20 ปี เหตุการณ์ 9/11 สหรัฐ สงคราม-จุดเปลี่ยน-ความสูญเสีย

Credit : Courtesy of NETFLIX / ©NETFLIX 2021
พลพัต สาเลยยกานนท์ : เรื่อง

เหตุการณ์ก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ที่โด่งดังไปทั่วโลก ย้อนกลับไป 20 ปีที่แล้วกับเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งเป็นการก่อการร้ายด้วยการจี้เครื่องบินและโจมตีแบบพลีชีพพุ่งชนตึก “เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์” ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 โดยครั้งนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของ “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” และการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการเดินทางด้วยอากาศยาน

ย้อนกลับไปในช่วงเช้าของวันที่ 11 กันยายน ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบิน 4 ลำที่กำลังบินอยู่ในฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกาพร้อม ๆ กัน บังคับให้มุ่งหน้าชนอาคารสำคัญในนิวยอร์กและวอชิงตัน ดี.ซี. เวลา 08.45 น. (โดยประมาณ) เครื่องบินลำแรกพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ อาคาร 1

ต่อมาอีกไม่นานเครื่องบินลำที่ 2 พุ่งชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ อาคาร 2 ที่อยู่ติดกัน หลังจากอีกครู่หนึ่งกลุ่มควันเริ่มปะทุขึ้นพร้อมกับเปลวไฟ พร้อมแรงสั่นสะเทือน กระทั่งเกิดการถล่มลงมาของทั้ง 2 อาคารดังกล่าว

จากนั้นไม่นานเครื่องบินลำที่ 3 พุ่งชนอาคารเพนตากอน ที่ทำการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐ และเครื่องบินลำที่ 4 มีเป้าหมายที่จะพุ่งชนอาคารรัฐสภา สหรัฐ แต่ไม่สำเร็จ ตกลงที่ทุ่งหญ้าห่างไกลแถวรัฐเพนซิลเวเนีย

ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก มีความเสียหายอย่างรุนแรงในพื้นที่เกิดเหตุ และยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากเหตุการณ์นี้

ล่าสุดปี 2564 Netflix ได้เปิดตัวภาพยนตร์สารคดีในช่วงต้นเดือนกันยายน ที่ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านการถ่ายทำออกมาในรูปแบบภาพยนตร์สารคดีที่ชื่อว่า “Turning Point: 9/11 and the War on Terror จุดเปลี่ยน : 11 กันยายนและสงครามต่อต้านการก่อการร้าย”

โดยภาพยนตร์สารคดีเรื่องดังกล่าวใช้วิธีเล่าเรื่องจากผู้คนจริง ๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ อาทิ ผู้รอดชีวิต, เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรอง, เจ้าหน้าที่ตำรวจ, เจ้าหน้าที่ดับเพลิง, วุฒิสภา รวมถึงเจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชาหน่วยทหาร

โดยร้อยเรื่องราวออกมาเป็นแต่ละแง่มุมที่ได้สัมผัสกับตัวเองมาทั้งด้านการบริหารและการตัดสินใจจู่โจม หรือแม้กระทั่งไทม์ไลน์ในแต่ละช่วงเวลาตั้งแต่เริ่ม

Credit: Courtesy of NETFLIX / ©NETFLIX 2021

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องดังกล่าวกำกับโดย Brian Knappenberger แบ่งออกเป็น 5 Episode ตอนละราว 1 ชั่วโมง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วนของประวัติศาสตร์อันโศกเศร้าในครั้งนั้นคือ ช่วงก่อนเหตุการณ์ 9/11 และหลังเหตุการณ์ 9/11

นำเสนอมุมมองที่กระจ่างและเรื่องราวส่วนตัว ว่าเหตุการณ์ในวันนั้นได้เปลี่ยนวิถีของประเทศไปอย่างไร นับตั้งแต่การรุกรานอัฟกานิสถานของสหภาพโซเวียตในปี 1979 ไปจนถึงการล่มสลายอันน่าทึ่งของประเทศกลับคืนสู่มือของตาลิบันเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนวันครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์วินาศกรรมดังกล่าว

