ทำไมไฟป่าเชียงใหม่ปีนี้ รุนแรงและแก้ยากกว่าที่ผ่านมา

ภาคิน วลัยวรางกูร : เรื่อง

ตั้งแต่ก่อนหน้าที่เราจะได้รู้จัก PM 2.5 กัน เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่เผชิญหน้ากับปัญหาฝุ่นควันนี้มาโดยตลอด ซึ่งหนึ่งในต้นตอที่สำคัญของปัญหาฝุ่นควันในจังหวัดเชียงใหม่ก็คือปัญหาไฟป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ ค่าฝุ่นควันที่พุ่งทะลุสูงเกินค่าปกตินับสิบเท่า สอดคล้องกับสถานการณ์ไฟป่าที่ดูจะมีความรุนแรงกว่าในปีก่อน ๆ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครหลายรายบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่หลายคนเสียชีวิตในหน้าที่ หรือล่าสุดที่มีเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าผูกคอเสียชีวิต

ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันเป็นปัญหาเรื้อรังที่มีแนวโน้มว่าชาวเชียงใหม่อาจจะต้องเผชิญกับปัญหานี้ต่อเนื่องไปอีกทุกปี

เกิดอะไรขึ้นกับจังหวัดเชียงใหม่กันแน่ ? ฉบับนี้ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ต่อสายไปยังหลายบุคคล ทั้งในภาครัฐและภาคประชาชน เพื่อค้นหาว่าจริง ๆ แล้วมันเกิดอะไรขึ้น ทำไมปัญหาในปีนี้ถึงรุนแรงกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา แล้วจะต้องทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหานี้

ต้นตอของไฟป่าที่เชียงใหม่

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือหมอหม่อง หนึ่งในผู้เคลื่อนไหวด้านปัญหาไฟป่าทางภาคเหนือมาอย่างยาวนานให้ข้อมูลว่า ไฟป่าเกิดได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุหนึ่งคือ ไฟป่าจากป่าเต็งรัง ซึ่งเป็นป่าที่ปรับตัวจากการใช้ไฟของมนุษย์มานับพันปีแล้ว เป็นวัฒนธรรมที่คนที่อยู่ในป่าเผาเพื่อให้มีหญ้าระบัด เพื่อการล่าสัตว์ การหาของป่า เก็บเห็ดเผาะ และอีกหลายเหตุผลที่ทำกันต่อเนื่องมาจากอดีต

แต่ปัญหาคือ ในปัจจุบัน ไฟป่าไม่ได้ไหม้อยู่แค่ในบริเวณป่าเต็งรังเท่านั้น แต่ลุกลามเข้าไปสู่ป่าประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ได้ปรับตัวกับไฟมาเป็นเวลานาน เช่น ป่าดิบเขาหรือป่าดิบแล้ง ซึ่งป่าชนิดนี้ไม่เกิดไฟป่าตามปกติ ซึ่งการที่ป่าดิบเขาหรือป่าดิบแล้งเกิดไฟป่าก็มีความเป็นไปได้มาจาก 2 ปัจจัยใหญ่คือ 1.การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก เมื่ออุณหภูมิของโลกสูงขึ้น เกิดความแห้งแล้ง ทำให้เกิดไฟป่าได้ง่ายขึ้น 2.การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรทำให้มีการรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ป่ามากขึ้น รวมถึงหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า จะมีการกลั่นแกล้งอะไรกันระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่หรือไม่

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ ชี้ว่า หนึ่งในปัญหาที่แท้จริงคือความไม่เข้าใจกันระหว่างชุมชนที่มีชีวิตอยู่ในป่ากับวิธีคิดแบบรัฐซึ่งใช้กฎหมายนำ ตัวอย่างเช่น มาตรการห้ามเผา ที่ทำให้การเผาทั้งหมดเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ธรรมชาติของป่าผลัดใบ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ต้องมีไฟป่าเกิดขึ้นเป็นธรรมดาอยู่แล้ว รวมถึงการผลิตของชุมชนที่อยู่บนดอยบางส่วนก็ต้องเผาเพื่อการทำไร่หมุนเวียน เป็นการเผาในลักษณะเพื่อการยังชีพ แต่เมื่อการเผาเป็นเรื่องผิดกฎหมายจากมาตรการที่เกิดขึ้น ทำให้มีการแอบเผา แอบจุดไฟ บางครั้งชาวบ้านอยากจะจุดแค่เฉพาะไร่ตัวเองก็จุดไม่ได้ ต้องออกไปจุดจากที่ไกล ๆ ให้ลามมาถึงไร่ของตัวเอง ยิ่งทำให้เกิดไฟป่าได้ง่ายขึ้น

ทำไมไฟป่าปีนี้ถึงรุนแรงกว่าทุกปี ?

อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เป็นอีกหนึ่งพื้นที่เกิดไฟป่าขึ้นในปีนี้และได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง คาดการณ์ความเสียหายถึงกว่า 2,400 ไร่ และในเวลาต่อมาถึงแม้ว่าสถานการณ์ที่ดอยสุเทพจะดีขึ้นแล้ว แต่ในอีกหลายพื้นที่ยังคงน่าเป็นห่วง

นาย ก. (นามสมมุติ) หนึ่งในเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครดับไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่ สละเวลามาพูดคุยกับเราในขณะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ดับไฟในพื้นที่สูงชันที่ยากต่อการเข้าถึง (รวมถึงอับสัญญาณโทรศัพท์ด้วย) เขาชี้ว่า สาเหตุที่ไฟป่าปีนี้หนักกว่าปีก่อน ๆ เป็นเพราะว่าในปีที่ผ่านมา เริ่มมีการรณรงค์ไม่ให้เผา จึงเกิดการสะสมของเชื้อเพลิงในป่า เมื่อเกิดไฟป่าขึ้นจึงยากต่อการดับไฟและควบคุมไม่ให้ลุกลาม เพราะเชื้อเพลิงในป่าสะสมจนมีจำนวนมากนั่นเอง

ด้านนายชัชวาลย์ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า ชาวบ้านเรียกสถานการณ์ไฟป่าในปีนี้กันว่า “ไฟดุ” เกิดจากสภาพอากาศแห้งแล้ง มีภาวะความร้อนสูง ตรงนี้ทำให้เกิดไฟไหม้ที่ค่อนข้างแรง มีลักษณะไฟสูง จากที่ปกติพื้นที่ป่าดิบชื้นจะไม่ค่อยเกิดไฟป่า แต่เมื่อเกิดความแห้งแล้ง ป่าดิบชื้นเหล่านี้ที่สะสมเชื้อเพลิงมานานที่เคยชื้นมาก่อนก็ทำให้ติดไฟง่าย เร็วและแรง ลามไปถึงเฟิร์นและพืชที่เกาะตามกิ่งไม้ เกิดเป็นปรากฏการณ์ไฟเรือนยอด และไฟลงใต้ดิน ซึ่งไฟมีลักษณะคุ ไหม้ตออยู่ 7-10 วัน เมื่อเจ้าหน้าที่มาดับไฟเสร็จ กลับไปแล้ว ตอเหล่านี้ก็ปะทุขึ้นเป็นไฟป่าอีก

ด้าน นพ.รังสฤษฎ์ แสดงความเห็นว่า ช่วง 2 ปีมานี้ถือว่าเป็นช่วงที่แห้งแล้งมาก ถึงแม้ปีนี้สถานการณ์ไฟป่าจะมีความรุนแรง แต่จะแรงกว่าปีที่ผ่านมาหรือไม่ ยังไม่สามารถสรุปได้ เพราะถ้าเอาข้อเท็จจริงมาดู ก็ต้องดูพื้นที่ hotspot ว่ามีจำนวนแตกต่างจากปีที่แล้วหรือไม่ ซึ่งจะสามารถสรุปได้ตอนปลายฤดูกาล

ความยากในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีข่าวต่าง ๆ มากมายทั้งข่าวเจ้าหน้าที่ถูกต้นไม้ล้มทับ ถูกไฟคลอก เป็นลมหมดสติเส้นเลือดในสมองแตก และการจบชีวิตตัวเองโดยเขียนจดหมายตัดพ้อการทำงานและบอกลาครอบครัว เหตุการณ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการทำงานดับไฟป่าเป็นงานที่มีความเสี่ยงสูง มีความกดดันทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ

“พื้นที่ในความรับผิดชอบของเรามันกว้างใหญ่นะครับ ถึงแม้จะมีงบประมาณ แต่ก็ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ อย่างพื้นที่ผม หน่วยผมมีเจ้าหน้าที่อยู่ 6 คน แต่ต้องดูแลพื้นที่แสนกว่าไร่ แล้วก็อุปกรณ์สนับสนุนอย่างเช่นเครื่องเป่าลมเพื่อดับไฟ ที่สนับสนุนเข้ามาในจำนวนที่จำกัด ยิ่งทำให้ปฏิบัติการเป็นไปได้ยาก” นาย ก.ชี้ให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องกันของจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานกับอาณาบริเวณพื้นที่ที่ต้องดูแล รวมถึงความไม่พร้อมของอุปกรณ์ที่ใช้

ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ให้ข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่ 1 คน ต้องดูแลพื้นที่นับหมื่นไร่ ซึ่งก็มีทั้งบริเวณที่สูงชัน รวมถึงความไม่พร้อมของอุปกรณ์ที่ใช้ในการดับไฟ

