ทักษิณ กลับเชียงใหม่รอบ 17 ปี ฟื้นคะแนน ทวงแชมป์ “เมืองหลวงชินวัตร”

ทักษัณ เพื่อไทย
คอลัมน์ : Politics policy people forum

อีเวนต์การเมืองใหญ่ที่สุดในรอบเดือนมีนาคม 2567 ไม่พ้นการที่ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี กลับไปไหว้บรรพบุรุษตระกูลชินวัตร ที่สันกำแพง จ.เชียงใหม่ หลังไม่ได้กลับไปเชียงใหม่นานถึง 17 ปี

ที่ผ่านมา จ.เชียงใหม่ ถือเป็นฐานการเมืองสำคัญ เป็นเมืองหลวงของตระกูลชินวัตร ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย ของ “ทักษิณ” เข้าสู่การเลือกตั้ง ในปี 2544 อาจเป็นเพราะเชียงใหม่เป็นบ้านเกิดของ “ทักษิณ”

เมืองหลวงชินวัตร

ย้อนสถิติเลือกตั้ง 5 ครั้งใน 20 ปีหลัง การเลือกตั้งใน จ.เชียงใหม่ พรรคการเมืองของเครือข่ายทักษิณ แทบจะผูกขาด ยกจังหวัด

6 มกราคม 2544 เชียงใหม่ มีเขตเลือกตั้งทั้งหมด 10 เขต พรรคไทยรักไทย กวาด สส.ได้ 9 คน พลาดแค่เขตเลือกตั้งที่ 9 เพียงเขตเดียวให้กับพรรคประชาธิปัตย์ นับจากนั้นก็ครองความยิ่งใหญ่มาโดยตลอด

4 ปีต่อมา การเลือกตั้ง 6 กุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทยรุ่งเรืองสุดขีด กวาด สส.เชียงใหม่ ได้ “ยกจังหวัด”

ทว่าเกิดการรัฐประหารในปี 2549 พรรคไทยรักไทยถูกยุบ เปลี่ยนหัว-เปลี่ยนชื่อ เป็น พรรคพลังประชาชน

ก่อนมีการเลือกตั้งใหม่ ภายใต้กติการัฐธรรมนูญ 2550 แบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ ใครคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกในเขตเลือกตั้งจะได้เป็น สส.

โดยการเลือกตั้งครั้งนั้นแบ่งเป็น 4 เขตเลือกตั้ง ปรากฏว่า พรรคพลังประชาชน ได้ สส. 9 ที่นั่ง จากทั้งหมด 11 ที่นั่ง โดนพรรครวมใจไทยพัฒนา และพรรคเพื่อแผ่นดิน เจาะไป 2 ที่นั่ง

กระทั่งการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 พรรคของทักษิณ เกิดใหม่เป็น พรรคเพื่อไทย มี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นตัวแสดงหลักในการเลือกตั้ง สามารถทำให้ พรรคเพื่อไทยชนะแบบ “แลนด์สไลด์” ยกจังหวัดได้ 10 เขตเลือกตั้ง

มาถึงการเลือกตั้ง 2562 พรรคเพื่อไทย เกือบทำสถิติชนะแลนด์สไลด์ยกจังหวัดได้อีกครั้ง

ทว่า นายสุรพล เกียรติไชยากร ได้รับใบส้ม จนต้องมีการเลือกตั้งซ่อม ผลปรากฏว่า “ศรีนวล บุญลือ” พรรคอนาคตใหม่ ชนะเลือกตั้ง แต่ต่อมาได้ไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย

ก้าวไกลแรงจนล็อกถล่ม

เมื่อคลื่นลมการเมืองเปลี่ยน คนร่วมยุคสมัยก็เปลี่ยน มีคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิเลือกตั้งมากขึ้น นอกจากสะเทือนการเมืองภาพใหญ่แล้ว แลนด์สเคปการเมืองเชียงใหม่ก็เปลี่ยน

ผลการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ทำให้พรรคเพื่อไทยทั้งพรรคต้องช็อก เมื่อความแรงของพรรคก้าวไกล ได้ทลายเมืองหลวงชินวัตร กวาดเอา สส.ได้ทั้งหมด 7 เขต จาก 10 เขตเลือกตั้ง ประกอบด้วย เขต 1 เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู, เขต 2 การณิก จันทดา, เขต 3 ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล, เขต 4 พุธิตา ชัยอนันต์, เขต 6 อรพรรณ จันตาเรือง, เขต 7 สมดุลย์ อุตเจริญ, เขต 8 ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์

ขณะที่พรรคเพื่อไทย ได้เพียง 2 ที่นั่ง คือ เขต 5 จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และเขต 10 ศรีโสภา โกฏคำลือ โดยมี พรรคพลังประชารัฐ ได้มา 1 เขต คือ เขต 9 นเรศ ธำรงทิพยคุณ

แม้ว่าในการเลือกตั้ง 2566 พรรคเพื่อไทย จะชูนโยบายเฉพาะคนเชียงใหม่ ลงพื้นที่ซ้ำและย้ำหลายรอบ ในจุดที่สุ่มเสี่ยงต่อความพ่ายแพ้

แค่เยี่ยมบ้าน พลิกเชียงใหม่ไม่ได้

หนึ่งในผู้แพ้จากการเลือกตั้ง 2566 ของพรรคเพื่อไทย “ทัศนีย์ บุรณูปกรณ์” อดีต สส.เชียงใหม่ เขต 1 สองสมัย ในปี 2554 และ 2562

