ปรากฏการณ์ “ชานมไข่มุกฟีเวอร์” มากกว่ากระแสฉาบฉวย คือไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่

พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : เรื่อง

ชานมไข่มุกเคยเกิดเป็นปรากฏการณ์มาก่อนหน้านี้อยู่สองระลอก คือ ช่วงปลายยุค 1990 ถึงต้นยุค 2000 และระลอกสองระหว่างปี 2008-2009 หลังคลื่นลูกที่สองกลับมาได้ไม่นาน กระแสชานมไข่มุกก็ค่อย ๆ ซาลงจนเปลี่ยนไปสู่เทรนด์รักสุขภาพโดยมีชาเขียวเข้ามาแทนที่ นอกจากชาเขียวจะเข้าไปเป็นส่วนผสมของอาหาร-ขนมขบเคี้ยวแล้ว สินค้าอุปโภคหลาย ๆ อย่างยังดึงชาเขียวเข้าไปเป็นตัวชูโรงในไลน์สินค้าอีกด้วย

ภายหลังชาเขียวเริ่มได้รับความนิยมน้อยลง ชานมไข่มุกกลับมามีบทบาทครองตลาดแมสในไทยอีกครั้ง แถมยังขยายจากตลาดเฉพาะกลุ่มเด็ก-วัยรุ่นสู่การเข้าถึงกลุ่มคนทุกเพศทุกวัยมากขึ้น ชานมไข่มุกจึงไม่ได้เป็นเพียงร้านรถเข็นหน้าโรงเรียน ขายตามโรงอาหาร หรืออยู่บนห้างสรรพสินค้าบางแห่งที่หาได้ยากอีกต่อไป เพราะทั้งแบรนด์ไทยหน้าเก่า แบรนด์ไทยเกิดใหม่ หรือแบรนด์ต่างชาติต่างลงสนามบุกตลาดชานมไข่มุกกันอย่างคึกคัก และดูเหมือนว่าปรากฏการณ์นี้ยังไม่มีทีท่าจะลดลงไปแม้แต่น้อย

เส้นทางต้นกำเนิดชานมไข่มุก

ต้นตำรับเครื่องดื่มแสนอร่อยแก้วนี้ถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศไต้หวัน ในปี 1988 คุณหลินชิ่วฮุย ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ของร้านชา “ชุนฉุ่ยถัง” ณ เมืองไถจง ทดลองผสมเม็ดแป้งมันสำปะหลังต้ม ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับทำขนมเฟินหยวนใส่ลงไปในชาอัสสัมเย็นแล้วดื่มพร้อมกัน เธอพบว่า เมื่อรสชาติของทั้งสองมาเจอกันกลับมีความอร่อยลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งกลิ่นหอมของชา และความมันหนึบหนับของตัวแป้ง จากนั้นจึงนำไปให้เพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ชิม และนำไปสู่การ launch เมนูใหม่ออกวางขายในที่สุด

ปรากฏว่าเมนูนี้ได้รับการตอบรับที่ดีเกินคาด เกิดเป็นกระแสวัฒนธรรมพ็อปแพร่หลายไปทั่วไต้หวัน และยังขยายวงกว้างไปสู่ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก กระทั่งในช่วงปี 1999-2000 ชานมไข่มุกโดนคลื่นความนิยมของชาเขียวเข้ามาแทนที่

ชาไข่มุกสูตรดั้งเดิมแบบไต้หวันมีส่วนผสมหลัก ๆ อยู่สามสี่อย่าง ได้แก่ ชาดำไต้หวันร้อน ไข่มุกที่ทำมาจากแป้งมันสำปะหลังเม็ดเล็ก นมข้นหวาน และน้ำเชื่อม หรือน้ำผึ้ง จากนั้นจึงมีการทดลองเปลี่ยนส่วนผสมบางอย่างไปเรื่อย ๆ เริ่มจากประเภทชาที่ใช้ มีการนำชาเชียวกลิ่นมะลิมาแทนชาดำ เพิ่มขนาดเม็ดไข่มุกให้ใหญ่ เพิ่มรสชาติของผลไม้หลากชนิดขึ้น เช่น ลูกพีช หรือผลพลัม รวมถึงบางสูตรได้ทดลองตัดส่วนผสมของชาออกไปเลยก็มี เพื่อคงรสชาติของผลไม้ไว้ให้ได้มากที่สุด

