อำนาจ 200 สว.สูตรเลือกไขว้ แก้รัฐธรรมนูญ-เลือกอรหันต์องค์กรอิสระ

sw.power
คอลัมน์ : Politics policy people forum

อีกเพียงเดือนเศษ ภารกิจของ สว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

เป็น สว.ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ทำหน้าที่คุมการปฏิรูปการเมือง จะหมดวาระ สิ้นพ้นอำนาจ

11 พฤษภาคม 2567 สว.สรรหาทั้ง 250 คน จะวาระครบ 6 ปี จึงต้องเลือก สว.ชุดใหม่

คราวนี้เป็น สว.ตามบทหลักของรัฐธรรมนูญ จะเหลือเพียง 200 คน ที่มาจากการเลือกกันเองแบบ “เลือกไขว้”

3 ด่านเลือก สว.

ด่านแรก เลือกกันเองในระดับอำเภอ แบ่งเป็น 2 รอบ เลือกรอบแรก (เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน) ผู้สมัครสามารถเลือกตัวเองได้ และลงคะแนนให้ผู้สมัครคนอื่นในกลุ่มเดียวกันได้ 1 คะแนน จากนั้นผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 1-5 ของแต่ละกลุ่มจะผ่านเข้ารอบที่ 2

เลือกรอบสอง (เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน) ผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบจะแบ่งสาย 4 สาย โดยผู้สมัครสามารถเลือกผู้สมัครจาก “กลุ่มอื่น” ที่อยู่ในสายเดียวกัน กลุ่มละ 1 คน แต่จะเลือกจาก “กลุ่มเดียวกัน” หรือ “เลือกตัวเอง” ไม่ได้

จากนั้น ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรก ของแต่ละกลุ่มจะผ่านเข้ารอบไปเลือกในระดับอำเภอ ในกลุ่มที่ตนเองสมัคร

ด่านที่สอง เลือก สว.ระดับจังหวัด แบ่งเป็น 2 รอบ

เลือกรอบแรก (เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน) ผู้สมัครเลือกกันเองในกลุ่ม สามารถเลือกตนเองได้ และลงคะแนนให้คนอื่นได้ 1 คะแนน ผู้ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้น ผ่านเข้าไปเลือกรอบ 2

เลือกรอบสอง (เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน) ผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบจะแบ่งสาย 4 สาย โดยผู้สมัครสามารถเลือกผู้สมัครจาก “กลุ่มอื่น” ที่อยู่ในสายเดียวกัน กลุ่มละ 1 คน แต่จะเลือกจาก “กลุ่มเดียวกัน” หรือ “เลือกตัวเอง” ไม่ได้

ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 2 อันดับแรก ของแต่ละกลุ่ม จะเป็นผู้ที่ถูกเลือกระดับจังหวัด ในกลุ่มนั้น เพื่อไปเลือก สว.ระดับประเทศ

และ ด่านที่สาม เลือก สว.ระดับประเทศ แบ่งเป็น 2 รอบเช่นเดิม
เลือกรอบแรก (เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน) ผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบระดับจังหวัดมาแข่งระดับประเทศ จะเลือกกันเองในกลุ่มได้ไม่เกิน 10 คน สามารถ “เลือกตัวเองได้” แต่จะลงคะแนนให้กับคนอื่นเกิน 1 คะแนนไม่ได้

จากนั้น ผู้ที่ได้รับเลือก 1-40 ของกลุ่ม จะเข้าไปเลือกรอบที่ 2 ต่อไป แต่ถ้ากลุ่มไหนไม่ครบ 40 คน ก็ให้ถือตามจำนวนเท่าที่มี แต่จะน้อยกว่า 20 คนไม่ได้ โดยผู้อำนวยการเลือกตั้งระดับประเทศจะจัดให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือก ซึ่งยังอยู่ ณ สถานที่เลือกนั้น เลือกกันเองใหม่จนกว่ากลุ่มนั้นจะมีจำนวนอย่างต่ำถึง 20 คน

