ไฮโซพม่าเล่าฉากชีวิต จากเมืองสวรรค์ สู่ยุคทหารครอง ต้องหนีพึ่ง 3 แผ่นดิน

ซูซี่ หาญศิริสวัสดิ์
รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง/ภาพ

หลังจากมีชีวิตภายใต้การปกครองของทหารมานานกว่าครึ่งศตวรรษ ชาวเมียนมาเพิ่งได้มองเห็นแสงสว่าง และคิดว่าชีวิตของพวกเขาจะไม่กลับไปลำบากยากเข็ญและไร้อิสรภาพแบบเดิมอีกแล้ว หลังจากที่ทหารตัดสินใจปฏิรูปประเทศและมีการจัดการเลือกตั้งในปี 2015 แต่ผ่านมายังไม่เต็ม 6 ปี เข็มนาฬิกาของเมียนมาก็ถูกหมุนทวนกลับเข้าสู่วงจรอุบาทว์อีกครั้งโดยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ภาพฝันของชาวเมียนมาที่ว่าประเทศจะพัฒนาขึ้น ผู้คนจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยความร่ำรวยทรัพยากรที่เอื้ออำนวยให้ประเทศและประชาชนในประเทศนี้มีศักยภาพที่จะไปได้ไกลกว่านี้ ถูกทำให้พังทลายลง พร้อมกับหลายร้อยชีวิตของประชาชนมือเปล่าที่ดับไปเพราะถูกทหารเข่นฆ่า

วันหนึ่ง ขณะที่ติดตามข่าวสถานการณ์ในเมียนมา ผู้เขียนก็คิดขึ้นว่าถ้าไม่มีรัฐประหารตั้งแต่ตอนโน้น ป่านนี้ชีวิตของผู้คนในเมียนมาจะดีกว่านี้ขนาดไหน คิดแล้วก็นึกถึงผู้หญิงคนหนึ่งที่มีโอกาสรู้จักเมื่อ 3-4 ปีก่อน

“ตอนเด็กพี่อยู่พม่า ครอบครัวเราโดนทหารยึดทรัพย์สินไป เราก็เลยออกมา ที่ดินที่เป็นโรงแรมชาเทรียมก็เป็นของบ้านพี่”

นั่นคือข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับตัวเธอที่เราจดจำมาตลอด เมื่อนึกถึงเธอขึ้นมาในจังหวะนี้จึงติดต่อชวนเธอมาแบ่งปันเรื่องราว ความทรงจำ ฉากชีวิตของเธอที่ผ่านประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเมียนมามาแล้วเกือบทุกยุค ซึ่งจะฉายให้เราเห็นภาพว่าเมียนมาก่อนยุคทหารครองอำนาจนั้นเป็นอย่างไร ไล่ตามไทม์ไลน์มาจนถึงปัจจุบัน ไปจนถึงชวนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุด

ชื่อของเธอคือ ซูซี่ หาญศิริสวัสดิ์ เธอเคยเป็นเหมือนเจ้าหญิงตัวน้อย ๆ มีชีวิตหรูหราในสังคมชั้นสูงของเมียนมา แต่ครอบครัวของเธอออกจากเมียนมา (ต่อจากนี้จะใช้คำว่า “พม่า” ตามที่ใช้จริงในการสนทนา) หลังจากรัฐประหาร 1962 ตั้งแต่ที่เธอเพิ่งก้าวเข้าสู่วัยรุ่น

ซูซี่ตอบรับมาให้สัมภาษณ์กับ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” แต่เธอบอกว่าเธอจำอะไรได้ไม่มาก เธอจึงชวนเพื่อนชาวพม่าในวัยเด็กของเธอ ที่มาทำงานในเมืองไทยแล้วหลายสิบปีมาช่วยให้ข้อมูลภาพกว้าง

