ความยิ่งใหญ่ของบทเพลงที่ขับร้อง โดย “ชรินทร์ นันทนาคร” เป็นผลที่มาจากทั้งเรื่องราวที่ซุกซ่อนอยู่ในบทเพลง ความเป็นสุดยอดของครูเพลงทั้งเนื้อร้องและทำนอง แสนหวานซาบซึ้งกินใจ งดงามด้วยวรรณศิลป์ และจินตนาการ ผ่านน้ำเสียงสุดลึกซึ้งและนุ่มลึก ที่ครองใจผู้ฟังอย่างยาวนานมาร่วม 70 ปี ในทุกแพลตฟอร์มแห่งโลกดนตรี และนี่เป็นส่วนหนึ่งของบทเพลงเหล่านั้น
ผู้ชนะสิบทิศ (2497)
“ฟ้าลุ่ม อิระวดีคืนนี้มีแต่ดาว” ชรินทร์ เคยกล่าวว่า เขาร้องเพลงนี้มากกว่าหมื่นครั้งเห็นจะได้ ประพันธ์เนื้อร้องและทำนองโดย “ไสล ไกรเลิศ” โดยชื่อแรกเริ่มของเพลงนี้คือ “บุเรงนองรำลึก” ต่อมามีการเสริมเนื้อเพลงบางส่วน และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ผู้ชนะสิบทิศ” เพื่อใช้เป็นเพลงประกอบละครผู้ชนะสิบทิศ ที่ชรินทร์รับบท “จะเด็ด” คู่กับ “สวลี ผกาพันธ์” รับบท “ตะละแม่กุสุมา” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม พ.ศ. 2504
ครูไสล เล่าถึงความเป็นมาของเพลงนี้ว่า ไปยืนอ่านหนังสือเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ ตามร้านหนังสือแถวเวิ้งนาครเขษม จากนั้นจึงพาชรินทร์ไปนั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ครัววังหน้า ซึ่งต่อมาเป็นสโมสรเทศบาลนครกรุงเทพ นั่งอยู่ในเวลากลางคืนที่มีดวงดาวเต็มท้องฟ้า ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีแต่ต้นลำพูเต็มไปด้วยหิ่งห้อยเป็นล้าน ๆ ตัว ในบรรยากาศซึ่งเงียบ มีแต่เรือแจว
เมื่อเห็นเช่นนั้นครูไสลจึงเริ่มเขียนเพลงนี้ขึ้นมา ฮัมเพลงขึ้นมาทันที…ฟ้าลุ่มอิรวดี คืนนี้มีแต่ดาว… แล้วก็แต่งต่อไปจนจบ นำไปขายได้เงินไม่กี่ร้อยบาท
พอหลังแต่งเสร็จ ชรินทร์นำไปร้องที่วิทยุหนึ่ง ปณ. สถานีวิทยุรักษาดินแดน ร้องไปไม่นาน พอเพลงดังขึ้นมา “ยาขอบ” หรือ “โชติ แพร่พันธุ์” ก็เรียกครูไสลไปพบ ในตอนแรกนึกว่าเรียกไปเพราะไม่ขออนุญาตท่าน แต่ยาขอบกลับไปขนหนังสือมาให้ครูไสลทั้งชุด และอนุญาตให้นำไปแต่งเพลงอื่น ๆ ได้อีก ซึ่งครูไสลก็แต่งเพลงที่เกี่ยวข้องอีก อาทิ “บุเรงนองลั่นกลองรบ”, “ไขลูสู้ตาย”, “อเทตยาพ้อรัก” และ “กุสุมาอธิษฐาน” เป็นต้น
ทาสเทวี (2499)
“เธอเป็นดอกฟ้า รู้ไหมว่าเราเป็นดั่งทาสเทวี” ผู้เขียนทั้งเนื้อร้องและทำนอง คือ “ครูแจ๋ว-สง่า อารัมภีร์” บอกเล่าเรื่องราว ชีวิตจริงของ ชรินทร์ เมื่อเขาไปตกหลุมรักดอกฟ้า “สปัน เธียรประสิทธิ์” นักเรียนดีไซน์จากอังกฤษ ลูกสาวมหาเศรษฐีรูปโฉมงดงามที่เปรียบเสมือนเทวีในยุคนั้น แต่ก็ได้รักกับ ชรินทร์ ที่ตอนนั้นเป็นเพียงเสมียนหนุ่มที่แผนกแผ่นเสียง