เลือกรอบสอง (เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน) ผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบจะแบ่งออกเป็น 4 สาย โดยผู้สมัครสามารถลือก “ผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน” กลุ่มละไม่เกิน 5 คน แต่จะเลือกผู้สมัครในกลุ่มเดียวกัน หรือ เลือกตัวเองไม่ได้ ผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็น สว. สำหรับกลุ่มนั้น และผู้ที่ได้ลำดับที่ 11 ถึง 15 จะเป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น

อำนาจ สว.ตาม รธน.60

จุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุเหตุผลที่มี สว.ไว้ในโครงสร้างอำนาจ ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 2475 กำหนดให้มีสภาเดียว แต่ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2489 ได้กำหนดให้มี 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา โดยวุฒิสภาจะทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อความละเอียดรอบคอบ นับจากนั้น รัฐธรรมนูญไทย ทุกฉบับจึงบัญญัติ สว.เป็นหนึ่งในโครงสร้างอำนาจ

และเหตุที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้มีการเลือกกันเองแบบเลือกไขว้ ถูกบันทึกไว้ในจุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญว่า

“เป็นการสร้าง ‘การมีส่วนร่วมของประชาชน’ ให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง และอย่างมีนัยสำคัญตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะสมาชิกวุฒิสภาจะใช้ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ มาสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชน จากร่างกฎหมายโดยไม่อยู่ภายใต้อาณัติของนโยบายของพรรคการเมือง”

เห็นชอบองค์กรอิสระ-ศาล ใหม่

อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนด “หน้าที่และอำนาจ” ของ สว. นอกจากกลั่นกรองกฎหมาย ยังต้องให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการองค์กรอิสระ ประกอบด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

สำคัญอยู่ที่การต้องเห็นชอบ องค์กรอิสระชุดใหม่ ในยุคใหม่ ที่พ้นร่มเงา คสช.

ปลายปี 2567 แกนหลักกรรมการ ป.ป.ช. ที่สานต่อมาจากยุค คสช. ก็จะหมดวาระ 9 ปี เช่น พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. สุวณา สุวรรณจูฑะ, วิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการ ป.ป.ช.

ขณะที่ กกต.ชุดปัจจุบัน หลายคนมีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี จะต้องมีการสรรหาใหม่ในปี 2568 คือ ชุดที่ตั้งเมื่อ 12 สิงหาคม 2561 ประกอบด้วย อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ ปกรณ์ มหรรณพ แต่งตั้งเมื่อ 4 ธันวาคม 2561 เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ฐิตเชฏฐ์ นุชนาฏ

ส่วนศาลรัฐธรรมนูญ จะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ครบวาระในปี 2567 ถึง 2 คน คือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และปัญญา อุดชาชน ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในเดือนพฤศจิกายน 2558

วาระร้อนการเมือง

อีกหน้าที่หนึ่งคือการเห็นชอบกฎหมายสำคัญ ๆ รวมถึงรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลังของศักราช 2567 กฎหมายร้อน ๆ จะถูกเสิร์ฟเข้าสภา เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งขณะนี้กำลังตะลุมบอนขัดเกลาจุดเห็นร่วม-เห็นต่างของคู่ขัดแย้งทางการเมืองอยู่ในชั้นกรรมาธิการศึกษาของสภา

การเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ที่รัฐบาลเพื่อไทย จะใช้เป็นสารตั้งต้นนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 ที่จะต้องใช้เสียง 1 ใน 3 ในการเห็นชอบกับวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ และวาระที่ 3 เห็นชอบทั้งฉบับ

จึงไม่แปลกที่ปรากฏข่าวลือในการเมืองว่า คณะก้าวหน้า ลงทำพื้นที่เฟ้นคนลง สว. เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย สั่งทางลับให้ สส. ส่งคนเข้าไปสมัคร สว.ทุกกลุ่ม ในจังหวัดเป้าหมาย ไม่ต่างกับพรรคภูมิใจไทย ที่เตรียมส่งคนเช่นกัน เพื่อคุมเกมสภาบน (สว.) คู่ขนานกับสภาล่าง (สส.)

ยังมีนักวิชาการรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สื่อมวลชน เพื่อหวังใช้เสียงแก้รัฐธรรมนูญ-เปลี่ยนแลนด์สเคปทางการเมือง