แต่เขาคนนั้นไม่สามารถเปิดเผยตัวตนได้ แม้แต่ถ่ายรูปข้างหลังก็ไม่ได้ ด้วยเหตุผลว่า รู้จักคนในแวดวงสังคมระดับสูงของพม่าหลายคน และยังเป็นพลเมืองพม่า “วันหนึ่งผมจะกลับไปอยู่ที่นั่น ไม่เหมือนซูซี่ที่เขาเป็นคนไทยแล้ว” เขาอธิบายความจำเป็น

ซูซี่หอบอัลบั้มรูปวัยเด็กในเมียนมามาให้เราดูตามคำขอ ระหว่างที่คุยกันเธอก็เปิดให้ดูรูปภาพพร้อมกับแนะนำว่าใครเป็นใคร และเล่าเหตุการณ์ในภาพไปด้วย

“พม่านี่คือพาราไดส์” ประโยคแรกที่เผยภาพในความทรงจำของซูซี่ เมื่อเราถามว่าจำภาพชีวิตวัยเด็กในพม่าอย่างไร และสิ่งหนึ่งที่เธอจำได้ดีคือ “เค้กอร่อยมาก” เพราะร้านเค้กที่นู่นได้เรียนรู้จากอังกฤษโดยตรง

ทั้งสองคนเกิดในยุคที่พม่าเพิ่งได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ ซูซี่เกิดปี 1953 ส่วนเพื่อนของเธอ (ขอใช้นามสมมุติเป็นชื่ออังกฤษว่า เดวิด) เกิดปี 1954

เดวิด (นามสมมุติ) ผู้อยู่ในพม่านานกว่าและจดจำได้มากกว่า รับหน้าที่เล่าเหตุการณ์แบบเรียงตามไทม์ไลน์ โดยเริ่มมาตั้งแต่ได้รับเอกราช

“พม่าประกาศอิสรภาพปี 1948 และมีระบอบประชาธิปไตย มีประธานาธิบดีชื่ออูนุ ซึ่งสนิทสนมกับแม่ของซูซี่ และอูวินหม่องก็สนิทกัน สังคมสมัยก่อนรู้จักกัน” เพียงแค่คำบอกเล่าเริ่มต้นของชายวัย 67 ก็ยืนยันความเป็นคนในสังคมชั้นสูงของทั้งสองคน

“เราเคยไปเที่ยวที่บ้านของอูวินหม่องที่เมืองเมเมียว สนุกมาก และเขาก็เคยไปทานข้าวที่บ้านเราที่ถนนวินด์เซอร์ ตอนเด็ก ๆ พวกเราก็เล่นกับลูก ๆ ของเขา” ซูซี่เสริม

“ปี 1962 ทหารมาแล้ว ตอนนั้นผมอายุ 8 ขวบ ตอนเช้าเพื่อนบ้านมาบอกที่บ้านผมว่า วันนี้ไม่ต้องส่งลูกไปโรงเรียนนะ มีรัฐประหารแล้ว โรงเรียนปิด อันนี้ผมยังจำได้” เดวิดเล่าต่อ

“แรก ๆ ที่เกิดรัฐประหาร ประชาชนทั่วไปก็ยังไม่รู้ความเปลี่ยนแปลง ไม่รู้ผลกระทบ แต่หลังจากนั้นกฎหมายแรงขึ้น เขาไม่สนับสนุนการทำธุรกิจส่วนตัว เขา nationalize ริบทรัพย์สิน ยึดเอาธุรกิจเอกชนทั้งหมดไปเป็นของรัฐบาล ทำให้คนรวยกลายเป็นคนจน บ้านที่อยู่อาศัยหลังใหญ่ ๆ ก็ยังอยู่ได้ ไม่ได้ยึด แต่ทรัพย์สินอื่น กิจการ ธุรกิจ ยึดหมด ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ผมเป็นเจ้าของธุรกิจและที่ดิน เขาก็ยึดเอาธุรกิจและที่ดินของเราไปหมด หลังโดนยึดแล้วคนรวยก็จนลง”