นอกจากนั้นยังมีการค้นพบเพิ่มเติมด้วยว่า น้ำผลไม้ที่ใส่ลงไปอาจมีผลทำให้สีของไข่มุกเปลี่ยนแปลงจึงต้องมีการเลือกสีของไข่มุกให้เข้ากับเครื่องดื่มผลไม้แต่ละชนิด เพราะไม่ใช่แค่ความเข้ากันของสีสัน แต่ยังเป็นการคงไว้ซึ่งรสชาติของชาดำร้อน หรือชาเขียวที่ดี ซึ่งนอกจากตัวชาแล้ว บางเมนูอาจมีการเพิ่มเติมส่วนผสมอื่น ๆ เข้าไปเพื่อความหลากหลายมากขึ้น เช่น ผงสกัด น้ำผลไม้ หรือเนื้อผลไม้

ความโด่งดังของร้านชาชุนฉุ่ยถังในฐานะต้นกำเนิดชานมไข่มุก ได้รับการติดต่อเชื้อเชิญไปออกงานเฉลิมฉลองธรรมเนียมการดื่มชาเป็นประจำ จนมีต่างชาติเข้ามาติดต่อแฟรนไชส์ร้านไปเปิดที่ต่างประเทศอยู่บ่อย ๆ แต่ทางแบรนด์ก็ยืนยันปฏิเสธการขยายสาขาไปยังประเทศอื่น ทำให้ชุนฉุ่ยถังกลายเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของคนรักชาไข่มุก ที่หากไปถึงไต้หวันแล้วก็คงจะพลาดชิมร้านนี้ไปไม่ได้เด็ดขาด

การกลับมาของกระแสชานมไข่มุกในไทย

ลมพัดหวนกระแสชานมไข่มุกมาที่เมืองไทยอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ฮอตฮิตปรอทแตกมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่ชานมไข่มุกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนทุกเพศทุกวัย บรรดาเชนร้านกาแฟรายใหญ่เองก็ทยอยออกเมนูชาไข่มุกมารองรับความต้องการตรงนี้ หรือแม้แต่ร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่นเองก็ต้านทานกระแสไม่ไหว จนต้องเพิ่มเมนูชานมไข่มุกเข้าไปด้วย

การคัมแบ็กอีกรอบของปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ประเทศไทยเท่านั้น เพราะสาเหตุของความฮิตครั้งนี้เริ่มต้นเมื่อราว ๆ ปี 2016 หลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีหญิงแห่งไต้หวัน ออกนโยบาย “New Southbound Policy” เปิดให้นักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอีกหลายประเทศเข้าไปเที่ยวไต้หวันได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า จากนโยบายนี้ไต้หวันเลือกชูชานมไข่มุกในการโปรโมตเพื่อเป็นการตอกย้ำว่า เครื่องดื่มดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของไต้หวัน ที่ถึงแม้จะมีขายในประเทศอื่น ๆ มากมาย แต่หากอยากลิ้มลองรสชาติแบบต้นตำรับแท้ ๆ แล้วละก็ ไต้หวัน คือ คำตอบที่ดีที่สุดสำหรับคอชานมที่ต้องมาลองสักครั้งในชีวิต

นโยบายดังกล่าวของไต้หวันขยายความนิยมมายังประเทศใกล้เคียง รวมถึงในไทยที่รับเอาอิทธิพลระลอกสามมาเต็ม ๆ จากที่ชานมไข่มุกยังเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มอยู่ กระทั่งในช่วง 4-5 ปีมานี้ ชานมไข่มุกได้เทิร์นเข้าสู่ตลาดแมสเจาะกลุ่มทุกเพศ-ทุกวัยได้สำเร็จ นอกจากจะมาในรูปแบบของเครื่องดื่มแล้ว กระแสความคลั่งไคล้ไข่มุกในไทยยังถูกนำไปต่อยอดในสินค้าอื่น ๆ ที่เราไม่เคยพบเห็นกันมาก่อน ทั้งเค้ก พิซซ่า แพนเค้ก ไปจนถึงการหยิบจับมาใส่ในเมนูของคาวอย่างก๋วยเตี๋ยวน้ำตก และราดหน้า

