ฟังความ 2 ข้าง ธนาธร vs รัฐบาล การจัดหาวัคซีนโควิดกับผลประโยชน์แอบแฝง ?

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

เรื่องการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยรัฐบาล ซึ่งมีความคลุมเครือไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด และมีคำถามที่ประชาชนหาคำตอบไม่ได้มาก่อนหน้านี้ เหมือนถูกสุมไฟให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมหนักกว่าเดิม หลังจากที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ไลฟ์สดวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการจัดหาวัคซีนผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “Thanathorn Juangroongruangkit-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ / Photo by AFP

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ชี้ให้เห็นปัญหาเกี่ยวกับการจัดซื้อวัคซีนโดยรัฐบาล ซึ่งสรุปได้ 5 ประเด็น ดังนี้

1.รัฐบาลจัดหาวัคซีนล่าช้าและปริมาณน้อย หากเทียบกับจำนวนประชาชนในประเทศ และเป็นสัดส่วนที่น้อยหากเทียบกับการจัดหาวัคซีนของประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในระดับเดียวกัน

2.รัฐบาลซื้อวัคซีนจากบริษัทเดียว ฝากความหวังกับเจ้าเดียว “เหมือนแทงม้าตัวเดียว” และเป็นการตัดโอกาสที่จะจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่น กว่าจะรู้ตัวว่าควรซื้อจากบริษัทอื่นก็สายเกินไป เพราะกำลังการผลิตของบริษัทดัง ๆ ถูกจับจองหมดแล้ว

3.รัฐบาลนำการจัดหาวัคซีนโควิดมาเรียกความนิยมให้รัฐบาลและสถาบัน เห็นได้จากช่วงเวลาที่ลงนามจัดซื้อวัคซีน เกิดขึ้นในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง และมีบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งที่ไม่อยู่ในแผนการจัดหาวัคซีนมาก่อน

4.โครงสร้างการบริหารการจัดซื้อวัคซีนมีปัญหา มีเรื่องการขัดกันของผลประโยชน์หรือผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) เป็นการนำงบประมาณจากภาษีประชาชนไปสนับสนุนบริษัทเอกชนรายเดียว และเป็นบริษัทที่ขาดทุนสะสมมาตลอด

5.รัฐบาลนำการจัดหาวัคซีนไปผูกกับสถาบันฯ หากวัคซีนมีปัญหาหรือไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ประชาชนจะตั้งคำถามกับบริษัทที่ผลิตวัคซีน ซึ่งคือสถาบันฯ รัฐบาลจะรับผิดชอบไหวหรือไม่

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

การวิพากษ์วิจารณ์ของธนาธรสั่นสะเทือนรัฐบาลในทันที เดือดร้อน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้องให้สัมภาษณ์ในเช้าวันรุ่งขึ้น (19 มกราคม 2564) ซึ่งเป็นการโต้ด้วยวาทกรรมว่า “บิดเบือนข้อมูล” โดยไม่ได้อธิบายแจกแจงเป็นเนื้อหาสาระ ส่วนกระทรวงสาธารณสุขก็ตั้งโต๊ะแถลงข่าวแบบด่วน ๆ โดย นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำแถลงแจงข้อมูลของฝั่งรัฐบาลอย่างละเอียดยิบ ดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ 1 รัฐบาลจัดหาวัคซีนล่าช้าและปริมาณน้อย ?

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์โต้ว่า กระบวนการจัดหาวัคซีนเริ่มมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ไม่ได้ดำเนินการชักช้าแต่อย่างใด และมีกลไกการจัดหาที่ชัดเจน มีการติดตามข้อมูลการพัฒนาวัคซีนของบริษัทต่าง ๆ ตลอด แต่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะเพราะข้อมูลเหล่านั้นเป็นความลับของบริษัทซึ่งมีข้อตกลงว่าเปิดเผยไม่ได้

“เรามีการศึกษากันโดยตลอด ไม่ได้แทงม้าตัวเดียว นอกจากนั้น เราไม่ได้ละเลยการสนับสนุนการผลิตเองในประเทศ”

“การที่เราได้วัคซีนมาจำนวนหนึ่งจากซิโนแวค (Sinovac) ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ต่อด้วย 26 ล้านโดสของแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม จากนั้นจะเจรจาขอซื้อเพิ่มเพื่อให้ครบถ้วนครอบคลุมประมาณ 50% ภายในปี 2564 ผมคิดว่าไม่ได้ล่าช้าอะไรนักเมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ ประเทศที่ได้ฉีดก่อนส่วนใหญ่จองซื้อตั้งแต่เริ่มวิจัย ซึ่งมีข้อแตกต่างจากการดำเนินการของประเทศเราพอสมควร”

ประเด็นที่ 2 รัฐบาลซื้อวัคซีนจากบริษัทเดียว ฝากความหวังกับเจ้าเดียว “เหมือนแทงม้าตัวเดียว” ?

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า นอกจากวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวคที่เจรจาจัดซื้อแล้ว ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังเจรจากับบริษัทอื่น ๆ อีก 4 บริษัท ซึ่งบริษัทเหล่านี้ต้องมาขอขึ้นทะเบียนวัคซีนกับ อย. หากมีความคืบหน้าจะรายงานให้ทราบต่อไป

“กระทรวงสาธารณสุขมีกระบวนการจัดหาวัคซีนมาตั้งแต่ช่วงต้นของการระบาดเมื่อปีที่แล้ว ไม่ใช่เพิ่งเริ่ม 3-4 เดือนนี้ แต่เนื่องจากการพัฒนาวัคซีนต้องใช้เวลา การพัฒนาวัคซีนปกติใช้เวลาเป็น 10 ปี แต่สำหรับวัคซีนโควิดกระบวนการต่าง ๆ ถูกร่น แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้คำนึงว่าจะต้องรีบอย่างเดียว ซึ่งสิ่งที่เราต้องมีการควบคู่กับการเร่งรีบจัดหาคือความรอบคอบที่จะต้องจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคและมีความปลอดภัย วัคซีนที่จะนำมาฉีดให้คนไทยจะต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์ประสิทธิภาพและความปลอดภัยทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น เราจะไม่ดำเนินการไปตามกระแสของประเทศอื่น ๆ”

นายแพทย์โอภาสกล่าวถึงเรื่องราคาวัคซีนด้วยว่า ในช่วงต้นของการระบาดมีการประมาณการว่าราคาวัคซีนที่เหมาะสมอยู่ที่ 1,000 บาท/โดส ซึ่ง สธ.ใช้ราคานี้ในการอ้างอิง แต่ทั้งนี้ การจองซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าซื้อได้ในราคา 5 เหรียญ/โดส ซึ่งเป็นราคาที่ถูกที่สุดที่หาได้ในท้องตลาด ณ ขณะนี้

“ขออนุญาตให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนว่า กระทรวงสาธารณสุขจะมีความรอบคอบในการนำวัคซีนมาฉีดให้พี่น้องประชาชนโดยคำนึงถึงประสิทธิภาพความปลอดภัย และราคาที่เหมาะสม”

ประเด็นที่ 4 เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน/แอบแฝง ?

นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติชี้แจงว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า ได้ใช้ข้อมูลหลายองค์ประกอบมาประกอบการพิจารณา ไม่ใช่พิจารณาตามชื่อบริษัทหรือตัววัคซีนอย่างเดียว

ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติชี้แจงความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ และกระทรวงสาธารณสุขด้วยว่า กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยซื้อวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า ส่วนแอสตร้าเซนเนก้าจ้างให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ผลิตวัคซีนพร้อมกับถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ด้วย

กรณีการจัดซื้อวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นการจองซื้อโดยมีข้อตกลงถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ประเทศไทยด้วย ซึ่งจำเป็นต้องหาผู้มารับเทคโนโลยีในช่วงเวลาเร่งด่วน โดยต้องเป็นบริษัทที่มีความพร้อมที่สุด บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าได้ทบทวนคุณสมบัติของบริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทยไม่ใช่เพียงเจ้าเดียว แต่มีเพียงบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์เท่านั้นที่มีศักยภาพจะรับเทคโนโลยีการผลิตในรูปแบบ viral vector vaccine ซึ่งพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด แม้แต่องค์การเภสัชกรรมของกระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะรับเทคโนโลยีการผลิตนี้

“แอสตร้าเซนเนก้าเป็นผู้คัดเลือกบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดกับเครือเอสซีจีมาอย่างต่อเนื่อง เครือเอสซีจีจึงเจรจาให้แอสตร้าเซนเนก้ามาพิจารณาศักยภาพบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ในเวลาเดียวกันแอสตร้าเซนเนก้าก็มีนโยบายขยายกำลังการผลิตไปทั่วโลก และต้องการกำลังการผลิตจำนวนมากในระดับ 200 ล้านโดส/ปี ซึ่งเมื่อพิจารณาศักยภาพบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์แล้วเข้ากับหลักเกณฑ์ที่แอสตร้าเซนเนก้าต้องการ”

นายแพทย์นครแจงเรื่องงบประมาณว่า รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 595 ล้านบาท บวกกับเอสซีจีสนับสนุน 100 ล้านบาท เพื่อให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์พัฒนาขีดความสามารถจนเข้าคุณลักษณะของแอสตร้าเซนเนก้าและได้รับการคัดเลือก ถือเป็นความพยายามของทีมประเทศไทยที่ไม่ได้เกิดชั่วข้ามคืน แต่เกิดขึ้นได้เพราะมีพื้นฐานที่ดีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงวางแนวทางไว้

ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นงานที่นำเงินภาษีประชาชนไปสนับสนุนเอื้อประโยชน์เอกชน นายแพทย์นครแจงว่า เรื่องการสนับสนุนเอกชนไม่ได้สนับสนุนแค่สยามไบโอไซเอนซ์ แต่สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ของบประมาณเพื่อสนับสนุนทุกหน่วยงานในประเทศเพื่อจะวิจัยพัฒนาวัคซีนให้ได้ อีกทั้งการให้ทุนแก่สยามไบโอไซเอนซ์นั้นมีข้อตกลงในสัญญารับทุนว่าสยามไบโอไซเอนซ์จะคืนวัคซีนให้รัฐบาลในมูลค่าเท่ากับทุนที่ได้รับ

“การจัดซื้อวัคซีนเป็นการซื้อจากแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งแอสตร้าเซนเนก้าขายให้ไทยบนพื้นฐานนโยบาย no profit-no loss ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด คือคิดราคาต้นทุน ดังนั้นค่าจ้างผลิตวัคซีนจึงเป็นการคิดราคาต้นทุนเช่นกัน สยามไบโอไซเอนซ์ต้องผลิตวัคซีนตามคำสั่งซื้อของแอสตร้าเซนเนก้าในราคาต้นทุน เพื่อให้แอสตร้าเซนเนก้าขายให้ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนในราคาต้นทุนเช่นกัน ดังนั้น จึงไม่เป็นเรื่องกำไร แต่เป็นเรื่องการทุ่มเทเพื่อให้ได้วัคซีนจริง ๆ จะเห็นว่าวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าราคาถูกที่สุดในท้องตลาด ณ เวลานี้ เพราะฉะนั้น เมื่อไม่มีกำไรเกิดขึ้นจึงไม่มีผลประโยชน์อะไรมาเคลือบแฝงในการเจรจาจัดซื้อวัคซีนในคราวนี้เลยครับ เพราะทุกอย่างเป็นการจัดซื้อในราคาที่สะท้อนต้นทุนทั้งสิ้น” ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติอธิบาย

ประเด็นที่ 3 รัฐบาลนำการจัดหาวัคซีนโควิดมาเรียกความนิยมให้รัฐบาลและสถาบันฯ และประเด็นที่ 5 รัฐบาลนำการจัดหาวัคซีนไปผูกกับสถาบันฯหากวัคซีนมีปัญหารัฐบาลจะรับผิดชอบไหวหรือไม่ ?