บรรยากาศในกรุงย่างกุ้ง วันที่ 4 มีนาคม 1962 หลังเนวินทำรับประหารในวันที่ 2 มีนาคม 1962 (Photo by – / AFP)

“ปี 1962 ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ 1 ปีครึ่งถึง 2 ปีถัดมา เริ่มแสดงความจริงออกมา”

“ก่อนยุคทหารครอง เราเป็นเศรษฐี พอทหารเข้ามายึดธุรกิจไป เรากลายเป็นคนที่อยู่สูงกว่าชนชั้นกลางนิดหน่อย แต่ไม่ถึงกับชนชั้นบน เพราะชนชั้นบนใหม่คือพวกครอบครัวทหาร เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ๆ เรียกว่า ‘ชนชั้นพริวิเลจ’ ส่วนสังคมเศรษฐีไฮโซเดิมก็ลดระดับลงมาด้วยกัน ก็เลยยังเป็นสังคมเดิมอยู่ คือยังไม่แย่ มีชีวิตปกติ แต่ไม่มี luxury อยู่กันแบบโลว์โปรไฟล์”

“มีการห้ามไม่ให้คนธรรมดาออกไปต่างประเทศ ไปได้แค่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐไปประชุมไปทำงานเท่านั้น ยกเว้นเนวินไม่สบายนิดหน่อยก็บินไปหาหมอที่อังกฤษ เขานำนโยบายสังคมนิยมมาใช้ เขาไม่ค่อยสนิทสนมกับยุโรป อเมริกา เพราะพม่าเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เขาก็เลยเกลียดฝรั่ง แต่ถึงแม้บอกว่าเกลียดฝรั่ง เขาไปลอนดอนบ่อย ๆ เขาไปดูแข่งม้า”

แหล่งข่าวชายชาวพม่าคนนี้มองว่า ความผิดพลาดที่สุดในการบริหารประเทศของนายพลเนวิน คือ นโยบายเศรษฐกิจ เพราะเขายึดเอาธุรกิจของเอกชนมาเป็นของรัฐหมด ทำให้เศรษฐกิจไม่ดี คุณภาพชีวิตของประชาชนแย่ลง

“เดิมพม่าไม่ได้เป็นประเทศยากจน เราเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกมานาน พม่าเคยเป็นประเทศที่รวยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่พอเขามาครองอำนาจก็เป็น upside down เนวินทำลายประเทศด้วยการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ

เขาทำเลวร้ายมากต่อประเทศและต่อประชาชน แต่เขามีจุดแข็ง คือ เขาเป็น strong man เขาสามารถหยุดการแบ่งแยกการปกครองตนเองของเชื้อชาติต่าง ๆ ในประเทศได้”

ซูซี่กับญาติ ๆ ที่เป็นคุณหนูในสังคมไฮโซของเมียนมา

“เขายึดเอาโรงเรียนเอกชนเป็นของรัฐบาลด้วย ผมกับซูซี่เรียนในโรงเรียนเอกชนนานาชาติค่าเทอมแพง ๆ ที่สุด มีครูฝรั่งสอน เขาก็จับครูฝรั่ง ลูกชายลูกสาวเขาก็เรียนโรงเรียนเดียวกันกับเรา ลูกชายเขาเป็นเพื่อนร่วมห้องกับซูซี่” ฝั่งซูซี่ยิ้มและพยักหน้า “ใช่ ๆ” กับสิ่งที่เพื่อนเล่า

