได้เสีย ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ซึ่ง กกต. จะนำรายชื่อผู้สมัครทุกคนลงในแอปพลิเคชั่น Smart Vote และเว็บไซต์ กกต. ประชาชนก็จะทราบรายชื่อ ประวัติ ประสบการณ์การทำงาน ของผู้สมัคร สว. ทุกคน และผู้สมัครก็ต่างติดต่อกันได้ ทางช่องทางอีเมล์ และ LINE ซึ่งระบบนี้เพียงพอ ทำให้ทั้งประชาชนและผู้สมัครด้วยกัน พิจารณาเลือกผู้สมัครด้วยกันเองได้

ส่วนที่ผู้สมัครบางคนออกมาเปิดตัว แนะนำตัว ผิดหรือไม่ “แสวง” ตอบว่า ไม่ได้ผิดกฎหมาย การเชิญชวนกับการเปิดตัวทำได้ ซึ่ง กกต. เองก็เชิญชวน ขอให้ไม่ให้มีคุณสมบัติต้องห้าม และมีประสบการณ์ในกลุ่มสาขาอาชีพที่จะลง เช่นเดียวกับกรณีของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า หรือคนอื่น ๆ ก็สามารถทำได้ ที่เชิญชวนให้คนลงสมัคร สว.

ขณะนี้การเลือก สว.ขยับเวลาเข้ามาทุกขณะ แต่ กกต.กลับถูกวิจารณ์เรื่องการออกระเบียบล็อกวิธีการแนะนำตัว-หาเสียง ดังนั้น กลุ่มการเมือง-ว่าที่ผู้สมัคร สว.จึงต้องออกแรงช่วยกันส่งเสียงให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง