สทนช.จับตาพายุฤดูร้อน 5-9 พ.ค. 67 ฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่

สทนช.จับตาพายุฤดูร้อน 5 – 9 พ.ค. 67 ฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่
แฟ้มภาพ

สทนช.จับตาพายุฤดูร้อน 5-9 พ.ค. 2567 ฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ ลูกเห็บตกบางพื้นที่ ส่วนสถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำยังเกิน 54% ของความจุเก็บกัก 43,412 ล้าน ลบ.ม. เร่งแก้แล้งหลายพื้นที่

วันที่ 4 พฤษภาคม 2567 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงานสรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ ว่าสภาพอากาศ ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และจะเกิดพายุฤดูร้อนภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เนื่องจากอิทธิพลจากลมตะวันตกจากประเทศเมียนมา

สำหรับลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตก รวมถึงอาจมีฟ้าฝ่าเกิดขึ้นได้

โดยคาดการณ์ ว่าระหว่าง วันที่ 5-9 พ.ค. 2567 แนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นหลายพื้นที่
โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่

อัพเดตปริมาณน้ำในเขื่อนทั่วประเทศ

สำหรับสถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม ปริมาณน้ำรวม 54% ของความจุเก็บกัก 43,412 ล้าน ลบ.ม.ปริมาณน้ำใช้การ 33% 19,248 ล้าน ลบ.ม. การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่ง ภาคเหนือ เขื่อนสิริกิติ์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนจุฬาภรณ์, ภาคตะวันออก เขื่อนคลองสียัด ภาคกลาง เขื่อนกระเสียว

Advertisment

ส่วนคุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ทั้ง แม่น้ำท่าจีน ณ สถานีประตูระบายน้ำปากคลองจินดา แม่น้ำแม่กลอง ณ สถานีอัมพวา และแม่น้ำบางปะกง ณ สถานีวัดบางคาง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

ภูเก็ตเร่งแก้น้ำดิบไม่พอ

ขณะเดียวกัน วานนี้ (3 พ.ค. 67) นายชัยวัฒน์ จันทวี ผอ.สทนช.4 เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 4/2567 โดยมีนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการเข้าร่วมประชุมโดยที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์น้ำในพื้นที่จ.ภูเก็ต ปัจจุบันน้ำในอ่างเก็บน้ำบางวาดมีปริมาณน้ำ 1.64 ล้าน ลบ.ม. (คิดเป็น 16% ของความจุ) อ่างเก็บน้ำคลองกะทะ ปริมาณน้ำ 1.01 ล้าน ลบ.ม. (คิดเป็น 23% ของความจุ) และอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำปริมาณน้ำ 3.24 ล้าน ลบ.ม. (คิดเป็น 45% ของความจุ)

โดยปัจจุบัน กปภ. สาขาภูเก็ตลดกำลังการผลิตน้ำประปาของสถานีผลิตน้ำบางวาดเนื่องจากปริมาณน้ำดิบเริ่มไม่เพียงพอ และได้ดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำสำรองจากขุมเหมืองเอกชน และติดตั้ง Mobile Plant อัตราการผลิต 100 ลบ.ม. ต่อชั่วโมง เพื่อผลิตน้ำประปาเพิ่มเติมให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของประชาชน และเห็นชอบการปรับเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำบางวาด โดยให้เริ่มจ่ายน้ำเพื่อผลิตประปาได้ตั้งแต่เดือนมกราคมของทุกปี ทั้งนี้ให้พิจารณาปริมาณน้ำต้นทุนในการผลิตประปาจากแหล่งน้ำอื่น ๆ ประกอบในการจ่ายน้ำเพื่อผลิตประปาด้วย

แก้แล้งหลายพื้นที่

สำหรับการให้ความช่วยเหลือน้ำแล้วในหลายพื้นที่นั้น สทนช.ระบุว่า ในส่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นำรถบรรทุกติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกล สูบส่งน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำเพียงพอมากักเก็บในสระน้ำในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภค-บริโภค การผลิตน้ำประปา และการใช้น้ำในภาคการเกษตร ในพื้นที่ ต.หาดยาย อ.หลังสวน และต.ทุ่งระยะ อ.สวี จ.ชุมพร

Advertisment

เช่นเดียวกับกรมทรัพยากรน้ำ ได้ดำเนินการเดินเครื่องสูบน้ำโครงการระบบส่งน้ำจากแม่น้ำน่าน – บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ เร่งด่วน เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับบึงบอระเพ็ด และรักษาระบบนิเวศในบึงบอระเพ็ด โดยเริ่มดำเนินการวันที่ 2 พ.ค. 2567 สิ้นสุดวันที่ 11 พ.ค. 2567 มีเป้าหมายเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนจำนวน 5,184,000 ลบ.ม.