เฟนเวย์สปอร์ตส์กรุ๊ป ทีมบริหารผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จลิเวอร์พูล

Photo by John Powell/Liverpool FC via Getty Images

ภาคิน วลัยวรางกูร : เรื่อง

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หากพูดถึงชื่อสโมสรฟุตบอล “ลิเวอร์พูล” เราจะเห็นแต่ภาพประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ ซ้อนทับกับภาพผลงานที่กระท่อนกระแท่น เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย ห่างไกลจากความสำเร็จมานาน ถึงแม้ว่าจะมีนักเตะฝีเท้าเยี่ยมอย่าง สตีเวน เจอร์ราร์ด (Steven Gerrard) อยู่ในทีมก็ตาม

ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ยักษ์ใหญ่ที่เคยหลับใหลตัวนี้กำลังตื่นขึ้นมาอย่างเกรี้ยวกราด ซึ่งถ้าวัดกันตามผลงานแล้ว จะบอกว่าลิเวอร์พูลเป็นสโมสรฟุตบอลที่ดีที่สุดในเวลานี้ก็คงไม่ใช่เรื่องเกินเลยไปนัก เพราะพวกเขาเพิ่งคว้าถ้วยยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก สมัยที่ 6 ของสโมสร ในฤดูกาลที่ผ่านมา และกำลังจะคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกที่เฝ้าคอยมาถึง 30 ปี

ตัวแปรที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ลิเวอร์พูลก้าวขึ้นมาในจุดนี้ได้ คือ การเข้ามาเทกโอเวอร์สโมสรของกลุ่มเฟนเวย์สปอร์ตส์ (Fenway Sports Group หรือ FSG) บริษัทบริหารกิจการด้านกีฬาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2010

ที่น่าสนใจ คือ บริษัทนี้ไม่ใช่กลุ่มที่มีเงินถุงเงินถังอย่าง โรมัน อับราโมวิช (Roman Abramovich) เจ้าของทีมเชลซี หรือ ชีค มันซูร์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน (Mansour Bin Zayed Al Nahyan) เจ้าของแมนเชสเตอร์ซิตี้ แต่กลุ่มเฟนเวย์สปอร์ตส์ที่นำโดย จอห์น ดับเบิลยู. เฮนรี (John W. Henry) สามารถทำให้ลิเวอร์พูล สโมสรฟุตบอลที่เคยเกือบจะล้มละลายด้วยหนี้สินราว 260 ล้านเหรียญสหรัฐ ฟื้นขึ้นมามีกำไร และมีมูลค่าในปัจจุบันอยู่ที่ 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐ พวกเขาทำได้อย่างไร

Photo by Harold Cunningham – UEFA/UEFA via Getty Images

Boston Red Sox Model

สิ่งที่กลุ่มเฟนเวย์สปอร์ตส์เคยทำสำเร็จมาก่อนหน้านั้น คือ การซื้อสโมสรเบสบอลทีมบอสตันเรดซอกซ์ (Boston Red Sox) ทีมดังในประเทศสหรัฐอเมริกา และทำให้ทีมกลับมาชนะการแข่งขันเบสบอลเวิลด์ซีรีส์ หลังจากที่ห่างหายความสำเร็จไปนานถึง 86 ปี

เฟนเวย์สปอร์ตส์เห็นภาพเดียวกันนี้กับสโมสรลิเวอร์พูล นั่นก็คือความยิ่งใหญ่ที่เคยมีในอดีต และการรอคอยความสำเร็จ แต่สิ่งที่ลิเวอร์พูลมีมากกว่า คือ มีสาวกผู้ติดตามหลายร้อยล้านคนทั่วโลก อีกทั้งพรีเมียร์ลีกยังเป็นลีกฟุตบอลที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในโลก ยอดผู้ชมในศึกแดงเดือดมีผู้ชมราว 1,000 ล้านคน มากกว่าผู้ชมการแข่งขันซูเปอร์โบว์ล (Super Bowl) ของประเทศสหรัฐอเมริกาถึง 9 เท่า