“หลังจากนั้นระบบการศึกษาของพม่าก็คุณภาพลดลง รายได้จากการส่งออก-นำเข้าน้อยลงมาก นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนน้อยมาก ในเวลาเดียวกันประเทศไทยก็เจริญขึ้น มันน่าอิจฉาที่เพื่อนบ้านเจริญกว่าทั้งที่สมัยก่อนก็พอ ๆ กัน หรือพม่าเจริญกว่าด้วยซ้ำ สมัยก่อนลีกวนยูมาเห็นพม่าเจริญแล้วอิจฉา เพราะสมัยก่อนสิงคโปร์ยังไม่เจริญ แต่เวลาเดียวกันกับที่พม่าชะงัก สิงคโปร์กำลังเจริญ ฟิลิปปินส์ภายใต้การนำของมาร์กอสเจริญก่อน ไทยแลนด์ก็โอเค อินโดนีเซีย มาเลเซียก็กำลังเจริญขึ้น แต่พม่าโดนรัฐบาลห้ามเก่ง อันนี้ก็ห้าม อันนี้ก็ทำไม่ได้ เงินของพม่าลงทุนไปกับกองทัพเป็นส่วนใหญ่ ลงทุนกับด้านอื่นน้อย”

“ถ้าใครทำอะไรให้เขาเกลียด เขาจะขึ้นภาษี มีคนรวยซื้อรถหรูมาขับ เขาไม่ชอบ เขาก็ขึ้นภาษีรถเป็น 6.3 ล้าน สมัยก่อน 1 แสนสร้างบ้านได้แล้วนะครับ คนไฮโซเดิมจะอยู่ได้ต้องทำตัวโลว์โปรไฟล์ ส่วนครอบครัวทหาร ครอบครัวเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงก็มีพริวิเลจมากมาย ในยุคนั้นค่าครองชีพแพงขึ้น แต่ครอบครัวทหาร รัฐมนตรี มีส่วนลดค่าซื้อสินค้าต่าง ๆ เช่น ถ้าสินค้า 50 บาท ครอบครัวทหาร ครอบครัวรัฐมนตรี ซื้อได้ 20 บาท ส่วนคนธรรมดาก็ซื้อแพง ๆ ชีวิตแย่มาก แต่ว่าเรา survive นะครับ คนพม่ามีความอดทน แต่เราไม่ได้อดอยากแบบแอฟริกา เรายังมีอาหารกิน ยังพอมีสตังค์ ยังเข้าวัดทำบุญได้ ไม่ใช่ซีโร่ ยากลำบากแต่พวกเขาก็ยังมีชีวิตอยู่ โครงสร้างพื้นฐานไม่ดี แต่ที่ดี ๆ ที่อังกฤษสร้างไว้ยังพอมีอยู่ เราต้องขอบคุณอังกฤษที่สร้างไว้”

ภาพครอบครัวของซูซี่สมัยอยู่ในเมียนมา

แหล่งข่าวชายคนเดิมเล่าว่า ช่วงทศวรรษ 1970 มีการแก้กฎหมายว่า ถ้าอยากเดินทางไปต่างประเทศต้องทำงานในเรือขนส่งสินค้า แต่คนธรรมดาสมัครไม่ได้ ต้องเป็นลูกชายรัฐมนตรี ลูกชายเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง

ต่อมาช่วงปี 1985-1986 มีการแก้กฎหมายให้ประชาชนพม่าไปต่างประเทศได้ แต่ต้องเป็นการไปเรียนและทำงาน ยังไม่อนุญาตให้ไปท่องเที่ยว

ปี 1987 หลังจากคิดและเปรียบเทียบว่าจะจากบ้านเกิดไปอยู่ที่ไหนดี ในที่สุดชายชาวพม่าผู้เคยมีชีวิตหรูหราคนนี้ตัดสินใจเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย

“วันหนึ่งผมชงกาแฟอยู่ และผมเปิดวิทยุบีบีซี มีข่าวการประท้วงในย่างกุ้ง รัฐบาลใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุม ในเหตุการณ์นั้น เนวินยอมรับว่าตัวเองทำผิด เขาขอโทษประชาชนและก้าวลงจากตำแหน่ง แล้วให้ลูกศิษย์ของเขาขึ้นมารับตำแหน่ง (ตานฉ่วย) โดยที่เขาคอยชักใยอยู่เบื้องหลัง”

