อังเกลา แมร์เคิล เจ๊ใหญ่แห่งอียู สตรีทรงอิทธิพลของโลก 8 ปีซ้อน

 รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ประกาศวางมือจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (CDU) เมื่อเร็ว ๆ นี้ หลังจากดำรงตำแหน่งมานาน 18 ปี แต่ยังอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 4 ไปจนครบวาระในปี 2021 และเธอบอกว่าหลังจากนั้นจะไม่แสวงหาตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ นั่นหมายความว่าการเลือกตั้งสมัยหน้า นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีจะไม่ใช่ชื่อเดิมแล้ว

ประเด็นการเมืองระดับโลกนี้เกิดขึ้นในช่วงปลายปี ประจวบกับที่มีการจัดอันดับ “ที่สุดแห่งปี” ในสาขาต่าง ๆ โดยสื่อหลายสถาบัน

นิตยสารฟอร์บส (Forbes) ยกให้แมร์เคิลเป็นสตรีทรงอิทธิพลอันดับ 1 ของโลก ติดต่อกันเป็นสมัยที่ 8 และถ้านับรวมที่ไม่ติดต่อกัน เธอครองตำแหน่งนี้มาแล้ว 12 ครั้ง ขณะที่การจัดอันดับบุคคลทรงอิทธิพลของโลก (ไม่แยกเพศ) นายกหญิงแห่งเยอรมนีอยู่ในอันดับที่ 4 เป็นรองเพียง สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน, วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ดังนั้น ถ้าเราจะบอกว่า แมร์เคิล คือ ผู้หญิงแห่งปี 2018 ก็ย่อมได้

ชีวิตของผู้หญิงทรงอิทธิพลคนนี้มีอะไรน่าสนใจมากมาย แต่เราจะข้ามประวัติชีวิตไปพูดถึงผลงานในช่วงเวลา 13 ปีที่เธออยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนี

เหตุผลที่อังเกลา แมร์เคิล ได้ครองตำแหน่งสตรีทรงอิทธิพลอันดับ 1 ของโลก 8 สมัย มาจากผลงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ซึ่งงานของเธอไม่ใช่เพียงเป็นผู้นำเยอรมนีเท่านั้น แต่ด้วยความที่เยอรมนีอยู่ในสถานะ “พี่ใหญ่” ของสหภาพยุโรป (อียู) เธอจึงเป็นเหมือนผู้นำอียูไปกลาย ๆ

ผลงานสำคัญของรัฐบาลแมร์เคิล คือ ผลงานด้านเศรษฐกิจ แมร์เคิลเข้ามารับหน้าที่ผู้นำประเทศในขณะที่สภาพเศรษฐกิจในยุโรปตกต่ำ แต่เธอก็สามารถทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตสวนกระแสขึ้นได้

ในปี 2005 ที่แมร์เคิลรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นปีที่อัตราการว่างงานในเยอรมนีสูงถึง 12 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากแมร์เคิลเข้ามาบริหารประเทศ อัตราการว่างงานก็ลดลง เดือนธันวาคม 2006 อัตราว่างงานลดลงมาอยู่ที่ 9.4 เปอร์เซ็นต์ และลดลงเรื่อยมาจนถึงปีนี้ อัตราว่างงานของเยอรมนีอยู่ที่ 3.3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ถึงแม้แก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศได้แล้วก็ยังมีหนี้ก้อนโตของอียูเป็นความท้าทายลำดับต่อไป ด้วยความที่เยอรมนีมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอียู และในฐานะ “พี่ใหญ่” บวกกับที่แมร์เคิลได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ในปี 2007 เธอจึงมีหน้าที่พยุงอียูให้ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจด้วย และแม้ว่าสิ้นสุดวาระตำแหน่งแล้วหลายปี แมร์เคิลก็ยังคงความเป็น “เจ๊ใหญ่” แห่งอียูอยู่จนถึงทุกวันนี้

ที่ผ่านมาเราได้เห็นบทบาทของเยอรมนีภายใต้การนำของอังเกลา แมร์เคิล ในหลายกรณีอย่างเช่น การโน้มน้าวให้สมาชิกอียูเห็นชอบการทำสนธิสัญญาแทนการจัดทำ “ธรรมนูญยุโรป” ที่มีปัญหายืดเยื้อมาหลายปี และปัจจุบันแมร์เคิลและรัฐบาลเยอรมนีกำลังเป็นแกนหลักร่วมกับรัฐบาลฝรั่งเศสในการผลักดันแผนปฏิรูปอียู

ไม่มีใครปฏิเสธความจริงว่า เยอรมนีมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาอียู แต่ในทางตรงข้ามสมาชิกอียูบางประเทศคิดว่า ประเทศของตนเองมีส่วนร่วมในการตัดสินใจน้อย เพราะเยอรมนีจัดการทุกอย่างมากเกินไป

นอกจากผลงานด้านเศรษฐกิจ อีกผลงานเด่นของแมร์เคิล คือ การเปิดรับผู้ลี้ภัยซึ่งแม้จะไม่เป็นที่พอใจของชาวเยอรมันและอียูเท่าไหร่นัก แต่ก็ได้รับความชื่นชมจากชาวโลก และกลุ่มคนหัวก้าวหน้าเป็นอย่างมาก

ในการจัดอันดับสตรีทรงอิทธิพลแห่งปี 2018 ฟอร์บสเขียนบทความสั้น ๆ กำกับชื่อของแมร์เคิลไว้ว่า “แมร์เคิลยังคงเป็นผู้นำที่แท้จริงของยุโรป เป็นผู้นำประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค หลังจากพาเยอรมนีผ่านพ้นวิกฤตทางการเงินและกลับสู่การเติบโตได้

เธอครองความเป็นผู้นำได้อย่างเหนียวแน่น จากการลุกขึ้นต้านโดนัลด์ ทรัมป์ โดยอนุญาตเปิดรับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียกว่าล้านคนเข้าสู่เยอรมนี

ตอนนี้เธอเป็นผู้นำพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่เป็นที่นิยมของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องเผชิญกับพายุต่อเนื่องจาก Brexit และความรู้สึกต่อต้านผู้อพยพที่เพิ่มขึ้นในยุโรป”

ฟอร์บสทิ้งท้ายว่า “คำถามใหญ่ที่ประชาชนกำลังตั้งคำถาม คือ อะไรจะเกิดขึ้น หลังจากเวลาการทำหน้าที่ของแมร์เคิลสิ้นสุดลง”

…เป็นคำถามที่ใหญ่มากจริง ๆ ทั้งสำหรับชาวเยอรมันและชาวอียูที่อยู่ภายใต้การนำของผู้นำคนนี้มานานสิบกว่าปี รวมถึงสำหรับชาวโลกอย่างเรา ๆ ที่แม้จะอยู่ห่างไกล แต่ย่อมได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของโลกไม่มากก็น้อย