เปิดประสบการณ์วงการแฟชั่น โชว์ไอเดีย 5 ดีไซเนอร์ บนรันเวย์คนรุ่นใหม่

เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ต่อยอดความสำเร็จด้วยคอนเซ็ปต์ The Power of Next ของยัสปาล กรุ๊ป (Jaspal Group) ที่เปิดพื้นที่ให้นิสิตนักศึกษาร่วมถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ ผ่านมุมมองที่แตกต่าง สู่การเป็นสุดยอดดีไซเนอร์ในโปรเจ็กต์ Jaspal Group Scholarship Program 2024 ซึ่งมีผู้ได้รางวัล 1.5 แสนบาท รวมทุนการศึกษาทั้งโครงการกว่า 6.5 แสนบาท

นิสิตนักศึกษาทั้ง 5 คนที่ได้รับทุนและเข้าสู่โครงการ ได้แก่ ณิชาภัทร แก้วธำรงค์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ขวัญข้าว พันธุ์พิทยุตม์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปิยบุตร วลีเกียรติกุล จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ชาติชาย ศรีเพิ่มพันธ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มาย พฤกษากิจเจริญ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ณิชาภัทร แก้วธำรงค์ จากวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เอกแฟชั่นสิ่งทอและเครื่องตกแต่ง ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กล่าวว่า อยากหาประสบการณ์เพิ่ม จึงเป็นโอกาสดีที่ได้เข้ามาฝึกงานในองค์กรนี้ โดยเห็นกระบวนการทำงานตั้งแต่ขั้นตอนแรก และได้ลงมือทำจริง ๆ คิดว่าถ้าเราเป็นดีไซเนอร์จริง ๆ คงต้องตีโจทย์คอลเล็กชั่นให้แตก เพื่อทำเสื้อผ้าให้ขายได้จริง ถือเป็นสิ่งท้าทาย

“ดีใจมาก ๆ ที่ได้รับคัดเลือก จะนำเงินทุนที่ได้ไปพัฒนาผลงานศิลปนิพนธ์ (Thesis) พร้อมเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อต่อยอดในสายอาชีพต่อไป”

ขวัญข้าว พันธุ์พิทยุตม์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชานฤมิตศิลป์ เอกแฟชั่นและสิ่งทอ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ได้ตีโจทย์ผลงานจากเทรนด์ WGSN (World Global Style Network แล้วนำมาวิเคราะห์แนวทาง ภูมิใจมากที่ได้รับการคัดเลือก การฝึกงานที่ยัสปาลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้เรารู้สายงานอุตสาหกรรมแฟชั่นจริง ๆ ทั้งเข้าใจงาน Marketing หรือ Merchandise ไปด้วย”

อีกมุมมองเกี่ยวกับ “แฟชั่น” กับความยั่งยืน ปิยบุตร วลีเกียรติกุล วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เอกแฟชั่นสิ่งทอและเครื่องตกแต่ง ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เผยว่า “ได้ตีโจทย์ The Power of Next ในรูปแบบ Sustainability ที่อยากพัฒนาสินค้าแฟชั่นให้ยั่งยืน ทั้งการเลือกวัสดุที่ผสมใยธรรมชาติ ทำให้เราสบายตัว และโพลีเอสเตอร์ที่ให้ความคงทน ขาดไม่ได้คือการดีไซน์ที่ใส่ซ้ำได้ ถือเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่า”

Advertisment

นอกจากนี้ “ชาติชาย ศรีเพิ่มพันธ์” จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชานฤมิตศิลป์ เอกแฟชั่นและสิ่งทอ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า “เป็นโครงการหนึ่งที่ทำให้ผมกล้าที่จะก้าวออกจากกรอบ และอัพสกิลตัวเอง”

เท่ากับเป็นการพิสูจน์เรื่องของประสิทธิภาพงานสร้างสรรค์ เราไม่ค่อยได้เห็นโครงการแบบนี้บ่อยนัก ต้องขอบคุณบริษัทขนาดใหญ่ที่ให้เรียนรู้การทำงานจริง จัดสรรรูปแบบผลงานเป็นคอลเล็กชั่น และผลิตขายในตลาดได้จริง ๆ

Advertisment

สุดท้าย “มาย พฤกษากิจเจริญ” จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ เอกแฟชั่นดีไซน์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ได้สมัครเข้าโครงการ โดยส่งผลงานดีไซน์ดอกกล้วยไม้ Aganisia Cyanea Orchid ที่เป็นดอกไม้หายาก มีสีสันเฉพาะตัว เปรียบเด็กรุ่นใหม่ที่มีเอกลักษณ์ของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน

เพื่อสื่อว่าพลังของคนรุ่นใหม่จะช่วยผลักดันให้องค์กรและยุคสมัยก้าวไปข้างหน้าได้ ที่มีทั้งโอกาสและความรู้ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ไฮไลต์ปีนี้คือ แฟชั่นโชว์ที่นำเสนอผลงานรอบสุดท้ายช่วงปลายปีของน้อง ๆ ทั้ง 5 คน เป็นคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าชุดจริง ซึ่ง Jaspal Group จัดกิจกรรมต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยให้ทำงานจริงจังกับจากแบรนด์ในเครือ โดยมีดีไซเนอร์มืออาชีพ และกูรูในธุรกิจแฟชั่นร่วมโค้ชชิ่งให้ความรู้ทุกมิติ เพื่อสร้างเมล็ดพันธุ์ใหม่ ๆ สู่วงการ