กระแสชานมไข่มุกที่มารอบนี้ต่างจากรอบก่อน ๆ ตรงที่การมารอบนี้ ร้านชานมไข่มุกเน้นการสร้างแบรนด์มากกว่าช่วงสองระลอกก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัด หากลองพิจารณาดี ๆ จะพบว่า กระแสความนิยมชานมไข่มุกระลอกแรกและระลอกสอง จะเป็นร้านรายย่อย ๆ ไม่มีแบรนด์ มีร้านที่ทำแบรนด์ชานมไข่มุกเจ้าดังอยู่ไม่กี่เจ้า ตรงกันข้ามกับกระแสใน พ.ศ.นี้ ที่มีการสร้างแบรนด์ มีชื่อ มีโลโก้ หาความพิเศษมาแข่งขันให้เป็นที่จดจำของผู้บริโภคมากขึ้น แม้แต่ร้านเล็ก ๆ รายย่อยที่ไม่มีสาขาที่ไหนก็ยังต้องสร้างแบรนด์ สร้างชื่อของตัวเอง

การเพิ่มท็อปปิ้งสุดพิเศษ หรือวัตถุดิบที่พิเศษ ยังเป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยดึงฐานลูกค้าในวันที่มีร้านชานมไข่มุกเกิดขึ้นมากมายนับไม่ถ้วน บางเจ้าชูการใช้นมสดจากฮอกไกโดแทนนมจืดพาสเจอไรซ์ การหยิบเทรนด์ฮิตอย่าง “ไข่เค็ม” มาผสมผสานจนเกิดเป็นเมนูแปลก ๆ หรือวัตถุดิบที่ได้รับการตอบรับดีมาโดยตลอดอย่าง “ชีส” รวมถึงความเข้มข้นของส่วนผสมจากมัทฉะ หรือดาร์กช็อกโกแลตแท้ ๆ ก็ถูกนำมาเป็นจุดขายด้วยเช่นกัน เรียกว่าร้านชานมไข่มุกในไทยตอนนี้จึงเน้นขายความเป็นพรีเมี่ยมมากกว่าในสองระลอกแรกที่อาจจะไม่มีการแข่งขันในแง่คุณภาพของสินค้ามากเท่านี้มาก่อน

แบรนด์สุดปัง ได้รับความนิยมต่อเนื่อง

ทั้งหมดที่ว่ามา ทำให้กระแสชานมไข่มุกในไทยไต่ระดับความนิยมอีกครั้ง ตั้งแต่แบรนด์นำเข้า หรือแบรนด์ที่อิงความเป็นไต้หวัน ที่ปัจจุบันสามารถสร้างชื่อจนติดตลาดมานานหลายปีแล้วอย่าง Ochaya (โอชายะ) ชานมไข่มุกเจ้าแรก ๆ ที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทย ด้วยจำนวนกว่า 350 สาขา ราคาของ Ochaya เอื้อมถึง-จับต้องได้ และยังกระจายสาขาไปตามห้างสรรพสินค้า รวมถึงสถานีรถไฟฟ้าได้อย่างครบถ้วน, CoCo (โคโค่) แบรนด์อิมพอร์ตจากไต้หวันที่เข้ามาในไทยได้ไม่นาน แต่แฟนชานมไข่มุกหลายคนก็ลงความเห็นว่า รสชาติอร่อยและไม่หวานเลี่ยนจนเกินไป แถมปริมาณยังถือว่าเหมาะสมกับราคาด้วย

KOI The” (โคอิเตะ) ที่มาพร้อมเม็ดไข่มุกสีทองอันเลื่องชื่อ ด้วยไข่มุกอันเป็นเอกลักษณ์ทำให้ทุกวันนี้ก็ยังมีคิวต่อแถวรอซื้อยาวเหยียดอยู่ตลอด หรือแบรนด์ที่เป็นกระแสมาได้สักพักใหญ่กับ Fire Tiger By Seoulcial

