เพื่อไทย เปิดเกมรุกนิติบัญญัติ เข็นแจกเงินหมื่น-แก้รัฐธรรมนูญฝ่ากับดัก

เศรษฐา
คอลัมน์ : Politics policy people forum

หลังจาก “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับการพักโทษกลับเข้าบ้านพักจันทร์ส่องหล้า คนในพรรคเพื่อไทย ชุ่มชื่นทันตา

นาทีนี้ พรรคเพื่อไทย จัดกำลัง-เกมรุก ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารใหม่ พร้อมทั้งกำหนดวาระการเคลื่อนการเมือง ต่อยอดเป็นไม้ค้ำยันรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ให้อยู่ครบ 4 ปี

รุกเกมสภา

นอกจากกระแสการ “ปรับคณะรัฐมนตรี” ที่คนการเมือง ทั้งในพรรคเพื่อไทย ในพรรคร่วมรัฐบาล เตรียมตัวออกแอ็กชั่นทางการเมืองในเดือนมีนาคม เพราะคาดการณ์ว่าจะมีการปรับ ครม.ในช่วงปลายเมษายน

ในเวลาเดียวกัน พรรคเพื่อไทย ได้ตัดสินใจเปลี่ยนตัวประธานวิปรัฐบาล จาก “อดิศร เพียงเกษ” สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย มาเป็น วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ ประธาน สส.พรรค นั่งเก้าอี้ประธานวิปรัฐบาลแทน

เนื่องจากระยะหลัง “อดิศร” มีอาการป่วยจนอาจไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานวิปรัฐบาลได้อย่างสมบูรณ์ กินเวลาหลายเดือน ส่งผลให้การเดินเกมในสภาของพรรคเพื่อไทย ติดขัด ไม่ไหลลื่น

การประชุมสภาสมัยสามัญครั้งที่ 1 รัฐบาลไม่มีการส่งกฎหมายมายังสภาแม้แต่ฉบับเดียว กลับมีแต่ร่างกฎหมายของฝ่ายค้าน-พรรคก้าวไกล เป็นหลัก

ต้องรอให้ถึงการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 2 จึงเริ่มมีการส่งกฎหมายของรัฐบาลมายังสภา ขณะที่ บทบาทการขับเคลื่อนในสภา ดูเหมือนเป็นรองฝ่ายค้าน จึงต้องมีการจัดคิวให้ “เศรษฐา” ไปปรากฏตัวที่สภา พร้อมทั้งจัดวงพูดคุยปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่กับ สส.

อย่างไรก็ตาม ในเดือนมีนาคม 2567 อุณหภูมิในสภาจะทะลุขีด เพราะเป็นเดือนสุดท้าย ก่อนปิดสมัยประชุมสภาสามัญครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 เมษายน 2567

ทั้งร่างกฎหมายสำคัญ-การกำหนด วัน ว. เวลา น. ในการอภิปรายทั่วไปไม่ลงมติ หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจ จะเห็นชัดในเดือนมีนาคม 2567 นี้

วาระร้อนที่พรรคเพื่อไทยต้องรับมือคือ การอภิปรายของพรรคฝ่ายค้าน ที่ยังไม่ “แบไต๋” ว่าจะยื่นอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ เพื่อ “ชง” ข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล หรือเปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งพรรคก้าวไกล ลับมีด แบ่งงาน-แบ่งคน-แบ่งทีม ไปเก็บข้อมูลสำหรับการอภิปรายที่จะเกิดขึ้น ฟากรัฐบาลจึงต้องเตรียมแผนรับมือ อย่างรัดกุม

โดยเฉพาะปมร้อนการเมืองที่พรรคเพื่อไทยไม่อาจปฏิเสธ คือ กรณีของ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ได้รับการพักโทษจากกรมราชทัณฑ์

การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติเรื่องจำนวนเสียงในการลงคะแนนประชามติ เป็นอีกวาระหนึ่งที่ต้องทำให้เสร็จก่อนการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ

รวมถึงการเตรียมพร้อมสำหรับ การเสนอร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน 5 แสนล้านบาท หากรัฐบาลยืนยันไทม์ไลน์เดิมว่าจะแจกเงิน 10,000 บาท ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน กฎหมายกู้เงิน ก็จะต้องเข้าสภาให้มีมติรับหลักการวาระที่ 1 ภายในมีนาคม หรือต้นเมษายนนี้ เพราะหากตกขบวน ต้องรอคิวไปสมัยประชุมถัดไป ที่จะเปิดอีกครั้ง วันที่ 3 กรกฎาคม เว้นแต่จะมีการเปิดสภาสมัยวิสามัญเป็นการเฉพาะ

ขอพรรคร่วมหนุนแจกเงินหมื่น

นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท อาจกลายเป็นจุดชี้เป็น-ชี้ตายของรัฐบาล หลังจากถูกสกัดจากทุกทาง โดยเฉพาะ “องค์กรอิสระ” อย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

รัฐบาลพยายามแก้เกม ด้วยการให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 2 ชุด

คือ คณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำอาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ
และ คณะอนุกรรมการศึกษาข้อเสนอแนะและความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา และข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. วางกรอบไว้ 30 วัน ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ในช่วงเช้าวันเดียวกัน ก่อนการประชุมบอร์ดนโยบายเติมเงินดิจิทัล “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ แกนนำคนสำคัญของรัฐบาล ได้เรียกประชุมหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลเป็นการด่วน

นอกจาก หารือ-รับฟังความคิดเห็นถึงแนวทางการทำประชามติก่อนการแก้รัฐธรรมนูญ ยังมีวาระที่พรรคเพื่อไทย ขอความร่วมมือพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ให้ร่วมกันเดินหน้าโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเลตนี้ด้วย

แก้กฎประชามติดันเกม รธน.

ขณะที่เกมแก้รัฐธรรมนูญ ฝ่ายรัฐบาล ชงร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ เพื่อปลดล็อกจำนวนเสียงโหวต จากเดิมที่ต้องได้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ชั้นแรกต้องมีผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนมากกว่าจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง ชั้นที่สอง ในการโหวตประชามติจะต้องได้เสียงข้างมากเกิน “กึ่งหนึ่ง” ในเรื่องที่ทำประชามติ

พรรคเพื่อไทย หวั่นใจว่า การที่กฎหมายประชามติฉบับปัจจุบัน ที่ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น อาจจะเกิดอุบัติเหตุ ประชามติถูกคว่ำ โดยเฉพาะชั้นแรก ที่จะต้องมีผู้มาใช้สิทธิมากกว่าจำนวนผู้มีสิทธิลงประชามติ ซึ่งคาดการณ์ว่าอาจมีการรณรงค์ “โนโหวต” เพื่อให้คนไม่ออกมาใช้สิทธิ โดยเฉพาะโหวตเตอร์ที่เป็นกลุ่มรุ่นใหม่

ดังนั้น พรรคขั้วรัฐบาลจึงเสนอ ให้ใช้เสียงข้างมากตามหลักทั่วไป แต่ให้เกินเสียงของผู้ไม่ประสงค์จะใช้สิทธิออกเสียง

หลังจากก่อนหน้านี้ เมื่อ 25 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 เสนอคำถามประชามติว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไข หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”

อย่างไรก็ตาม ในเดือนมีนาคม มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจถูกชงเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีใน 3 เรื่องใหญ่ คือ การให้ความเห็นชอบคำถามประชามติ, การทำประชามติจะต้องใช้ 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง

เพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อนส่ง กกต.เดินหน้าจัดทำประชามติ บนข้อแม้ว่า ร่างแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ประชามติ ที่ชงเข้าสู่สภาจะต้องผ่านการเห็นชอบ-บังคับใช้เป็นกฎหมายเสียก่อน

ส่งคนชิง สว.-อบจ.

อีกประเด็นที่ไม่อาจมองข้ามคือ การเลือก สว.ชุดใหม่ แทนที่ สว. 250 คน โดยการแต่งตั้งของ คสช. กำลังจะหมดวาระวันที่ 11 พฤษภาคมนี้ พรรคการเมืองต่าง ๆ จึงตระเตรียมกำลังคนที่จะส่งลงชิงเก้าอี้ สว. ซึ่งพรรคเพื่อไทย พรรคแกนนำรัฐบาลไม่พลาดเกมนี้ เช่นเดียวกับการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ

เพื่อไทย รุก-รับ อยู่ครบ 4 ปี