ฐากูร บุนปาน รองประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา เป็นความสูญเสียครั้งใหญ่มากของชาวมติชน ที่สูญเสียผู้นำคนเก่งผู้เต็มเปี่ยมด้วยความสามารถและวิสัยทัศน์ และสำหรับคนมติชนรุ่นใหญ่ ๆ นี่ยังเป็นการสูญเสียพี่ น้อง เพื่อนร่วมงาน ที่ทำงาน-ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันมานาน ผ่านเหตุการณ์ทั้งดีและร้ายมามากมาย ผ่านเวลามาหลายทศวรรษ
ถ้ามองออกไปนอกค่ายมติชน คนในวงการสื่อสารมวลชนต่างยอมรับกันว่า ฐากูร บุนปาน เป็นคนข่าวตัวจริง เป็นตำนานคนหนึ่งของวงการหนังสือพิมพ์เมืองไทย เป็นคนสื่อเก่าที่พาองค์กรและสื่อกระดาษหลายหัวในเครือก้าวเข้าสู่สมรภูมิสื่อใหม่ สู้กับความยากลำบาก สู้ในภูมิทัศน์ใหม่ที่ไม่คุ้นเคย และคว้าชัยในที่สุด
ความสำเร็จของสื่อในเครือมติชนภายใต้การนำทัพของฐากูร เป็นกรณีศึกษาที่ทำให้สื่อมวลชนสำนักอื่นสนใจมาสัมภาษณ์ฐากูรในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งฐากูรได้แสดงความเห็น แสดงวิสัยทัศน์เอาไว้อย่างน่าสนใจ ไม่เพียงแต่สำหรับมติชน แต่เป็นวิสัยทัศน์ที่มองภาพกว้างเผื่อเพื่อนฝูงวงการสื่อ โดยเฉพาะสื่อกระดาษที่เขาอยากให้อยู่รอดไปด้วยกัน
เมื่อต้นปี 2561 ฐากูรให้สัมภาษณ์กับ Voice TV Online ว่า การที่มติชนเลิกกิจการโรงพิมพ์และขนส่ง เพราะมองว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีคนพิมพ์หนังสือพิมพ์และส่งทั่วประเทศอยู่ 4 เจ้า ซึ่ง ณ เวลานั้น ทั้ง 4 เจ้าขาดทุนหมด เขาจึงมองว่าธุรกิจนี้ควรยุบเหลือเพียง 1-2 เจ้า เพื่อควบคุมต้นทุนการผลิตและการขนส่งของทุกบริษัทให้ลดลง
การที่มติชนสูญเสียฐากูร บุนปาน จึงนับว่าวงการสื่อไทยได้สูญเสียบุคลากรที่ยึดมั่นในหลักการ-จรรยาบรรณ เต็มเปี่ยมด้วยอุดมการณ์และความสามารถไปหนึ่งคน
สำหรับคนในบริษัทมติชน เราไม่ต้องรอฟังรออ่านจากการที่ผู้บริหารของเราให้สัมภาษณ์ เพราะเรามีโอกาสได้ฟังกันทุกปีอยู่แล้ว อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เนื่องจากจะมีหนึ่งวันในทุก ๆ ปลายปีที่หน่วยต่าง ๆ ภายในบริษัทมติชนจัดงานเลี้ยงปีใหม่เล็ก ๆ ของเราเอง และเป็นธรรมเนียมทุกปีที่ฐากูร บุนปาน จะมาพูดคุยกับพนักงานในแต่ละหน่วย แต่ละแผนก ซึ่ง “ประชาชาติธุรกิจ” เป็นหนึ่งในนั้นที่ “พี่โต้ง” มาพบปะและพูดคุยอย่างเป็นกันเอง แต่อัดแน่นด้วยเนื้อหาสาระที่บอกให้รู้ว่า เราจะเดินต่อไปอย่างไรในปีหน้าที่กำลังมาถึง
ปลายปี 2563 ที่ผ่านมา “พี่โต้ง” ไม่ได้มาหาพวกเราเหมือนเคย ด้วยเหตุผลเรื่องปัญหาสุขภาพที่คนในบริษัทรู้และเข้าใจ