แต่ก่อนการเลือกตั้ง 2566 เธอย้ายเขตเลือกตั้งจากเขต 1 ซึ่งเป็นเขต อ.เมืองเชียงใหม่ (เฉพาะตำบลช้างเผือก ตำบลสันผีเสื้อ ตำบลป่าติน ตำบลป่าแดด ตำบลสุเทพ ตำบลช้างคลาน ตำบลช้างม่อย ตำบลหายยา ตำบลพระสิงห์ ตำบลศรีภูมิ ตำบลแม่เหียะ และตำบลฟ้าฮ่าม)

ไปอยู่ เขต 3 อ.ดอยสะเก็ด อ.แม่ออน อ.สันกำแพง (เฉพาะตำบลสันกำแพง ตำบลร้องวัวแดง ตำบลออนใต้ ตำบลแม่ปูคา ตำบลห้วยทราย ตำบลทรายมูล และตำบลต้นเปา) ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ “ทักษิณ”

สลับกับ จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ย้ายไปอยู่เขต 1 แต่ปรากฏว่าทั้ง 2 คนไม่ได้รับการเลือกตั้ง และหลังจากพรรคเพื่อไทยเข้าสู่อำนาจ จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคขั้วอำนาจเดิม “ทัศนีย์” จากบ้านใหญ่ “บุรณูปกรณ์” ลาออกจากพรรคเพื่อไทย

เธอวิเคราะห์เรื่อง “ทักษิณ” กลับบ้านในรอบ 17 ปี ว่า การที่คนคนเดียวกลับมาแล้วจะสะเทือนฐานคะแนนพรรคการเมือง หรือสะเทือนการเมืองนั้น คงเป็นระยะเวลาสั้นไปที่จะบอกได้ เพราะอยู่ที่การกระทำของพรรคการเมือง

กระแสพรรคเพื่อไทยตกลงมาเยอะ เพราะไปร่วมรัฐบาลกับพรรคขั้วรัฐบาลเดิม ดังนั้น ณ ตอนนี้ ถ้าพรรคเพื่อไทยจะดึงคะแนนได้จริง อยู่ที่รัฐบาลเพื่อไทย จะทำตามที่หาเสียงไว้กับประชาชนได้หรือไม่

ทั้งเรื่องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง การนิรโทษกรรมให้กับผู้เห็นต่างทางการเมือง นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นหลักการ

“การที่พรรคเพื่อไทยกระแสตกลงก่อนเลือกตั้ง 2566 เพราะประชาชนแค่ไม่เชื่อใจ แต่พอหลังจากพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลกับขั้วอำนาจเก่า โดยไม่ยึดถือหลักการ ความเชื่อใจต่าง ๆ ก็สลายลงไปทันที พรรคเพื่อไทยจึงมีทางเดียวที่จะฟื้นศรัทธาได้คือต้องทำนโยบายที่หาเสียงไว้ ทั้งเรื่องกระบวนการยุติธรรม และเศรษฐกิจปากท้อง ให้คนอยู่ดีกินดี”

ส่วนพรรคก้าวไกล เธอบอกว่า การกลับบ้านของ “ทักษิณ” ก็ไม่ได้ส่งผลสะเทือนเช่นกัน ขึ้นกับการปฏิบัติหน้าที่ของพรรคก้าวไกลในฐานะฝ่ายค้าน ว่าจะทำให้ประชาชนเชื่อใจได้หรือไม่

สส.เพื่อไทย อาจไม่ได้พบ

ด้านพรรคเพื่อไทย สรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรค กล่าวถึงการที่ สส.จะไปพบอดีตนายกฯ หรือไม่ว่า “ไม่มีหรอกครับ เพราะวันที่ 14 มีนาคม เป็นวันประชุมสภา”

“จริง ๆ แล้วน่าจะเป็นที่วิจารณญาณของ สส. มันไม่ควรจะไปอยู่แล้ว แต่หากเป็นอดีตผู้สมัครหรืออดีต สส.ก็ห้ามไม่ได้ แต่หากเป็น สส.ก็ไม่น่าได้ไปเพราะต้องประชุมสภา”

อัพเกรดเชียงใหม่

แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง มีกำหนดการตรวจราชการเชียงใหม่ เช่นเดียวกัน แต่นายกฯคนที่ 30 บอกว่า ถ้ามีโอกาสคงได้เจอ

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เป็นนายกฯ “เศรษฐา” และรัฐบาลเพื่อไทย ผลักดันนโยบายสำคัญ ๆ ในเชียงใหม่ อาทิ แก้ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 เร่งสร้างถนนวงแหวนรอบที่ 3 ให้เสร็จ ผลักดันรถไฟฟ้า รถแดงไฟฟ้า พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ทั้ง 7 แห่ง

ปรับสนามบินเชียงใหม่ แผนสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศและปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิมรองรับนักท่องเที่ยว เป็น 16.5 ล้านคนต่อปีภายในปี 2572

รวมถึงมีแผนจะก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 หรือท่าอากาศยานล้านนา ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 20 ล้านคนต่อปี

อีเวนต์ “ทักษิณ” กลับบ้านเกิดในรอบ 17 ปี ยามที่เมืองหลวงชินวัตรจากสีแดงเป็นสีส้ม พรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ “แพทองธาร ชินวัตร” ต้องทวงคืนแชมป์