ผู้เขียน : ทีมข่าวเฉพาะกิจ ถ่ายภาพ : ชลาธิป รุ่งบัว, สุวัฑ แซงลาด, ภูริณัฐ พูลธัญกิจ
น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก “นพรัตน์ กุลหิรัญ” ผู้ก่อตั้งบริษัท ชัยเสรีเม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด ผู้ผลิต ซ่อม และส่งออกรถหุ้มเกราะสัญชาติไทยไปประจำการในยูเอ็นและอีกกว่า 46 กองทัพทั่วโลก “มาดามรถถัง” ให้เกียรติทีมงาน “ประชาชาติธุรกิจ” ด้วยการเปิดอาณาจักรชัยเสรีบนพื้นที่ 87 ไร่ จ.ปทุมธานี พร้อมพูดคุยอย่างเป็นกันเอง ถึงเรื่องราวของเธอที่โตมาจากย่านเซียงกง ถนนทรงวาด จนก้าวสู่การเป็นซีอีโอหญิงที่ได้รับการยอมรับบนเวทีโลก
เธอเล่าให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่า ฉันเกิดในครอบครัวคนจีนที่อพยพมาเมืองไทย ตั้งถิ่นฐานอยู่แถวท่าน้ำราชวงศ์ ถนนทรงวาด สมัยประถมเรียนโรงเรียนเผยอิง คุณพ่อทำอาชีพขายเหล็กและโซ่เก่าในย่านเซียงกง เยาวราช
“สมัยก่อนโรงเรียนประถมเรียนครึ่งวัน ตอนบ่ายเลิกเรียน นพรัตน์ก็จะไปกับพ่อ ไปประมูลกองเศษเหล็ก เศษโซ่เก่า พ่อเป็นคนพูดติดอ่าง ไปประมูลก็ไม่เคยได้งานสักทีเพราะพูดไม่ทัน นพรัตน์ก็คิดว่าทำยังไงดี เลยเที่ยววิ่งไปบอกอาเจ็กอาแปะว่าพ่อฉันอยากได้เศษโซ่อันนี้นะ เช่น กิโลหนึ่งถ้าถึง 50 สตางค์ให้หยุดนะ พ่อฉันจะเป็นคนพูด พอถึงปุ๊บทุกคนก็หยุดให้พ่อพูด แล้วเขาจะได้งาน ก็เอาโซ่เก่ากลับมาซ่อมทำใหม่ ทำเป็นโซ่พันล้อ”
ฝันเป็นพยาบาล แต่ได้เป็นครู
เมื่อจบ ป.4 ด้วยการเรียนที่ไม่เลวนัก แต่เปลี่ยนโรงเรียนเลยต้องไปซ้ำชั้นที่พระหฤทัยคอนแวนต์ นพรัตน์เผยว่า เสียใจมากที่ต้องไปเรียนซ้ำ ไม่ทันเพื่อน แต่คุณพ่อบอกว่า คนเราอย่าไปยึดติดกับประกาศนียบัตร ต้องยึดติดกับความรู้ที่ได้ ไปเรียนโรงเรียนใหม่ได้เริ่มเรียนภาษาอังกฤษ ได้เรียนสิ่งใหม่ ๆ การศึกษาคือการเรียนรู้ ทำให้นพรัตน์เริ่มมีความสุขขึ้นมา หลังจากนั้นก็เรียนต่อ ม.ศ.4 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ และมุ่งมั่นอยากเป็นพยาบาล
ที่เซียงกง คนจีนอพยพจากเมืองจีนมาก็เยอะ อาม่าทั้งหลายไม่สบาย มาหาหมอก็ลำบาก นพรัตน์ก็จะเป็นอาสาพาอาม่าทั้งหลายไปหาหมอ ถ้าใครที่ไม่สบายจะเรียกหาแต่นพรัตน์ ก็ตั้งใจอยากเป็นพยาบาลทหารมาก เพราะพ่อบอกว่าเราเป็นพลเมืองไทย มีหน้าที่รับใช้ชาติ ช่วยทำให้ชาติพัฒนาก้าวหน้า แต่พอไปสมัครโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ เขาไม่รับ บอกว่าพ่อแม่เป็นต่างด้าวเรียนไม่ได้ ก็เลยไม่ได้เรียน ก็หันเข็มใหม่อยากเป็นครู