งานปีใหม่ครั้งสุดท้ายที่พี่โต้งมาพบเจอและพูดคุยถึงแนวทางการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งนับว่าเป็นการให้โอวาทครั้งสุดท้าย ก็คือปีก่อนหน้านั้น ในช่วงค่ำของวันที่ 20 ธันวาคม 2562 และหลังจากนั้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ ในวันที่ 27 ธันวาคม 2562 ฐากูรก็ถอยจากตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการ” ไปเป็น “รองประธาน” และบริษัทได้แต่งตั้งให้ ปานบัว บุนปาน ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ต่อจากฐากูร
สิ่งที่ฐากูร หรือ “พี่โต้ง” กล่าวต่อหน้าชาวประชาชาติฯ ในวันนั้น เป็นการฉายภาพเป้าหมายและแนวทางการเดินหน้าของบริษัทมติชนในยุคที่ยากลำบากของธุรกิจสื่อ ในปี 2563 ที่คาดว่าจะแย่กว่า 2562 โดยที่ ณ เวลานั้นยังไม่มีใครทราบว่าจะมีโควิด-19 มาเป็นปัจจัยลบที่หนักหนาสาหัสขนาดนี้
“ผมเข้าใจว่าสถานการณ์โดยรวมทั้งโลก ทั้งประเทศ จะลำบากยากเข็ญกว่าปีนี้ ดูตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นไป แต่ให้จำไว้อย่างหนึ่งว่า ในทุกสงครามมีทั้งคนแพ้และคนชนะ มันสำคัญที่ตัวเราว่าเราอยากหรือเราพยายามจะไปยืนอยู่ฝั่งไหน ง่ายมากถ้าจะงอมืองอเท้ายอมรับความพ่ายแพ้ ไม่ต้องทำอะไร อยู่กันไปวัน ๆ แต่ 4-5 ปีที่ผ่านมา เราทั้งหมดในเครือมติชน ทั้งมติชน ประชาชาติฯ ข่าวสด และอื่น ๆ ทุกส่วนพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ถึงเวลาเมื่อจะต้องปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลง เราก็ทำได้ดีได้เร็วไม่แพ้ใคร
ปัญหามันมีอยู่ว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เราเผชิญ ที่เราเห็น มันแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ขึ้นมา มันยังมีผลต่อเนื่อง มันยังมีปัญหาที่ซุกเอาไว้ใต้พรมอีกเยอะ ผมเชื่อว่าน้อง ๆ ทุกคนพอเข้ามาเป็นนักข่าวแล้วก็ได้สัมผัสข้อมูล ข้อเท็จจริง ก็คงรู้ว่า สภาพแวดล้อมทั้งของโลก ทั้งของประเทศ มันลำบากยากเข็ญขนาดไหน สะตุ้งสตางค์มันหายากขนาดไหน แต่ถ้าได้พิสูจน์แล้วว่าเรามีความสามารถในการปรับตัว มันก็ไม่ควรจะมีข้อสงสัยว่า เราจะสามารถปรับตัวได้อีกหรือไม่
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ผมพยายามบอกกับพี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ ทุกคนในบริษัทว่า 3-4 ปีที่ผ่านมา เราได้เปรียบเพื่อนร่วมวิชาชีพที่อื่น ๆ ตรงที่เราตัดสินใจเร็วกว่า เราตัดสินใจว่าเราจะเปลี่ยนจะปรับองค์กรให้มันกระชับ ให้มันมีประสิทธิภาพขึ้น ให้มันตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงได้ตรงเป้ายิ่งขึ้น แล้วเราก็ทำได้ไม่เลวเลยทีเดียว แต่เท่านั้นไม่พอ โลกนี้มันไม่มีความลับ มันไม่มีสูตรวิเศษ อะไรที่เราเห็น เพื่อน ๆ ของเราที่อยู่ที่อื่นเขาก็เห็น ผู้บริหารที่อื่นก็เห็น อยู่ที่ว่าเขาจะเริ่มลงมือเมื่อไหร่ จริง ๆ เขาก็เริ่มลงมือผ่าตัดองค์กรกันเยอะแยะมากมายแล้ว
