“น้องเทนนิส“ แชมป์เทควันโดโอลิมปิก ทูตกีฬาและท่องเที่ยวคนแรก

Photo by REUTERS

“น้องเทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโดหญิงไทยที่คว้าเหรียญทองในศึกโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นับเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความสุขให้กับคนไทยในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่เบียดเอาชนะคู่แข่งจากประเทศสเปน ในช่วง 7 วินาทีสุดท้ายของการแข่งขัน ทำให้เพลงชาติไทยและธงไตรรงค์โบกสะบัดดังกระหึ่มสนามแข่งขัน

น้องเทนนิส เธอเป็นน้องเล็กสุดของบ้าน โดยมีพี่สาวคนโตชื่อ “โบว์ลิ่ง” นาวาอากาศโทหญิง กรวิกา วงศ์พัฒนกิจ และพี่ชายคนกลางชื่อ “เบสบอล” ศราวิน วงศ์พัฒนกิจ ซึ่งบ้านของเธอเรียกว่าเป็นครอบครัวนักกีฬาก็ว่าได้ เพราะคุณพ่อเป็นครูสอนว่ายน้ำ ส่วนแม่เป็นผู้นำเต้นแอโรบิกแล้วก็เป็นนักว่ายน้ำด้วย

เจ้าตัวเองชื่นชอบการเล่นกีฬาทุกชนิดมาตั้งแต่เด็ก ทั้งวอลเลย์บอล ว่ายน้ำ ปิงปอง เทนนิส เธอเคยชิมลางเล่นดู แต่ไม่ได้จริงจัง กระทั่งอายุ 7 ขวบ ที่เธอได้รู้จักกับกีฬาเทควันโด เนื่องจากพี่ชายเล่น โดยตอนแรกตั้งใจจะเล่นเพียงแค่เอาสนุก ๆ

แต่ชีวิตย่อมมีจุดพลิกผัน เมื่อน้องเทนนิส อายุ 9 ขวบ ยอมลงแข่งเทควันโดที่จังหวัดภูเก็ต แบบเล่น ๆ ขำ ๆ เพราะมีเงินเป็นเดิมพัน จากคนเป็นพ่อที่บอกว่า ถ้าได้เหรียญทอง เดี๋ยวพ่อจะให้ 3,000 เหรียญเงิน 2,000 เหรียญทองแดง 1,000 แต่ผลที่ได้ กลับแพ้ราบคาบ แถมโดนเพื่อนล้ออีก จึงกลายเป็นแรงผลักดันให้เธอชอบเทควันโดขึ้นมา

น้องเทนนิสเริ่มเล่นเทควันโดอย่างจริงจัง ด้วยการซ้อมทุกวัน ลงแข่งแทบทุกรายการ โดยมีพ่อเป็นผู้ผลักดัน และสนับสนุนเธอ ทั้งพาซ้อมและพาไปแข่ง แม้ผลที่ได้จะเป็นความพ่ายแพ้

น้องเทนนิสเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ตอนเด็ก ๆ เราเล่นกีฬาหลายประเภท เราไปทุกทางแต่เราไม่เก่ง ไปเล่นวอลเลย์บอลหนูก็เป็นแค่ตัวสำรอง ไม่ได้ลง ไปว่ายน้ำก็จม พ่อเป็นครูแต่กลับว่ายน้ำไม่ได้ ว่ายช้ามาก กีฬาอะไรเราลองมาหมด ทั้งปิงปอง เทนนิส แต่ก็แพ้จนต้องหากีฬาอื่นมาลองเล่นไปเรื่อย ๆ”

บนเส้นทางกีฬาเทควันโดของ “น้องเทนนิส” กว่าจะมาถึงวันนี้ได้เก็บสะสมประสบการณ์ไว้อย่างน่าสนใจ จากเด็กหญิงในวัย 9 ขวบที่สนใจเริ่มเล่นกีฬาเทควันโด ผ่านไปเพียง 4 ปี ในอายุ 13 ขวบ เธอก็สามารถเป็นนักกีฬาเทควันโดเยาวชนทีมชาติไทย