สุดท้าย นพรัตน์เลือกเอนทรานซ์ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาปทุมวัน เพียง 1 จาก 4 อันดับที่สามารถเลือกได้ และเธอสอบติดเป็นลำดับที่ 1 ทำให้ได้เป็นครูสอนในโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก และสอนศึกษาผู้ใหญ่ตอนกลางคืนให้กับชาวจีนย่านสำเพ็ง เยาวราช
จับปลาในทะเลหลวง เริ่มค้าขายกับกองทัพ
นพรัตน์เล่าต่อว่า ชาวจีนอพยพย่านทรงวาดและพ่อแม่พูดเสมอว่า เป็นลูกสาวไม่มีสิทธิในกองมรดก ต้องฝึกตนให้เก่ง ออกเรือนไปอยู่บ้านอื่นก็ใช่ว่าจะไปพึ่งสามี แต่ต้องสร้างประโยชน์ให้บ้านเขา
พอเริ่มแต่งงาน ไปอยู่บ้านสามีก็เริ่มอาชีพใหม่ ตอนนั้นบ้านสามีเริ่มทำธุรกิจกับกองทัพบ้างแล้ว เป็นการขายอะไหล่ ซ่อมรถเล็ก ๆ น้อย ๆ เลยคิดว่าจะทำอะไร ต่อยอดอย่างไรดี
เดิมทีคิดว่าจุดสำคัญของการค้าขายกับกองทัพ คือ คอนเน็กชั่น แต่พ่อบอกว่าทำไมต้องเรื่องความสัมพันธ์ ต้องคิดถึงโปรดักต์ จะทำอาชีพถาวรต้องมีความคิด “จับปลาในทะเลหลวง”
ถ้าจับปลาในแม่น้ำเจ้าพระยาหรืออะไรที่มีจำกัดในประเทศไทย จะไม่ได้อาชีพที่ยั่งยืนและต้องแย่งชิงกัน สินค้าเราต้องเป็นอะไรที่ขายได้ทั่วโลก และมีวัตถุดิบอยู่ในประเทศไทย
เมื่อ พ.ศ. 2520 สงครามเวียดนามสิ้นสุด สหรัฐอเมริกาถอนทัพและหยุดสนับสนุนยุทโธปกรณ์ กองทัพไทยต้องจัดหาด้วยงบประมาณตัวเอง ประกอบกับบริษัทสามีประมูลข้อต่อสายพาน ล้อกดสายพาน ได้จากอเมริกา นพรัตน์จึงได้เดินทางไปตรวจรับที่บริษัท Standard Product ณ Port Clinton รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา
เมื่อเข้าไปในโรงงานก็สะดุดตา มีข้อต่อสายพานเก่าที่ใช้แล้วเต็มไปหมด ทางสหรัฐเล่าให้ฟังว่า แกะยางออกแล้วทำใหม่จะสามารถใช้ได้อีก 3 รอบ อเมริการ้วยรวยยังเอามาใช้ใหม่เลย ทำไมประเทศไทยกองไว้เป็นภูเขา ไม่คิดจะทำใหม่ กลับมาบ้านเล่าให้สามีเล่าให้ช่างฟัง มีกองเท่าภูเขาอยู่ที่โคราชก็ไปเอามาซ่อม และขายให้กองทัพไทย จนเริ่มส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2525
ฉายามาดามรถถัง
นพรัตน์กล่าวว่า ทั่วโลกมีน้อยมากที่จะเห็นผู้หญิงในธุรกิจด้านนี้ หรือไปบรรยายในกองทัพต่าง ๆ ส่วนมากมีแต่ผู้ชาย ถือว่ายากมาก วางตัวลำบาก เช่น ประเทศอาหรับ ไม่ให้ผู้หญิงเข้ากองทัพ แล้วเราจะไปขายเขาอย่างไร เราก็ต้องมีกรรมวิธี
ฉายามาดามรถถัง ฉันไม่ใช่เป็นคนตั้งให้ตัวเองนะ เขาเรียกฉัน เป็นผู้หญิงอะไรถึงมีความรู้เรื่องรถถังเยอะจัง แล้วชื่อภาษาไทย อาหรับกับฝรั่งเรียกไม่เป็น กุลหิรัญ เรียกอะไรก็ไม่รู้