ถึงแม้ว่าในตอนนั้น ลิเวอร์พูลจะอยู่ในช่วงตกต่ำด้วยผลงานในสนามและการบริหารงานนอกสนามของเจ้าของเดิม แต่สิ่งเหล่านี้กลับทำให้มูลค่าของสโมสรที่กลุ่มเฟนเวย์สปอร์ตส์ต้องจ่าย เหลือเพียงราว 326 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นมูลค่าที่เหมือนได้เปล่าเมื่อเทียบกับต้นทุนทางประวัติศาสตร์และจำนวนผู้ติดตามที่สโมสรมี เฮนรีเคยส่งอีเมล์ถึงบรรดานักลงทุนว่า “ถ้าเราสามารถปิดดีลนี้ได้ ผมรู้สึกราวกับว่าเรากำลังขโมยแฟรนไชส์นี้อยู่”

ด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ นี้ ทำให้กลุ่มเฟนเวย์สปอร์ตส์มั่นใจว่า พวกเขาจะสามารถใช้วิธีที่เคยทำสำเร็จมาแล้วกับบอสตันเรดซอกซ์ มาปรับใช้กับลิเวอร์พูลได้ ผนวกกับการที่ทางสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ประกาศใช้กฎความยุติธรรมทางการเงิน (financial fair play) ในปี 2010 ยิ่งทำให้พวกเขาเชื่อว่าจะสามารถทำให้ลิเวอร์พูลต่อกรกับทีมที่มีเงินถุงเงินถังอย่างเชลซี และแมนเชสเตอร์ซิตี้ หรือแม้กระทั่งคู่ปรับตลอดกาลอย่างแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ที่ครองความยิ่งใหญ่ในเวลานั้นได้ โดยการประยุกต์ใช้ทฤษฎี “มันนี่บอล” (Moneyball)

Moneyball การเฟ้นหาผู้เล่นที่เหมาะสมที่สุดในราคาที่ถูกที่สุด

ทฤษฎีมันนี่บอล มีจุดเริ่มต้นมาจากทีมเบสบอล โอ๊กแลนด์แอทเลติกส์ (Oakland Athletics) ในช่วงที่ทีมตกต่ำ งบประมาณมีจำกัด ไม่สามารถใช้เงินฟาดซื้อผู้เล่นระดับสูงที่ต้องการได้ บิลลี่ บีน (Billy Beane) ผู้จัดการทีมจึงใช้วิธีการนำสถิติของผู้เล่นแต่ละคนในด้านต่าง ๆ มาวิเคราะห์อย่างจริงจัง เพื่อเฟ้นหาผู้เล่นที่ทีมต้องการมากที่สุด แทนที่จะหาผู้เล่นที่เก่งที่สุด ทำให้พวกเขาสามารถซื้อผู้เล่นที่เหมาะสมกับทีมมาได้ในราคาที่ไม่สูง และวิธีการนี้ก็ได้ผล จนทำให้ทีมมีสถิติชนะรวด 20 เกมในลีกได้

Photo by Oli SCARFF / AFP

กลุ่มเฟนเวย์สปอร์ตส์นำสิ่งนี้มาปรับใช้กับบอสตันเรดซอกซ์จนประสบความสำเร็จ แล้วพวกเขาก็นำทฤษฎีนี้มาใช้กับสโมสรลิเวอร์พูลด้วย หลังจากที่เข้ามาเทกโอเวอร์ในปี 2010 กลุ่มเฟนเวย์สปอร์ตส์เริ่มต้นด้วยการลงทุนในทีมวิเคราะห์ข้อมูล โดยการจ้างหัวหน้าทีมชื่อ เอียน เกรแฮม (Ian Graham) และลูกทีมฝีมือดีอีก 3 คน การที่กลุ่มเฟนเวย์สปอร์ตส์จ้างทีมงานถึง 4 คน แสดงให้เห็นถึงความจริงจังในการสร้างฐานข้อมูลของตัวเองที่จะนำมาปรับใช้กับสโมสรเพื่อสร้างความแตกต่าง

