เดิน “ราชดำเนิน” ค้นเรื่องราวในสถาปัตย์คณะราษฎร มรดกยุคสร้างชาติที่กำลังถูกทำลาย

 รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง/ภาพ
ศิลปะและสถาปัตยกรรมแต่ละยุคสมัยล้วนมีเรื่องราวเนื้อหาที่เชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวทางการเมือง-สังคม หรือความเชื่อ-อุดมการณ์บางอย่าง ณ ช่วงเวลานั้น ๆ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ศิลปะและสถาปัตยกรรมที่พบเห็นในประเทศไทยเราก็เป็นเช่นนั้นมาตลอด จากภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ มาจนถึงช่อฟ้า ใบระกา ลายไทย ล้วนแต่มีความหมายแฝงอยู่


ผ่านยุคสยามเก่าก้าวเข้าสู่ยุค “ไทยใหม่” หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ศิลปะและสถาปัตยกรรมยังคงสะท้อนนัยเนื้อหาอย่างที่เคยเป็น เพียงแต่รูปแบบของศิลปะและเมสเสจที่สื่อสารเปลี่ยนไปจากเดิม

ช่วงเวลา 15 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. 2475-2490) เป็นยุคที่เกิดงานศิลปะและสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า “ศิลปะและสถาปัตยกรรมคณะราษฎร” เป็นยุคสมัยทางศิลปะที่เต็มไปด้วยเรื่องราวน่าสนใจ แต่น่าเสียดายที่ไม่ค่อยมีใครศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงนั้นในมิติที่เชื่อมโยงกับศิลปะและสถาปัตยกรรม ขณะที่กระบวนการทุบรื้อทำลายชิ้นงานศิลปะ สถาปัตยกรรม และวัตถุที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรกำลังเดินหน้าไปเรื่อย ๆ และในอนาคตอาจจะไม่เหลือของจริงให้ศึกษาเลยก็เป็นได้

ชาตรี ประกิตนนทการ (คนซ้าย)

คนที่สนใจศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เห็นจะมีเพียง รศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เขียนหนังสือ “ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร”

จากหอประติมากรรมต้นแบบ กรมศิลปากร ไปยังประตูสวัสดิโสภา พระบรมมหาราชวัง แล้วเดินตามถนนราชดำเนินใน ผ่านศาลฎีกาไปยังราชดำเนินกลาง ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปสิ้นสุดที่ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ นี่คือเส้นทางศึกษาศิลปะและสถาปัตยกรรมยุคคณะราษฎร ซึ่ง “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้เดินตามหลัง พร้อมฟังการบรรยายของชาตรี ประกิตนนทการ ในกิจกรรม Book Walk “เรื่อง (ไม่ถูก) เล่าในประวัติศาสตร์ บนราชดำเนิน” จัดโดยสำนักพิมพ์มติชน เมื่อเร็ว ๆ นี้ และได้สรุปความมาให้อ่านกัน

ชาตรีให้ข้อมูลเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันว่า ยุคสมัยทางศิลปะที่เรียกว่า “ศิลปะและสถาปัตยกรรมคณะราษฎร” คือ ช่วงเวลาระหว่างปี 2475-2490 เท่านั้น ถึงแม้หลังปี 2490 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 แต่ก็ไม่ได้มาพร้อมอุดมการณ์ของคณะราษฎรอีกแล้ว ตรงกันข้าม กลับประนีประนอมกับระบอบเก่า ส่งผลให้สถาปัตยกรรมและงานศิลปะยุคหลัง 2490 ย้อนกลับไปสู่ศิลปะจารีตแบบยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์

 

ศิลปะและสถาปัตยกรรม : เครื่องมือสร้างชาติยุคคณะราษฎร

ชาตรีเล่าว่า หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หลวงวิจิตรวาทการซึ่งเป็นมันสมองด้านวัฒนธรรมของคณะราษฎร ต้องการโปรโมตให้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการสร้างชาติและสร้างระบอบประชาธิปไตย คณะราษฎรจึงให้ความสำคัญต่อ อ.ศิลป์ พีระศรี เป็นอย่างมาก และผลักดันให้โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ที่ อ.ศิลป์ก่อตั้งยกระดับเป็นมหาวิทยาลัย พร้อมกันนั้น กรมศิลปากร ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ก็ปรับโครงสร้างหน่วยราชการขนานใหญ่ เพื่อทำงานศิลปะสนองอุดมการณ์ของรัฐ

