ศาลรัฐธรรมนูญ ยุบ 6 พรรค ม็อบ 17 ปี งูเห่าสลับขั้วตั้งรัฐบาล

ยุบพรรค
คอลัมน์ : Politics policy people forum

พรรคก้าวไกล อาจถึงคราวต้อง “นับถอยหลัง” ตามรอย พรรคอนาคตใหม่

หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเอกฉันท์ ส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค เนื่องจากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคก้าวไกล มีการกระทำล้มล้างการปกครอง

คนในพรรคก้าวไกล ไม่มีใครตื่นตระหนก เพราะเตรียมรับมือการยุบพรรคตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 เพราะคราวนั้นมีข่าวลือหนาหูเรื่องการยุบพรรค ครั้นมาถึงปัจจุบัน “การยุบพรรค” จึงไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้น

อย่างไรก็ตาม การยุบพรรคที่เป็นพรรคการเมืองหลักบนกระดานการเมือง โดยศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคไทยรักษาชาติ และพรรคอนาคตใหม่ ย่อมมีผลลัพธ์ทางการเมือง จนถึงปัจจุบัน

ยุบพรรคไทยรักไทย

การยุบพรรคไทยรักไทย ต้องเท้าความไปถึงการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ในช่วงเวลาที่พรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ บอยคอต ไม่ลงเลือกตั้ง ทำให้พรรคไทยรักไทย ต้องหนีเกณฑ์ร้อยละ 20 ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ระบุว่า เขตเลือกตั้งใดที่มีผู้สมัคร สส.แค่คนเดียว ผู้สมัครที่จะได้รับเลือกตั้งเป็น สส.จะต้องได้คะแนนเกินร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

กกต.ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นมา เนื่องจากมีการร้องเรียนว่าพรรคไทยรักไทย จ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยมี นายนาม ยิ้มแย้ม เป็นประธาน ผลสรุปว่า ผู้บริหารพรรคไทยรักไทยจ่ายเงินจ้างพรรคเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้งจริง

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน รัฐบาลทักษิณ ต้องออกจากอำนาจเพราะถูกการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ต่อมา เรื่องก็ผ่านอัยการสูงสุดถึงมือศาลรัฐธรรมนูญ โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติยุบพรรค 9 ต่อ 0 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ให้เหตุผลว่า จากพยานหลักฐานพบว่า พรรคไทยรักไทยมีการจ้างพรรคแผ่นดินไทยและพรรคพัฒนาชาติไทยจริงตามที่อัยการสูงสุดร้องมา โดยข้อกล่าวหาของอัยการสูงสุดระบุว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และรักษาการรัฐมนตรีกลาโหม และพวกอีก 3 คน มีความผิด

แถว 1 ถูกตัดสิทธิ

ผลจากการยุบพรรคไทยรักไทย พรรคแผ่นดินไทย และพรรคพัฒนาชาติไทย คือการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ของกรรมการบริหารพรรค 3 พรรค คนละ 5 ปี และกลายเป็นชื่อที่มีการเรียกขาน กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง คือ กลุ่มบ้านเลขที่ 111

นักการเมืองแถว 1 ที่เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ ถูกตัดสิทธิตามไปด้วย ทำให้พรรคไทยรักไทยแถว 2 ถูกดันขึ้นมาอยู่หน้าฉาก พร้อมกับการเกิดขบวนการเสื้อแดง

ยุบพลังประชาชน

ผลจากการยุบพรรค ก็ไม่ทำให้ “ทักษิณ” และเครือข่ายสิ้นพลัง เมื่อนำมาสู่การตั้งพรรคใหม่ ใช้ชื่อว่า พรรคพลังประชาชน โดยมี “สมัคร สุนทรเวช” เป็นหัวหน้าพรรค สามารถชนะเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ได้จำนวน สส. 233 ที่นั่ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 316 เสียง ส่วนพรรคฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียว คือ พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน สส. 164 ที่นั่ง

เมื่อชนะเลือกตั้ง พรรคพลังประชาชน หวาดผวาการยุบพรรค ได้ปักหมุดแก้รัฐธรรมนูญ 2550 โดยเฉพาะมาตรา 237 ทว่าปมการแก้รัฐธรรมนูญ ถูกฝ่ายตรงข้ามโดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มองว่าเป็นบันไดนำไปสู่การนิรโทษกรรมให้ “ทักษิณ ชินวัตร” ล้มล้างคดีทุจริต ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นผู้ชงสำนวน