เวลาไปบรรยายหรือไปที่ไหนจะต้องศึกษาก่อน ปกติเราจะอ่านหนังสือให้สามีฟังก็เลยรู้ เวลาไปพูดกับใคร บรรยายกับใคร เราก็แนะนำเขาได้ เขาก็นึกว่าเราเก่ง แล้วก็พูดเรื่องรถถังแบบไหน ๆ หารู้ไม่ว่าฉันอ่านและแปลให้สามีฟังตลอดเลยรู้ไง เขาเลยเรียก “Madam Tank”
แต่ความจริงมันเป็นฉายาที่ค่อนข้างน่าเกลียดนะ มันเหมือนกับตลก ๆ ยังไงไม่รู้อ่ะ แต่ฝรั่งมันเรียกแล้วเข้าใจง่าย
ส่งลูกฝึกงาน สร้างรถเกราะเอง
ด้วยมองการณ์ไกล นพรัตน์จึงส่ง “กานต์ กุลหิรัญ” ลูกชายคนโตที่เรียนอยู่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SIIT) ไปฝึกงานยังโรงงานทำรถถังที่สหรัฐ เป็นระยะเวลา 3 เดือน
ฝึกเสร็จกลับมา ลูกบอกว่า เราจะต้องเป็นผู้ผลิตรถเกราะของประเทศไทย ไปดูแล้วไม่ยาก เลยกลับมาทำ “First Win 4×4” ขายกองทัพไทย กองทัพมาเลย์ กองทัพอินโดนีเซีย จนกระทั่งประจำการในสหประชาชาติ และ 46 กองทัพทั่วโลก ลำพังมาดามเองคงไปไม่ถึงจุดนั้น
บนพื้นที่โรงงานกว่า 87 ไร่ ชัยเสรี เป็นบริษัทอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ 100% ทั้งผลิต ซ่อม และขายยุทโธปกรณ์ไปยังกองทัพต่าง ๆ โดยมีแฟลกชิป เป็น รถหุ้มเกราะล้อยาง First Win 4×4 กันกระสุนและระเบิดได้รอบตัวตั้งแต่หลังคายันหม้อน้ำ
ซึ่งมีทั้งรุ่นทั่วไปที่ทำเป็นรถพยาบาลสีขาวประจำการใน UN กองทัพ และหน่วยงานในไทย และรุ่นที่มีเครื่องยนต์อยู่ด้านหลังสำหรับใช้ในตะวันออกกลางที่เป็นทะเลทราย และสามารถแล่นบนน้ำได้ นอกจากนี้ยังมีรถหุ้มเกราะล้อยาง 8×8 สะเทินน้ำสะเทินบกสำหรับกองทัพเรือด้วย
โดยราคาเริ่มต้นของ First Win 4×4 อยู่ที่ประมาณ 12-13 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับสเป็กและระบบอาวุธตามความต้องการของผู้ใช้งาน ที่สำคัญ ชัยเสรียังขายข้อต่อสายพานไปทั่วโลกให้กับรถถังเยอรมันรุ่น Leopard 1, Leopard 2 รถถังฝรั่งเศสรุ่น Leclerc รถถังรัสเซียรุ่น T-92, T-72, BMP 1 เป็นต้น ซึ่งแต่ละรุ่นล้วนเป็นยุทโธปกรณ์ชั้นนำของโลก
ส่งไม้ต่อทายาทรุ่น 2
นพรัตน์กล่าวว่า โรงงานชัยเสรีก่อตั้งมา 60 ปีแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. 2506 เราเริ่มค้าขายกับกองทัพ พ.ศ. 2511 การทำงานตลอดชีวิตมากว่า 55 ปี ก็ถือว่าพอสมควร มาดามมองอนาคตเสมอ เห็นว่าต้องให้ลูกทำ จึงส่งให้ลูกไปเรียนรู้จริงจากสหรัฐ เมื่อส่งต่อให้ลูก เราต้องรู้จักถอย ต้องเชียร์ลูก มองอยู่ข้างหลัง ให้ลูกไปข้างหน้า หากเรายังทำเองอยู่ตลอด รุ่นต่อไปก็จะไม่ทำ