บรรดาเพื่อน ๆ ของชนินทร์ช่วยกันเปิดแผ่นเสียง เพลงทาสเทวี ออกอากาศตามสถานีวิทยุต่าง ๆ ยิ่งทำให้ความรักทั้งคู่กลายเป็นกระแสดราม่าไปทั่วพระนคร กลายเป็นตัวแทนเรื่องราวความรักต่างชนชั้นที่อยู่ในความทรงจำผู้คนร่วมสมัยตลอดมา
ที่รัก (2496)
“อย่าเหมือนน้ำค้างพราวพร่างใบพฤกษ์” คำร้อง โดย “สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์” ทำนองและเรียบเรียงเสียงประสาน “สมาน กาญจนะผลิน” คำว่า “ที่รัก” เป็นคำเรียกที่ไพเราะและสวยงามยิ่งสำหรับคนที่รักกัน ห่วงใยกัน ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ แต่งเพลงที่รัก เมื่อปี พ.ศ. 2496 ก่อนที่ครูสุนทรียาจะเดินทางไปศึกษาต่อด้านเศรษฐศาสตร์ที่ประเทศอังกฤษ
เนื้อร้องท่อนหนึ่งที่ได้ยินติดหูผู้ฟังมานมนาน คือ “อย่าเหมือนน้ำค้างพราวพร่างใบพฤกษ์ พอยามดึกเหมือนดังจะดื่มกินได้ พอรุ่งรางก็จางหายไป รู้แน่แก่ใจ ได้แต่ระทมชีวี”
ทุ่งรวงทอง (2499)
“สะพานเชื่อมคลอง เหมือนพี่กับน้องเชื่อมใจ” เพลงเอกในภาพยนตร์เรื่อง “ทุ่งรวงทอง” สร้างจากบทประพันธ์ของ “แขไข เทวิณ” สร้างและกำกับโดย “ศิริ ศิริจินดา” นำแสดงโดย “อดุลย์ ดุลยรัตน์” และ “อมรา อัศวนนท์” ฉายครั้งแรก พ.ศ.2500 ภาพยนตร์เรื่องทุ่งรวงทองใช้สถานที่ถ่ายทำในกรุงเทพฯ บริเวณทุ่งนาตรงพระโขนงซอย 101 ใกล้วัดทุ่งสาธิต ที่ขณะนั้นยังคงสภาพเป็นท้องทุ่งอยู่
สำหรับเพลงทุ่งรวงทอง โดดเด่นมากที่คำร้องของเพลง ซึ่งเป็นภาษาที่งดงาม มีอุปมาอุปมัยที่แหลมคมยิ่ง เช่น “น้ำเปี่ยมอยู่เต็มฝั่งคลอง เช่นพี่รักน้องเปี่ยมฤทัย สะพานเชื่อมคลอง เหมือนพี่กับน้องเชื่อมใจ ถึงอยู่แสนไกลแค่ไหน เชื่อมหัวใจให้สมปอง” หรือ “พี่มาจากกรุง หมายมุ่งมาหาเพื่อนตาย…”
สาวนครชัยศรี (2499)
“เพียงขันหนึ่งน้ำจากมือสาว ต่อชีวิตให้ยาว เพราะสาวกรองจากใจ” เป็นเพลงช้าที่มีคำร้องงดงามและโรแมนติกมาก เพลงนี้ “ครูชาลี อินทรวิจิตร” แต่งให้กับ “ศรินทร์ทิพย์ ศิริวรรณ” คู่ชีวิตของท่าน แล้วให้ชรินทร์ช่วยร้อง
โดยติวเข้มว่าให้ร้องแบบถ่อมตนไม่ดุดัน ออกไปในทางฉันยอมเธอ ให้จินตนาการว่าไม่ใช่การร้องบนเวที แต่เป็นการคุกเข่าขอแต่งงาน และยังมีการใส่คำขวัญอำเภอนครชัยศรีที่ว่า “ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวสวย” ไว้ในเพลงด้วย ทำให้เพลงมีความหมายยิ่งขึ้น
ไกลบ้าน (2501)
“อันรักกันอยู่ไกล ถึงสุดขอบฟ้า เหมือนชายคา เข้ามาเบียด ดูเสียดสี” ชรินทร์ มีแผนจะเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา อยากมีเพลงไปร้องให้คนไทยที่อเมริกาฟัง เพื่อให้คนเหล่านั้นได้คิดถึงบ้าน วงศาคณาญาติ รวมถึงคนที่เคยรัก
