บาส-เทพวรรณ ออกแบบเอ็กซ์พีเรียนซ์อย่างใส่ใจ พา ZAAP Party ยึดหัวแถววงการ

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

 

การเจอตลาดใหม่ที่ยังไม่มีใครครอง เป็นโอกาสดีแน่ ๆ สำหรับคนเริ่มต้นทำธุรกิจ อย่างเช่นที่ บาส-เทพวรรณ คณินวรพันธุ์ ซีอีโอ ZAAP Party ได้เจอตลาดที่ยังไม่มีผู้จับจองเมื่อ 6-7 ปีก่อน และเพียงไม่กี่ปีหลังจากนั้นซีอีโอหนุ่มวัย 28 ปี ก็พาบริษัทของเขาก้าวขึ้นมาอยู่หัวแถวของธุรกิจคอนเสิร์ตออร์แกไนเซอร์ (concert organizer) ไปเรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม การเจอตลาดที่ไม่มีใครครอง ก็ไม่ได้การันตีว่าคุณจะครองมันได้ หากคุณไม่มีดีพอ แต่สำหรับ ZAAP Party กับเวลาราว 7 ปี ที่พวกเขาทำงานมาแล้วมากกว่า 600 งาน น่าจะการันตีคุณภาพการทำงานได้เป็นอย่างดี เพราะถ้าทำงานไม่ดี ผู้ร่วมงานไม่ประทับใจ มีเสียงบ่นมากกว่าคำชม คงไม่มีงานเข้ามาให้ทำมากมายขนาดนี้ และคงไม่ทะยานขึ้นสู่หัวแถวของวงการได้เร็วขนาดนี้

คุณผู้อ่านอาจจะนึกไม่ออกว่า ZAAP ทำอะไรมาบ้าง ดังนั้นเราจะยกตัวอย่างชื่องานให้ฟัง บริษัทนี้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังงานใหญ่ ๆ อย่าง คอนเสิร์ต BODYSLAM FEST ที่ราชมังคลากีฬาสถาน มีผู้ร่วมงานรวมกันสองรอบกว่า 120,000 คน, คอนเสิร์ต g19 ที่มีคนร่วมงาน 6 หมื่นคน, งาน Single Festival ที่จัดต่อเนื่องมาหลายปี มีคนร่วมงานปีละหลายหมื่นคน, S2O งานปาร์ตี้ดนตรี EDM ผสานความสนุกของเทศกาลสงกรานต์ ดึงดูดผู้ร่วมงานทั้งไทยและต่างชาติปีละหลายหมื่นคน ที่กล่าวมาคือตัวอย่างเฉพาะงานใหญ่ไม่กี่งานเท่านั้น นอกเหนือจากนี้พวกเขาทำคอนเสิร์ตอีกมากมาย หลายสเกล หลายแนวดนตรี แม้กระทั่งคอนเสิร์ตหมอลำพวกเขาก็ทำมาแล้ว

แนะนำให้คุณผู้อ่านรู้จัก ZAAP Party ไปแล้ว ทีนี้ก็ต้องขอย้อนกลับไปอธิบายตรงที่เกริ่นว่า “การเจอตลาดใหม่” หมายถึงอะไร จริงอยู่ธุรกิจออร์แกไนเซอร์รับจัดคอนเสิร์ตนั้นมีมานานนมแล้ว แต่ “ตลาดใหม่” ที่ว่านั้นคือ การจัดคอนเสิร์ตที่เป็นรูปแบบใหม่แตกต่างจากตลาดคอนเสิร์ตแบบเดิม นั่นก็คือ “ปาร์ตี้คอนเสิร์ต” เป็นคอนเสิร์ตที่เอาความสนุกสนาน จากงานปาร์ตี้เข้ามาผสมผสาน มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงาน ทำให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่ชอบงานปาร์ตี้มาบวกกับคนที่ชอบคอนเสิร์ต และแน่นอนว่ามีคนที่ชอบทั้งสองอย่างก็ยิ่งถูกอกถูกใจกับงานรูปแบบนี้