ผลงานชิ้นแรก คือ การคว้าตัว ฟิลิปเป้ คูตินโญ่ (Philippe Coutinho) ปีกซ้ายชาวบราซิลจากสโมสรอินเตอร์มิลานมาในราคาเพียง 8.5 ล้านปอนด์ ในปี 2013 และสามารถขายให้กับสโมสรบาร์เซโลนาได้ในราคา 142 ล้านปอนด์ ในปี 2018 ได้กำไรเกือบ 16 เท่า ซึ่งการที่คูตินโญ่มีผลงานอย่างก้าวกระโดด ก็เป็นผลทางอ้อมจากทีมวิเคราะห์ข้อมูลนี้อีกเช่นกัน

นอกจากวิเคราะห์ข้อมูลนักเตะแล้ว พวกเขายังวิเคราะห์ข้อมูลผู้จัดการทีม เพื่อเฟ้นหาคนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับลิเวอร์พูลด้วย คนคนนั้นก็คือ เยอร์เก้น คลอปป์ (Jurgen Klopp) ที่เข้ามาเป็นผู้จัดการทีมในปี 2015

ถึงแม้ว่าผลงานของคล็อปป์กับทีมโบรุสเซีย ดอร์ตมุนด์ ในฤดูกาลก่อนหน้าจะไม่สู้ดีนัก เขาพาทีมจบอันดับ 7 ในลีกเท่านั้น แต่ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกบอกว่า ด้วยสถิติการครองบอล การยิงเข้ากรอบ ฯลฯ ดอร์ตมุนด์ควรจะจบอันดับที่ 2 แต่พวกเขาแค่โชคไม่ดีเท่านั้น

ในยุคของคล็อปป์ เขาสามารถดึงศักยภาพของคูตินโญ่ออกมา ให้กลายเป็นแข้งที่มีฝีเท้าระดับโลก เป็นที่มาของการทุ่มเงิน 142 ล้านปอนด์ของบาร์เซโลนา ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว ลิเวอร์พูลสามารถนำไปทุ่มซื้อนักเตะฝีเท้าดีที่ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลมาแล้วว่าจะช่วยอุดรอยรั่วของทีมได้ ไม่ว่าจะเป็น เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ก (Virgil Van Dijk) ราคา 75 ล้านปอนด์ และ อลิสสัน เบ็กเกอร์ (Alisson Becker) ราคา 65 ล้านปอนด์ ซึ่งในปัจจุบันทั้ง 2 คน คือ หนึ่งในกองหลังและผู้รักษาประตูที่ดีที่สุดในโลก

หรืออย่างในรายของ โมฮาเหม็ด ซาลาห์ (Mohamed Salah) ที่ทีมวิเคราะห์ว่าจะสามารถเล่นได้อย่างเข้าขากับ โรแบร์โต้ ฟีร์มิโน่ (Roberto Firmino) ซึ่งหลักฐานก็คือ ในปีแรกที่ย้ายมาร่วมทีม ซาลาห์ก้าวขึ้นมาเป็นดาวซัลโวสูงสุดของพรีเมียร์ลีก 2 ฤดูกาลติดต่อกัน (2017-2018 และ 2018-2019)

อีกหนึ่งตัวอย่างของการซื้อผู้เล่นที่เหมาะสมที่สุดมาในราคาที่ถูกที่สุด คือ การคว้าตัว แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน (Andrew Robertson) จากทีมตกชั้นอย่างฮัลล์ซิตี้ มาในปี 2017 ด้วยราคาเพียง 8 ล้านปอนด์เท่านั้น แต่ในปัจจุบัน เขาคือหนึ่งในผู้เล่นตำแหน่งฟูลแบ็กที่ดีที่สุดในโลก มีมูลค่าประเมินอยู่ที่ราว 80 ล้านปอนด์