EP.1 สัญญาณอันตราย – รวมบทสัมภาษณ์พร้อมภาพและเสียงที่บันทึกจากเหตุการณ์จริง ซึ่งย้อนลำดับเหตุการณ์ความโกลาหลในวันที่ 11 กันยายน ซึ่งสืบสาวต้นตอย้อนกลับไปได้ถึงช่วงยุค 80

EP.2 แดนอันตราย – ผู้รอดชีวิตเล่าถึงความหวาดกลัวขณะที่อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว และภายหลังการโจมตี ประธานาธิบดีสหรัฐในเวลานั้นคือ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ได้สั่งการให้กองทัพสหรัฐใช้มาตรการทางทหารรุนแรงตอบโต้ในทันที

EP.3 ด้านมืด – ทำเนียบขาวอนุมัติโครงการสอดแนมลับ และ “การสอบสวนอย่างเข้มข้น” ภายหลังทราบว่าผู้ก่อการร้ายใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ในหน่วยข่าวกรองสหรัฐ

EP.4 สงครามดี – เมื่อขาดยุทธวิธีที่สอดคล้องกับปัญหาสงครามในอัฟกานิสถานประกาศชัยชนะอย่างรวดเร็ว ก่อนจะลุกลามบานปลายจนนำไปสู่วิกฤตศรัทธาวังวนการทุจริตและการกลับมาของกลุ่มตาลิบัน

EP.5 สองทศวรรษที่ผ่านไป – สหรัฐอเมริกาตั้งเป้าที่จะยุติสงครามที่ยืดเยื้อที่สุดในประวัติศาสตร์ ทว่า มาตรการถอนทหารกำลังกลับจุดชนวนความรุนแรงที่นองเลือดและกดขี่ในอัฟกานิสถาน

เรื่องราวต่าง ๆ ทั้งหมดในมุมมองภาพยนตร์สารคดี โดยเฉพาะจากมุมมองของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จริงและไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ต่อเนื่องให้เห็นภาพชัดในแต่ละมุมของเหตุการณ์ในวันนั้น ทำให้มองเห็นทุกมิติของสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละหัวมุมถนน

ไปจนกระทั่งสะท้อนเหตุผลในการส่งทหารเข้าไปในอัฟกานิสถานของสหรัฐ เพื่อจัดการกับโอซามา บินลาเดน และกลุ่มอัลกออิดะห์ รวมถึงความยืดเยื้อยาวนานของการตั้งศูนย์กักกันผู้ต้องสงสัยในประเทศดังกล่าวเพื่อเค้นหาข้อมูลความจริง ต้องจัดการกับปัญหาการได้ข้อมูลอันมหาศาลและใช้เวลาประมวลผลนานหลายปีกว่าจะสามารถจัดการได้

นอกจากนั้นเรื่องราวดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาเพียงอย่างเดียว แต่ยังลงรายละเอียดถึงเหตุผลและวิธีจัดการการตัดสินใจ บริบททางกฎหมาย ความชอบธรรม และอื่น ๆ อีกมากมาย

รวมถึงยังระบุถึงสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปกับการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานซึ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ นับเป็นภาพยนตร์สารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวทั้งเหตุการณ์ในอดีตและขมวดเรื่องราวบทสรุปมาถึงปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ

“สงครามต่อต้านผู้ก่อการร้าย” ที่ยาวนานกว่า 20 ปี สหรัฐอเมริกาใช้เงินไปกว่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ และมีทหารอเมริกันเสียชีวิตกว่า 2,400 นาย และบาดเจ็บอีกกว่า 5 หมื่นนาย โดยชาวอัฟกันอย่างน้อย 1.5 แสนคน ถูกฆ่าซึ่งส่วนมากเป็นพลเรือน

นอกจากภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวที่วางกำหนดเวลาฉายออกมาในช่วงใกล้ครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์ 11 กันยายน หรือ เหตุการณ์ 9/11 ยังมีการจัดงานรำลึกโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกาคนปัจจุบัน พร้อมสุภาพสตรีหมายเลข 1 เดินทางไปยังสถานที่รำลึกทั้ง 3 แห่ง