“ต้องยอมรับว่าเครื่องไม้เครื่องมือที่เจ้าหน้าที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอ รวมถึงศักยภาพของหน่วยดับไฟที่เล็กมาก เข้าใจว่าเป็นแค่ระดับสำนักควบคุมไฟป่า ซึ่งทางสภาลมหายใจฯ ก็พยายามเสนอกันอยู่ว่าจะสามารถยกระดับหน่วยงานเหล่านี้ขึ้นมาได้มากน้อยแค่ไหน”

นอกจากเรื่องของกำลังพลและอุปกรณ์ที่ไม่เพียงพอแล้ว ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ความร้อน ฝุ่น ควัน เป็นอุปสรรคที่สำคัญ ในการปฏิบัติหน้าที่ดับไฟป่า นาย ก.ต้องใช้เงินเดือนของตัวเองซื้อหน้ากากกันควันและเจลทาผิวเพื่อบรรเทาความร้อนจากบาดแผลที่เกิดจากไฟไหม้ ยังไม่นับรวมเรื่องของเสบียงอาหารที่การบริจาคยังไม่เพียงพอ และต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐอีกมาก

ภาครัฐต้องตั้งใจแก้ปัญหามากกว่ารักษาภาพลักษณ์

“รัฐบาลมองไฟป่าเป็นอุบัติภัย กฎหมายมีอยู่แค่นั้น เรียกว่าการบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งมีช่วงเวลาในการทำงานเพียง 2 เดือน พอครบ 2 เดือน เรื่องจบ ก็หยุดทำ พอถึงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ ก็มาเริ่มกันใหม่ จัดเป็นแบบอีเวนต์ แต่นี่มัน 12 ปีต่อเนื่องแล้วนะครับ” นายชัชวาลย์ฉายภาพการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

สอดคล้องกับที่หมอหม่องให้ความเห็นว่า “การจัดการของรัฐบาลในพื้นที่ตรงนี้ไม่ทันกับความรุนแรงของปัญหา ทรัพยากร เจตจำนงทางการเมือง ทุกอย่างไม่สาสมกับระดับความรุนแรงของปัญหา มันไม่ได้ถูกจัดการเพื่อต้องการจะแก้ปัญหาจริง ๆ หรือเวลาที่ประชาชนเดือดร้อน ทางราชการก็จะรู้สึกเดือดร้อนเรื่องภาพลักษณ์มากกว่าที่จะมองให้เห็นว่าปัญหาที่ต้องแก้ไขจริง ๆ คืออะไร เป็นห่วงภาพลักษณ์เสียเยอะ เป็นเรื่องธรรมดาของราชการไทยซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ต้องปรับ”

“เราต้องเริ่มจากยอมรับความจริงตามสภาพที่มันเป็นจริง ๆ นะครับ” หมอหม่องเสริม พร้อมอธิบายว่า รัฐบาลยังไม่ยอมรับตามสภาพความเป็นจริงว่าสถานการณ์ฝุ่นควันจะส่งผลกระทบทางสุขภาพในระยะยาว ไม่ใช่แค่เรื่องอาการแสบตา เจ็บคอ น้ำมูกไหล แต่เป็นเรื่องของโรคหัวใจ หลอดเลือดตีบตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็งปอด ฯลฯ ที่จะตามมามากมาย

นพ.รังสฤษฎ์บอกอีกว่า ทางออกของปัญหามีมากมาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องแก้ทางด้านนิติศาสตร์ หรือการใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว ยังมีทางออกด้านกลไกทางเศรษฐกิจ เช่น การปรับเปลี่ยนพืช การลดต้นทุนการผลิต หรือการเข้ามาสนับสนุนการไถกลบหน้าดินที่มีต้นทุนสูงกว่า แต่สามารถลดการเผาไร่หมุนเวียนได้ รวมถึงการแก้ปัญหาระดับนโยบายที่ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเพื่อเศรษฐกิจให้ลดระดับลงมาอยู่ปริมาณที่พอดี ไม่เอื้อประโยชน์ต่อคนกลุ่มใดมากจนเกินไป

ฝั่งประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่กล่าวว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นคือวิธีคิดและทัศนคติของการอนุรักษ์ป่าแบบสุดขั้วเกินไป เขียวไม่เอาคน กับป่าในทางเศรษฐกิจ มันฉีกไปเป็นสองทาง แต่ในความเป็นจริง คนสามารถอยู่กับป่าได้ แต่ว่าต้องใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนด้วย ซึ่งหลักการแบบนี้ยังไม่ถูกสถาปนาในกฎหมายอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเขตป่าอนุรักษ์”