ความหมายและลำดับขั้น “พระภรรยาเจ้า” ในประวัติศาสตร์คำนี้ไม่ได้รวมถึงพระสนม

รูปหมู่พระภรรยาเจ้าและพระราชธิดาของรัชกาลที่ 5
รูปหมู่พระภรรยาเจ้าและพระราชธิดาของรัชกาลที่ 5
หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรก 30 กรกฎาคม 2562

ช่วงนี้คนไทยกำลังสนใจเกี่ยวกับพระภรรยาของพระมหากษัตริย์ มีการเผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้กันแพร่หลาย ซึ่งหนึ่งข้อมูลที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ ลำดับชั้นพระภรรยาของพระมหากษัตริย์ โดยมีการใช้คำว่า “พระภรรยาเจ้า” อธิบายลำดับขั้นพระภรรยาทุกขั้น ซึ่งเป็นการใช้คำที่ไม่ตรงตามความหมายของคำว่า “พระภรรยาเจ้า” ในประวัติศาสตร์

ข้อมูลในประวัติศาสตร์คือ คำว่า “ภรรยาเจ้า” เป็นคำที่มีในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งหมายถึงพระภรรยาของพระเจ้าแผ่นดินที่มีชาติกำเนิดเป็น “หม่อมเจ้า” ขึ้นไป พูดให้เข้าใจง่ายคือพระภรรยาที่เป็นเจ้ามาตั้งแต่กำเนิด ไม่ได้นับพระภรรยาที่เป็นสามัญชน และมีข้อยกเว้นพิเศษกรณีที่ไม่ใช่เจ้าในราชวงศ์จักรี แต่เป็นเจ้าในราชวงศ์อื่น เช่น เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ในรัชกาลที่ 5 ซึ่งชาติกำเนิดเป็นเจ้าในราชวงศ์ฝ่ายเหนือแห่งเชียงใหม่

นอกจากกฎเกณฑ์ดังที่กล่าวไปแล้ว พระภรรยาเจ้ายังแบ่งเป็นพระภรรยาเจ้าชั้น “ลูกหลวง” หมายถึงเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน และพระภรรยาเจ้า “ชั้นหลานหลวง” คือเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าแผ่นดิน

พระฐานันดรศักดิ์ของพระภรรยาเจ้า

ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยพระฐานันดรศักดิ์ของพระภรรยาเจ้าแต่เดิมซึ่งรับพื้นฐานมาจากลัทธิฮินดู มี 4 ขั้น ดังนี้

1. พระอัครมเหสี

2. พระมเหสี

3. พระราชเทวี

4. พระอัครชายา

พระอิสริยยศของพระอัครมเหสี

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงริเริ่มนำเอาแบบอย่างที่จะสถาปนาพระอิสริยยศของพระอัครมเหสีในความหมายแบบตะวันตกเข้ามาใช้ในประเทศไทยอย่างมีกฎเกณฑ์ ซี่งในสมัยรัชกาลที่ 5 พระฐานันดรศักดิ์พระมเหสีเทวีมีทั้งหมด 5 ลำดับ คือ

1. พระบรมราชินีนาถ

2. พระบรมราชเทวี

3. พระราชเทวี

4. พระอัครชายาเธอ

5. พระราชชายา

ส่วนพระสนมเอกและพระสนมเป็นพระภรรยาที่มีชาติกำเนิดเป็นสามัญชน ไม่ได้นับว่าเป็น “พระภรรยาเจ้า” มี 2 ลำดับขั้น ได้แก่

1. พระสนมเอก ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าคุณพระ, เจ้าคุณจอมมารดา, เจ้าจอมพระ

2. พระสนม ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าจอมมารดา, เจ้าจอม, จอมมารดา

พระภรรยาเจ้า 9 พระองค์ในรัชกาลที่ 5

รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระภรรยาเจ้า 9 พระองค์ เรียงลำดับตามปี พ.ศ.ที่ทรงมีพระประสูติกาลพระราชโอรสหรือพระราชธิดา ดังนี้

1. พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี (ชั้นลูกหลวง ทรงเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 4)

2. พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ (ชั้นหลานหลวง ทรงเป็นหลานปู่ในรัชกาลที่ 3)

3. พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค (ชั้นหลานหลวง ทรงเป็นหลานปู่ในรัชกาลที่ 3)

4. พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี (ชั้นลูกหลวง ทรงเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 4)

5. สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (ชั้นลูกหลวง ทรงเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 4)

6. สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี (ชั้นลูกหลวง ทรงเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 4)

7. สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (ชั้นลูกหลวง ทรงเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 4)

8. พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ (ชั้นหลานหลวง ทรงเป็นหลานปู่ในรัชกาลที่ 3)

9. เจ้าดารารัศมี พระราชชายา (ไม่ได้ทรงเป็นมั้ง “ลูกหลวง” หรือ “หลานหลวง” แต่ทรงเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์แห่งนครเชียงใหม่)

ส่วนการใช้คำว่า “พระภรรยาเจ้า” ในยุคปัจุบันที่หลายแหล่งข้อมูลนับรวมพระภรรยาของพระมหากษัตริย์ทุกขั้น รวมถึงพระสนมเอกและพระสนมนั้น สันนิษฐานว่าคงจะเกิดจากความเข้าใจว่า “เจ้า” ที่อยู่ในคำว่า “พระภรรยาเจ้า” หมายถึงพระภรรยาของเจ้าผู้เป็นพระสวามี แต่ในประวัติศาสตร์ คำว่า “เจ้า” ที่อยู่ในคำว่า “พระภรรยาเจ้า” หมายถึงพระภรรยาเองที่มีชาติกำเนิดเป็นเจ้า

———-


เรียบเรียงจาก : หนังสือ “พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้า ในรัชกาลที่ 5” เขียนโดย นายแพทย์จิรวัฒน์ อุตตมะกุล ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 โดยสำนักพิมพ์มติชน