เหตุการณ์ที่เดวิดพูดถึง คือ “8888 Uprising” นอกจากรำลึกความทรงจำแล้ว เขาแสดงความเห็นว่า อีกความผิดมหันต์ของเนวิน คือ demonetization เขายกเลิกธนบัตรบางชนิด ทำให้คนที่ถือเงินเหล่านั้นอยู่สูญเงินไปเลย เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ประชาชนโกรธมาก

นอกจากนั้นเนวินยังใช้วิธีสกปรกสร้างปัญหาระหว่างชาวพม่ากับชาวจีน เป็นการนำยุทธศาสตร์ Divide and Rule (แบ่งแยกแล้วปกครอง) ของอังกฤษมาใช้

อย่างไรก็ตาม เขาแสดงความเห็นว่า “ในยุคตานฉ่วย ชีวิตคนพม่าแย่กว่าอีก” และเล่าตัวอย่างว่า ตานฉ่วยยุแยงให้ชาวมุสลิมกับชาวพุทธทะเลาะกัน ใช้นโยบาย Divide and Rule ไม่ชอบให้ประชาชนสามัคคีกัน ต้องการให้เป็นศัตรูกัน แต่ภายใต้การปกครองของเนวินไม่ค่อยมีเรื่องแบบนี้

“มีสตอรี่ที่พูดเล่นกันในปัจจุบันนี้ว่า ทำไมผู้นำไม่ดีแต่มีคนชอบ แล้วมีคนตอบว่า ผู้นำคนนั้นแย่กว่าอีก” เขาเล่าเรื่องขำที่ขำไม่ออก

จากภาพกว้างของเมียนมายุคต่าง ๆ ที่เดวิดเล่า มาต่อที่ฉากชีวิตของซูซี่ ซึ่งเธอสามารถเผยข้อมูลของตัวเองและครอบครัวได้อย่างเต็มที่

ซูซี่มีชื่อพม่าว่า ตัง วิน เซ็น (Than Win Sein) เป็นคนเชื้อสายจีน คุณทวดของเธอชื่อ โอ ชู กิง (Aw Chu Kin) เคยเป็นแพทย์สมุนไพรประจำราชสำนักจีน ซึ่งอพยพจากมณฑลฝูเจี้ยนมาตั้งรกรากที่เมียนมา โดยนำสูตรยาที่ติดตัวมาจากจีนมาเปิดร้านขายยาในเมืองย่างกุ้ง

คุณทวดโอ ชู กิง มีลูกชาย 2 คน คนโตชื่อ โอ บุ้น โฮ้ว (Aw Boon Haw) กับคนเล็กซึ่งเป็นคุณตาของซูซี่ชื่อ โอ บุ้น ป่า (Aw Boon Par) สองท่านนี้ได้รับสืบทอดกิจการร้านยามาจากบิดา ก่อนที่จะร่วมกันก่อตั้งโรงงาน Tiger Balm หรือยาหม่องตราเสือ

ในปี 1926 โอ บุ้น โฮ้ว ผู้พี่ได้ย้ายไปสิงคโปร์ และทำธุรกิจยาหม่องตราเสือที่นั่น ส่วนโอ บุ้น ป่า แต่งงานกับผู้หญิงชาวพม่าและตั้งใจลงหลักปักฐานอยู่ที่เมียนมา กิจการยาหม่องตราเสือจึงแบ่งออกเป็น 2 ขา คือที่เมียนมา และสิงคโปร์ ซึ่งในเวลาต่อมาฝั่งสิงคโปร์ได้สร้างแบรนด์เป็นที่นิยมมาก ๆ และมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ๆ ครอบครัว-เครือญาติของซูซี่ทั้งในเมียนมา และสิงคโปร์ จึงมีฐานะร่ำรวยเป็นเศรษฐีระดับประเทศของทั้ง 2 ประเทศ ณ เวลานั้น