การเจอตลาดใหม่ที่ว่านี้ เจ้าตัวซีอีโอหนุ่มแห่ง ZAAP Party บอกว่า ไม่ได้เกิดจากการมีหัวทางธุรกิจเลย แต่มาจากส่วนตัวล้วน ๆ ที่ตั้งใจจะจัดปาร์ตี้แต่ก็ไม่อยากทิ้งคอนเสิร์ต ก็เลยทำทั้งสองอย่างผสมกัน

บาสเล่าความเป็นมาของ ZAAP Party ให้ฟังว่า ตัวเขาเองเป็นเด็กกิจกรรม เป็นทูตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนเรียนปี 3 ได้จัดคอนเสิร์ตการกุศลหาเงินช่วยโรงเรียนที่โดนน้ำท่วม แต่ผลลัพธ์คือ เจ๊ง เพราะไม่ได้มีการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย ไม่รู้เรื่องการตลาดใด ๆ คิดเพียงว่ามีนักร้องศิลปินดังมาเล่นแล้วจะมีคนมาดู

“เราชวนเพื่อนไปดูคอนเสิร์ต แต่เพื่อนเราไม่ใช่สายดูคอนเสิร์ต เพื่อนเราเป็นสายปาร์ตี้กินเหล้า ก็เลยไม่มีใครมาเลย ผมเจ๊ง ติดหนี้พ่อ 9 แสนกว่าบาท”

หลังจากเจ๊งงานแรก บาสเครียดมาก แต่โชคดีมีเพื่อนแนะนำว่า ในเมื่อเป็นคนรู้จักคนเยอะ ชอบกินเหล้า ชอบปาร์ตี้ ลองจัดปาร์ตี้ดูไหม บาสจึงลองจัดงานแรกด้วยเงิน 5 หมื่นสุดท้าย เป็นงานปาร์ตี้เล็ก ๆ ที่จัดในผับแถวรังสิต ใช้นักดนตรีร้านเหล้า ไม่มีศิลปินดังสักคน

บาสได้เรียนรู้จากงานแรกที่เจ๊งเพราะไม่ได้ออกแบบ ไม่ได้วิเคราะห์อะไรเลย งานต่อมาเขาจึงเริ่มดีไซน์เริ่มคิดหาคอนเซ็ปต์ของตัวเอง และเห็นผลตรงกันข้ามตั้งแต่งานแรก

“ผมดีไซน์ตั้งแต่วันนั้นเลย ผมเห็นนักร้องชอบมีประโยคเด็ดว่า ‘ขอเสียงคนโสดหน่อย’ คนก็กรี๊ดทั้งร้าน เราเห็นว่าคนให้ความสำคัญกับความโสด เราก็เลยดึงความโสดมาเป็นคอนเซ็ปต์ ใช้ชื่อตอนว่า ‘เป็นโสดทำไม’ และเห็นงาน Sensation มาไทย เป็นปาร์ตี้ชุดขาวที่ดังทั่วโลก ผมก็เลยลองดีไซน์ในแบบของเรา ‘ไม่โสดใส่ขาว เหงาใส่ดำ’ เล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของคน งานแรกเราคาดหวังสัก 500 คน แต่มีคนมา 4,000 เข้าไม่ได้ เละเทะ เป็นงานที่แย่ที่สุด เพราะว่าการออร์แกไนเซอร์แย่มาก จากนั้นเราก็เลยพัฒนางานที่สอง เราก็คงคอนเซ็ปต์ความเป็นโสดมาทั้งปี เพราะเรารู้ว่าเราดีไซน์เอ็กซ์พีเรียนซ์คนได้อยู่หมัดแล้ว”

จากงานรวมตัวคนโสด (ที่ตั้งใจว่าจะทำเล็ก ๆ) ถูกต่อยอดเป็น Single Festival ที่มีผู้เข้าร่วมงานหลักหมื่น และเพิ่มขึ้นเป็นหลายหมื่นในปีต่อ ๆ มา ความสำเร็จที่เกิดขึ้นทำให้ ZAAP ได้ทำงานอื่น ๆ อีกหลายงานตามมา มีทั้งงานที่ทำของตัวเอง และงานที่รับทำให้ลูกค้า ซึ่งบาสบอกว่าสัดส่วนงานของตัวเองและงานของลูกค้าอยู่ที่ประมาณ 60 : 40

