คุยกับ ณัฐนนท์ ว่าด้วยความสำเร็จ SPACETH.CO เว็บดาราศาสตร์สายแข็ง ผลงานเด็กไทยวัยทีน

เติ้ล-ณัฐนนท์, กร-กรทอง, อิ๊งค์-จิรสิน
รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

Spaceth.co เว็บไซต์และเพจด้านดาราศาสตร์ที่โด่งดังมากในช่วงปฏิบัติการถ้ำหลวง เพราะพวกเขาจับกระแสนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับอีลอน มัสก์ และเรื่องอวกาศออกมาได้แตกต่าง จากชื่อที่เป็นที่รู้จักในหมู่เด็กเนิร์ดและคนที่สนใจเรื่องดาราศาสตร์ คอนเทนต์ของ Spaceth.co ถูกแชร์กระจายออกไปในวงกว้างมากขึ้น ๆ โดนสื่อกระแสหลักเจ้าหนึ่งลอกคอนเทนต์ไปหลายชิ้น พวกเขาจึงออกจดหมายเชิญสื่อรายนั้นไปกินข้าวพร้อมข้อเสนอจะแนะนำวิธีการทำคอนเทนต์ เป็นการจิกกัดแสบ ๆ คัน ๆ ที่ถูกใจผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคนในวงการสื่อที่โดนลอกเหมือนกัน

คอนเทนต์เจ๋ง ๆ กับวิธีการจัดการแบบแสบ ๆ คัน ๆ ที่ว่านี้ เป็นผลงานของเด็กวัยทีน 9 คน ซึ่งคนอายุมากสุดเพียง 20 ปีเท่านั้น เติ้ล-ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน ผู้ร่วมก่อตั้งและ Editor in Chief คือ พี่ใหญ่อายุ 20 ปี ของทีมงาน Spaceth.co

…อ่านโปรไฟล์ของณัฐนนท์แล้วอึ้ง เขาดูสารคดีด้านอวกาศตอนอายุ 4 ขวบ, เริ่มต้นเรียนรู้การเขียนโปรแกรมและอัลกอริทึ่ม ตอนอายุ 7 ขวบ, เริ่มหัดทำเว็บไซต์ตอนอายุ 10 ขวบ, หาเงินด้วยการเขียนโปรแกรม ออกแบบเว็บ จ่ายค่าเทอมเองตั้งแต่ตอน ม.3, เขียนบล็อก Nutn0n.com ตอนอายุ 16, เป็นทีมงานเว็บไซต์ MacThai ตอนอายุ 18, ร่วมก่อตั้ง Spaceth.co ตอนอายุ 19, เป็นสปีกเกอร์บนเวที TEDxKMITL ตอนอายุ 19 (เมื่อปี 2017) ฯลฯ

ด้วยความโดดเด้งของ Spaceth.co ทำให้เรา (ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ) อยากคุยกับน้อง ๆ ทีมนี้ ทั้งในเรื่องดาราศาสตร์และความสำเร็จของสื่อใหม่ ซึ่งสื่อเก่าอย่างเรายังต้องเรียนรู้อีกเยอะ

เติ้ล-ณัฐนนท์

ช่วงเย็นวันหนึ่ง เรานัดคุยกับ เติ้ล ณัฐนนท์ ณ ร้านกาแฟแบรนด์ดังในศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง เติ้ลมาพร้อมแม็คบุ๊กคู่ใจ เป็นภาพที่สะท้อนไลฟ์สไตล์คนเมือง-คนรุ่นใหม่ยุคดิจิทัลได้เป็นอย่างดี

เราเริ่มพูดคุยทำความรู้จักเขา จากประเด็นโปรไฟล์อันน่าทึ่ง แบบที่เรียก “เด็กอัจฉริยะ” ได้เต็มปาก

เติ้ลเล่าว่า พ่อแม่ไม่ได้มีอาชีพเกี่ยวกับการสอนหนังสือ ไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ และไม่ได้มีความตั้งใจปั้นลูกให้เป็นเด็กหัวกะทิ แต่ที่เขาอ่านหนังสือเร็วกว่าเด็กวัยเดียวกัน เพราะตอนเด็ก ๆ พูดไม่ค่อยชัด ครอบครัวจึงห่วงว่าถ้าไปโรงเรียนแล้วจะช้ากว่าคนอื่น น้าจึงรีบสอนอ่านหนังสือก่อนจะเข้าโรงเรียน และด้วยความที่พ่อแม่ปล่อยให้อยู่บ้านกับทีวี กับหนังสือจึงเป็นที่มาให้เขาเปิดทีวีดูรายการสารคดีดาราศาสตร์ และอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ส่วนความสามารถพิเศษในเรื่องโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ก็เพราะโชคดีเกิดมาในครอบครัวที่คุณพ่อทำงานเกี่ยวกับการดูแลระบบเน็ตเวิร์กหอพัก ในบ้านมีคอมพิวเตอร์ให้ได้จับ ได้เล่นได้ลองตั้งแต่เด็ก ความชอบในด้านดาราศาสตร์และคอมพิวเตอร์จึงติดตัวเขามาตั้งแต่เด็ก และเขาก็สามารถเอาดีกับมันได้ตั้งแต่อายุยังน้อย

