ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ ฝ่าคลื่นวิกฤตโควิด-19 จุดเปลี่ยนระบบการศึกษาไทย

ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์
พลพัต สาเลยยกานนท์ : เรื่อง

ภาคการศึกษาของประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งนับเป็นคลื่นลูกใหญ่อีกลูกหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านธุรกิจการศึกษาอย่างรวดเร็ว ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.แพรว” ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ถึงการปรับตัวผ่านคลื่นลูกใหญ่โควิด-19 นี้

ดร.แพรวเล่าให้ฟังว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดทำให้ธุรกิจการศึกษาต้องมีการปรับตัว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในช่วงที่ผ่านมาเกิดขึ้นตั้งแต่การทรานส์ฟอร์มในยุคศตวรรษที่ 21 และการเปลี่ยนแปลงสู่ยุค 4.0 ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา

ซึ่งนั่นเป็นเพียงเฉพาะบางส่วน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 นี้ ทั่วโลกได้รับผลกระทบกันหมด ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นความท้าทายระยะสั้น เนื่องจากธุรกิจการศึกษาก็เกิดความท้าทายอยู่เสมอโดยเฉพาะในสถานการณ์เช่นนี้

แต่ถามว่า… ? พอมีโควิด-19 ระบบการศึกษาจะหยุดหรือ ? จะหยุดให้การศึกษากับคนหรือ ? เพราะเมื่อโลกยังคงต้องเดินหน้าต่อ การศึกษายังคงต้องเดินต่อ ซึ่งเมื่อถามว่าตอนนี้ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์มีการเปลี่ยนแปลงอะไรแล้วบ้างในสถานการณ์นี้ ซึ่งเป็นความโชคดีของเราที่ในช่วงที่ผ่านมา เราได้มีการปรับหลักสูตรที่เน้นในแง่ของทักษะนักศึกษา หรือที่เรียกว่า “ซอฟต์สกิล” ซึ่งมีความจำเป็นมากในการทำงานร่วมกันในองค์กร

นอกจากนั้น ในสถานการณ์เช่นนี้ สถาบันการศึกษาทุกแห่งถูกบังคับให้ทำการเรียนการสอนแบบออนไลน์ 100% ซึ่งเช่นเดียวกัน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ไปสู่ออนไลน์ 100% แล้ว แต่สิ่งสำคัญที่เป็นโจทย์ที่ท้าทายของวงการการศึกษาคือเมื่อไปอยู่บนออนไลน์ทั้งหมดแล้วนั้น จะสามารถสร้างความน่าสนใจหรือสร้างประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหนในระบบการศึกษา

ดร.แพรวยังเชื่อว่า หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดในครั้งนี้สิ้นสุดลง ระบบการศึกษาจะไม่มีทางที่จะกลับไปเหมือนเดิม 100% ซึ่งเราได้ทำการแบ่งวิชาเรียนแบบ anywhere anytime ตามลักษณะวิชาที่มีการเรียนการสอน เพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่ผ่านมาเรามีการจัดฝึกอบรมให้อาจารย์เป็นจำนวนมาก ซึ่งสิ่งที่เราทำคือการหาวิธีการเรียนการสอนอย่างไรที่เหมาะสมบนโลกออนไลน์

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ท้าทายของสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา (มหาวิทยาลัย) ถ้าเทียบเป็นผลิตภัณฑ์แล้วจะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม mass ซึ่งสังเกตดูว่าทุกมหาวิทยาลัยจะมีคณะและหลักสูตรที่คล้ายกันทั้งหมดแทบไม่มีอะไรแตกต่างกัน

“จริง ๆ ส่วนตัวก็มีคำถามในใจว่ามันใช่แบบนี้หรือที่การศึกษาไทยควรจะไป อยากจะเห็นด้วยว่าต้องมีสาขาวิชาชีพให้มากขึ้น ความท้าทายอยู่ตรงนี้ เราอยู่ในตลาด mass แต่ด้วยความเป็นมหาวิทยาลัย คือเราจะทำอย่างไรให้ลูกศิษย์ของเราได้งานมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พอพูดแบบนี้แล้วคือต้องพูดเรื่องใหม่แล้ว คือเราไม่เน้นความรู้แล้วเราเน้นสกิล”

อย่างไรก็ตาม ด้านคุณภาพการศึกษาก็ยังคงต้องเน้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ ดร.แพรวยึดถือมาโดยตลอดในด้านการพัฒนาครู-อาจารย์ ซึ่งต้องเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการบริหารสถาบันการศึกษา ซึ่งตอนนี้เราเริ่มมีแนวคิดในการนำบางสาขาวิชาที่อาจไม่ต้องการใบปริญญา ซึ่งแม้ว่าสังคมยังต้องการปรับหลักสูตรออกมาเป็นหลักสูตรระยะสั้นหรือเป็นการจัดอบรมและมอบประกาศนียบัตรแทน

“แต่สิ่งที่ต้องยอมรับระบบการศึกษาไทยแบบไทยจริง ๆ อย่างหนึ่งคือ หลักสูตรไม่ได้พัฒนาให้ผู้เรียน เป็นผู้เรียนได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นสิ่งที่ธุรกิจบัณฑิตย์ทำคือต้องทำให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาออกไปสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ วิชาทำงานร่วมกับของหลักสูตรในมหาวิทยาลัยมีสัดส่วนถึง 50%”

ขณะนี้มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้มีการแยกโมดูลาร์ออกมา ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนสำหรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป จะมีวิธีการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไป เช่น การเรียนโมดูลาร์นั้น ๆ จะต้องเรียนในกลุ่มนั้นกี่วิชา หรือเรียนโมดูลาร์นั้นสำเร็จการศึกษาออกไปแล้วไปทำอะไร ในสายวิชาชีพ

ปีนี้เป็นปีแรกที่เรียนกแบบโมดูลาร์ ตอนนี้เริ่มทดลองเป็นปีแรก สิ่งที่ทำควบคู่ไป คือ การทำหลักสูตรระยะสั้นแบบ nondegree แต่จะมีประกาศนียบัตรให้ ในมหาวิทยาลัยตอนนี้มีราว 200 กว่าโมดูลาร์

ปัจจุบันเรามีโมดูลาร์ที่นักศึกษาระดับ ป.ตรี เรียนแล้วสามารถใช้สกิลในการทำ YouTube ได้ และในอนาคตจะเปิดสอนระยะสั้นแบบมีประกาศนียบัตร ส่วนหลักสูตรการโรงแรม การท่องเที่ยว การบิน เด็กปีนี้แทบจะไม่มีคนสมัคร เพราะเขากลัวผลกระทบจากโควิด-19 จะทำให้ไม่มีงานทำ แต่ส่วนตัวมองว่า โควิด-19 ไม่น่าจะอยู่กับเราไปถึง 4 ปี อย่างไรก็ตามเส้นทางนี้ยังคงไปต่อได้

สำหรับการวางแผนรับคลื่นลูกใหญ่ในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่คาดว่าจะเกิดปรากฏการณ์จำนวนนักศึกษาลดลงอย่างเห็นได้ชัดอีกครั้ง ซึ่งเริ่มมีให้เห็นในต่างประเทศในด้านความสนใจในการศึกษาปริญญาตรีน้อยลง ดังนั้นเราต้องวางแผนจำนวนอาจารย์และจัดการความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ของจำนวนนักศึกษา ซึ่งตามระบบการบริหารงานสถาบันการศึกษาต้องวางแผนล่วงหน้า 3-4 ปี นั่นหมายความว่าถ้าเราเห็นเทรนด์ในอนาคต เราต้องวางแผนตั้งแต่วันนี้

นอกเหนือจาก ดร.แพรวที่อยู่ในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์แล้วนั้น อีกหมวกใบหนึ่งของเธอยังรับหน้าที่ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนนานาชาติ เวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพฯ อีกด้วย ซึ่งแม้จะไม่ใช่การบริหารงานในฐานะครูใหญ่ของโรงเรียน แต่ในแง่ลักษณะของธุรกิจมีทั้งความคล้ายและแตกต่างกัน เพราะโรงเรียนนานาชาติไม่เน้นปริมาณนักเรียนจำนวนมาก ซึ่งใหญ่สุดก็ไม่เกิน 2,000 คน บนพื้นที่ 50-60 ไร่ ต่างจากมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาเป็นหมื่นคน

สำหรับโอกาสของโรงเรียนนานาชาติยังโตได้อีกมาก เนื่องจากแต่ละปีโรงเรียนรับนักเรียนสำหรับห้องเรียนหนึ่งได้ 50-60 คน และพ่อแม่ก็อยากให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนนานาชาติที่มีคุณภาพจริง ๆ

แม้จะมีคำถามว่า มหาวิทยาลัยจะล้มหายตายจากไปหรือไม่ ? ในมุมมองของ ดร.แพรวมองว่า มหาวิทยาลัยจะยังคงมีความสำคัญ เป็นเครื่องมือสำคัญในการการันตีคุณภาพในการหางาน บอกให้รู้ว่านักศึกษาจบไปแล้วเป็นคนที่มีคุณภาพ และได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี

สุดท้ายไม่ว่าปัญหาใดหรือความท้าทายไหน ดร.แพรวมองว่า ความท้าทายมีไว้ให้แก้ และจะไม่เก็บปัญหาไว้ เมื่อมีปัญหาจะเอามาแก้ จดปัญหาลงบนกระดาษ แล้วมาหาทางออกเหมือนการแก้ปัญหาในข้อสอบ ไม่ว่าจะเรื่องงาน หรือครอบครัว และสร้างกำลังใจในการทำงานต่อไป