ประเด็นก็คือ ทำก่อน สำเร็จก่อน ไม่ได้แปลว่าชนะเสมอไปนะครับ ทำก่อน สำเร็จก่อน แล้วก็ยังต้องทำต่อ เราอาจจะได้เปรียบคนอื่นตรงที่ว่า ตอนที่ล้มลุกคลุกคลานด้วยกัน เรายืนหยั่งตัวขึ้นมาได้ก่อน เราออกเดินก่อน เราเริ่มวิ่งเหยาะแล้ว แต่เพื่อนฝูงหลายคนได้เปรียบเราในแง่หนึ่งคือ เขาเห็นตัวอย่างแล้วว่าเราได้ทำอะไรไปบ้าง มันทำให้เขาตัดสินใจง่ายขึ้น มีตัวอย่างทั้งสำเร็จและล้มเหลวให้ดู ก็เอาไปทำเฉพาะที่สำเร็จ ส่วนที่ล้มเหลวก็ไม่ทำ อีกอย่างหนึ่งคือ หลายกลุ่มหลายค่ายที่เป็นคู่แข่งเขามีสตางค์ มีนายทุนที่มีแบงก์ปึ๊งใหญ่กว่าเรา มันก็เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ในบางวิชาชีพ เงินมันไม่ใช่คำตอบสุดท้าย มันไม่ใช่สูตรสำเร็จ ไม่ใช่ว่ามีเงินแล้วจะทำหนังสือพิมพ์ที่ดี จะทำสื่อที่ดีได้ ปัจจัยมันอยู่ที่คน มันอยู่ที่พวกเรา มันอยู่ที่พวกคุณนี่แหละ
มีไม่กี่เรื่องเท่านั้นที่เราต้องทำต่อไป ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ผมว่าเป้าหมายของบริษัทชัดเจนมากในฐานะที่เป็นองค์กรสื่อ อย่างแรกเลยที่เราต้องทำก็คือ รักษาคุณภาพของคอนเทนต์ หรือยกระดับคุณภาพของคอนเทนต์ของเราให้ดีขึ้น ดีขึ้น และดีขึ้น พร้อมกับวัย พร้อมกับประสบการณ์ พร้อมกับความรู้ของทุกคนที่เพิ่มขึ้น นี่เป็นหลัก เป็นแก่น เป็นกระดูกสันหลังของเรา ถ้าคุณไม่มีคอนเทนต์ที่แข็งแรง ข่าวคุณไม่ซื่อสัตย์ ไม่ตรงไปตรงมา อย่าทำเลยอาชีพนี้ แล้วก็อย่าไปอิจฉาคนอื่นที่เขาไม่ทำ แล้วเขายังดูเหมือนกับอยู่ดี อยู่ได้ ของพวกนี้มันต้องดูกันระยะยาว หรืออาจจะไม่ต้องยาวมากก็ได้ ผมเข้าใจว่าความเปลี่ยนแปลงบางอย่างมันจะมาในไม่ช้า
เมื่อรักษาคุณภาพคอนเทนต์ที่ดีแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ เพิ่ม value added ให้แบรนด์ เครือมติชนถึงแม้จะมีประชาชาติธุรกิจเป็นหนังสือพิมพ์ธุรกิจ-เศรษฐกิจมานาน แต่โดยเนื้อแท้จิตวิญญาณแล้ว เราโตมาจากกองบรรณาธิการ เราเป็นนักข่าวมากกว่าเป็นนักธุรกิจ เพราะฉะนั้นที่ผ่านมา จุดอ่อนอันหนึ่งของเราก็คือ เวลาเป็นนักข่าวเราเจียมเนื้อเจียมตัว เวลาทำธุรกิจเราก็เผลอไปเจียมเนื้อเจียมตัวอีก ซึ่งมันเป็นสองเรื่องที่ไปด้วยกันไม่ได้ ทำธุรกิจบางทีมันก็ต้องกล้าได้กล้าเสีย
