ผู้นำ… ท่ามกลางวิกฤต เสน่ห์ที่มาจากใจและบุคลิก

รศ.ทวิดา กมลเวชช-ชัชชาติ สิทธิพันธุ์-ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์-เฌอเอม-ชญานุส ศรทัตต์
รศ.ทวิดา กมลเวชช-ชัชชาติ สิทธิพันธุ์-ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์-ชญานุส ศรทัตต์
เผยแพร่ครั้งแรก 4 เม.ย.2568 อัพเดตล่าสุด 5 เม.ย.2568

ภัยพิบัติจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อ 28 มีนาคม 2568 แม้ตึกสูงคอนโดฯเฉียด 6 พันแห่งในกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะยังคงยืนหยัด ตั้งตระหง่าน หลังสั่นไหว-โยกเอนตามแรงแผ่นดินแยกขนาด 8.2 ริกเตอร์จากเมียนมา

แต่ตึกสูง 30 ชั้นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ที่กำลังก่อสร้างอยู่ บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 ย่านจตุจักร กลับถล่มล้มครืน กลืนแรงงานหลายชีวิต เศร้าและหดหู่

นับเป็นความสูญเสียรุนแรงในระดับที่เราคนไทย โดยเฉพาะคนเมืองหลวงไม่เคยเจอมาก่อน

ท่ามกลางวิกฤตในครั้งนี้ก็มีภาพจำจากหลายบุคคลที่สังคมล้วนกล่าวถึง “ดีไลฟ์-ประชาชาติฯ” ขอยก 4 ท่านเป็น ชาย 1 หญิง 3 กับภารกิจที่หนักหน่วงในด้านการค้นหากู้ชีพมนุษย์ใต้ซากตึก และการลุยสอบที่มาของวัสดุ “เหล็กเส้น” ผิดสเป็ก

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.
“ชีวิตต้องมีความหวัง”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ฉายา ผู้ว่าฯ กทม.ที่แข็งแกร่งในปฐพี เป็นวิศวกรเนื้อแท้ ที่ตกเป็นข่าวทุกวันทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพราะเป็นผู้คุมอำนาจเบ็ดเสร็จ หลังประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยยึดโมเดลแบบผู้ว่าฯเชียงรายจากเหตุการณ์ 13 ชีวิตทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง เพื่อให้กลไกและขั้นตอนการกู้ภัย-กู้ชีพจากเหตุการณ์ตึก สตง.ถล่ม เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ตลอดการเฝ้าดูแลในพื้นที่ตึกถล่ม ชัชชาติ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลากแง่มุม และโลกโซเชียลก็แชร์สนั่นกับภาพผู้ว่าฯ ขณะนั่งเฝ้าภารกิจค้นหาผู้รอดชีวิตจากตึก สตง.ถล่ม ด้วยความหวัง

ADVERTISMENT

ขณะเดียวกันก็มีเสียงถากถางว่า “ท่านต้องดูแลคนไทยให้มากกว่านี้ ท่านไปอยู่ตรงนั้น เขาเสียชีวิตหมดแล้ว แต่คนไทยที่ยังไม่เสียชีวิตต้องหันกลับมาดูแล กลับมาฉีดวัคซีนให้คนที่ยังไม่เสียชีวิต”

ซึ่งเป็นการกล่าวพาดพิงถึงเหตุการณ์ตึกถล่มที่ยังอยู่ระหว่างการค้นหาผู้รอดชีวิต คำพูดดังกล่าวทำให้ “ชัชชาติ” ลุกขึ้นชี้แจงกลับทันทีในที่ประชุม สภา กทม. เมื่อ 2 เมษายน 2568

ADVERTISMENT

“เรายังมีความหวังว่ามีผู้รอดชีวิต ขอความกรุณาอย่าใช้คำพูดว่า ผู้เสียชีวิตหมดแล้ว เพราะยังมีญาติผู้เสียหายที่มีความหวังอยู่”

คำตอบของเขา ทำให้เกิดกระแสในสังคม ท่ามกลางวิกฤตที่อ่อนไหว เพราะทุกนาทีมีค่า ชีวิตมนุษย์ก็เช่นกัน

รศ.ทวิดา กมลเวชช
รศ.ทวิดา กมลเวชช

เจ้าแม่ดาต้าภัยพิบัติ
“รศ.ทวิดา กมลเวชช”
ชัดเจน จริงจัง ตรงประเด็น

บุคคลที่ถูกพูดถึงกันมากในช่วงการค้นหากู้ชีพกู้ภัยภายใต้ซากตึก สตง.ถล่ม คือ “รศ.ทวิดา กมลเวชช” รองผู้ว่าฯ กทม. ที่โลกโซเชียลแห่แชร์คลิปการสื่อสารด้วยท่าทีชัดเจน จริงจัง ตรงประเด็น ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ

ในฐานะเจ้าของฉายา “เจ้าแม่ดาต้าภัยพิบัติ” ลมใต้ปีกสุดแกร่งของ “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าฯ กทม. เป็นบุตรสาวของ ทวีศักดิ์ กมลเวชช อดีตผู้อำนวยการเขตพญาไท ดีกรีปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง), ปริญญาโท การบริหารสาธารณะ ม.ธรรมศาสตร์, ปริญญาเอก การบริหารสาธารณะและนโยบาย จาก University of Pittsburgh, สหรัฐอเมริกา