เป้าหมายเราคือ พยายามทำเพื่อให้ประเทศไทยได้ใช้ เพื่อป้องกันประเทศเป็นเรื่องหลัก ชัยเสรีไม่เคยขายของแพง 55 ปีมานี้มีแต่ซ่อม ชัยเสรีมีคุณสมบัติข้อหนึ่งคือ ซ่อมของที่ไม่มีใครซ่อมได้ เราละเอียดลออ เก็บหอมรอมริบ ความคิดนี้มาจากเซียงกง ทั้งพ่อและเพื่อนบ้านที่ทรงวาดจะเก็บอะไหล่ที่ใช้ไม่ค่อยได้มาซ่อมมาทำใหม่
การเติบโตมาตั้งแต่วัยเด็กจนออกเรือนและสร้างครอบครัวใหม่จนมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ถือว่าการเลี้ยงดูและหล่อหลอมของบุพการีมีส่วนสำคัญมาก ที่ทำให้ชีวิตราบรื่น ทำงานใหญ่ได้สำเร็จ
“เป็นเหมือนนก ที่ชำนาญ การว่ายฟ้า ด้วยปีกกล้า แกร่งพลัง ที่สั่งสม มิรู้เหนื่อย รู้หน่าย แรงสายลม ด้วยจิตใจ มุ่งมั่น ฝ่าฟันไป”
ภายใต้หลักการ คิดดี ทำดี เราทำได้ ก็เลยทำได้มาตลอด ทุกปัญหาก็แก้ไขได้ นี่คือสิ่งที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะทำได้
ใจเขาใจเรา รักษาคำพูด เคล็ดลับความสำเร็จ นพรัตน์ กุลหิรัญ
นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ล้วนมีกฎเหล็กยึดมั่นในใจ เช่นกัน บอสใหญ่ชัยเสรีก็มีหลักยึด ข้อแรกคือ “เอาใจเขา ใส่ใจเรา” ข้อสองต้อง “รักษาคำพูด” ทุกประเทศที่ติดต่อค้าขาย ไม่มีใครชอบคนโกหก รับปากแล้วต้องทำ
“ตลอดชีวิตของนพรัตน์ พูดคำไหนคำนั้น ไม่แต่งเรื่อง ไม่ว่าร้ายใคร ไม่ทำให้ใครเสียหาย ดีบอกว่าดี ฉะนั้นเวลาพูดกับใคร ที่ไหน เขาจะเชื่อถือ พูดจริงทำจริงและทำในสิ่งที่ถูกต้อง”
เรื่องบริหารคน สมัยก่อนชัยเสรีมีคนงานไม่กี่คน เดี๋ยวนี้ 2 โรงงานรวมกันร่วม 600 คน เราเลี้ยงคนงานเหมือนลูกหลาน เหมือนคนในครอบครัว รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว คนที่ทำงานกับเราต้องมีความสุข ต้องกินดีอยู่ดี แน่นอนเราไม่สามารถเอาใจทุกคนได้ แต่ละคนมีความต้องการไม่รู้จบ คนเยอะขึ้นก็ต้องมีระเบียบ มีกฎเกณฑ์
สมัยเด็กอยู่เซียงกง ทำกับข้าวทำอะไร คนงานก็กินกับเราด้วย กินหม้อเดียวกัน กับข้าวเหมือนกัน แต่วันนี้ชัยเสรีทำแบบเก่าไม่ค่อยไหวแล้ว เพราะคนงานเราตักกลับบ้านไปเผื่อครอบครัวด้วย 400 คน 400 ครอบครัว ทำเท่าไรก็ไม่พอ เราเลยเปลี่ยนหุงแต่ข้าว แล้วให้คนงานซื้อกับข้าวแทน ร้านค้าก็ให้ข้างนอกมาทำขายแบบถูก ๆ ให้ทุกคนอยู่ได้ เป็นการแก้ปัญหา ลดภาระ
ทุกวันนี้เลยแจกเงินวันละ 50 บาท ให้คนงานซื้อกินเองในโรงอาหาร กับข้าวขายถูก 30 บาท เพราะไม่ต้องเสียค่าเช่า ค่าน้ำค่าไฟ อยู่แบบกันเอง ญาติพี่น้อง ทุกวันนี้โรงอาหารกินอะไร ฉันก็กินแบบนั้นเหมือนกัน