Photo by Anthony Devlin / AFP

Data Science สู่ชัยชนะในสนาม

ไม่ใช่แค่การวิเคราะห์นักเตะและผู้จัดการทีมเท่านั้น พวกเขายังเก็บข้อมูลสถิติที่เกิดขึ้นในสนาม เพื่อวิเคราะห์แท็กติกที่ลงตัวที่สุดอีกด้วย

หนึ่งในตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดจากการนำวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data science) มาใช้ คือ ตอนที่ต้องเผชิญหน้ากับบาร์เซโลนาในรอบ 4 ทีมสุดท้ายของศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2018-2019 ในนัดแรก พวกเขาบุกไปพ่ายถึง 0-3 ในถิ่นคัมป์นู ถึงแม้ว่ายังเหลืออีกหนึ่งเกมที่แอนด์ฟิลด์ แต่การต้องเอาชนะยอดทีมอย่างบาร์เซโลนา ที่มีสุดยอดนักเตะอย่าง ลิโอเนล เมสซี่ (Lionel Messi) ให้ได้สกอร์ 3-0 เพื่อต่อเวลา หรือ 4-0 เพื่อเอาชนะนั้น แทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ก่อนเกมดังกล่าว พวกเขาถึงขั้นวิเคราะห์ข้อมูลการทำงานของเด็กเก็บบอลในสนามแอนด์ฟิลด์ดูว่า ในเกมก่อนหน้า มีจุดที่ควรแก้ไขตรงไหนบ้าง พวกเขาจะมีส่วนในการสร้างโอกาสที่ดีให้กับลิเวอร์พูลได้อย่างไรบ้าง นอกจากนั้น พวกเขายังสังเกตเห็นว่า ในเกมที่คัมป์นู ผู้เล่นทีมบาร์เซโลนามักจะเหม่อในช่วงก่อนการเตะมุม หรือการตั้งเตะ พวกเขาใช้ข้อได้เปรียบจาก “ข้อมูล” เหล่านี้ในจังหวะที่ทีมนำบาร์เซโลนาอยู่ 3-0 พวกเขาได้ลูกเตะมุมในนาทีที่ 79 เด็กเก็บบอลรีบส่งบอลให้ เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ (Trent Alexander-Arnold) ในจังหวะที่ผู้เล่นทีมบาร์เซโลนากำลังเหม่อ เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ ชิงจังหวะลักไก่ เปิดบอลเร็วให้กับ ดิว็อก โอริกี (Divock Origi) ซัดบอลเข้าไปตุงตาข่าย จนกลายเป็นประตูประวัติศาสตร์ ทำให้ลิเวอร์พูลมีสกอร์รวมในรอบนั้นอยู่ที่ 4-3 พลิกเข้ารอบไปชิงแชมป์กับสเปอร์ส และคว้าถ้วยยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ใบที่ 6 มาครองได้สมใจ


สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องราวบางส่วนเท่านั้นที่แสดงให้เห็นว่า กลุ่มเฟนเวย์สปอร์ตส์ทำอย่างไรถึงพาลิเวอร์พูลประสบความสำเร็จ หากย้อนกลับไปในวันที่พวกเขาเข้ามาเทกโอเวอร์สโมสรแล้วบอกว่า พวกเขาจะนำหลักการที่เคยใช้ในการบริหารทีมเบสบอลมาปรับใช้กับทีมฟุตบอล และจะทำให้ลิเวอร์พูลคว้าแชมป์ภายในเวลา 10 ปี คงยากที่จะเชื่อ แต่พวกเขายึดมั่นและเดินตามหลักการที่ตัวเองเชื่อ จนในวันนี้ทำให้ลิเวอร์พูลขึ้นมาเป็นทีมที่กำลังจะคว้าแชมป์ แบบทิ้งห่างคู่แข่งในลีกหลายสิบแต้ม