รศ.ทวิดา เป็นมือวางอันดับ 1 ในการจัดการเหตุภัยพิบัติในกรุงเทพฯ นับครั้งไม่ถ้วน อาทิ จัดการวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จัดการออกแบบนโยบายสาธารณะในกรุงเทพฯ

นอกจากการจัดการปัญหาภัยพิบัติในกรุงเทพมหานครแล้ว เธอเคยถูกส่งตัวมาช่วยเหลือการจัดการภัยพิบัติ หลังเหตุการณ์สึนามิในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้เมื่อปี 2547 ในฐานะผู้เเทนรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

ประสบการณ์การทำงานนั้น รศ.ทวิดา เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ม.ธรรมศาสตร์, ผู้แทนคณะรัฐศาสตร์ สภาอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.), คณะอนุกรรมการสำนักงานข้าราชการกรุงเทพมหานคร, คณะอนุกรรมการการระบายน้ำและการจราจรกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

การลุยแก้ปัญหาภัยพิบัติทั้งหมดที่กล่าวมา พิสูจน์ได้แล้วว่า ฉายาเจ้าแม่ภัยพิบัติ ไม่ได้ได้มาเล่น ๆ อุ่นใจได้ในนาทีนี้ที่เรามีรองผู้ว่าฯ กทม. ที่แข็งแกร่งไม่แพ้ผู้ว่าฯ ชัชชาติ

ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์
ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์

หัวหน้าทีมตรวจเหล็กเส้น
ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์
หญิงแกร่งแข็งยิ่งกว่าเหล็ก

ล่าสุด สังคมไทยใจชื้นขึ้นมาอีกนิด เมื่อคนทำงานปรากฏขึ้นในท่ามกลางวิกฤต เธอชื่อ “ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์” หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ฉายา “โอ๋ สุดซอย”

เพราะเธอลงพื้นที่ พร้อมนำทีมเข้าตรวจสอบวัสดุเหล็กเส้น “ซิน เคอ หยวน” ที่เป็นเหล็กข้ออ้อยขนาด 20 และ 32 มิลลิเมตร ที่เก็บตัวอย่างมาจากตึก สตง.ถล่ม ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)

ดีกรีเธอไม่ธรรมดา เกิดวันที่ 13 ธันวาคม 2520 อายุ 47 ปี จบปริญญาโท สาขาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (Communication Arts) ที่ Central Queensland ประเทศออสเตรเลีย เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกรุงเทพมหานคร เขต 13 บางกะปิ-วังทองหลาง พรรคพลังประชารัฐ ระหว่างปี 2562-2566

ด้วยท่าทีขึงขัง เอาจริงเอาจัง และคุมประเด็นอยู่ในการแถลงข่าวครั้งแรก ทำให้หลายคนอยากรู้จักเธอ

ทีมสุดซอย ไม่ใช่แค่ลงไปตรวจโรงงานแล้วจบ แต่นำผลการทำงานมาติดตาม ตรวจสอบ ทำให้เป็นระบบ ก่อให้เกิดนโยบายไปสู่แนวปฏิบัติที่ต้องทำได้จริงและยั่งยืน

การปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนี้ เธอจึงได้รับคำชม แบบรู้ลึก รู้จริงในหน้าที่ หนักแน่น ไม่เกรงกลัวอิทธิพล พร้อมเดินหน้าลุยตรวจสอบอย่างถึงที่สุด

เฌอเอม-ชญานุส ศรทัตต์
เฌอเอม-ชญานุส ศรทัตต์

‘เฌอเอม’ รองมิสแกรนด์ฯ
คำตอบกินใจ-สะท้านโลก

จัดประกวดมาอย่างเข้มข้นตลอดหนึ่งเดือนครึ่ง สำหรับเวที “มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2025” กระทั่งก่อนถึงรอบไฟนอลประเทศไทยได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ส่งผลให้ตึก สตง.ย่านจตุจักร พังถล่มคาตา มีคนงานติดอยู่ภายในเป็นจำนวนมาก

วันรุ่งขึ้น (29 มีนาคม) เมื่อถึงรอบตัดสิน คนไทยและทั่วโลกต่างอึ้งและซึ้งกับสปีชของ “เฌอเอม-ชญานุส ศรทัตต์” รองอันดับ 1 มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2025 ที่กล่าวอย่างกินใจว่า

“อยากให้รัฐบาลเพิ่มมาตรการแจ้งเตือนภัยครอบคลุมคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ป่วย คนพิการ คนตาบอด รวมถึงคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้”

เพราะสิทธิพลเมืองที่เท่าเทียมคือความปลอดภัยที่เท่ากัน เพื่อประเทศไทยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“เอมต้องการให้แบล็กลิสต์บริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้วกับการสอดไส้สัมปทาน มันอาจเป็นคำตอบที่ดูไร้เดียงสา แต่เอมต้องการให้จำคุกตลอดชีวิตกับใครก็ตามที่เป็นต้นเหตุทำให้ตึกถล่ม”

“เพราะอิสรภาพที่ถูกพรากไปไม่อาจเทียบได้กับลมหายใจเดียวของบุคคลผู้เป็นที่รักในครอบครัว”

ที่สำคัญเราควรทำเป็นเยี่ยงอย่าง เพื่อไม่ให้ประเทศของเราเป็นตัวตลกในสายตาชาวโลกที่เข้ามาโกงกินประเทศเราได้อีก

สุดท้ายเอมอยากบอกว่า “ภาษีที่จะสร้าง (ตึก) ใหม่ เอาไปตรวจสอบ ทำระบบแจ้งเตือนจะดีกว่าค่ะ”