ครูชาลี อินทรวิจิตร จึงแต่งเพลง “ไกลบ้าน” ให้ชรินทร์บันทึกเสียงเมื่อปี พ.ศ. 2501 พร้อมบอกว่า ถ้าร้องเพลงนี้แล้วคนที่นั่นไม่สนใจ ไม่ร้องไห้ เพราะถือว่าเป็นคนอเมริกันไปแล้ว ก็เอาเพลงนี้กลับมา ปรากฏว่าเพลงนี้ทำให้คนไทยในต่างแดนที่ได้ฟัง ล้วนหลั่งน้ำตาด้วยความคิดถึงบ้านไปตามกัน
(หมายเหตุ ในช่วงทศวรรษ 2500 ชรินทร์ มีงานประจำเป็นเลขานุการผู้ตรวจการภาคตะวันออกไกลขององค์การยูซ่อม สหรัฐ เกือบ 10 ปี และ พ.ศ. 2510 ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐ ด้านคอมพิวเตอร์ และบริหารระหว่างประเทศ)
แสนแสบ (2503)
“เจ้าจากพี่มา เจ้าลืมทุ่งนาฟ้ากว้าง” ครูชาลี อินทรวิจิตร เล่าที่มาของเพลงนี้ว่าในช่วงนั้นมีนวนิยายของสำนักพิมพ์เพลินจิต ออกมากหลายเรื่อง โดยเฉพาะนิยายลูกทุ่งของ “ไม้เมืองเดิม” (ก้าน พึ่งบุญ ณ. อยุธยา) เลยตลุยอ่านเกือบทุกเรื่อง
อยู่มาวันหนึ่งเจอชรินทร์ นันทนาคร และโดนตัดพ้อว่าไม่เขียนเพลงให้ชรินทร์ขับร้องบ้างเลย หลังจากเพลงทุ่งรวงทองแล้ว ครูชาลี อินทรวิจิตร เลยบอกชรินทร์ว่าจะเขียนเพลงเกี่ยวกับนวนิยายเรื่อง “แสนแสบ” ให้ชรินทร์ ขับร้อง
แสนแสบ เป็นเหมือนภาค 2 ของนวนิยาย “แผลเก่า” เจ้าแผลงและนางโปรยคู่รัก สาบานกันต่อหน้าศาลเจ้าพ่อขวัญ และเจ้าแม่เรียมว่าทั้งสองจะรักกันตลอดไป ครูชาลี อินทรวิจิตร จึงใช้เค้าโครงของนวนิยายทั้งสองเรื่องมาแต่งเป็นเพลงมีการนำชื่อ แสนแสบ มาเล่นคำ แสบหัวใจ ปวดหัวใจ ที่ถูกคนรักทิ้งไปแล้วไม่หวนคืนมา แล้วเปรียบเทียบความรัก กับการเปลี่ยนแปลงของสายน้ำตามฤดูกาล
เรือนแพ (2504)
“หิวหรืออิ่มก็ยิ้มพอกัน” พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล เจ้าของบริษัทอัศวินภาพยนตร์ กำลังจะสร้างภาพยนตร์เรื่อง “เรือนแพ” ต้องการให้มีเพลงเอกของภาพยนตร์เรื่องนี้ชื่อ “เรือนแพ” จึงส่งคนขับรถไปรับครูแจ๋ว สง่า อารัมภีร ในตอนเย็นวันหนึ่ง แจ้งความจำนงพร้อมให้ดูแบบจำลองเรือนแพ ย้ำว่าทุกชีวิตจะอยู่ในแพนี้
ครูแจ๋วฮัมทำนองออกมา เสด็จฯ ทรงบอกให้ครูแจ๋วหาคนมาแต่งคำร้องด้วย ครูแจ๋วเสนอชื่อครูชาลี อินทรวิจิตร เสด็จฯ จึงให้คนขับรถไปรับครูชาลีมาแต่งเพลงกับครูแจ๋วที่บริษัทอัศวิน
ทั้งคู่เริ่มงานกันตอนสามหรือสี่ทุ่ม ครูแจ๋วดีดเปียโน ครูชาลีแต่งคำร้อง เมื่อแต่งท่อนแรกจบ เสด็จฯ ชอบมาก ชมการใช้คำ “หลับอยู่ในความรัก” ว่าดีกว่า “หลับอยู่ในความฝัน” เสียอีก
แต่เมื่อแต่งท่อนที่สองเสร็จ ตอนนั้นค่อนคืนไปแล้ว เสด็จฯ ดูเนื้อร้องแล้วบอกไม่ชอบตรงวรรค “ทุกข์หรือสุขก็คล้อยตามกัน ชีวิตกลางน้ำสุขสันต์” เสด็จฯ ทรงติว่าง่ายไปให้เปลี่ยนใหม่
ด้วยความที่รู้สึกหิว เพราะตั้งแต่เย็นจนเลยครึ่งคืนมานี่ได้กินแค่กาแฟแก้วเดียว ครูชาลีต้องการประชดเสด็จฯท่าน จึงแก้ไขคำร้องจาก “ทุกข์หรือสุขก็คล้อยตามกัน” เป็น “หิวหรืออิ่มก็ยิ้มพอกัน”
เสด็จองค์ชายใหญ่เมื่อเห็นเนื้อร้องในตอนเช้าก็ทรงโปรดมาก ให้ครูแจ๋วนัดวงดนตรีมาทำเพลง วางตัว ชรินทร์ นันทนาครเป็นผู้ขับร้อง บันทึกแผ่นเสียงที่บริษัทอัศวินในวันรุ่ง
เพลง “เรือนแพ” เมื่อเผยแพร่ออกอากาศ ก็ได้รับความนิยมทันที เพลงดังก่อนภาพยนตร์จะลงจอเสียอีก และดังต่อเนื่องมายาวนานจนทุกวันนี้
ท่าฉลอม (2504)
“พี่มอบชีวิตอุทิศให้สาวมหาชัย” ชื่อเพลงหมายถึง ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร บ้านเกิดของ ชาลี อินทรวิจิตร ผู้ประพันธ์ มีเนื้อหากล่าวถึงความในใจของชายหนุ่มชาวประมงในท่าฉลอม ต่อหญิงสาวในตำบลมหาชัย ซึ่งอยู่คนละฝั่ง เรียบเรียงทำนองโดย สมาน กาญจนะผลิน และขับร้องโดย ชรินทร์ นันทนาคร
ด้วยความตั้งใจที่จะแต่งเพลงให้บ้านเกิด ครูชาลี อินทรวิจิตร เดินทางไปที่ท่าเรือเพื่อจะข้ามมายังฝั่งจังหวัดสมุทรสาคร มีโอกาสได้สนทนากับ “ลุงเย็น” นายท้ายเรือในเย็นวันนั้น จึงได้รับรู้ถึงเรื่องราวของ หนุ่มชาวตังเกชาวท่าฉลอม ที่หลงรักสาวมหาชัย ที่ชื่อ “พยอม” จนทำให้ ครูชาลี อินทรวิจิตร แต่ง เพลง “ท่าฉลอม” ออกมาจนฮิตติดปากกันไปทั่ว และเป็นเพลงอมตะมาจนปัจจุบันนี้
หยาดเพชร (2508)
“เปรียบ เธอเพชรงามน้ำหนึ่ง” แต่งคำร้องโดย ชาลี อินทรวิจิตร และทำนองโดย สมาน กาญจนะผลิน เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “เงิน เงิน เงิน” ใน พ.ศ. 2508 ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่นำแสดงโดย “มิตร ชัยบัญชา” คู่กับ “เพชรา เชาวราษฎร์” มีดาราสมทบคือชรินทร์ นันทนาคร และ “สุมาลี ทองหล่อ” เพลงนี้ในภาพยนตร์แสดงความอาลัยที่ต้องจากคู่นางรอง (สุมาลี)
ชาลี อินทรวิจิตร เล่าว่า ชรินทร์มาขอให้เขาแต่งเพลงนี้เนื่องจากแอบชอบเพชรา เพลง “หยาดเพชร” นั้นเป็นนามเพลงที่ได้รับการประทานจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ
เพลงนี้มีการนำกลับมาขับร้องใหม่หลายครั้ง โดยในครั้งล่าสุดใช้ในเพลงประกอบ ภาพยนตร์โฆษณา ของมิสทีน ที่เป็นการปรากฏตัวของเพชรา เชาวราษฎร์ ในโฆษณาทางโทรทัศน์ครั้งแรกในรอบ 30 ปี
บทเพลงเหล่านี้ คือ ความงามแห่งความรักแห่งยุคสมัย ที่ล่วงผ่านมา “ชรินทร์ นันทนาคร” ได้ถ่ายทอด ให้เป็นความสุขและความความทรงจำตลอดไป
ที่มา
- เพจ “พร่างเพชรในเกร็ดเพลง” เรียบเรียงข้อมูลจากหนังสือ “เบื้องหลังเพลงรัก สง่า อารัมภีร” เรียบเรียงโดย บูรพา อารัมภีร
- Suwan Wangtan
- เพจ one31
- หนังสือ “ตำนานครูเพลง เพลงไทยสากล ลูกกรุง” เรียบเรียงโดย คีตา พญาไท และเพจ “พร่างเพชรในเกร็ดเพลง”
- WIKI Pedia
- เพจเกล็ดเพลงเก่า