ต่อมาคุณแม่ของซูซี่สืบทอดกิจการยาหม่องตราเสือในเมียนมาต่อจากคุณตา ฝั่งคุณพ่อของเธอเป็นลูกชายของครอบครัวปัญญาชนชาวจีนตระกูลลีที่อพยพมาอยู่ในเมียนมา คุณปู่ของเธอเป็นคนเขียนพจนานุกรม 3 ภาษา อังกฤษ-บาลี-พม่า

ซูซี่และพี่น้องกับคุณพ่อและคุณแม่ของเธอ

“ช่วงที่เราเกิด ที่พม่ายังมีอิทธิพลของอังกฤษอยู่ ทุกคนยังพูดภาษาอังกฤษ โรงเรียนก็หลักสูตรของอังกฤษ เราเรียนที่โรงเรียน Methodist English High School เป็นโรงเรียนอันดับ 1 ในย่างกุ้ง ครูก็เป็นครูอังกฤษ หรือไม่ก็เป็นลูกครึ่งฝรั่ง ช่วงนั้นเราก็เป็นไฮโซของพม่านั่นแหละ ชีวิตช่วงเกิดมานี่โอ้โหสบายมาก สวรรค์เลย นั่งรถเบนซ์ไปโรงเรียน อยากได้อะไรก็ได้ เที่ยวสิงคโปร์บ่อย ญาติที่อยู่สิงคโปร์สมัยโน้นก็เป็นไฮโซสิงคโปร์เหมือนกัน เพราะว่า Tiger Balm ดังช่วงนั้น”

“คุณพ่อเป็นคนชอบเข้าสังคม ติดต่อกับทูต กับชาวต่างชาติ และดารา บ้านเราเป็นแหล่งจัดงานสังคม จัดงานสังสรรค์บ่อย ๆ เป็นแหล่งพบปะของเซเลบไฮโซในวงสังคม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือภรรยาคนที่ 3 ของเนวิน เป็นภรรยาที่มีอิทธิพลสูงสุดของเขา ลูก ๆ เขาก็เรียนโรงเรียนเดียวกันกับเรา ดิฉันเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนกับลูกชายของเนวิน ส่วนพี่สาวก็เป็นเพื่อนร่วมชั้นของซานดาร์วิน ลูกสาวคนที่มีอิทธิพลที่สุดของเขา เราอยู่ในสังคมเดียวกัน”

พอเกิดรัฐประหารปี 1962 ชีวิตของคนพม่าก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

“โรงเรียนที่เป็นระบบของอังกฤษก็เปลี่ยน เราก็กลับไปเรียน This is a book ใหม่ ทั้งที่เราพัฒนากว่านั้นไปแล้ว เราเรียนภาษาอังกฤษในระบบอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก แต่เขาเปลี่ยนหลักสูตรและล้างหมด ไม่มีครูฝรั่งแล้ว” นั่นคือผลกระทบต่อตัวเองโดยตรงที่เธอจำได้แม่น

ธุรกิจของเอกชน กิจการ ทรัพย์สิน ที่ดิน ถูกยึดเอาไปเป็นของรัฐทั้งหมด ครอบครัวของซูซี่โดนยึดโรงงานยาหม่องตราเสือ และที่ดินริมทะเลสาบกันดอจี ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงแรมชาเทรียม (Chatrium Hotel Royal Lake Yangon)

ฝั่งกิจการร้านถ่ายรูป Mya Syndicate ของคุณพ่อของเธอก็ถูกปิด และรัฐบาลทหารให้พ่อของเธอทำงานเป็นลูกจ้างรัฐ ได้รับค่าจ้างเพียงเดือนละ 500 จ๊าต พ่อของเธอจึงรู้สึกทนไม่ไหว และเริ่มหาทางพาครอบครัวออกนอกประเทศ