รูปแบบ ลักษณะของงานศิลปะในยุคคณะราษฎร เปลี่ยนแปลงจากศิลปะในยุคก่อนหน้าแบบตรงข้ามกันอย่างชัดเจน โดยศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมยุคคณะราษฎร ได้นำรูปแบบศิลปะอาร์ตเดโค (Art Deco) ที่ลดทอนรายละเอียดลง เหลือเพียงรูปทรงเรขาคณิต มาผสมผสานกับบริบททางการเมือง และการเคลื่อนไหวของสังคมไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

“ศิลปะยุคนี้มันแชร์กันไปหลายระบอบในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฟาสซิสต์ในอิตาลี นาซีที่เยอรมนีและโซเวียต เป็นงานที่เรียกว่าโมเดิร์นมูฟเมนต์โดยรวม แต่เราไม่ควรมองว่ามันเหมือนฟาสซิสต์ หรือนาซี หรือโซเวียต เพียงอย่างเดียว เราต้องเข้าใจความหมายที่สัมพันธ์กับบริบทสังคมไทยเราเอง เราไม่ควรเรียกมันว่า ศิลปะสมัยใหม่ ไม่ควรเรียกว่า อาร์ตเดโค ไม่ควรเรียกว่า ฟาสซิสต์อาร์ต แต่เราควรเรียกมันว่า ‘ศิลปะคณะราษฎร’ เพราะว่ามันมีเมสเสจบางอย่างที่ไม่เหมือนกัน” ชาตรีบอก 

ด้วยความที่คณะราษฎรตั้งใจให้งานศิลปะและสถาปัตยกรรมเป็นหนึ่งเครื่องมือในการสร้างชาติ งานศิลปะและสถาปัตยกรรมยุคคณะราษฎรจึงมีลักษณะอันมีนัยสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1.ประติมากรรมรูปบุคคลเน้นโชว์อานาโตมี่ของร่างกาย ซึ่งเป็นร่างกายแบบอุดมคติใหม่ในยุคสร้างชาติ คือเป็นร่างกายกำยำแข็งแรง ทำงาน สร้างฐานะ สร้างชาติ ต่างจากร่างกายในงานประติมากรรมยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งอ่อนช้อย เป็นลักษณะร่างกายของผู้มีบุญที่ไม่ต้องทำอะไรด้วยตนเอง

2.แทรกสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึง “หลัก 6 ประการของคณะราษฎร” อันประกอบด้วย เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา

3.สถาปัตยกรรมและประติมากรรมถูกออกแบบขึ้นด้วยเลขรหัสสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

 

กลุ่มอาคารศาลฎีกา : อนุสรณ์แห่งเอกราชทางการศาลของไทย

ผลงานสถาปัตยกรรมชิ้นสำคัญของคณะราษฎร คือ กลุ่มอาคารศาลฎีกา (เดิม) ณ ริมถนนราชดำเนินใน ซึ่งถูกทุบรื้อไปแล้ว

แน่นอนว่ากลุ่มอาคารศาลฎีกาเดิม มีคุณค่าและความสำคัญในแง่สถาปัตยกรรม แต่ความสำคัญและคุณค่าสูงสุดของกลุ่มอาคารแห่งนี้ คือ คุณค่าทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากกลุ่มอาคารแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานที่ระลึก “การได้เอกราชที่สมบูรณ์ทางการศาล” เมื่อปี พ.ศ. 2481

กลุ่มอาคารศาลฎีกายุคแรกสร้าง อาคารด้านหน้าคือศาลสถิตยุติธรรม ที่สร้างสมัย ร.5 (ภาพจากหนังสือ “ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร”)

ชาตรีเล่ารายละเอียดเรื่องนี้ว่า สืบเนื่องจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทำให้ไทยเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่อังกฤษรวมถึงคนชาติอื่นที่อยู่ในบังคับของอังกฤษ ซึ่งการที่ไทยไม่มีเอกราชทางการศาลนั้น หมายถึงประเทศไทยไม่มีเอกราชที่สมบูรณ์ เพราะอำนาจทางการศาลหรือตุลาการ เป็น 1 ใน 3 ของอำนาจอธิปไตย