ในการแถลงข่าวไม่ได้มีการตอบโต้หรือชี้แจงตรง ๆ แต่มีคำพูดของผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติที่บอกว่า “การสนับสนุนไบโอไซเอนซ์ไม่ใช่การให้เปล่า แต่เป็นการสนับสนุนเพื่อให้เพิ่มศักยภาพ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ได้ และเมื่อผลิตวัคซีนได้แล้วบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์จะคืนวัคซีนให้เท่ากับที่ได้รับทุนไป ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ปกติการให้ทุนจะเป็นการให้เปล่า แต่สยามไบโอไซเอนซ์เป็นผู้เสนอเองว่า เพื่อลดข้อสงสัยในการสนับสนุนเอกชน จึงแสดงเจตจำนงในสัญญารับทุนว่าจะคืนวัคซีนให้กับรัฐบาลไทยด้วย ดังนั้น ข้อกล่าวหาที่คลาดเคลื่อนควรจะหมดไป และไม่ควรจะไปโยงกับเรื่องการทำงานของสถาบันที่พวกเราเคารพรัก”

ในการแถลงครั้งนี้มีข้อมูลหลาย ๆ อย่างที่รัฐบาลไม่เคยบอกให้ประชาชนทราบ น่าจะพูดได้ว่าการเปิดข้อมูลและวิพากษ์วิจารณ์ของธนาธรช่วยให้เราได้ทราบข้อมูลที่ไม่มีใครอธิบายมาก่อน ซึ่งหากมีการชี้แจงตั้งแต่แรกคงไม่มีคำถามมากมายอย่างที่เกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขชี้แจงรายละเอียดแล้วก็ยังมีบางข้อชี้แจงที่มีความย้อนแย้ง และชวนให้เกิดคำถามอื่นตามมา

เดิมเราคิดว่าคงต้องรอเวลาสักระยะหนึ่งกว่าจะมีการแถลงรายละเอียดหรือมีการทวงถามอีกครั้ง แต่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่รอนาน บ่ายแก่ ๆ วันถัดมา (20 มกราคม 2564) หลังโดนแจ้งความเอาผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เขาโพสต์เฟซบุ๊กเรียกร้องให้เปิดเผยเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เช่น

1.สัญญาจ้างผลิตระหว่างแอสตร้าเซนเนก้า และสยามไบโอไซเอนซ์ ที่เปิดเผยจำนวนที่ตกลงว่าจ้างผลิต ราคาต้นทุน และราคาขาย

2.สัญญารับงบประมาณระหว่างสถาบันวัคซีนแห่งชาติกับสยามไบโอไซเอนซ์ว่ามีเงื่อนไขอย่างไร มูลค่าเท่าไหร่ และเอาไปใช้ตรงตามที่แถลงไว้หรือไม่

3.บันทึกการประชุมของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติและเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการวางเงื่อนไข คุณสมบัติ และรายละเอียดของเอกชนที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐในการผลิตวัคซีน เพื่อให้ประชาชนแน่ใจว่าการเลือกสนับสนุนเป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้องตามหลักการ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

ช่วงสายวันต่อมา (21 มกราคม 2564) ธนาธรแถลงข่าว เน้นจุดยืนว่าสนับสนุนการจัดหาวัคซีนโดยรัฐบาล แต่ยังคงย้ำข้อสงสัยว่ารัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์

“การที่เราตรวจสอบการใช้ภาษีของประชาชน ไม่ใช่เรื่องที่เราเพิ่งทำ เราทำมาตลอดอยู่แล้ว … ถ้าเราย้อนกลับไปดู คุณประยุทธ์พยายามบิดเบือนประเด็นทุกครั้งที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานที่ผิดพลาดของเขา คุณประยุทธ์ยกสถาบันฯ มากลบเกลื่อนความผิดพลาด ความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารงานของตัวเองมาตลอด … และกรณีนี้เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ชัดเจน คนที่ดึงสถาบันมาเกี่ยวกับเรื่องวัคซีนไม่ใช่ผมนะครับ ก็คือคุณประยุทธ์นั่นเอง” ธนาธรกล่าว

เราเคยได้ยินคำกล่าว-คำเตือนที่ว่า “อย่างฟังความข้างเดียว” หรืออย่าตัดสินอะไรจากข้อมูลของฝ่ายเดียวกันอยู่บ่อย ๆ และที่ว่ามาทั้งหมดนี้ คือ “ความ 2 ข้าง” ที่ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” เก็บมานำเสนออย่างไม่มีบิดเบือนจากคำพูดของทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อให้คุณผู้อ่านได้เปรียบเทียบ พิจารณา และวิเคราะห์ข้อมูลกันเอง