รวม ๆ แล้ว ณัฐนนท์บอกว่า สิ่งที่ทำให้เขาโตขึ้นมาเป็นแบบนี้ก็เพราะ “อยู่ใน environment ที่ดี” บวกกับความที่พ่อแม่ไม่ได้คาดหวัง ไม่ได้ขีดเส้นทางให้เดิน ซึ่งเขาบอกว่า พ่อแม่แค่สร้างสิ่งแวดล้อมให้ดีก็พอแล้ว แล้ววันหนึ่งพอมองย้อนกลับไปก็จะเห็นว่าสิ่งที่ทำมันมีประโยชน์ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าแนวทางของพ่อแม่ตัวเองดีที่สุด เพียงแต่นี่คือแนวทางที่ทำให้เขาเป็นเขาอย่างทุกวันนี้

ทำความรู้จักกับณัฐนนท์พอสมควรแล้ว เรามาคุยเกี่ยวกับ Spaceth.co เว็บไซต์ดาราศาสตร์สายแข็ง คอนเทนต์คุณภาพ ที่เกิดจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ไฟแรง และ (ขออนุญาตใช้คำว่า) “โคตรเก่ง” โดยการนำทีมของเขา

Q : การทำ Spaceth.co ความคิดนี้มันมายังไง

ความคิดมันเริ่มต้นมาตั้งแต่ตอน ม.3 จะขึ้น ม.4 เริ่มเขียนบล็อกของตัวเอง แล้วรู้สึกว่าการเล่าเรื่องบนโลกออนไลน์มันสนุก มันมีอิมแพ็กต์ต่อคน มันทำอะไรได้หลายอย่าง ก็เขียนบล็อกมาเรื่อย ๆ ได้ไปทำเว็บ macthai.com และเขียนลงหลาย ๆ เว็บ ก็เริ่มรู้สึกว่าเราอยากทำเว็บเกี่ยวกับอวกาศ เพราะเป็นเรื่องที่เราเล่าได้ดีที่สุด เป็นเรื่องที่เราอยากเล่ามากที่สุด จนได้เจอกับ กร-กรทอง วิริยะเศวตกุล ที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ ในค่าย Junior Webmaster พอเจอกันก็คิดว่าน่าจะมาทำอะไรด้วยกันสนุก ๆ ก็เลยทำ Spaceth.co ขึ้น โดยรวมทีมงานที่เป็นกลุ่มเพื่อนวัยเดียวกัน 6 คน ซึ่งส่วนมากรู้จักกันจากอินเทอร์เน็ต เริ่มจากเปิดตัวเพจก่อน แล้วก็ค่อยทำเว็บตามมา เว็บเริ่มเดือนกันยายน 2017

Q : รวมตัวได้ทีมเหล่าฮีโร่แล้ว เราอยากทำอะไรกัน เป้าหมายของเราคืออะไร

ตอนนั้นอยากทำอะไรก็ได้ที่มันสามารถเปลี่ยนวิธีคิดของคนไทยต่อเรื่องอวกาศ เราไม่อยากให้มองว่ามันเป็นวิชา หรือศาสตร์ศาสตร์หนึ่ง แต่เราอยากให้มองว่า มันเป็นวิธีคิด วิธีการมองโลก เหมือนกับว่าเรามองโลกในแบบของนักดนตรี เรามองโลกในแบบของนักนวัตกรรม เรามองโลกในแบบของนักข่าว ซึ่งเราก็อยากให้คนมองโลกในแบบนักดาราศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์

Q : หมายความว่าเราต้องพูดจากมุมนักวิทยาศาสตร์

เราจะต้องพูดในมุมของนักวิทยาศาสตร์ หรือมุมมองของคนที่สนใจด้านอวกาศ ด้านดาราศาสตร์ อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งในวิธีการวางโพซิชั่นของเรา เราไม่ใช่นักดาราศาสตร์ เราไม่ได้เป็นนักบินอวกาศ แต่เราเป็นกลุ่มคนที่สนใจ ก็แบบแฟนพันธุ์แท้สงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่จำเป็นต้องเป็นทหาร หรือว่าแฟนพันธุ์แท้แมนฯ ยูฯ ก็ไม่ต้องเป็นนักฟุตบอล แต่ขอให้มีความชอบ

Q : ที่บอกว่าอยากให้ดาราศาสตร์อยู่ในวิธีคิดของคนทั่วไป ช่วยเล่าสื่อสารกับคนทั่วไปหน่อยว่า เรื่องดาราศาสตร์มันเปิดมุมมอง เปลี่ยนวิธีคิดคุณยังไงบ้าง นอกเหนือจากพูดรวม ๆ ว่า มันคือความรู้

มีนักฟิสิกส์คนหนึ่งบอกว่า ดาราศาสตร์เป็นศาสตร์ที่พอเรียนรู้แล้ว ทำให้เรารู้สึกอ่อนน้อมถ่อมตน รู้ว่าเราไม่ได้มีอำนาจเลย เพราะว่าพอเราศึกษาไปเรื่อย ๆ เราจะพบว่าทุกอย่างมันเกิดขึ้นจากความบังเอิญ เราจะพบว่าอวกาศมันกว้างใหญ่ไม่มีที่สิ้นสุด การได้ศึกษาอวกาศมันเป็นการศึกษาธรรมชาติ ได้เรียนรู้ที่มาของเรา เมื่อเราสามารถอธิบายตัวเองได้ว่า ที่มาของเรามันไม่ได้มาจากความยิ่งใหญ่ แต่มันเกิดขึ้นมาจากความบังเอิญ ทำให้รู้ว่าเราไม่ได้เป็นเผ่าพันธุ์ที่พิเศษขนาดนั้น เราไม่ได้มีแนวคิดอะไรที่ยิ่งใหญ่มากมาย ก็เลยมองว่าอวกาศ เป็นศาสตร์ที่ทำให้เรารู้สึกว่ายิ่งศึกษา ยิ่งทำให้เราอ่อนน้อมถ่อมตน

Q : กลับไปที่ตอนเริ่มต้น รวมตัวแล้วแบ่งหน้าที่กันยังไง

ตอนนี้เรามีกันอยู่ 9 คน ก็เคยมีคนถามว่า มีช่างภาพกี่คน มีคนทำคอนเทนต์กี่คน มีการตลาดกี่คน ผมก็จะตอบเลยว่า มีคอนเทนต์ 9 คน ช่างภาพ 9 คน การตลาด 9 คน เพราะทุกคนในทีมต้องทำได้ทุกอย่าง เพราะว่ามันจะได้รู้ไซเคิลของทั้งหมด ขายงาน คุณก็ต้องขายได้นะ

Q : วิธีการสื่อสารแบบของเราเป็นยังไง

วิธีการสื่อสารก็คือเอาเรื่องอวกาศมาจับกับกระแสสังคม ซึ่งในไทยไม่ค่อยมีคนทำ จะมีก็แบบไม่ได้ไปโฟกัสที่เรื่องใดโดยตรง

Q : ศึกษาแนวทางการทำคอนเทนต์มาเยอะไหม หรือเริ่มในแบบที่ตัวเองคิดเลย

ประสบการณ์ที่อยู่ในวงการคอนเทนต์จริง ๆ ประมาณ 3 ปี ก็รู้สึกว่าเพียงพอ และรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเรียนรู้เร็วด้วย เราก๊อบปี้แนวทาง แต่ไม่ได้ก๊อบปี้วิธีการ เราดูว่า The Matter ทำอย่างนี้แล้วมันเวิร์ก The Standard ทำอย่างนี้แล้วมันเวิร์ก

Q : เราสนใจประเด็นการเมืองด้วยใช่ไหม ดูจากแง่มุมที่นำเสนอคอนเทนต์ออกมา

ก็สนใจ อวกาศมันมีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้องด้วยตั้งแต่ยุคแรก ๆ เลย เพราะอย่าลืมว่าสมัยที่เขาผลักดันด้านอวกาศมันก็เกิดขึ้นเพราะการเมือง อเมริกากับโซเวียต การเมืองทั้งนั้นเลย ทุกวันนี้เรื่องอวกาศในไทยก็การเมืองนะ อย่างไทยคม การรักษาสิทธิ์วงโคจร ก็เถียงกัน ก็มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

Q : ควบคุมคุณภาพคอนเทนต์ยังไง เติ้ลต้องควบคุมของคนอื่นไหม หรือว่าทุกคนอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ปล่อยได้แล้ว