“เราใส่ใจเรื่องโอเปอเรชั่น เราแคร์ผู้ชม เราสร้างเอ็กซ์พีเรียนซ์ทุกอย่างเพื่อผู้ชมของเรา ผมก็เลยได้โอกาสจากพี่ ๆ” เขาพูดด้วยความมั่นใจว่าได้รับโอกาสจากผลงานที่ทำได้ดี

การทำงานของคอนเสิร์ตออร์แกไนเซอร์ ต้องทำอะไรบ้าง ? ซีอีโอ ZAAP อธิบายว่า แต่ละงานทำไม่เท่ากัน ถ้าเป็นงานของตัวเองจะทำทุกอย่าง ตั้งแต่คิดชื่องาน คิดคอนเซ็ปต์ ดีไซน์ทุกอย่าง จนถึงโอเปอเรชั่น และรับความเสี่ยงเองทั้งหมด ส่วนงานที่รับทำให้ลูกค้าจะคิดร่วมกันกับลูกค้า และรับผิดชอบโอเปอเรชั่นเป็นหลัก ถ้าเป็นงานสเกลใหญ่มาก อาจจะมีบางส่วนที่ให้เจ้าอื่นรับช่วงทำต่อ

“เราถนัดโอเปอเรชั่น เราอยากเอาดีด้านนี้ เราชอบการดูแลคนอื่น สิ่งที่ผมดีใจที่สุดในการทำคอนเสิร์ตบอดี้สแลมสองวัน คนดู 120,000 คน คือ การที่ผมทำให้คนเข้างานได้เร็วที่สุดเท่าที่ผมทำได้ วันแรกอาจจะช้าหน่อย วันที่สองเราเพิ่มทีมงาน วันที่สองไม่มีคนต้องต่อแถวเลย นี่คือเราประสบความสำเร็จแล้ว เราไม่ได้มองว่า ประสบความสำเร็จคือคนเยอะ เวทีอลังการ ตรงนั้นมันเป็นแค่จุดหนึ่งที่บริษัทอื่นเขาก็ทำได้ แต่เราแคร์ตรงที่คนกลับบ้านต้องออกจากราชมังฯให้ได้เร็วที่สุด รถอย่าติด”

บาสประเมินตัวเองว่า จุดเด่นของ ZAAP คือ สร้างงานเพื่อตอบสนองความต้องการของคนแต่ละรูปแบบได้ สร้างงานได้ตรงใจแต่ละกลุ่มคน หลายแบรนด์ที่ให้บริษัทของเขาจัดงานให้จึงใช้บริการต่อยาว ๆ เพราะพอใจกับผลลัพธ์

“เราไม่ได้บอกว่าการจัดงานต้องเลือกศิลปินดัง ๆ เท่านั้น แต่ผมเลือกศิลปินที่ถูกกับแบรนด์คุณ”

การที่ ZAAP สร้างงานตอบสนองความต้องการได้ทุกโจทย์ทุกรูปแบบ ไม่ได้แปลว่าทีมงานเก่งไปหมดทุกอย่าง แต่ซีอีโอหนุ่มวัย 28 ปี บอกว่า เมื่อรู้ว่าทีมงานของตัวเองไม่ถนัดอะไรก็ต้องหาคนที่รู้จริงเข้ามาร่วมงาน ไปจับมือกับคนที่มีโนว์ฮาวที่ตัวเองไม่มี อย่างเช่น ทำคอนเสิร์ตหมอลำก็ชวน รปภ.หน้าออฟฟิศเข้ามาร่วมทำงานด้วย มาเลือกว่ามีนักร้องคนไหนกำลังดังที่ควรจะเลือกมาแสดงในงาน จากนั้นทีม ZAAP ก็เติมสิ่งที่ตัวเองถนัดเข้าไป นั่นก็คือ การสร้างเอ็กซ์พีเรียนซ์ที่คิดว่าคนกลุ่มนั้นน่าจะประทับใจ น่าจะว้าว

