มองรอบด้าน ‘นิวคาสเซิล’ ทีมที่มีเจ้าของ ‘รวย’ สุดในโลก สะเทือนหลายมิติ

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

 

แวดวงลูกหนังยุโรปคึกคักขึ้นทุกขณะหลังผ่านช่วงวิกฤตโรคระบาดสักระยะแล้ว มีทั้งย้ายทีมสนั่นโลก มาถึงเทกโอเวอร์สโมสรซึ่งทำเอาพรีเมียร์ลีก อังกฤษ สะท้านไปตาม ๆ กัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “สาลิกาดง” นิวคาสเซิล ที่มีแฟนบอลติดตามกันคับคั่งทั้งไทยและต่างประเทศ ถูกกลุ่มทุนเศรษฐีจากซาอุดีอาระเบียเข้าเทกโอเวอร์จนได้

บรรดาสโมสรเก่าแก่ในพรีเมียร์ลีก แห่งอังกฤษ นิวคาสเซิลคือสโมสรที่มีแฟนบอลเหนียวแน่นมากที่สุดอีกแห่ง พวกเขาเคยประสบความสำเร็จถึงแชมป์ลีกมาแล้ว แต่หลังจากนั้น แฟนบอลต่างเผชิญหน้าชะตากรรมอันน่าเห็นใจอย่างการเฝ้ามองทีมรักตกชั้น และมักชอกช้ำกับแนวทางการบริหารทีมของไมค์ แอชลีย์

วันนี้ เรื่องราวข้างต้นเป็นอดีตไปแล้ว เหล่า “ทูนอาร์มี่” ได้เจ้าของสโมสรคนใหม่ คือ กลุ่มทุนชื่อ Public Investment Fund (PIF) มี เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แห่งซาอุดีอาระเบีย เป็นประธาน เข้ามาถือหุ้น 80% ของสโมสร มูลค่าการเทกโอเวอร์ครั้งนี้อยู่ที่ประมาณ 305 ล้านปอนด์เลยทีเดียว

แม้ว่ากลุ่มทุนนี้มีชื่อมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียอยู่ในตำแหน่งสำคัญด้วย แต่พรีเมียร์ลีกยังคงไฟเขียวให้การเทกโอเวอร์นี้ผ่านกระบวนการไปได้ โดยระบุว่า มีข้อผูกพันทางกฎหมายว่าภาครัฐของซาอุดีอาระเบียจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการควบคุมบริหารสโมสร

เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่แฟนบอลเห็นความเปลี่ยนแปลงในบรรดาสโมสรต่าง ๆ ทั่วยุโรป เมื่อมีกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ลักษณะนี้เข้ามาเทกโอเวอร์สโมสร ตัวอย่างความสำเร็จของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และปารีส แซงต์ แชร์กแมง ในลีกเอิง ฝรั่งเศส ต่างปรากฏชัดเจน นั่นทำให้เหล่า “ทูนอาร์มี่” ยินดีกันถ้วนหน้า เมื่อเห็นยุคของไมค์ แอชลีย์ ที่กินเวลายาวนาน 14 ปี สิ้นสุดลง และก้าวสู่ยุคของกลุ่มทุนตะวันออกกลางที่ขึ้นชื่อเรื่องความมั่งคั่ง

สื่อต่างประเทศรายงานกันแพร่หลายว่า นิวคาสเซิล ในเวลานี้กลายเป็นสโมสรฟุตบอลที่มีเจ้าของร่ำรวยที่สุดในโลก คาดการณ์กันว่า กลุ่มทุนแห่งนี้ถือครองทรัพย์สินมูลค่าราว 3.2 แสนล้านปอนด์ บางแห่งระบุตัวเลขที่ 2.5 แสนล้านปอนด์ ขณะที่สื่อบางแห่งรายงานมูลค่าทรัพย์สินส่วนตัวที่เจ้าชายแห่งซาอุดีอาระเบียถือครองที่ประมาณ 2,500 ล้านปอนด์

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับดีลนี้ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องทิศทางการทำทีม ซึ่งแฟนบอลนิวคาสเซิลคาดหวังให้ทีมกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง หลังเคยชูแชมป์ในประเทศครั้งสุดท้าย คือ แชมป์เอฟเอคัพ เมื่อปี 1955 การเทกโอเวอร์ครั้งนี้ยังมีประเด็นพูดคุยครอบคลุมไปถึงเรื่องทางธุรกิจ การเมือง และประเด็นทางสังคม

เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เคยตกเป็นเป้าถูกนักข่าวรายหนึ่งวิจารณ์ และนักข่าวรายนั้นถูกฆาตกรรมเมื่อปี 2018 เจ้าชายปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับการสังหารครั้งนั้น แม้ว่าหน่วยข่าวกรองของประเทศตะวันตกจะบ่งชี้ไปอีกทางหนึ่ง การเทกโอเวอร์ครั้งนี้ทำให้คู่หมั้นของนักข่าวรายนั้นรู้สึกผิดหวัง และรู้สึกว่าแฟนบอลนิวคาสเซิลไม่ได้สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักข่าวผู้ล่วงลับไปแล้ว การเทกโอเวอร์ครั้งนี้ทำให้นักการเมืองอย่างผู้นำฝ่ายค้านของสหราชอาณาจักร แสดงความกังวลในแง่การบริหารงานวงการฟุตบอลอังกฤษ และเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับดีลนี้อีกแง่มุมหนึ่งคือความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารสโมสรนิวคาสเซิลกับกลุ่มทุนซาอุดีอาระเบีย หรืออาจเชื่อมโยงไปถึงราชวงศ์ซาอุฯ หากมองในแง่ตัวบุคคล เป็นที่ทราบกันว่า กลุ่มทุนที่ถือหุ้นสโมสรอีก 20% มีชื่อกลุ่ม PCP Capital Partners ถือหุ้นอยู่ 10% เบื้องหลังกลุ่มทุนรายนี้คือ อแมนดา สเตฟลีย์ นักธุรกิจหญิงที่มีชื่อเสียงในแง่การดีลธุรกิจกับนักลงทุนจากตะวันออกกลาง

เธอมีบทบาทในแง่เป็นนายหน้าสำหรับกลุ่มทุนจากอาบูดาบีเข้าเทกโอเวอร์สโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ มาแล้ว ตัวเธอเองก็พยายามเข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของนิวคาสเซิลมาก่อนหน้ากลุ่มทุนจากซาอุดีอาระเบีย เธอให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเทกโอเวอร์นิวคาสเซิลว่า เจ้าของสโมสรคนใหม่มองเรื่อง “การลงทุนระยะยาว” เพื่อทำให้สโมสรมีศักยภาพไปถึงการลุ้นแชมป์ระดับเมเจอร์ได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับเรื่องในสนามแน่นอนว่า แฟนบอลนิวคาสเซิลคาดหวังความสำเร็จเช่นเดียวกับทีมอื่น ในยุคไมค์ แอชลีย์ แฟนบอลไม่ได้คาดหวังขนาดต้องได้แชมป์เลย แต่อยากได้แรงขับเคลื่อนที่มีพลังผลักดันสโมสรแห่งเดียวในเมืองให้แสดงศักยภาพที่แท้จริง หากความสำเร็จจะเป็นผลพลอยได้ก็ย่อมเป็นเรื่องน่ายินดี

เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนก่อนจะเริ่มเปิดตลาดซื้อ-ขายนักเตะเดือนมกราคม ทุกคนจับตากันว่า นิวคาสเซิลจะเคลื่อนไหวดึงดาวเตะมาได้หรือไม่ หรือจะเริ่มปรับเปลี่ยนผู้จัดการทีมเลย แต่เชื่อว่าความเป็นไปได้ที่สตีฟ บรูซ กุนซือคนปัจจุบันจะนั่งเก้าอี้นี้ในระยะยาวมีต่ำมาก แค่จะเปลี่ยนเมื่อไหร่ และเป็นใครมาทำแทน

ในภาพรวมแล้ว พรีเมียร์ลีก อังกฤษ จะเข้มข้นขึ้นอย่างแน่นอน แม้ว่าอาจไม่ใช่ในระยะสั้น ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกรณีของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ พวกเขาใช้เวลา 2-3 ฤดูกาล ในการสร้างทีมขึ้นมาใหม่ และวางระบบโครงสร้างต่าง ๆ ขึ้น ก่อนกลายเป็นทีมแนวหน้าของยุโรปทาบชั้นกับคู่ปรับร่วมเมืองไปแล้ว ดังนั้น เตรียมตัวกันให้ดี นิวคาสเซิลโฉมใหม่กำลังจะมาเร็ว ๆ นี้