เวลาเราคิดงานกัน เราจะไม่คิดว่าเราอยากเขียนเรื่องนี้ แต่เราจะคุยกับน้องในทีมตลอดว่า เวลาคิดงานอะไรก็ตาม ให้คิดไปถึงจุดปลายก่อนว่า คนอ่านได้อะไร เช่น เราอยากให้คนอ่านรู้ว่า อีลอน มัสก์ มาทำอะไรที่ถ้ำหลวง แล้วเราค่อยไปคิดว่าคอนเทนต์มันจะเป็นไปในลักษณะไหน รูปแบบไหน เอาปลายทางเป็นที่ตั้ง แล้ววิธีการมันจะมาเอง

Q : รายได้เข้ามาเดือนที่เท่าไหร่

รายได้จะมาช่วงหลังปีใหม่ที่ผ่านมา หลังจากที่ไปแข่งขัน Thailand Best Blog Awards พอได้รางวัลก็เริ่มเป็นที่รู้จัก ซึ่งการมีรายได้ การอยู่ด้วยตนเอง มันก็เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่า เรา sustain ได้ ไม่ใช่แค่ว่าพอไม่อยากทำก็เลิก เราอยากทำจริงจัง เราอยากมีรายได้ อยากอยู่ได้ เราไม่ได้อยากอยู่ได้ด้วยการซัพพอร์ต แต่เราอยากอยู่ได้ด้วยการสร้างแวลูให้กับคนที่มาซัพพอร์ตเรา อย่างช่วงแรกเราบอกเลยว่า เราไม่ขอรับทุนนะ มีหน่วยงานต่าง ๆ เสนอทุนให้เปล่า แต่เราไม่อยากรับทุนให้เปล่า เราอยากพิสูจน์ว่า สิ่งที่เราทำมันมีแวลูของมัน

ผมมองเป็น eco system มองเป็น 4 แกน แกนแรก คือ รัฐบาล ถ้าอยากสนับสนุนด้านอวกาศ ก็ต้องมีนโยบายที่สนับสนุนอะไรพวกนี้ แกนที่สอง ภาคการศึกษา มีหน้าที่สนับสนุนพวกงานวิจัย ปั้นเด็ก แกนสามก็ภาคธุรกิจ หน่วยงานต่าง ๆ ก็ทำให้มันเกิดดีมานด์ เกิดความต้องการด้านเทคโนโลยีอวกาศ เกิดการตระหนักด้านอวกาศ แล้วก็ภาคประชาชน เราอยากให้อวกาศมันอยู่ในวิธีคิดของคนทุกคนในประเทศนี้ พอมันเกิดเป็นอีโคซิสเต็มนี้ มันจะเกิดความต้องการระหว่างกัน แล้วมันจะอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องรอให้มีหน่วยงานที่มีทุนมาทำ แบบที่พอทุนหมดแล้วมันก็จบไป

Q : เปิดเผยได้ไหมว่ารายได้เดือนละเท่าไหร่

ไม่อยากเปิดเผย แต่รายได้มันอยู่ในระดับที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และกำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โตแบบค่อย ๆ ก็หวังว่าวันหนึ่งมันจะทำรายได้เท่ากับสื่ออื่น ๆ อย่างบล็อกสายท่องเที่ยว สายอาหาร ซึ่งในกลุ่มนี้เม็ดเงินหมุนเวียนมันเยอะ เพราะว่าคนมีดีมานด์ที่จะท่องเที่ยว จะกินตลอด เรื่องอวกาศ เรื่องวิทยาศาสตร์ เม็ดเงินหมุนเวียนมันน้อยมาก แต่เราก็พยายามหากลยุทธ์อะไรไปปั่นกระแสให้มันกลายเป็นเรื่องแมสขึ้นมา และมีเม็ดเงินหมุนเวียนมากขึ้น

Q : การมีหน่วยงานมาสนับสนุนก็แปลว่า แนวทางที่เราทำมันเป็นแนวทางที่ผู้ใหญ่ก็เล็งเห็นว่าดี แต่มองกลับกัน ทำไมเขาไม่ทำแบบเรา หรือไม่ผลักดันเอง