บาสบอกว่า การเติมเอ็กซ์พีเรียนซ์ให้คนประทับใจอาจไม่ใช่การทำสิ่งที่ใหญ่โต ไม่ใช่โปรดักชั่นที่อลังการเสมอไป แต่ ZAAP คำนึงถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อความรู้สึกผู้เข้าร่วมงาน อย่างเช่น เอาห้องน้ำ วี.ไอ.พี.เข้าไปในงานหมอลำ ให้ความรู้สึก beyond กว่าที่คนกลุ่มนั้นเคยเจอ หรือการแจกน้ำดื่ม แจกผ้าเย็นในงานกลางแจ้งที่อากาศร้อน ๆ ก็สร้างความประทับใจได้มากเช่นกัน

“เอ็กซ์พีเรียนซ์ ของเราคือความเข้าใจและใส่ใจ ถ้าเราเข้าใจเราจะทำให้ทุกอย่างตรงตามความต้องการของเขา และถ้าเราเพิ่มความใส่ใจเข้าไปอีกก็จะทำให้งานของเราได้ประสบการณ์ที่ดี ทำให้งานเราแตกต่างจากงานอื่น ผมว่าการวิ่งหาโปรดักชั่นใหญ่  ๆ ไม่ใช่คำตอบ โปรดักชั่นมันต้องเหมาะสมกับงาน” บาสให้นิยามคำว่า เอ็กซ์พีเรียนซ์ จากมุมของคนที่พาธุรกิจไปได้สวยด้วยการสร้างเอ็กซ์พีเรียนซ์ใหม่ ๆ ให้ผู้คน

“เดี๋ยวนี้คนดูคอนเสิร์ตเขาถามหาแล้วว่าผู้จัดคือใคร ถ้าเราไม่ใส่ใจเรื่องนี้ อนาคตก็จะมีผลเสียต่อเรา มันเป็นเรื่องที่ชี้เป็นชี้ตายเราในธุรกิจแบบนี้”

นอกจากการใส่ใจดูแลความรู้สึกผู้เข้าร่วมงานที่ต้องมีในทุกงานที่ทำ กลยุทธ์สำคัญสำหรับงานของ ZAAP เองคือ ทุกงานต้องสร้างแบรนด์และออกแบบคอนเซ็ปต์ ให้คนจดจำที่ตัวงาน ดึงคนเข้าร่วมงานด้วยชื่องานและคอนเซ็ปต์งาน ไม่หวังพึ่งพาศิลปิน ซึ่งนั่นคือสิ่งที่บาสเรียนรู้มาจากงานแรกที่เจ๊ง

“เวลาจะทำงานไหนก็ตามจะสร้างให้เป็นแบรนดิ้ง อย่างเช่น ผมทำ Single Festival มีบอดี้สแลมมาเล่น แต่ปีหน้าไม่มีบอดี้สแลม งานเราก็ต้องอยู่ได้ เราทำให้คนจำชื่องานมากกว่าชื่อศิลปิน เราได้กลยุทธ์นี้มาจากงานแรกที่ทำ เรารู้ว่าคนสนใจคอนเซ็ปต์ งานแรกผมล้มเพราะผมไปหวังพึ่งคนอื่น หวังว่าศิลปินมีชื่อเสียงจะดึงคนได้ สุดท้ายไม่ได้ พอมาทำปาร์ตี้ครั้งแรกไม่มีศิลปินมีชื่อเสียงเลย ผมได้เห็นว่าคอนเซ็ปต์และเอ็กซ์พีเรียนซ์สำคัญที่สุด ผมก็เลยยึดตรงนั้นมาตลอด”

ทั้งหมดที่บาสบอกเล่ามา อธิบายได้ดีว่าอะไรบ้างที่ทำให้ ZAAP Party ประสบความสำเร็จ เป็นชื่อที่คนนึกขึ้นมาอันดับแรกเมื่อนึกถึงงานคอนเสิร์ตที่เป็นรูปแบบ “ปาร์ตี้คอนเสิร์ต”

CEO ZAAP Party หนึ่งในวิทยากรที่จะขึ้นพูดในงาน Beyond Experience พลิกประสบการณ์ พลิกเกมธุรกิจ

คลิกลิงก์เพื่อซื้อบัตร https://www.eventpassinsight.co/…/publics/create/visitor/mg…