ทั้งจุดกราวนด์ซีโร่ที่เคยเป็นพื้นที่ตั้งของอาคารคู่แฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนครนิวยอร์กซิตี้ กับกระทรวงเพนตากอน หรือกระทรวงกลาโหมในอาร์ลิงตัน เคาน์ตี้ รัฐเวอร์จิเนีย

และอนุสรณ์สถานนอกเมืองแชงค์สวิลล์ รัฐเพนซิลเวเนีย จุดตกของเครื่องบินลำที่ 4 เที่ยวบิน 93 ที่ถูกผู้ก่อการร้าย 4 คน จี้บังคับ

Credit: Courtesy of NETFLIX / ©NETFLIX 2021

ขณะเดียวกัน สื่อต่างประเทศรายงานถึง “การเดินรถเข็น” ของอดีตพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน สายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส

นั่นก็คือ พอล เวเนโต ซึ่งสูญเสียเพื่อนร่วมงานหลายคนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บนเครื่องบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส เที่ยวบิน 175 จากบอสตัน ที่ถูกกลุ่มก่อร้ายจี้ พุ่งชนตึกเวิลด์เทรด กลางนครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544

อดีตพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินคนดังกล่าวเปิดเผยกับสำนักข่าวต่างประเทศว่า เที่ยวบิน 175 คือเที่ยวบินที่เขาขึ้นทำงานเป็นประจำ แต่จะเรียกว่าเป็น “โชคดี” ของเขาก็ได้ ที่เช้าวันที่ 11 กันยายน ปี 2544 เป็น “วันหยุด” ของเขาพอดี

หลังจากเขาเพิ่งขึ้นทำงานบนเที่ยวบินที่บินจากนิวยอร์กกลับมายังบอสตันเมื่อคืนวันที่ 10 กันยายน ทำให้เขาได้พักในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเมื่อรู้ เวเนโต รู้สึกช็อก รู้สึกโกรธ อยากแก้แค้น แต่ผมก็รู้ดีว่า ผมไม่สามารถทำอะไรได้

สำหรับในปีนี้ซึ่งครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์ 9/11 เวเนโต ซึ่งเคยทำงานเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมา 30 ปี กับสายการบิน 5 สายการบิน อยากทำอะไรเพื่อรำลึกถึงเพื่อนร่วมงานที่เสียชีวิตบนเที่ยวบินนั้น

รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำงานอยู่บนเครื่องบินทั้ง 4 ลำที่ถูกกลุ่มก่อร้ายจี้ ซึ่งเวเนโต เชิดชูว่า พวกเขาเหล่านั้นคือฮีโร่ ด้วยการเข็นรถเครื่องดื่ม-อาหาร ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์คู่กายของแอร์โฮสเตส และสจ๊วต เดินเท้าจากเมืองบอสตัน ไปยังบริเวณกราวด์ ซีโร่ หรือสถานที่ตั้งเดิมของตึกเวิลด์เทรด กลางนครนิวยอร์ก

ซึ่ง เวเนโต เริ่มออกเดินเท้าจากเมืองบอสตัน ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยกำหนดชื่อเรียกภารกิจนี้ของเขาว่า “Paulie’s Push” ที่นอกจากเพื่อรำลึกถึงเพื่อนร่วมอาชีพที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 9/11 เขายังตั้งใจมอบเงินบริจาคที่ได้จากการเดินครั้งนี้ให้แก่ Power Forward 25 องค์กรไม่หวังผลกำไร เพื่อช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด

เหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน 2544 มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และเป็นจุดเริ่มต้นในสิ่งที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน ทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงความปลอดภัยและเศร้าเสียใจกับเหตุการณ์ความสูญเสียในครั้งนั้น

กระทั่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน เช่นเดียวกับการถอนกำลังทหารของสหรัฐออกจากอัฟกานิสถานคนสุดท้ายได้สำเร็จก่อนที่จะถึงวันที่ 11 กันยายน 2564

แม้วันนี้จะผ่านไป 20 ปีแล้วก็ตาม ทั่วโลกยังคงรำลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นและความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้น