เรามองว่าวิธีการ หรือว่าแอ็กชั่นของแต่ละภาค มันไม่เหมือนกัน อย่างทุกวันนี้ทำงานกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เราก็ไม่รู้สึกนะว่าเขาทำคอนเทนต์ไม่ดี หรือว่าสื่อสารออกมาได้ไม่ดี แต่ว่าเขาก็ทำในวิธีของเขา ทำในรูปแบบของเขา คือมันต้องออกแบบมาในแนววิชาการ ส่วนเราก็ทำในแบบคนที่สนใจ ก็มองว่ามันส่งเสริมกัน ถ้าเทียบตามหลักการตลาด คือ เขาเป็นแบรนด์ เราเป็นอินฟลูเอนเซอร์ แต่ละคนก็สื่อสารในวิธีของตัวเอง แล้วพอเราเข้าไปเสริม มันก็ทำให้เรื่องอวกาศในไทยครึกครื้นขึ้น มันจำเป็นต้องมีทั้ง 2 แบบ เราอยู่โดยที่ไม่มีสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติก็ไม่ได้ เราอยู่โดยไม่มีจิสด้าก็ไม่ได้ ซึ่งเราก็นำเรื่องที่เขาทำวิจัยมาเล่าให้ฟังอีกที

Q : แปลว่าตอนนี้ Spaceth.co เป็นขาหนึ่งของการพัฒนาดาราศาสตร์ในไทยแล้ว ไม่ว่าหน่วยงานไหนจะทำอะไร เขาก็นึกถึงเรา

ใช่ ๆ ก็ดีใจที่เขานึกถึงเรา ที่เขารู้สึกว่าเราเป็นตัวแทนของกลุ่มที่มีความสนใจจริง ๆ ทั้ง ๆ ที่เราก็ยังเป็นนักเรียน เป็นเด็กด้วยซ้ำ

Q : ตอนแรกเราวางทาร์เก็ตไว้กว้างแค่ไหน

ตอนแรกทาร์เก็ต คือ กลุ่มคนที่มีความสนใจ กลุ่มเนิร์ดเลย แต่ว่าตอนนี้วางไว้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเนิร์ด เราไม่อยากทิ้ง ถึงแม้เราจะแมสแค่ไหน เราก็ยังมีบทความที่เจาะลึกอยู่ และมีแมส มีคอนเทนต์เรียกแขกบ้าง ก็จะไม่ทิ้งกันระหว่างสองกลุ่มนี้ เพราะกลุ่มคนที่สนใจด้านอวกาศ เขาทำให้เกิดเรา ทำให้เราอยู่ได้ เรามองเป็นแบบตัว T มีฐานกว้างแล้วก็มีลึกดิ่งลงมา เราอยากได้ทั้งกว้าง ทั้งลึก

Q : ในอนาคตอยากทำอะไรอีกบ้าง

เอาแบบเป้าหมายสูงสุดในชีวิตเลยนะ อยากเป็นใครก็ได้ที่ส่งต่อศาสตร์ที่ชื่อว่า “วิทยาศาสตร์” ให้กับคนรุ่นหลัง เพราะว่าวิทยาศาสตร์มันคือศาสตร์ที่ต้องอาศัยการส่งต่อไปรุ่นสู่รุ่น คนเราเกิดมามีอายุไม่ถึง 100 ปี แต่เรากล้าศึกษาจักรวาลที่เราอยู่เป็นพันล้านปี เป็นหมื่นล้านปี มันเป็นอะไรที่กล้าหาญมาก นอกจากความฉลาดของคนหนึ่งคน มันต้องอาศัยการส่งต่อ การมอบจากรุ่นสู่รุ่น ไอแซก นิวตัน บอกว่า ที่เขามองไกลไม่ใช่เพราะว่าเขาตัวใหญ่นะ แต่ว่าเขากำลังยืนอยู่บนบ่าของยักษ์ใหญ่ ซึ่งยักษ์ใหญ่ที่เขาบอกก็คือ นักวิทยาศาสตร์รุ่นเก่าที่สั่งสมองค์ความรู้มา ทำให้เราสามารถมองไกลได้ถึงทุกวันนี้ ผมก็เลยอยากเป็นหนึ่งในกลไกเล็ก ๆ ที่ส่งต่อเรื่องวิทยาศาสตร์ต่อไปเรื่อย ๆ ทุกวันนี้ความสงสัยใคร่รู้ มันอยู่ใน DNA ของเราแล้ว นอกจากจะส่งต่อผ่าน DNA แล้ว เราก็อยากส่งต่อในรูปแบบการบอกเล่า การบันทึกตัวอักษร หรือความรู้สึกที่เรามี เราไม่อยากให้มันผ่านไป ในช่วงยุคกลางเป็นยุคที่วิทยาศาสตร์เสื่อมไปมาก ศาสนาเข้ามามีอำนาจ เราไม่อยากให้เกิดสิ่งนั้นขึ้น เราไม่อยากให้เกิด dark age ขึ้นอีกรอบ