จากจุดเล็ก ๆ แต่เป็นเชื้อไฟให้กลุ่มพันธมิตรฯ คืนชีพ ชุมนุมยึดทำเนียบรัฐบาลในเวลาต่อมา นานถึง 193 วัน กระทั่งพรรคพลังประชาชนถูกยุบ พร้อมกับ 2 พรรคคือ พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย เนื่องจากกรรมการบริหารพรรคถูก กกต.แจกใบแดง ทุจริตเลือกตั้ง

ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรค 3 พรรค รวม 109 คน ถูกตัดสิทธิการเมือง แต่หลังจากการยุบพรรคเพียงไม่ถึงเดือน พรรคเครือข่าย ของทักษิณ ก็เกิดใหม่เป็น “พรรคเพื่อไทย” ทันที

เกิดภูมิใจไทย ย้ายขั้ว

อย่างไรก็ตาม ผลของการยุบพลังประชาชน ก่อตั้งเป็นพรรคเพื่อไทย แต่นั่นทำให้พรรคเพื่อไทยแทบแตก เพราะเกิดกรณี “งูเห่า” คือกลุ่มเพื่อนเนวิน 30 กว่าชีวิต ไปจับมือกับกลุ่มมัชฌิมา ที่เป็นพรรคมัชฌิมาธิปไตยเดิม

ก่อนตั้งพรรคใหม่ชื่อว่า “พรรคภูมิใจไทย” เปลี่ยนขั้วรัฐบาล หนุนพรรคประชาธิปัตย์ จัดตั้งรัฐบาล มีนายกฯชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ยุบ ทษช. เพื่อไทยพ่ายแพ้

วันที่ 7 มีนาคม 2562 เป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ทำให้เกมแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย ในการสู้กติกาการเลือกตั้งรัฐธรรมนูญ 2560 ของพรรคเครือข่ายทักษิณ ต้อง “ผิดแผน” จากเดิมที่วางพรรคไทยรักษาชาติ เก็บแต้ม สส.ปาร์ตี้ลิสต์ ส่วนพรรคเพื่อไทย เก็บ สส.เขต

ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทย ได้ สส.เขต 137 คน สส.ปาร์ตี้ลิสต์ 0 ไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ต้องเป็นผู้นำฝ่ายค้าน 4 ปี

ยุบอนาคตใหม่ ได้ก้าวไกล

พรรคที่ร้อนแรงที่สุดในการเลือกตั้ง ปี 2562 คือพรรคอนาคตใหม่ รวมเสียงคนรุ่นใหม่ กวาดที่นั่งในสภา 80 ที่นั่ง แต่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เมื่อ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจาก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191,200,000 บาท เป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 พร้อมกับยุบพรรคอนาคตใหม่

เนื่องจากการกู้เงิน เป็นเงินที่ไม่ใช่เงินรายได้ที่กำหนดไว้ในกฎหมายพรรคการเมือง 7 ประเภท แม้จะเป็นเงินที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็อาจเป็นเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายพรรคการเมือง

ผลตามมาคือ แกนนำพรรคอนาคตใหม่ นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปิยบุตร แสงกนกกุล ตั้ง “คณะก้าวหน้า” เดินหน้าเป็นกลุ่มการเมือง ส่งคนลงเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่น เป็นแบ็กอัพให้กับ “พรรคก้าวไกล” ซึ่งเป็นพรรคที่รองรับ สส.จากอนาคตใหม่ ทำงานการเมืองในสภาต่อ แม้ว่าจะมี สส.กว่า 30 ราย กลายเป็น “งูเห่า”

ผลจากการยุบพรรค ทำให้เกิดแฟลชม็อบ ท้าทายอำนาจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นานหลายเดือน และส่งเอฟเฟ็กต์ใหญ่ที่สุด ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 เมื่อพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้ง ได้ สส. 151 เสียง มากกว่าพรรคเพื่อไทย

นี่คือผลพวงจากการยุบพรรคใน 2 ทศวรรษการเมือง