Club (ไฟเออร์ ไทเกอร์ บาย โซลเชียล คลับ) หรือ “เสือพ่นไฟ” กับเมนูชานมใส่เยลลี่น้ำตาลแดงสุดฮิต สร้างความแตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ จนปัจจุบันคิวรอซื้อยังคงยาวเหยียดสม่ำเสมอ

จากไต้หวันแท้ ๆ มาถึงแบรนด์ที่อิงกับกระแสความเป็น “เจแปนีสสไตล์” อย่าง Kamu Tea (คามุ ที) แบรนด์คนไทยที่นำสูตรจากไต้หวันมาปรับให้รับกับคนไทย บวกกับการนำเข้ามัทฉะ และโฮจิชะจากโอซากา ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงเมนูดังอย่าง “ดาร์กโกโก้” และ “ไมโลลาวา” ที่กลายเป็นซิกเนเจอร์ของ Kamu Tea ไปแล้ว และ Fuku Matcha (ฟูกุ มัทฉะ) แบรนด์ชานมอิมพอร์ตจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่นอกจากชานม ยังมีซอฟต์เสิร์ฟมัทฉะสุดเข้มข้น รวมถึงการขายแบบเทกโฮม เอาใจคอชาเขียว-ช็อกโกแลตตัวจริงกันด้วย

ความอร่อยที่มาพร้อมอันตราย

หลังจากความนิยมในการบริโภคพุ่งสูงขึ้น ทางทีมแพทย์ก็ได้ออกมาแสดงความห่วงใยว่า ควรเลือกบริโภคแต่พอดี พร้อมชี้ให้เห็นถึงข้อควรระวังในการดื่มชานมไข่มุกอย่างละเอียดหลายประการ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ออกมาให้ข้อมูลจากการสำรวจร้านชานมไข่มุกชื่อดังหลายแห่งพบว่า กว่า 92% ของ 25 แบรนด์ที่ทำการสำรวจ มีน้ำตาลเกินมาตรฐานจากทางองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ถึงสามเท่า ทำให้คนไทยเริ่มตระหนักถึงปัญหาสุขภาพระยะยาวที่จะตามมาจากการรับประทานมากขึ้น

ทางทีมแพทย์ให้ข้อมูลว่า แม้ตัวชาจะอุดมไปด้วยประโยชน์จากสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มโพลีฟีนอล ที่มีส่วนช่วยยับยั้งกระบวนการอักเสบ และซ่อมแซมความเสียหายของเซลล์ในร่างกายที่อาจทำให้เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นบนผิวหนัง แต่อย่าลืมว่าชานมไข่มุกไม่ได้มีส่วนประกอบของชาร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะยังประกอบไปด้วยน้ำตาล น้ำเชื่อม ครีมเทียม นมข้นหวาน และแป้งจากเม็ดไข่มุก ทำให้ได้รับคุณค่าทางสารอาหารเพียงน้อยนิด ซึ่งเทียบกันไม่ได้เลยกับผลเสียที่จะเกิดกับร่างกาย


ข้อควรระวังอีกอย่าง คือ การรับประทานไข่มุกอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ หรือระบบย่อยอาหารผิดปกติจากขั้นตอนการผลิตมันสำปะหลังเป็นเม็ดไข่มุกที่ไม่เหมาะสม เช่น ปรุงไม่สุก แช่น้ำมาก เก็บไว้นานเกินไป หรือมีการปนเปื้อนเปลือกของมันสำปะหลัง ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคท้องอืด ได้รับพิษจากไซยาไนด์ ส่งผลเสียต่อระบบประสาท และก่อให้เกิดโรคคอพอกได้ รวมถึงบางครั้งยังมีส่วนผสมของซัลไฟต์ ซึ่งผู้ที่มีภาวะย่อยสารนี้ผิดปกติควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารชนิดนี้โดยเด็ดขาด