ประเด็นก็คือที่ผ่านมา เราขายของถูก เพราะฉะนั้น กำลังหรือสตางค์ที่จะเอามาพัฒนาโดยเฉพาะเรื่องคนมันก็น้อย ต่อไปหลักของเราคือทำอย่างไรจะขายให้ได้แพงขึ้น ทำอย่างไรจะเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทุกตัวของเราให้ได้มากขึ้น ใครเห็นช่องทาง ใครนึกอะไรได้ช่วยบอกกันด้วย เพราะว่าผู้บริหารส่วนใหญ่ของเราโตมาจากนักข่าว ไม่ได้เป็นนักธุรกิจเก่งกาจสามารถมาจากไหน ก็อาศัยลอกเลียนคนอื่น อาศัยประสบการณ์จากการนั่งสังเกต จากการดูคนอื่น จากการเก็บข้อมูลในฐานะนักข่าว แล้วมาปรับมาประยุกต์ใช้ ถ้าช่วยกันหลายหูหลายตา หลายมือมากขึ้นเท่าไหร่ มันก็ยิ่งดีเท่านั้น
อย่างที่สาม นอกจากคอนเทนต์กับเพิ่ม value added ให้แบรนด์ ผมว่าสิ่งที่เราต้องทำมาก ๆ ซึ่งจริง ๆ เราเริ่มทำแล้วก็คือ data ในฐานะเครือที่มีจำนวนผู้อ่านสูงสุดในขบวนสื่อด้วยกัน แต่ละวันมีผู้ชมผู้ดูในเว็บและในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ จำนวนมหาศาล ปัญหาก็คือคนอ่านคนดูจำนวนมหาศาลนี้ ถ้าเราไม่จัดการแยกแยะออกมาเป็นกลุ่มให้เป็นข้อมูลที่ใช้งานได้ มันก็จะเหมือนภูเขาขยะ แต่ถ้าแยกประเภทมันจะกลายเป็นของมีค่าขึ้นมา เรื่องนี้เราเริ่มทำไปแล้ว และคงจะทำมากขึ้น เราจะทำ segmentation ให้ชัด เพื่อที่จะขายของให้ได้แพงขึ้น มีกำลังมาเกื้อหนุนจุนเจือหรือพัฒนางานในบริษัทให้ได้มากขึ้น
ถ้าทำ 3 อย่างที่ว่านี้ได้ คือ รักษาและยกระดับคุณภาพคอนเทนต์ เพิ่ม value added ให้แบรนด์ จัดการ data ให้ดี และทำองค์กรข้างในให้แข็งแรง ผมเชื่อว่าต่อให้มีสงคราม มีดิสรัปต์มโหฬาร เราก็อยู่ได้ ประเด็นคือต้องทำให้ได้จริง ๆ ต้องทำให้ได้เร็ว และต้องทำอย่างต่อเนื่อง หยุดไม่ได้ วันนี้ชนะไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าพรุ่งนี้จะชนะ โดยเฉพาะในโลกดิจิทัลซึ่งเปลี่ยนเร็วนับกันเป็นวินาที อะไรที่เราคิดได้ เพื่อนฝูงเขาก็คิดได้ เพราะฉะนั้น คิดได้แล้วทำเลย ผมอ่านจากในประชาชาติฯนี่แหละ เรื่องปลาเร็วกินปลาช้า ไม่ใช่ยุคปลาใหญ่กินปลาเล็กแล้ว คิดได้ทำเลย ผิดไม่เป็นไร ผิดน้อยดีกว่าไม่ทำ แล้วมันผิดเยอะมหาศาล
ไม่แน่ใจว่าที่พูดมานี้เป็นการให้กำลังใจหรือบั่นทอนกำลังใจ แต่ว่ามันเป็นแนวทางที่เราต้องเดินไป ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ ไม่ว่าเราจะพอใจหรือไม่พอใจ ทางเลือกของเรามันมีอยู่ไม่มากนัก เพราะฉะนั้น ในทางเลือกที่ไม่มากนัก ยิ่งต้องทำให้มันดีที่สุด เร็วที่สุด และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องอึด ต้องถึก อันนี้เป็นคุณสมบัติของนักข่าวสมัยเก่า งานข่าวไม่มีวันจบ เหมือนหนังสือของคุณธนินท์ เจียรวนนท์ มันตรงกับงานเรามากที่สุด ‘ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว’ งานของพวกเราเผลอ ๆ ความสำเร็จดีใจได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง ดีใจได้ไม่เกินนาที เพราะเราอยู่กับข่าว เราไม่ได้เป็นคน manipulate เราไม่ได้เป็นคนสั่งให้มันเกิดขึ้นมา เราเป็นผู้รายงาน เราไม่รู้หรอกว่าอะไรจะเกิดขึ้น หน้าที่ของเรามีอย่างเดียวคือ เตรียมตัวให้พร้อม ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ต้องรับมือได้ ทำอันหนึ่งสำเร็จแล้ว ก็ต้องทำให้สำเร็จต่อไป ปีนภูเขาลูกนี้ได้แล้ว ก็ต้องเงยหน้ามองภูเขาที่สูงกว่าต่อไป ผมเชื่อว่าเราทำได้”
นี่คือสิ่งที่ พี่โต้ง-ฐากูร บุนปาน บอกกับพวกเราในคืนนั้น หลังจากบอกเล่าแนวทางการเดินหน้าของบริษัทจบแล้ว เขาก็บอกปิดท้ายเป็นการเปิดแง้มประตูเอาไว้ เผื่อใครมีอะไรอยากจะเสนอแนะ
“ที่พูดไป ถ้าไม่ถูกใจก็ขออภัย แต่ไม่ว่าจะถูกใจหรือไม่ถูกใจ ช่วยเอากลับไปคิดให้ดี และถ้ามีตรงไหนที่บกพร่อง หรือเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง โต้เถียงคัดง้างกันได้นะครับ ที่นี่เป็นบริษัทสื่อ เรายืนอยู่บนข้อมูลข้อเท็จจริง เราต้องเปิดกว้างรับฟังความเห็น ไม่ว่าจะเป็นของคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ คนรุ่นไหนก็ตาม ช่วยเก็บไปคิดนิดหนึ่งว่า ที่ผมพูดมามันใช่แน่หรือเปล่า ถ้ามันใช่ มันยังขาดตกบกพร่องอะไรไหม ถ้ามันไม่ใช่ มันมีอะไรที่เราจะช่วยเสริมให้ดีกว่านี้ได้ไหม ฝากเป็นการบ้านปีใหม่ของทุกท่าน ขอให้วันหยุดเทศกาลปีใหม่เป็นโอกาสดีของทุกท่านที่จะได้มีความสุขกับครอบครัว มีความสุขกับเวลาว่าง ซึ่งปกติในอาชีพนี้มันไม่ค่อยจะมี ขอให้แข็งแรงทั้งกายและใจ เพราะว่าปีหน้ามันหนักกว่าปีนี้ ขอให้โชคดีทุกท่าน สวัสดีปีใหม่ครับ”
ในวันที่พี่โต้งจากไป คำกล่าวของเขาในฐานะผู้นำองค์กรที่ชวนให้นึกถึงมากที่สุด คือ การกล่าวบนเวทีในงาน Matichon Moving Forward เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2559 ที่บอกว่า มติชนจะเดินหน้าผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อ่าน-ผู้รับสื่อในทุกช่องทาง ทุกแพลตฟอร์ม
“ในอนาคต บริษัทมติชนจะวางตัวเป็นเหมือนบริษัทผลิตน้ำดื่ม มีภารกิจคือต้องผลิตน้ำสะอาดบริสุทธิ์ที่กินได้สบายใจ ส่วนแง่การขาย ผลิตออกมาแล้วจะขายยังไง จะขายเป็นขวด ขายในรูปแบบไหนก็ได้ ตามแต่ที่ลูกค้าต้องการจะซื้อ”