“จำได้มีอยู่วันหนึ่งทหารเข้ามาที่บ้าน มาหาว่ามีแบงก์ 1,000 ไหม ถ้าจับได้ว่าเก็บเงินแบงก์ 1,000 ไว้จะหาเรื่อง ทั้ง ๆ ที่เป็นเพื่อนกัน รู้จักกัน ตีกอล์ฟด้วยกัน เขารู้จักกันกับคุณพ่อตั้งแต่สมัยที่เขายังเป็นนายพัน แต่คุณพ่อเตรียมทางหนีทีไล่ไว้ทัน ก็เลยตรวจหาอะไรไม่เจอ เหตุการณ์นี้ติดตาเลย”

“ปี 1963 เราก็พยายามหาทางจะไปที่อื่น แต่ว่าตอนนั้นเขาห้ามไม่ให้ออกนอกประเทศ กว่าเราจะเดินทางได้ก็ต้องใช้เวลาเหมือนกัน ญาติที่สิงคโปร์ก็ต้องช่วยและพวกสถานทูตที่คุณพ่อสนิทก็มาช่วย เดือนสิงหาคม 1965 เราออกนอกประเทศได้ด้วยความช่วยเหลือของหลาย ๆ ทาง

เราไปอยู่สิงคโปร์เป็นประเทศแรก แต่ที่สิงคโปร์ก็ยังทำอะไรไม่ได้ เพราะว่ายาหม่องตราเสือก็มีญาติทำอยู่แล้ว น้าก็เลยแนะนำให้ไปฮ่องกง เดือนพฤศจิกายน 1965 เราย้ายไปฮ่องกง ตั้งใจว่าจะเปิดสำนักงานยาหม่องตราเสือที่ฮ่องกง แต่ก็ไม่เวิร์ก ก็เลยมาที่เมืองไทยกลางปี 1966 คุณพ่อกับคุณแม่ก็เปิดสำนักงานยาหม่องตราเสือในประเทศไทย”

เธอบอกอีกว่า การออกมาจากพม่าไม่สามารถเอาทรัพย์สินอะไรออกมาได้เลย เงินที่มีอยู่ในบัญชีก็เอาออกมาไม่ได้ เครื่องประดับอัญมณีต่าง ๆ เอาออกมาได้เท่าที่เป็นการสวมใส่ติดตัว แต่จะขนเพชรเม็ดใหญ่ ๆ ออกมาไม่ได้

ปี 1970 น้าชายของเธอที่บริหารยาหม่องตราเสือสำนักงานใหญ่ที่สิงคโปร์ตัดสินใจขายกิจการยาหม่องตราเสือ ออฟฟิศที่กรุงเทพฯที่ครอบครัวเธอบริหารจึงต้องปิด จากนั้นพ่อของเธอซื้อหุ้นเข้าเป็นหุ้นส่วนใหญ่และบริหารหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า

เธอบอกว่าชีวิตที่เมืองไทยก็คล้าย ๆ กับเมื่อตอนอยู่ในเมียนมา ด้วยความที่พ่อชอบความอินเตอร์ คบหากับทูตในไทยและคนในสังคมระดับสูง จึงมีคนช่วยเหลือทำให้ชีวิตในเมืองไทยไม่ยากลำบาก

ครอบครัวและญาติ ๆ ของซูซี่มารวมตัวกันที่เมืองไทย

“กว่าจะหาทางออกมาได้มันใช้เวลานานพอสมควร ด้วยความที่เราเป็นเด็กเราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันยาก แต่จำได้ว่าจากที่เมื่อก่อนจะมีคนมาคึกคัก มีการจัดงานกันบ่อย ๆ มันก็เงียบลง เงียบลง ครอบครัวที่เป็นเพื่อนเป็นสมาคมกับครอบครัวเราก็เริ่มหาทางออกนอกประเทศ พอออกมาก็รู้สึกว่าชีวิตไม่ได้ลำบาก เพราะว่าครอบครัวมีเพื่อนมีคนช่วยตลอด ต้องขอบคุณพ่อแม่ ต้องขอบคุณญาติ ๆ”