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คณะราษฎรให้ความสำคัญและพยายามเรียกร้องตลอด เห็นได้จากหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ที่ยก “เอกราช” มาเป็นหลักแรก ดังนั้น ภารกิจแรกของคณะราษฎรหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ ปรีดี พนมยงค์ ทำการปรับปรุงประมวลกฎหมาย เพื่อจะทำให้ไทยมีเอกราชทางการศาล จนกระทั่งทำสำเร็จในปี 2481 ประเทศต่าง ๆ ยอมรับกฎหมายของไทย และยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทั้งหมด จึงถือว่าไทยมีเอกราชโดยสมบูรณ์

เมื่อไทยได้รับเอกราชทางการศาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เสนอว่า ควรสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อเป็นที่ระลึกการได้เอกราชที่สมบูรณ์ทางการศาล จึงมีการพัฒนากลุ่มอาคารด้านการยุติธรรมขึ้น ณ ริมถนนราชดำเนินใน บริเวณเดียวกันกับที่ตั้งอาคารศาลสถิตยุติธรรม ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยในตอนแรกสร้างกลุ่มอาคารศาลฎีกานั้น ไม่ได้ทุบศาลสถิตยุติธรรมหลังเดิมแแต่อย่างใด 

ศาลยุติธรรม เป็นเพียงส่วนเดียวในกลุ่มอาคารศาลฎีกาที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน

เมื่อผ่านพ้นยุคสมัยของคณะราษฎร มีความพยายามจะรื้อกลุ่มอาคารศาลฎีกาหลายครั้ง ชาตรี ประกิตนนทการ เป็นหนึ่งในคณะทำงานคัดค้านการรื้อ โดยมุ่งเหตุผลการคัดค้านไปที่คุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ว่า การได้รับเอกราชสมบูรณ์ทางการศาลเป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยที่ไม่ควรถูกลืม เช่นกันกับอาคารอันเป็นอนุสรณ์ที่ระลึกถึงเหตุการณ์นี้ก็ไม่ควรถูกรื้อถอนทำลาย ความพยายามของชาตรีและคณะสามารถยื้อชีวิตกลุ่มอาคารศาลฎีกาสำเร็จ ทำให้เรื่องเงียบไปครั้งหนึ่ง แต่ในที่สุดอาคารกลุ่มนี้ก็เริ่มถูกรื้อในปี 2555 โดยไม่ฟังเหตุผลและเสียงคัดค้านใด ๆ จากสังคม

ปัจจุบันเหลือเพียงอาคารศาลยุติธรรม เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาคารศาลฎีกาที่ได้รับการงดเว้นไม่รื้อถอนทำลาย ซึ่งส่วนที่เหลืออยู่นี้ถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญเพราะเป็นอาคารแรกในกลุ่มอาคารนี้ที่สร้างเสร็จ และด้านหน้าอาคารมีเสา 6 ต้น สื่อความหมายถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร นับว่าเป็นมรดกที่สำคัญของคณะราษฎรที่ยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบัน

 

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย : หลักกิโลเมตรที่ 0 จุดเริ่มต้นความเจริญของไทย

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งใจให้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นความเจริญแบบสมัยใหม่ของประเทศไทย จึงให้นับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นหลักกิโลเมตรที่ 0 ของประเทศไทย

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแสดงสัญลักษณ์ความเป็นประชาธิปไตยผ่านพานรัฐธรรมนูญ และทุกองค์ประกอบของอนุสาวรีย์สร้างขึ้นโดยมีเลขสหัสแฝงความหมายเกี่ยวกับคณะราษฎรและการเปลี่ยนแปลงการปกครองเอาไว้ ตัวอย่าง เช่น รัศมีกว้าง 24 เมตร และปีกทั้งสี่สูง 24 เมตร มาจากวันที่ 24 มิถุนายน ฝังปืนใหญ่ไว้โดยรอบจำนวน 75 กระบอก มาจากปี 2475 พานรัฐธรรมนูญสูง 3 เมตร มาจากเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือน 3 ในปฏิทินไทยในสมัยนั้น ป้อมเป็น 6 เหลี่ยม มีประตู 6 บาน ตรงกลางประตูเป็นรูปดาบ 6 เล่ม คือ หลัก 6 ประการของคณะราษฎร