ซึ่งย้อนกลับไปในตอนนั้น “เหรียญทองแรก” ในชีวิตของเธอได้รับในปี 2554 ด้วยวัยเพียง 13 ปี ในการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 27 จากการแข่งขันเทควันโด รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 42 กิโลกรัม

 

Photo by REUTERS

ด้วยความที่มีแววโดดเด่นในกีฬาชนิดนี้ “โค้ชเช” ผู้ฝึกสอนเทควันโดทีมชาติไทยชาวเกาหลีใต้ จึงเรียกตัวเธอเข้ามาฝึกซ้อมและคัดเลือกเป็นนักกีฬาเทควันโดตัวแทนทีมชาติไทยตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา กระทั่งถึงวันนี้เธอได้สร้างชื่อเสียงในวงการเทควันโดทั่วโลกไว้มากมายถึงการคว้าแชมป์ใน 27 รายการแข่งขันต่าง ๆ ทั้งรายการเวิลด์แชมเปี้ยนชิพ, เวิลด์กรังปรีซ์, รายการแกรนด์สแลม เอเชียนเกมส์, ซีเกมส์

และรายการสำคัญของโลกในการเข้าร่วมการแข่งขัน “โอลิมปิก 2016” ที่กรุงริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล ที่คว้าเหรียญทองแดง ซึ่งในวันนั้นทำให้เธอเป็นนักกีฬาเทควันโดหญิงคนที่ 4 ที่คว้าเหรียญรางวัลในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

ปัจจุบันนอกจาก “น้องเทนนิส” จะเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยแล้ว ยังรับราชการทหารอากาศ สังกัดกรมสวัสดิการทหารอากาศ โดยก่อนแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2020 เธอได้รับการติดยศเป็น “เรืออากาศตรีหญิง” และการศึกษาของเธอสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกำลังศึกษาปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

กระทั่งวันนี้ วันที่เธอเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยในฐานะนักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิกที่สร้างชื่อเสียงกับประเทศไทย ภาพความกตัญญูที่เธอแสดงให้เห็นต่อคนทั้งประเทศคือการนำเหรียญทองที่ได้จากการแข่งขันมอบให้กับ “สิริชัย วงศ์พัฒนกิจ” พ่อขอเธอ เพื่อคล้องเหรียญรางวัลดังกล่าวให้กับ “น้องเทนนิส” เป็นสิริมงคล พร้อมก้มกราบ

น้องเทนนิสเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย และเข้าร่วมในโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์’ ตามมาตรฐานความปลอดภัยในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งภารกิจในการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศของเธอยังไม่หมด

เนื่องจากล่าสุด “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มอบตำแหน่ง “ทูตกีฬาและท่องเที่ยว” ให้แก่น้องเทนนิส ซึ่งภายหลังการรับมอบตำแหน่งดังกล่าว

เธอแสดงความรู้สึกดีใจที่ได้ตำแหน่งนี้ เป็นเกียรติสำหรับตนเองและครอบครัวมาก รู้สึกดีใจและตื้นตันมาก ที่ได้รับตำแหน่งนี้ อยากขอบคุณผู้ใหญ่ทุกท่านที่ให้โอกาสนี้ จะทำหน้าที่ตรงนี้อย่างเต็มที่สุดความสามารถ อะไรที่พอจะทำได้เพื่อประเทศก็จะทำให้เต็มที่และทำอย่างดีที่สุด

“ในฐานะนักกีฬาเทควันโด” ผู้คว้าเหรียญทองโอลิมปิกวันนี้ เธอทำให้คนไทยมีความสุขและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วน “ในฐานะทูตกีฬาและท่องเที่ยว”

หลังจากนี้การเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศไทยที่ติดตัวเธอไปจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวและคนทั่วโลกที่ได้ดูฝีไม้ลายมือลูกเตะของเธอบนเวทีแข่งขันโอลิมปิกได้รู้จัก “ประเทศไทย” มากยิ่งขึ้น