หลังจากบ้านเกิดมาหลายสิบปี ทั้งสองคนยังคงติดตามข่าวสารสถานการณ์ในประเทศบ้านเกิดของตนเองด้วยความเป็นห่วงพี่น้องร่วมชาติ และญาติ ๆ ที่ยังอยู่ที่นั่น

เดวิดแสดงความเห็นต่อช่วงเวลาสั้น ๆ ของรัฐบาลพลเรือนโดยการนำของอองซาน ซูจี ว่า “สภาพบ้านเมืองช่วงที่ซูจีขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ดีขึ้น แต่ยังแก้ปัญหาใหญ่ ๆ ไม่ได้ มีคนบอกว่า อองซาน ซูจี แก้ปัญหาไม่ได้ อองซาน ซูจี จะช่วยได้ยังไง ในเมื่อคนไม่ดีอยู่มาเป็น 60 ปี สมมุติว่าบ้านมีคนอยู่สกปรกมา 50 ปี แล้วให้แม่บ้านเข้ามาทำความสะอาดภายใน 5 ปี มันไม่จบนะ มันต้องใช้เวลามากกว่านั้น”

“ตอนนั้นมีความหวัง พอตอนนี้กลับไปเป็นเหมือนเดิมก็รู้สึกท้อแท้มาก อนาคตผมก็คงไม่ได้กลับไปอยู่ที่นั่น ช่วงที่ NLD เป็นรัฐบาล ผมวางแผนไว้ว่าบั้นปลายชีวิตผมจะกลับไปอยู่ที่พม่า แต่ตอนนี้ไม่คิดแล้ว ตอนนี้พม่ากำลังเข้าสู่ยุคมืด ไม่แน่ใจว่าจะมีสงครามกลางเมืองหรือเปล่า

ถ้าสถานการณ์ไม่ดี ผมคงอยู่ที่เมืองไทย แล้วอาจจะไปอยู่กับพี่ชายที่เยอรมนี ประเทศเราไม่น่าจะลำบากแบบนี้ มันไม่จำเป็น ประเทศเราไม่ได้เป็นประเทศที่ยากไร้ไม่มีอะไร เรามีน้ำมัน มีป่าไม้ มีอัญมณี มีทรัพยากรหลายอย่าง” เขากล่าวด้วยแววตาแสนเศร้า

ส่วนซูซี่บอกว่าเธอยังเป็นห่วงบ้านเกิด และเธอเพิ่งกลับไปพม่าเมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว “รู้สึกเสียดาย ประเทศเราดี มีทรัพยากรธรรมชาติเยอะ ช่วงนั้นเหมือนจะดีขึ้น เดินทางเข้าออกสบาย แล้วก็มาเป็นแบบนี้ ไม่น่าเลย บางทีไม่อยากอ่านข่าวเลย อ่านแล้วเสียใจ เสียดาย เหมือนประเทศกำลังจะดีขึ้นแล้วก็กลับไปเหมือนเดิม” เธอแสดงความเห็น

ช่วงท้าย ๆ ก่อนจบการสนทนา ชายวัย 67 ผู้ที่ยังเป็นพลเมืองเมียนมาบอกว่า “น่าสงสารชาวพม่ามาก เราต้องช่วยกันภาวนาให้ทหารแพ้ ถ้าเกิดสงครามกลางเมืองที่พม่าก็จะมีคนอพยพเข้ามาที่ไทย เมืองไทยก็จะปวดหัว เราจะต้องไหว้พระให้ประชาชนชนะ”


ทุกคนยอมรับว่าเป็นไปได้ยากที่ประชาชนมือเปล่าจะชนะ แต่ก็เห็นตรงกันอีกว่า ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย “เราต้องมีความหวัง”