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเปิดวันที่ 24 มิถุนายน 2483 ซึ่งเป็นปีที่ชาตรีแสดงความเห็นว่า “เป็นจุดสูงสุดของคณะราษฎร จอมพล ป. ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของชีวิต เป็นแกนนำคณะราษฎร เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นจอมทัพไทยในการทำสงครามอินโดจีนกับฝรั่งเศส และทำสงครามชนะ” หลังจากชนะสงครามอินโดจีนเพียงไม่กี่เดือน กองทัพญี่ปุ่นก็ยกทัพเข้าสู่ประเทศไทย จอมพล ป. จำเป็นต้องเข้าร่วมกับญี่ปุ่น และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นจุดเสื่อมของคณะราษฎร

 

ถนนราชดำเนินกลาง : สนามอุดมการณ์ทางการเมืองทุกยุคสมัย

“ถนนราชดำเนินเป็นสนามของอุดมการณ์ทางการเมืองเยอะมาก ไม่ใช่แค่อุดมการณ์ของคณะราษฎร แม้แต่ยุคอเมริกันก็แสดงออกบนถนนเส้นนี้ด้วยเช่นกัน” ชาตรีกล่าว ก่อนจะโชว์ภาพบรรยากาศถนนราชดำเนินในยุคอิทธิพลของอเมริกันให้ดู แล้วจึงย้อนกลับไปบรรยายลงดีเทลยุคคณะราษฎร

ชาตรีเล่าว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5-7 ถนนราชดำเนินกลางเป็นถนนที่ยังไม่มีการสร้างอาคาร มีเพียงห้างแบดแมนบริเวณหัวถนน เมื่อ จอมพล ป. ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงคิดเมกะโปรเจ็กต์ขยายถนนให้เป็น boulevard สองข้างทางทำเป็นอาคารพาณิชย์ โรงภาพยนตร์สมัยใหม่ และโรงแรม ต้องการให้เป็นถนนแห่งความทันสมัยและความเจริญในระบอบประชาธิปไตย โดยมีเซ็นเตอร์คืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

อาคารและกิจการที่สำคัญบนถนนราชดำเนินที่ยังถูกพูดถึงมาจนถึงทุกวันนี้ คือ โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย บริเวณท้ายถนน เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เปิดเมื่อปี 2493 แล้วถูกทุบรื้อเมื่อปี 2532

สถาปัตยกรรมสมัยคณะราษฎรริมถนนราชดำเนิน เป็นหลังคาทรงตัด ลดทอนรายละเอียดเหลือเพียงรูปทรงเรขาคณิต

“ตอนนั้นเป็นโรงหนังที่ทันสมัยที่สุดในเซาท์อีสต์เอเชีย และทันสมัยมากกว่าศาลาเฉลิมกรุง ที่รัชกาลที่ 7 ทรงสร้างมาก่อนหน้านั้น ดังนั้นจะเห็นว่า ศาลาเฉลิมกรุงกับศาลาเฉลิมไทย มีการแข่งขันเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง” ชาตรีบอกและแสดงความเห็นต่อว่า จึงไม่น่าแปลกใจที่ในปี 2532 เมื่อมีโครงการรีดีไซน์พื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยจึงถูกทุบ โดยมีความเห็นของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ปัญญาชนคนสำคัญแห่งยุค เป็นเสมือน “คำตัดสิน” ว่า “ควรทุบ”

“นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการรื้อถอนสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมคณะราษฎร โดยมีศาลาเฉลิมไทยเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ” นักวิชาการผู้มักศึกษาความเชื่อมโยงของสถาปัตยกรรมกับสังคมแสดงความเห็น

จากจุดเริ่มต้นการทุบ-รื้อ-ถอนสถาปัตยกรรมคณะราษฎรในวันนั้น กระบวนการนี้ก็ดำเนินเรื่อยมา… และไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลง