เปิดประวัติ ชรินทร์ นันทนาคร ตำนานผู้ขับขานบทเพลงกล่อมกรุง

ชรินทร์ นันทนาคร
ภาพจาก ชรินทร์ นันทนาคร.Official

เปิดประวัติ “ชรินทร์ นันทนาคร” ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ผู้ขับร้องบทเพลงลูกกรุงอมตะ กับผลงานบันทึกแผ่นเสียงกว่า 1,500 เพลง อาทิ เรือนแพ, หยาดเพชร, อาลัยรัก, แสนแสบ และท่าฉลอม 

วันที่ 20 สิงหาคม 2567 นับเป็นข่าวเศร้าของวงการเพลงลูกกรุงและวงการบันเทิงของประเทศไทย “ชรินทร์ นันทนาคร” ศิลปินนักร้อง นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ และศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) ได้ถึงแก่กรรมจากโรคชรา ด้วยอายุ 91 ปี

ระบุว่า ชรินทร์ นันทนาคร เดิมชื่อ “บุญมัย งามเมือง” เกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 เป็นบุตรของ “นายบุญเกิด” และ “นางจันทร์ดี งามเมือง” ศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนดาราวิทยาลัย และระดับมัธยมที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ก่อนจะเข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพมหานคร

เนื่องจากวัยเด็กเป็นคนขี้โรค จึงถูกเปลี่ยนชื่อให้โดยพระเป็น “ชรินทร์” ส่วนนามสกุล “นันทนาคร” ที่ทุกคนรู้จักกันในปัจจุบัน ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้ให้ความรื่นรมย์แก่ชาวเมือง” และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2541

ชรินทร์ นันทนาคร เริ่มฝึกร้องเพลงกับ “ครูไสล ไกรเลิศ” จากนั้นก็มีโอกาสได้ร้องเพลงสลับการแสดงละครเวที “นางไพร” และร้องเพลงอัดแผ่นเสียงครั้งแรกด้วยเพลง “ดวงใจในฝัน” เมื่อ พ.ศ. 2492 ตามด้วยเพลง “อิเหนารำพัน” เมื่อ พ.ศ. 2494

จากนั้น ชรินทร์ นันทนาคร เริ่มมีชื่อเสียงและได้มีโอกาสร้องเพลงจากนักแต่งเพลงชื่อดัง อาทิ “สมาน กาญจนะผลิน” เช่น เพลงนกเขาคูรัก, สัญญารัก, ง้อรัก และเชื่อรัก เป็นต้น

Advertisment

ต่อมาชีวิตนักร้องของชรินทร์ นันทนาคร ก็ถูกทาบทามจาก “สุรัสน์ พุกกะเวส” เจ้าของหนังสือดาราไทยให้มาเป็นพระเอกแสดงภาพยนตร์ครั้งแรกคู่กับ “ทรงศรี เทวะคุปต์” ในภาพยนตร์ 16 มม. เรื่อง “สาวน้อย” เข้าฉายเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2501 ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย ซึ่งชรินทร์ได้ร้องเพลง “สาวน้อย” ที่ใช้ในภาพยนตร์ด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพยนตร์เรื่องสาวน้อยจะไม่ค่อยได้รับความนิยมากนัก แต่หลังจากนั้น ชรินทร์ นันทนาคร ได้รับบท “ฉึ่ง ช่อมะเดื่อ” ในเรื่อง “สิบสองนักสู้” ซึ่งเข้าฉายวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2502 ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ชื่อของชรินทร์เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น และทำให้ทุกคนเรียกชรินทร์ว่า “ฉึ่ง” เรื่อยมาจนปัจจุบัน

Advertisment

 

ชรินทร์ นันทนาคร
ภาพจาก หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

ชีวิตของชรินทร์ นันทนาคร หลังจากนั้นได้ยึดอาชีพนักร้องเป็นหลัก สลับกับการแสดงภาพยนตร์บ้าง ซึ่งส่วนมากจะเป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับบทเพลง อาทิ แพนน้อย (2506), ฝนแรก (2506), นกน้อย (2507), ใจฟ้า (2508), ลมหวน (2508), เงิน เงิน เงิน (2508), นกยูง (2509), เพื่อนรัก (2509), ละครเร่ (2512), หวานใจ (2513) และเรือมนุษย์ (2513) เป็นต้น

ชรินทร์ นันทนาคร ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่ขับร้องเพลงไทยสากลผสมผสานกับเพลงไทยเดิมด้วยน้ำเสียงที่มีเสน่ห์ชวนฟัง มีท่วงทำนองสูงต่ำ เอื้อน และการออกเสียงอักขระได้ชัดเจน โดยมีผลงานบันทึกแผ่นเสียงกว่า 1,500 เพลง

ผลงานเพลงของชรินทร์ นันทนาคร ที่สร้างชื่อเป็นที่นิยมอย่างสูงสุด เรียกว่าเป็น “บทเพลงอมตะ” มีด้วยกันหลายเพลง ซึ่งยังคงถูกนำมาขับร้องโดยนักร้องสมัยใหม่จนถึงปัจจุบัน อาทิ เรือนแพ, มนต์รักดอกคำใต้, หยาดเพชร, อาลัยรัก, ทาษเทวี, เด็ดดอกรัก, ผู้ชนะสิบทิศ, ที่รัก, นกเขาคูรัก, แสนแสบ, ท่าฉลอม, สักขีแม่ปิง, ทุยจ๋าทุย และเพราะขอบฟ้ากั้น เป็นต้น

โดยชรินทร์ นันทนาคร ได้รับรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ ครั้งแรกของตนเองจากเพลง “อาลัยรัก” เมื่อ พ.ศ. 2514 ซึ่งแต่งคำร้องโดยบรมครูเพลง “ชาลี อินทรวิจิตร” ทำนองโดยสมาน กาญจนะผลิน และบันทึกเสียงเมื่อ พ.ศ. 2505

ทั้งนี้ ชรินทร์ นันทนาคร ยังเป็นผู้ริเริ่มร่วมสร้างสรรค์เพลง “สดุดีมหาราชา” ซึ่งทำให้ได้รับรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ “สังข์เงิน” สาขาใช้ศิลป์สร้างสรรค์ให้เกิดความรักชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์

ชรินทร์ นันทนาคร ยังได้สร้างผลงานไว้มากมายในฐานะผู้สร้างภาพยนตร์ โดยมีผลงานทั้งหมดกว่า 19 เรื่อง เริ่มสร้างภาพยนตร์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2508 เป็นภาพยนตร์ 16 มม. เรื่อง “เทพบุตรนักเลง” และ “แผ่นดินแม่” ใน พ.ศ. 2518 ซึ่งถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของประเทศไทยที่สร้างในระบบ 70 มม. โดยมีภาพยนตร์เรื่อง “รักข้ามคลอง” ใน พ.ศ. 2524 ที่ทำรายได้สูงที่สุด

ด้านชีวิตส่วนตัว ชรินทร์สมรสครั้งแรกกับ “สปัน เธียรประสิทธิ์” มีบุตรสาว 2 คนคือ “ปัญญ์ชลี” และ “ปัญชนิตย์ เธียรประสิทธิ์” ก่อนจะหย่าขาดกัน และได้สมรสใหม่กับ “เพชรา เชาวราษฎร์” อดีตนางเอกภาพยนตร์ชื่อดัง

ชรินทร์ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ณ โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร