“บุหรี่ไฟฟ้า” ทางเลือก ลด ละ เลิก นิโคติน

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ : เรื่อง

วันงดสูบบุหรี่โลก ปี 2561 นี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำขวัญว่า “Tobacco Break Heart” หรือ “บุหรี่ตัวร้าย ทำลายหัวใจ” และนอกเหนือจากโรคหัวใจแล้ว บุหรี่ยังทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด และโรคถุงลมโป่งพอง เนื่องจากสารพิษประกอบมากมาย ทั้งนิโคติน ไซยาไนด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นต้น

เหตุผลทางการแพทย์อธิบายว่า การสูบบุหรี่ช่วยให้ผู้ใช้ผ่อนคลายความเครียดได้จริง เนื่องจากนิโคตินมีความสามารถในการกระตุ้นสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า โดพามีน (dopamine) ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สบายใจ ผ่อนคลาย ออกฤทธิ์ประเภทเดียวกันกับกาเฟอีนในกาแฟ ซึ่งสารเคมีทั้งสองตัวนี้แม้จะทำให้ผู้ใช้ผ่อนคลาย แต่ก็ส่งผลต่อการเต้นของหัวใจ หากได้รับในปริมาณมาก

เกินไปอาจทำให้หัวใจวายจากการเสพเกินขนาดได้ (overdose)

ทว่าจากการศึกษาวิจัย พบว่าการเสพนิโคตินสกัดที่ปราศจากการเผาไหม้ใบยาสูบที่ทำให้เกิดทาร์ ไซยาไนด์ คาร์บอนมอนอกไซด์นั้นมีความปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่มวนปกติ จึงทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่อย่างบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งเพื่อคนอยากเลิกบุหรี่ และอยากเสพนิโคตินแบบปลอดภัยกว่าเดิม

ผลวิจัยชี้บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่

พับบลิกเฮลท์อิงแลนด์ (Public Health England) ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุขประเทศอังกฤษ เผยแพร่รายงาน e-Cigarettes : an evidence update ว่า บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน และเป็นทางเลือกที่ดีในการช่วยเลิกบุหรี่มวน โดยเป็นการใช้เพื่อป้องกันความทรมานจากความหงุดหงิดเมื่อสมองขาดนิโคติน นำไปสู่การลดปริมาณนิโคตินในน้ำยาที่ใช้ ไปจนถึงการเลิกขาดในที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้น ในบทวิจัยชื่อ Nicotine without smoke : Tobacco harm reduction จากราชวิทยาลัยการแพทย์ (Royal College of Physicians) ประเทศอังกฤษ ซึ่งตีพิมพ์ในเดือนเมษายน 2559 อธิบายในส่วนบทสรุปว่า อัตราส่วนสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกายโดยวัดจากผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นระยะเวลานานนั้นไม่ถึง 5% ของบุหรี่มวน

ล่าสุดจากการประชุม “Asia Harm Reduction Forum 2017” ที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการประชุมร่วมทั้งภาครัฐและเอกชน ทั่วทวีปเอเชีย ว่าด้วยผลกระทบต่อร่างกายจากการสูบบุหรี่ ได้เปิดเผยผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อประเมินความเสี่ยงของเยอรมนี หรือ German Federal Institute for Risk Assessment (BfR) ว่า ผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพื่อสุขภาพ หรือการใช้บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่มวนราว ๆ 97-99% เทียบกับควันที่เกิดจากการเผาไหม้ของบุหรี่มวนรวมไปถึง “ควันบุหรี่มือสอง” หรือภัยจากควันบุหรี่ มีการบันทึกจากสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รัฐสภาอังกฤษอธิบายว่า สารพิษที่ถูกพ่นออกมาก็เป็นจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น กล่าวได้ว่าควันหรือไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้า หากไม่นับเรื่องมารยาททางสังคมแล้ว ไม่ได้ก่อให้เกิดสารพิษต่อคนรอบข้างเท่าใดนัก

รู้จักบุหรี่ไฟฟ้า

หากอธิบายแยกย่อยลงไป นวัตกรรมที่มีชื่อเล่นภาษาไทยว่า “บุหรี่ไฟฟ้า” แยกได้เป็น 2 ประเภท นั่นก็คือ 1.บุหรี่ไฟฟ้าแบบทั่วไป (electronic cigarettes) หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า เวเปอไรเซอร์ (vaporizer) หรือเครื่องสร้างไอน้ำ เนื่องจากใช้กระบวนการทางไฟฟ้าสร้างความร้อนบนขดลวดที่เชื่อมต่อกับวัสดุดูดซึมน้ำยาเพื่อให้เกิดการระเหิดเป็นไอน้ำที่มีส่วนผสมของนิโคติน

2.ไอคอส (iqos) นวัตกรรมจากฟิลิป มอร์ริส (Philip Morris) บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกในการผลิตและจัดจำหน่ายบุหรี่มวน มีลักษณะคล้ายบุหรี่ไฟฟ้าทั่วไปตรงที่ไม่ใช้การเผาไหม้ แต่เปลี่ยนจากการระเหยสารประกอบนิโคตินเหลวไปเป็นการอบมวนยาเส้นให้เกิดไอแทน ซึ่งมีความปลอดภัยกว่าการเผาไหม้ของบุหรี่มวนอีกเช่นกัน

ใช้งานอย่างปลอดภัย

ไม่มีสิ่งใดปลอดภัย 100% เช่นเดียวกับการดื่มกาแฟสดวันละ 10 แก้ว การกินยาพาราเซตามอลครั้งละ 10 เม็ด การใช้บุหรี่ไฟฟ้าแม้จะได้รับสารพิษน้อยกว่าบุหรี่มวน แต่การเสพในปริมาณมากเกินขนาดก็สามารถนำไปสู่การหัวใจวายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าประเภทนิโคตินสูง และน้ำยาที่มีส่วนผสมของนิโคตินเข้มข้น (salt nic)

นอกจากนั้นยังมีอันตรายที่เกิดจากความผิดพลาดในระดับผู้ใช้งาน (user error) เช่น การใช้งานแบตเตอรี่ผิดรูปแบบ การใช้งานอุปกรณ์เกินขนาด

ส่งผลให้เกิดความร้อนนำไปสู่การระเบิดของแบตเตอรี่ในรูปแบบเดียวกับการระเบิดของโทรศัพท์มือถือ และพาวเวอร์แบงก์ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากผู้ใช้ละเลยกฎของโอห์ม (Ohm’s Law) หรือทฤษฎีการจ่ายพลังงานของแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานที่จำเป็นในการใช้บุหรี่ไฟฟ้าประเภทเวเปอไรเซอร์ ดังนั้นการใช้งานบุหรี่ไฟฟ้าจึงควรศึกษาข้อมูลและระมัดระวังตลอดเวลา

ไทยช้า-ติดล็อกกฎหมาย 

ในประเทศไทย บุหรี่ไฟฟ้าทั้งไอคอส และเวเปอไรเซอร์อยู่ในสถานะสินค้าต้องห้าม ห้ามนำเข้า หรือผ่านราชอาณาจักรไทย จากประกาศกระทรวงพาณิชย์วันที่ 12 ธันวาคม 2557 มีโทษสำหรับผลิต นำเข้า และส่งออก ที่จำคุกไม่เกิน 10 ปี มีค่าปรับกว่า 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในขณะที่ผู้ครอบครองมีโทษทางกฎหมายในฐานะการครอบครองสินค้าที่ไม่ได้เสียภาษี ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับเงิน 4 เท่าของราคาสินค้าหรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลก มีประเทศที่รับรองบุหรี่ไฟฟ้าแล้วกว่า 160 ประเทศ และหลายประเทศยังสนับสนุนให้ประชาชนใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทนบุหรี่มวน ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่รัสเซีย

ในเมืองไทยก็มีกลุ่มคนและบางหน่วยงานที่พยายามจะชูประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นมา อย่างเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จัดเสวนาหัวข้อ “แบนบุหรี่ไฟฟ้า ประเทศไทยได้หรือเสีย” เพื่อเปิดมุมมองทุกมิติจากภาคประชาชนในประเด็นบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีนายนิลสุวรรณ ลีลารัศมี ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการพาณิชย์

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เข้าร่วมเสวนา ถือได้ว่าอาจเป็นนิมิตหมายใหม่ของนักสูบในประเทศไทย สำหรับตัวเลือกการเสพนิโคตินแบบใหม่ที่ปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อถกเถียงจากฝ่ายที่คัดค้านการปลดแบนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ว่าจะทำให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเยาวชนหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาบุหรี่มวน ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นอันตรายต่อร่างกาย ก็ยังไม่ถูกควบคุมตรวจสอบการจำหน่ายอย่างรัดกุม หากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งอันตรายน้อยกว่า สามารถซื้อ-ขายอย่างถูกกฎหมาย ก็อาจจะทำให้คนอยากสูบมากขึ้น